ผมทำงานออฟฟิศครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2556 แทบทุกที่ที่เคยสัมผัสเป็นออฟฟิศแบบเปิด ไม่มีคอก (Cubicle) กั้นให้รู้สึกรำคาญสายตา มีเพียงกำแพงกั้นห้องสำหรับผู้บริหาร ส่วนพนักงานก็ติดต่อสื่อสารกันได้เต็มที่ ถึงจะไม่ได้ตกแต่งสวยหรู แต่ก็พอเข้าทีกับการเป็นออฟฟิศดีไซน์แบบไร้กำแพง (Open-plan Office) ซึ่งเป็นคำฮอตฮิตอย่างยิ่งสำหรับคนยุคใหม่

สำหรับชาวมิลเลนเนียล หลายคนอาจฝันหวานถึงออฟฟิศสตาร์ตอัปแบบชิคๆ คูลๆ มีพื้นที่สันทนาการ ตกแต่งด้วยวัสดุสีสันฉูดฉาดตระการตาเพื่อกระตุ้นความร่วมมือในที่ทำงาน มีพื้นที่แลกแปลี่ยนความคิดเห็น ห้องประชุมไม่ต่างจากห้องนั่งเล่น โรงอาหารเสิร์ฟกาแฟดริปตลอดทั้งวัน แบบที่เหล่าผู้บริหารรุ่นใหม่สร้างสรรค์ไว้เป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook หรือ AirBnB ที่ต่างประโคมความดีงามของ ‘ออฟฟิศสมัยใหม่’ ให้เข้ากับยุคดิจิทัลที่ใช้ความรู้ทำงาน ส่วนงานซ้ำๆ ซากๆ ก็โอนถ่ายไปให้คอมพิวเตอร์จัดการ

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง Facebook ในคลิปวิดีโอขนาดสั้นที่เขาพาไปชมออฟฟิศใหม่ของ Facebook รวมถึงโต๊ะทำงานของเขาที่นั่งร่วมกับพนักงานคนอื่นๆ ชมคลิปวิดีโอเต็มได้ที่นี่

แต่ฝันหวานก็กลายเป็นฝันร้าย เมื่อผมได้มาสัมผัสกับออฟฟิศแบบเปิดของบริษัทข้ามชาติที่มีพนักงานหลักพัน ห้องทำงานคือโถงขนาดใหญ่ที่มีโต๊ะสีขาวสะอาดวางเรียงราย พนักงานคลาคล่ำ แต่ละคนมีโน้ตบุ๊กเครื่องขนาดกระทัดรัดตั้งอยู่ข้างหน้า แม้แต่กรรมการผู้จัดการก็ยังนั่งอยู่ในห้องอย่างเท่าเทียมกัน

ทุกๆ วันที่ไปทำงาน ผมรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ท่ามกลางตลาดสดที่แต่ละคนต่างส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวพูดคุยขอความคิดเห็น ตั้งแต่เรื่องงาน ละครหลังข่าว ไปจนถึงทริปเที่ยววันหยุด เสียงเหล่านั้นเสียดแทงเข้ามาในหัวจนไม่สามารถตั้งสมาธิกับงานตรงหน้าได้ เล่นเอาความมั่นใจที่ผมเคยสั่งสมมาในฐานะคน ‘ทำงานดี’ แทบละลายหายไปหมดเพราะทำพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ผมตัดสินใจลาออกหลังจากอยู่ได้ไม่ถึงเดือน แล้วจึงพบว่าฝันหวานของผู้บริหารที่จะใช้การออกแบบออฟฟิศแบบเปิดโล่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ที่จริงแล้วอาจเป็นฝันร้ายของพนักงานหลายๆ คน

แน่นอนครับว่าผมเป็นหนึ่งในนั้น!

จุดกำเนิดออฟฟิศไร้กำแพง

งานออฟฟิศสมัยใหม่เกิดขึ้นราวต้นศตวรรษที่ 19 และได้ชื่อว่าเป็นงานของเหล่าชาวคอปกขาว (White Collar) แรกเริ่มเดิมทีคืองานซ้ำๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับงานเอกสาร

ภาพออฟฟิศยุคแรกๆ ออกแบบโดย แฟรงก์ เทย์เลอร์ (Frank Taylor) วิศวกรเครื่องกล ซึ่งวางตำแหน่งคนไว้ไม่ต่างจากฟันเฟืองหนึ่งในเครื่องจักร มุ่งเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดและแทบไม่คำนึงถึงมิติความเป็นมนุษย์

หลังจากเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาขึ้นทั้งในด้านการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงาน ราว พ.ศ. 2482 ออฟฟิศจึงย้ายจากพื้นที่ใกล้โรงงานไปยังตึกสูง มีการแบ่งสัดส่วนระหว่างห้องอาหาร ห้องประชุม รวมถึงห้องส่วนตัวของเจ้านายใหญ่ ออฟฟิศบนตึกสูงจึงเป็นของหรูหราและเป็นหน้าเป็นตาของบริษัทขนาดใหญ่

ประเด็นความเป็นส่วนตัวของพนักงานถูกหยิบยกออกมาเพื่อการออกแบบโดยโรเบิร์ต พรอปสต์ (Robert Propst) เป็นชุดเฟอร์นิเจอร์สำหรับสำนักงานชื่อว่า แอคชันออฟฟิศ (Action Office) ซึ่งจะมีแผ่นไม้กั้นพื้นที่ทำงานของแต่ละคนออกเป็นสัดส่วน รวมถึงใช้บังสายตาจากเพื่อนพนักงานคนอื่นอีกด้วย แนวคิดนี้แหละครับที่ต่อมาพัฒนาเป็น คอก (Cubicles) ผนังสามด้านที่กั้นรอบโต๊ะเพื่อความเป็นส่วนตัวทั่วออฟฟิศ ภาพที่พนักงานออฟฟิศแทบทุกคนคงจะคุ้นเคยจวบจนปัจจุบัน

สำนักงานที่ถูกแบ่งกั้นเป็นคอก ภาพแทนยุคสมัยของหนุ่มสาวออฟฟิศที่ยังคงเป็นที่นิยมจวบจนปัจจุบัน ภาพจาก The Wall Street Journal

พนักงานที่ทำงานเช้าจรดค่ำในคอกส่วนตัวกลายเป็นภาพแทนความกดดันน่าเศร้าในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ซึ่งทำลายหัวใจของความเป็นมนุษย์ ซึ่งก็คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง

คอกดังกล่าวถูกทำลายไปจากการออกแบบ ‘ออฟฟิศแห่งอนาคต’ ของนักออกแบบชาวอิตาลี เกตาโน เพสเซ (Gaetano Pesce) ซึ่งรับงานออกแบบออฟฟิศใหม่ที่นิวยอร์กให้กับบริษัทครีเอทีฟโฆษณายักษ์ใหญ่ในอเมริกา Chiat\Day เมื่อ พ.ศ. 2541 ออฟฟิศดังกล่าวทำลายกรอบดั้งเดิมด้วยสีสันฉูดฉาด การตกแต่งแบบป็อปอาร์ต และโครงสร้างที่ทำงานซึ่งไร้รูปแบบ พนักงานสามารถหยิบคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์แล้วไปนั่งทำงานตรงไหนก็ได้

แม้ว่าออฟฟิศดังกล่าวจะใช้งานจริงได้ไม่นานก่อนที่บริษัท Chiat\Day จะถูกควบรวมและออฟฟิศจะถูกทิ้งร้าง แต่ผลงานออกแบบชิ้นดังกล่าวก็เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่เหล่าคนรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตมาจากยุคสตาร์ตอัปเทคโนโลยีหยิบจับมาประยุกต์ใช้ เพื่อมุ่งสู่สังคมสร้างสรรค์และความร่วมมือร่วมใจกันทำงาน โดยให้เหตุผลว่าธรรมชาติของงานในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว ออฟฟิศแบบไร้กำแพงจึงเป็นบรรทัดฐานที่ถูกตั้งขึ้นโดยเหล่าผู้บริหารคนรุ่นใหม่ แถมเทรนด์ดังกล่าวยังฮิตติดลมบนจนบริษัทดั้งเดิมมองว่านี่คืออีกก้าวหนึ่งของวิวัฒนาการออฟฟิศที่ต้อง ‘ก้าวให้ทัน’ เพื่อสร้างบรรยากาศสร้างสรรค์และความร่วมมือระหว่างพนักงานภายในบริษัท

ส่วนจะประสบความสำเร็จอย่างที่หวังหรือไม่ งานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นต่างนั่งยันนอนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่”

ออฟฟิศเปิด แต่พนักงานปิด

ปัญหาหลักของของออฟฟิศแบบเปิดหนีไม่พ้นเรื่องเสียงและสิ่งดึงดูดความสนใจ ทำให้หลายคนไม่สามารถตั้งสมาธิกับงานตรงหน้าได้ แบบสำรวจซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดพบว่าสิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญที่สุดเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน คือ “สามารถทำงานได้โดยไม่โดนรบกวน” ซึ่งค่อนข้างขัดกับแนวคิดของผู้บริหารที่ต้องการให้พนักงานมีปฏิสัมพันธ์กัน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่รวบรวมข้อค้นพบจากบทความวิชาการ 300 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร 67 ฉบับ พบว่าออฟฟิศแบบไร้กำแพงสร้างผลกระทบด้านเสียง ทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง เครียดมากขึ้น และรู้สึกเหนื่อยล้าได้ง่าย โดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ ประมวลผล และการคำนวณ

ส่วนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจากออฟฟิศดั้งเดิมสู่ออฟฟิศแบบไร้กำแพงนั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) ได้เปรียบเทียบความพึงพอใจของพนักงานระหว่างก่อนและหลังการปรับเปลี่ยนออฟฟิศสู่ออฟฟิศแบบเปิด 12 เดือน พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ความพึงพอใจในที่ทำงาน สุขภาพ และประสิทธิภาพมีแนวโน้มลดลง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าการทำงานในออฟฟิศท่ามกลางคนมากหน้าหลายตาแบบไร้กำแพงกั้น ยังทำให้พนักงานลาป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากงานวิจัยซึ่งสำรวจพนักงานออฟฟิศ 2,403 คนในประเทศเดนมาร์ก

อย่างไรก็ดี เหล่าผู้บริหารหลายต่อหลายคนก็ยังมองว่าผลกระทบดังกล่าวคือ ‘ราคาที่จำเป็นต้องจ่าย’ เพื่อสร้างพื้นที่และโอกาสให้เพื่อนร่วมงานได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การร่วมมือและนวัตกรรม สร้างคุณค่าให้กับบริษัท นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นที่กล่าวถึงข้างต้นยังเป็นแบบสำรวจความคิดเห็น ซึ่งอาจรวมเอาอคติของพนักงานที่ยังไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมการทำงานแบบใหม่ หรืออาจไม่ได้เห็นภาพใหญ่เท่ากับผู้บริหาร

งานวิจัยเมื่อปีกลายของสองอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อีธาน เบิร์นสไตน์ (Ethan Bernstein) และสตีเฟน เทอร์แบน (Stephen Turban) แทบจะฝังกลบความเชื่อดังกล่าวเสียมิด โดยสำรวจออฟฟิศของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากออฟฟิศ ‘คอกพนักงาน’ เป็นออฟฟิศ ‘ไร้กำแพง’ แถมวิธีการวิจัยไม่ใช่การให้กรอกแบบสอบถาม แต่คือการติดเครื่องมือล้ำสมัยที่สามารถบันทึกบทสนทนา พร้อมทั้งระบบอินฟราเรดว่าพนักงานคนดังกล่าวมีการปฏิสัมพันธ์กับพนักงานคนอื่นหรือไม่ เพื่อตอบคำถามวิจัยที่ว่า การทำลายการแบ่งพื้นที่จะทำให้พนักงานมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นหรือน้อยลง

ผลสรุปที่ได้ก็ขัดกับความเชื่อแบบหน้ามือเป็นหลังเท้า เพราะหลังจากที่ออฟฟิศปรับแพลนเป็นแบบเปิด พนักงานกลับมีปฏิสัมพันธ์ต่อหน้าน้อยลงถึงร้อยละ 70 แต่การพูดคุยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็นอีเมลหรือโปรแกรมแชทกลับเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 20-50 ผู้วิจัยอธิบายว่า สาเหตุอาจเกิดจากการโหยหา ‘ความเป็นส่วนตัว’ หลังจากที่กำแพงถูกทำลายไป พนักงานอาจรู้สึกว่าโดนตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา และมีแรงกดดันจากเพื่อนร่วมงานให้ต้องทำตัวยุ่งอยู่เสมอ

ความเข้าใจดั้งเดิมที่ว่าแค่เอากำแพงลงก็ทำให้พนักงานเปิดใจคุยกัน นำพาความสำเร็จสู่องค์กรนั้น อาจเป็นเรื่องราวสูตรสำเร็จที่เหล่าผู้บริหารเข้าใจกันไปเอง โดยลืมมองมิติความเป็นมนุษย์ที่สลับซับซ้อน

อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่ได้ดูสวยหรูนักสำหรับออฟฟิศแบบไร้กำแพงกั้น คือสัดส่วนพื้นที่ต่อพนักงานหนึ่งคนที่สามารถลดได้อย่างฮวบฮาบ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่อาจมีพนักงานออฟฟิศหลักแสน การลดพื้นที่ทำงานในออฟฟิศเฉลี่ยคนละ 3-4 ตารางเมตร หมายถึงการลดต้นทุนค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างมหาศาล

สตาร์ตอัพอย่าง WeWork ผู้สนับสนุนพื้นที่ทำงานแบบเปิด รวมถึงพื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-Working Space) โดยให้บริการจัดสรรพื้นที่ในออฟฟิศให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยการจัดสรรพื้นที่ของ WeWork นั้นสามารถลดพื้นที่ใช้สอยเหลือเพียง 7 ตารางเมตรต่อพนักงานหนึ่งคน จากปกติอยู่ที่ราว 18 ตารางเมตรต่อพนักงานหนึ่งคน

เว็บไซต์ WeWork ออฟฟิศโซลูชันส์สำหรับบริษัทหลากขนาด การจัดสรรพื้นที่ดังกล่าวช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการพื้นที่ออฟฟิศแบบดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกัน พนักงานก็อาจต้องเผชิญกับผลกระทบด้านลบต่างๆ จากการจัดพื้นที่ออฟฟิศใหม่ที่แทบไร้ความเป็นส่วนตัว

เจอตัวเลขแบบนี้เข้าไป เป็นใครก็ตาลุกวาวทั้งนั้นแหละครับ!

หากยอมปิดตาข้างหนึ่ง การสร้างออฟฟิศใหม่นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ บริษัทยังได้ภาพลักษณ์เก๋ไก๋ทันสมัยไว้ดึงดูดแรงงานคนรุ่นใหม่ แม้ว่าผลลัพธ์จากงานวิจัยจะบอกว่าไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างความร่วมมือหรือนวัตกรรม แถมยังเสียงดังจนน่าปวดประสาทก็เถอะ

 

เอกสารประกอบการเขียน

Tags: , ,