ตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 จวบจนถึงวันนี้ นับเป็นเวลากว่า 2 เดือน ที่ประเทศไทยมีตัวแทนคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายลูกจ้างจาก ‘การเลือกตั้ง’ เป็นครั้งแรก คำกล่าวที่ว่า “ผมต้องการให้ประกันสังคมเป็นหลังพิงของคนธรรมดา ที่ไร้ซึ่งอภิสิทธิ์” ของ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนผู้ลงเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ในฐานะผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง กลายเป็นประโยคกินใจผู้ประกันตน นำมาสู่ปรากฏการณ์ ‘แลนด์สไลด์’ ของทีมประกันสังคมก้าวหน้าในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา 

หากมองให้ลึก วลีกึ่งฝันกึ่งหวังของษัษฐรัมย์สะท้อน ‘ภาพจริง’ ของประกันสังคม ที่ซึ่งอดีตกลายเป็นสนามเด็กเล่นของกลุ่มผู้มีอำนาจ เป็นแดนสนธยาที่ไม่มีใครรู้นอกรู้ใน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากระบบรัฐราชการที่เป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลังระบบประกันสังคมมาอย่างยาวนาน และหากนับจากปีเริ่มต้นประกันสังคม พ.ศ. 2534 ประกันสังคมก็กลายเป็น ‘บ่อน้ำ’ ดึงดูดกลุ่มผลประโยชน์เข้าไปแสวงหาอำนาจ ขณะที่ ‘ผู้ประกันตน’ ราว 20 ล้านคนทั่วประเทศ มีสถานะราวกับเป็น ‘ผู้ขอใช้บริการ’ สิทธิ-สวัสดิการต่างๆ เข้าถึงอย่างยากเย็น สิทธิการรักษาพยาบาล ‘ด้อยกว่า’ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เกิดขึ้นภายหลังอย่างเห็นได้ชัด 

แม้ในวันนี้ประกันสังคมจะเข้าใกล้ประชาธิปไตย (ขึ้นมาอีกนิด) จากการเปิดทางของฝ่ายการเมืองและระบบราชการให้ผู้แทน 7 คน จากคณะกรรมการประกันสังคมมาจากการเลือกตั้งโดยผู้ประกันตน และผู้แทนอีก 7 คน มาจากการเลือกตั้งโดยเจ้าของกิจการ-นายจ้าง แต่การเป็น ‘แดนสนธยา’ เดิมที่ถูกทิ้งไว้  ไล่ตั้งแต่ข้อกังขาเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการกองทุนมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท ความด้อยประสิทธิภาพของระบบสวัสดิการของประชาชน ไปจนถึงการเดินหน้าทำงานของคณะกรรมการสัดส่วน ‘ลูกจ้าง’ ยังเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ และจับตาต่อไป

ภายหลังได้รับมอบ ‘ดาบ’ จากประชาชน ภายหลังจากบทบาทของเขาเปลี่ยนไป จากผู้วิจารณ์นอกสนาม กลายเป็นผู้ ‘แบก’ ความหวังของผู้ประกันตนในการเข้าไปสะสางเรื่องปวดหัวร้อยแปดพันเรื่องในองค์กร The Momentum ชวน ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี พูดคุยถึง ‘ประกันสังคม’ ที่เขามองเห็น ในห้วงเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะผู้ประกันตน โอกาสในการปรับเปลี่ยนประกันสังคมให้เป็นระบบ เป็นสวัสดิการที่โอบรับคนมากขึ้น และประเมินเรื่องราวยากลำบากในอีก 2 ปี ที่ต้องเผชิญในฐานะ ‘บอร์ด’ นับจากนี้

ในฐานะตัวแทนผู้ประกันตน คุณมีประสบการณ์กับระบบประกันสังคมอย่างไรบ้าง 

ลูกสาวของผมเพิ่งคลอด 27 ธันวาคมที่ผ่านมา พอดีกับช่วงเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ในตอนนั้นผมยื่นเบิกประกันสังคมทั้งค่าคลอด เงินเลี้ยงดูบุตร และค่าฝากครรภ์ ค่าฝากครรภ์ได้ 1,500 บาทเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก แถมยังเบิกได้แค่ครั้งละ 300 บาท เพราะอยากจูงใจผู้ประกันตนไปฝากครรภ์ ถ้าให้ครั้งเดียวเดี๋ยวไม่มีใครไปฝาก 

ส่วนค่าคลอดต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่าคลอดตามจริงก็เกินจากเงินคลอดบุตรที่ประกันสังคมให้ที่ 1.5 หมื่นบาท  เพราะภรรยาผมต้องผ่าตัด จากนั้นก็คอยเงินประกันสังคมอยู่เดือนหนึ่ง

ที่พีคสุดๆ คือเงินเลี้ยงดูบุตรที่ได้แค่ 800 บาท แต่กลับใช้เวลาถึง 3 เดือนกว่าจะได้เงิน ซึ่งในความเป็นจริง สวัสดิการตรงนี้ไม่จำเป็นต้องเช็กอะไรเลย เพราะเด็กเกิดมาแล้ว นี่ขนาดมีเลขสูติบัตร มีเลขบัตรประชาชนของเด็กแล้ว ยังใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะได้เงิน ซึ่งถือว่าช้า

มีช่วงหนึ่ง ผมเป็นภูมิแพ้หายใจติดขัด ทีแรกพบหมออายุรกรรม ก่อนจะส่งไปพบหมอเฉพาะทางและให้ยา หากยังไม่หายก็จะให้พบหมอเฉพาะทาง แต่นัดอีกที 2 เดือนหน้า คิดในใจตอนนั้นผมคงหายแล้ว ผมว่ามันเป็นปัญหาการบริหารจัดการ และระบบตรวจสอบ 

ทราบหรือไม่ว่า สาเหตุความล่าช้านั้นมาจากไหน

ด้วยความที่ประกันสังคมมีความเป็นระบบราชการ เป็น ‘คอขวด’ จึงมีปัญหาตามมา ทั้งการประชาสัมพันธ์ การบริหาร การสื่อสาร มันทำให้หลายอย่างดูล้าช้า ผลักดันได้ไม่เต็มที่ 

เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ คนทำงานในประกันสังคมเป็นข้าราชการ ไม่มีใครใช้สิทธิประกันสังคม ผมไม่ได้หมายความว่า เป็นข้าราชการจะไม่เข้าใจประกันสังคมนะ แต่ผมเชื่อว่าการบริการ และการจัดการของประกันสังคมยังมีปัญหาอีกมาก ที่สำคัญเมื่อมันไม่ถูกเปิดเผย ปัญหาที่ตามมาคือ ‘ความโปร่งใส’ เมื่อไม่เปิดเผย คนก็ตั้งคำถามกับความเป็น ‘แดนสนธยา’ ในประกันสังคม

ก่อนหน้านี้ หลายคนมองว่าประกันสังคมเป็นสิ่งน่าภาคภูมิใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปบัตรทองกลับกลายดูซิวิไลซ์กว่า อะไรเป็นปัจจัยต่อการพัฒนาของประกันสังคม

ประกันสังคมอยู่กับคนทำงานมานาน และอยู่มาก่อนบัตรทอง การมาของบัตรทองช่วงปี 2544 ยังมีกระแส “30 บาทตายทุกโรค” ส่วนคนในระบบประกันสังคมกลับรู้สึกภูมิใจในสิทธิรักษาพยาบาลของตัวเอง รู้สึกโอเคกับการเดินเข้าโรงพยาบาลเอกชน แต่ก็มีจุดพร่องหนึ่งที่เป็นปัญหา คือการใช้ประกันสุขภาพของเอกชนควบคู่ประกันสังคม ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น เพราะมาตรการของประกันสังคมถูกออกแบบให้ครอบคลุมทั้งหมด โดยที่คุณไม่ต้องสำรองจ่าย หรือใช้ประกันของเอกชนเพิ่ม พอมีกรณีใช้ประกันควบคู่กัน บางโรงพยาบาลจะหัวใส 

อย่างกรณีของผม บางโรงพยาบาลใช้ประกันสังคม แต่หากเรามีประกันสุขภาพเอกชนเป็นของตัวเองด้วย เราสามารถเดินไปเจอหมอเฉพาะทางได้เลย กลายเป็นว่าโรงพยาบาลได้ทั้งสองทาง ที่สำคัญผู้ประกันตนก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าการทำแบบนี้เป็นเรื่องแย่ แต่สิ่งนี้แหละที่ทำให้ประกันสังคมไร้แรงจูงใจในการพัฒนาตัวเอง 

ระบบประกันสังคมมีปัญหาหรือเปล่า จึงทำให้ประกันสังคมดูแย่ในสายตาผู้ประกันตน

ผมมีโอกาสคุยกับกองบริหารการแพทย์ และเห็นความตั้งใจของเขา แต่ต้องเรียนตามตรงว่า โดยฐานะของสำนักงานประกันสังคม มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อดูแลการรักษาพยาบาลขนาดนั้น 

หากเทียบกับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เอาเฉพาะกองแพทย์ มีแพทย์เต็มเวลานั่งอยู่ในนั้นเพื่อจัดการการรักษาโดยเฉพาะหรือเปล่า ประกันสังคมใช้วิธีจ้างที่ปรึกษาเข้ามาตรวจสอบเรื่องต่างๆ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันว่า เมื่อประกันสังคมมาถึงจุดที่เรามี สปสช.ด้วย เราสามารถใช้ความชำนาญด้านการบริหารจัดการของ สปสช.แทนได้ไหม  

แต่เท่าที่ผมดูเจ้าหน้าที่หน้างาน เขาไม่ได้ขี้เกียจหรือไม่ทำงาน ผมเห็นกองแฟ้มตั้งวางตรงนั้นเป็นตั้งๆ ทว่าระบบการจัดการทุกอย่างของประกันสังคมมันเป็นแบบคอขวด ดูแลโดยระบบราชการ เมื่อคุณวินิจฉัยสิ่งนี้ไปแล้ว ก็จะมีผลผูกพันอีกเป็นทอดๆ เช่น กรณีผู้ป่วยสำรองจ่ายค่าฟอกไต บอร์ดแพทย์ต้องอนุมัติการรักษา เพราะการฟอกไตมีค่าใช้จ่ายสูง นี่เป็นตัวอย่างปัญหาการสำรองจ่ายค่ารักษาอันเกิดจากการทำงานแบบระบบราชการ 

ในส่วนความผิดพลาดอื่นๆ จากการรักษาพยาบาล ผมขอออกตัวว่ามันเป็นปัญหาทั้งระบบ และไม่ได้เป็นปัญหาแค่ประกันสังคมเท่านั้น สปสช. หรือสวัสดิการราชการก็มีปัญหาเช่นกัน ต่อให้เป็นประกันเอกชน ไม่ว่าระบบจะดีขนาดไหน ประเทศไทยก็มีหมออยู่เท่านี้ เมื่อมีหมอจำกัด เราจะยังคงเห็นหมอขอบตาดำเพราะทำงานมา 24 ชั่วโมงอยู่ดี 

แต่ตอนนี้บัตรทองดีแล้ว กลายเป็นว่าคนเริ่มเมินหน้าหนีประกันสังคม

โดยอุดมคติ ผมอยากให้ทั้งประเทศมีระบบการรักษาพยาบาลระบบเดียว เดิมทีเมื่อ 20 ปีที่แล้วผมใช้สิทธิราชการเพราะเป็นอาจารย์ ตอนนี้ผมใช้สิทธิประกันสังคม ส่วนภรรยาผมใช้บัตรทอง ผมเองสัมผัสได้ว่าบัตรทองก็ดีกว่า บัตรทองสามารถเข้าถึงคลินิกปฐมภูมิ รับยาที่บูธหรือวัตสันได้ แต่การทำฟันมีการดีเบตเมื่อสักสองเดือนก่อน ประกันสังคมระบุว่า เป็นเรื่องยากหากจะมองว่าสิทธิทำฟันของ สปสช.ดีกว่า เพราะประกันสังคมเดินเข้าคลินิกทำฟันไหนก็ได้ แม้บัตรทองจะทำทันตกรรมได้ แต่ก็ต้องรอคิว ผมได้พูดคุยกับทันตแพทยสภา เขาบอกว่าจำนวนหมอฟันในระบบ สปสช.ไม่เพียงพอ ยิ่งหมอฟันน้อยผู้ป่วยยิ่งต้องรอคิวนาน 

แต่สิ่งที่ประกันสังคมทำไม่ได้ แต่ระบบ สปสช.ทำได้ คือการที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเราจำเป็นต้องทำทันตกรรม คุณก็จะได้รับบริการนั้นอย่างเต็มที่ตามแนวทาง สปสช. จากการพูดคุยกับทันตแพทยสภา สปสช.ต่อสู้อยู่นานกว่าผู้มีอำนาจจะเข้าใจว่าการทำฟันไม่ใช่การเสริมสวย เมื่อสักสิบปีก่อน ขณะที่บอร์ดประกันสังคมไม่มีช่องหรือโอกาสในการพูดคุยประเด็นพวกนี้เลย มันจึงถูกจำกัดสิทธิต่างๆ 

ก่อนเลือกตั้งประกันสังคม คนในประกันสังคมชอบอวยกันเองว่าระบบของเราดีที่สุดแล้ว มองว่าระบบนี้สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากมายมหาศาล 

บอร์ดประกันสังคมไม่เหมือน ส.ส. ไม่เหมือนนายกอบจ. ไม่เหมือนรัฐมนตรีหรือนายกฯ เราไม่ได้ทำงานบริหาร ไม่มีอำนาจแม้แต่โหวตกฎหมายด้วยซ้ำ เรามีหน้าที่ในการอนุมัติเรื่องสำคัญที่ส่งมา การบริหารยังเป็นหน้าที่ของราชการ มันจึงมีข้อจำกัด แต่จากนี้ไปก็จะเป็นอีกโหมดหนึ่ง ทีมประกันสังคมก้าวหน้าผลักดันให้มีการตั้งอนุกรรมการต่างๆ และกรรมการจะเป็นตัวผลักดันประเด็นปัญหาอย่างก้าวหน้า ซึ่งคิดว่าครึ่งปีหลังนี้ เราจะเห็นรูปธรรมของนโยบายที่เราหาเสียงเอาไว้

หลายคนฝากผีฝากไข้กับประกันเอกชน หรือประกันระบบอื่นๆ ที่มีความเฉพาะในการดูแลสุขภาพ 

การเปลี่ยนการรักษาพยาบาลคงไม่เป็นปัญหา ดีด้วยซ้ำหากเรามีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลสุขภาพร่างกายของเรา โดยเฉพาะประกันสังคมจะนำทรัพยากรมาจัดการเรื่องอื่นที่สำคัญ เช่นบำนาญ

แล้ววิกฤตการเกิดใหม่ที่ต่ำลงจะกระทบกองทุนหรือไม่

ปัญหาอัตราการเกิดต่ำเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศโซนยุโรปเผชิญปัญหานี้มาก่อนเรา ทว่าสวัสดิการของยุโรปยังคงให้มากกว่าเราอยู่ บางคนอาจบอกว่า ก็เพราะประชาชนของเขาสมทบกองทุนเยอะ แต่จริงๆ อัตราการสมทบก็ใกล้เคียงกันกับเรา เมื่อเทียบกับรายได้ 

เรื่องหนึ่งที่คนกังวลเมื่อเกษียณอายุ คือ ‘กองทุนล้มละลาย’ ผมอยากชวนมองว่า สิ่งนี้เป็นเพียงฉากทัศน์หนึ่งจากการเดาตามข้อมูล ยังมีข้อมูลอีกมากที่เราไม่เคยเอามาประกอบ เช่น เมื่อผู้ประกันตนหญิงต้องคลอดลูก เราลงไปดูหรือไม่ว่าแรงงานหญิงกลุ่มนี้กลับมาทำงานกี่คน นี่คือส่วนที่เราเสียไปนะ เพราะประเทศนี้ระบบการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร หรือการดูแลผู้สูงอายุจัดว่าแย่ เมื่อระบบการดูแลคนตั้งครรภ์ และระบบดูแลครอบครัวแย่ ผ่านไปหกเดือน หรือปีหนึ่ง ผู้หญิงที่คลอดลูกแล้วแต่ไม่มีเวลาดูแลลูกหลานก็ลาออกจากงาน พวกเราเสียเงินหลังเข้าประกันสังคมไป 30 ปี ลองนึกถึงผู้หญิงอายุ 27 ที่ต้องลาออกจากงานมาขายของออนไลน์ ทำงานอิสระ เพื่อเลี้ยงลูกเต็มเวลา สิ่งที่เราจะเสียคือเงินที่จะได้จากหญิงรายนี้ปีละ 1.8 หมื่นบาทไป 30 ปี นี่คือสิ่งที่เราต้องคำนวณ 

ประกันสังคมไม่เหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถสมทบกองทุนได้ด้วยตัวเอง หลักการของประกันสังคมคือการปรับสวัสดิการของคนวัยทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อทำให้คนหนุ่มสาว คนทำงาน อยู่ในระบบนานมากขึ้น และนำเงินสมทบที่ได้ไปดูแลผู้สูงอายุต่อไป 

ข่าวคราวการล้มละลายของกองทุนประกันสังคมที่คุณว่าเป็นเพียงการ ‘เดา’ ด้านหนึ่ง สรุปแล้วมีมูลมากน้อยแค่ไหน 

ด้านหนึ่ง มันเป็นการคาดเดาของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งจริงๆ แล้วขณะนี้ประกันสังคมก็ยังเป็นช่วงขาขึ้น มีผู้สมทบมากขึ้นตลอด 

ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ก็มีปัญหาว่าคนจะล้นประเทศ คนไทยจะทะลุแปดสิบล้านคนแตะร้อยล้านคน เราจะไม่สามารถดูแลประชาชนได้ พอตอนนี้อัตราการเกิดต่ำลง ก็มีข้ออ้างใหม่ว่าเราจะไม่สามารถดูแลคนในประเทศได้ มันเป็นข้ออ้างมากกว่าการบอกว่า ทำได้หรือไม่ได้

อย่างที่บอกไป หากประกันสังคมสามารถปรับสิทธิประโยชน์ เพิ่มคนเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยเฉพาะสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ประกันสังคมถ้วนหน้า’ ก็จะดึงแรงงานอิสระเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่ปัจจุบันการเข้าสู่ระบบประกันสังคมยังเป็นไปด้วยความสมัครใจ และการจ้างงานจำนวนมากยังคงอยู่นอกระบบประกันสังคม

ในต่างประเทศมีภาษีเงินเดือน ส่วนประกันสังคมของไทยใช้คำว่า ‘การอุดหนุน’ หรือสมทบโดยนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ แต่สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือสิ่งนี้เป็น ‘ภาษี’ ไม่ใช่การสมทบ 

การจ้างงานอิสระที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 1-3% นายจ้างเองก็ควรจะถูกหักด้วย เช่นการจ้างช่างภาพอิสระ ที่กว่าบุคคลนั้นจะเติบโตมาทำอาชีพช่างภาพ เขาใช้ทรัพยากรของรัฐในการเกื้อหนุนเติบโต เมื่อมีการจ้างงานเกิดขึ้น ก็ให้ช่างภาพจ่ายภาษีในส่วนที่เขาต้องจ่าย ส่วนนายจ้างก็ต้องจ่ายในฐานะที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อนำมาเป็นประกันสังคมถ้วนหน้าให้ทุกคนที่มีอายุ 18-60 ปี ในระบบประกันสังคมต่อไป

เมื่อช่วงต้น คุณได้พูดถึง ‘แดนสนธยา’ ในประกันสังคม ปัจจุบันยังเป็นเช่นนั้นอยู่ไหม

เป็นครับ ลองไปดูสำนักงานใหญ่ประกันสังคมที่นนทบุรี ใหญ่โตมากๆ ถ้าดูอำนาจบริหารผ่านระบบราชการ มีอำนาจเกือบจะเป็นประเทศซ้อนประเทศ ทั้งการรักษาพยาบาล ด้านสาธารณสุข มีอำนาจจัดสวัสดิการเหมือนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีอำนาจการลงทุนเหมือนกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ แถมมีงบบริหารสำนักงานอีกกว่าห้าพันล้านบาท ยังไม่นับประกันสังคมในแต่ละจังหวัดแยกย่อย ซึ่งทำหน้าที่แทนกระทรวงมหาดไทย มีอะไรที่ประกันสังคมยังไม่ได้เปิดเผยให้ประชาชนเห็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เปิดมาแล้วเราจะเห็นแต่เรื่องแย่ๆ ข้างในนะ แต่ถ้าเปิดก็ดีกว่าปิด

ยืนยันแล้วว่าเราอยู่ในแดนสนธยา แล้วจะทำอย่างไรให้หลุดพ้น

ก็ตามที่เรียนไป คนในประกันสังคมอยู่กับคอมฟอร์ทโซนมานาน สิ่งที่เราจะทำคือการ ‘ทยอยเปิดเผย’ เพื่อให้เขาคุ้นชิน เช่นที่ทำไปแล้วในทีแรก เราเสนอขอถ่ายทอดสดการประชุมประกันสังคมไป ตัวผมที่เคยอยู่ในกรรมาธิการรัฐสภา ทางนั้นก็ถ่ายทอดสดการประชุมเหมือนกัน แต่สำหรับข้าราชการ การเปิดเผยการประชุมกลับเป็นเรื่องตื่นเต้นว่ามันจะเป็นอย่างไร เลยมีการต่อรอง โดยเริ่มจากการแถลงข่าวคราวประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง ส่วนสิ่งใดที่ได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว เช่น รายงานผลการศึกษาของอนุกรรมการ เมื่อนำเสนอต่อบอร์ดใหญ่ก็ให้ถ่ายทอดสดเฉพาะส่วนนั้นก่อนก็ได้ 

แต่ก็มีหลายคนกังวล เพราะในที่ประชุมมันมีการพาดพิงชื่อคน ชื่อบริษัท เดี๋ยวมันจะมีปัญหาอะไรต่างๆ ตามมา เลยเปิดเผยเท่าที่จะเปิดเผยได้ ซึ่งรายงานต่างๆ ก็ต้องเผยแพร่อยู่แล้ว

“อะไรบางอย่างที่ประกันสังคมยังไม่เปิดเผยให้ประชาชนเห็น” ที่คุณพูด รวมถึงการลงทุนของประกันสังคมที่ถูกตั้งคำถามบ่อยๆ ด้วยไหม

ใช่เลย อันดับแรกประกันสังคมมีปัญหาความโปร่งใส เมื่อมีปัญหาความโปร่งใสคนก็ตั้งคำถาม แต่ข้อเท็จจริงที่ผมต้องย้ำ คือการลงทุนมีได้กำไรและขาดทุนเป็นปกติ แต่เรื่องที่ไม่ปกติคือคนไม่รู้ว่าอะไรคือ ‘หลักเกณฑ์’ การลงทุน นี่เป็นเรื่องใหญ่ 

ผมลองไปดูกองทุนบำนาญของนอร์เวย์ เขาจะบอกไว้เลยว่ากองทุนจะลงทุนที่ไหนบ้าง และที่ไหนที่เขาจะไม่ลงทุน เช่น กองทุนนอร์เวย์ขึ้นบัญชีดำบริษัทแอร์บัสเพราะสนับสนุนการทดลองและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทำคนในประเทศไม่แฮปปี้ หรือกรณีบริษัทที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จะถูกขึ้นบัญชีไว้ ว่ากองทุนจะไม่ลงทุนในบริษัทดังกล่าว นี่คือความพยายามของกองทุนนอร์เวย์เพื่อผลักดันให้มีการเปิดเผยการลงทุน แต่ประกันสังคมของไทยเรายังไม่มี เมื่อเกิดปัญหาขึ้นคนจึงตั้งคำถาม อย่างกองทุนอสังหาริมทรัพย์เออร์บานา (URBNPF) ที่มีข่าวว่ามูลค่าจะเหลือศูนย์บาท คนก็ตั้งคำถามว่ามันเป็นกองทุนที่พิเศษอะไร ทำไมประกันสังคมถึงได้ถือไว้เป็นสิบปี ตั้งแต่หกบาทจนตอนนี้เหลือแปดสิบสตางค์ แล้วถือเยอะด้วย 

ณ ตอนนี้ มันยังผิดหลักประกันสังคม ประกันสังคมไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปบริหารจัดการด้วยตัวเอง เราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เราเชี่ยวชาญชำนาญการหาประโยชน์แก่ผู้ประกันตน คุณจะไปบริหารกองอสังหาฯได้ไง เมื่อไม่มีความรู้ด้านนี้ 

อีกเรื่อง คือการบริหารความเสี่ยงการลงทุน ควรต้องมีมาตรการว่า เมื่อเริ่มขาดทุนถึงเท่านี้แล้ว ควรจัดการอะไรยังไงเพื่อไม่ให้กองทุนติดลบไปมากกว่านี้ ซึ่งการบริหารความเสี่ยงมีทั้งเรื่องผลตอบแทน และความเสี่ยงด้านชื่อเสียง สมมติผมลงทุนในบริษัทหนึ่ง วันดีคืนดีบริษัทนี้มีข่าวว่าเบี้ยวเงินสมทบผู้ประกันตน มันส่งผลนะ เพราะประกันสังคมคือเงินของคนยี่สิบล้านคน มันมหาชนและยึดโยงกับผู้คนมาก หากลงทุนในษริษัทนี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์การลงทุนของประกันสังคมแน่นอน ประกันสังคมจึงต้องมีมาตรการจัดการ 

ขนาดผู้บริหารบริษัทมหาชนจำกัดทั่วไป ถ้ามีเรื่องอื้อฉาวขึ้นมายังมีมาตรการในการจัดการ มีการเตือนภัย ผมคิดว่าประกันสังคมก็มีนะ แต่จะบริหารงานตามมาตรการมากน้อยแค่ไหนนั้นก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ผมมองว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำให้ชัดเจน ไม่มีนอก ไม่มีใน ไม่ใช่ว่าผู้มีอำนาจจะมาเขียนโพสอิทว่าให้ลงทุนตัวนี้ตัวนั้นได้

เอาเข้าจริงๆ มันยาก เพราะพอร์ตประกันสังคมใหญ่มาก การไปมอนิเตอร์พอร์ตที่ใหญ่ครบทุกตัวขนาดนั้นก็ลำบาก สิ่งที่เราต้องทำให้ได้ คือการกำหนดสัดส่วนว่า ต้องไม่ให้มีกองที่มีความอื้อฉาวกี่เปอร์เซ็นต์ของการลงทุน อันนี้เป็นในภาพใหญ่ที่เราสามารถกำหนดมาตรการของเราขึ้นมา

เมื่อปกปิด คนภายนอกจึงมองไม่เห็น เมื่อมองไม่เห็น จึงไม่มีความสนใจและไร้ความยึดโยง แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน

ปัญหามาจากการสื่อสาร เดิมทีการทำงานแบบระบบไตรภาคีของประกันสังคม ก่อนจะมีระบบการเลือกตั้งก็จำกัดเฉพาะกลุ่มสหภาพแรงงานเดิมที่ไม่ได้ยึดโยงกับคนส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นหลักใหญ่ที่ต้องสื่อสารอะไรให้คนรู้ 

ผมมองว่า มันเป็นธรรมชาติของระบบสวัสดิการทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะไทย หากไม่ได้เป็นประเทศที่มีระบบสวัสดิการดี คนส่วนมากก็ไม่ได้คำนึงเรื่องพวกนี้เท่าไร แต่หากเป็นประเทศที่รัฐสวัสดิการยอดเยี่ยม เขาจะศึกษาเรื่องสวัสดิการตั้งแต่การศึกษาภาคบังคับ ขณะที่ไทยเราเรียนพุทธศาสนา แต่เด็กในสวีเดน เด็กในเดนมาร์ก ศึกษาเรื่องสวัสดิการ เขารู้ว่าหากเขาป่วยเขาต้องไปที่ไหน เขามีสิทธิอะไรบ้าง มันเป็นเรื่องที่สำคัญพอๆ กับความรู้ทางการเงิน ความรู้ด้านสวัสดิการของไทยในสังคมถือว่าต่ำ พนักงานออฟฟิศระดับบนๆ บางคนยังไม่รู้สิทธิ สวัสดิการของตัวเองเลย ผมว่าอันนี้เป็นปัญหาตั้งแต่ระบบการศึกษาแล้ว

คนไม่มีความรู้ด้านสวัสดิการ แบบนี้แล้วประกันสังคมจะลอยตัวหรือเปล่า

เรื่องประกันสังคมลอยตัว ผมมองเป็นสองด้าน คือเรื่องการรักษาพยาบาลซึ่งมันมีปัญหา แต่ถ้าเราได้ติดตามกลุ่มแม่ๆ ที่มีลูก กลุ่มคนวัยเกษียณ หรือผู้ทุพพลภาพ ประกันสังคมยังคงสำคัญ เพราะคนกลุ่มนี้ คือกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากประกันสังคมโดยตรง แต่อย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ คือการทำฟัน ซึ่งพนักงานออฟฟิศก็ใช้สิทธิประกันสังคมในการทำฟัน ส่งผลต่อภาพจำประกันสังคมที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

ภาพจำไม่ดีทำผู้ประกันตนถอดใจกับประกันสังคม และออกไปใช้สิทธิสวัสดิการอื่น การหายไปของผู้ประกันตนหนึ่งคนเท่ากับสูญเสียเงินสมทบ จะทำอย่างไร

ผมเคยทำงานวิจัยการยกระดับประกันสังคมสู่ประกันสังคมถ้วนหน้า สำหรับประเทศไทยประกันสังคมใช้ระบบสมัครใจ ไล่ไปตั้งแต่เจ็ดสิบบาท ร้อยบาท สองร้อยบาท สูงสุดสามร้อยบาท ตามมาตรา 40 

จากงานวิจัยของผมยืนยันว่า หากประกันสังคมยังใช้ระบบสมัครใจ บวกกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศอย่างไรก็ ‘ไม่เข้าท่า’ สมมติจ่ายประกันสังคมแค่ร้อยบาท แต่ร้อยบาทสำหรับแม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งมันสำคัญนะ  ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีเงิน แต่เขาอาจจะคิดว่า หนึ่งร้อยบาทนี้หากเอาไปเติมน้ำมัน มันจะทำให้เขาสามารถขายลูกชิ้นได้อีกสามร้อยบาท ซึ่งมันมีประโยชน์มากกว่า 

คนเงินหมุนเดือนต่อเดือน คือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ในแง่เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม คนกลุ่มนี้ไม่ควักเงินหนึ่งร้อยบาทเพื่ออนาคตหรอก เพราะฉะนั้น ‘รัฐ’ จึงต้องเข้ามาจัดการ จะจัดการหลังบ้าน จัดการผ่านภาษีวัตถุประสงค์เฉพาะ หรือผ่านอะไรก็ตามแต่ แต่ต้องให้คนมีระบบประกันสังคมยืนพื้น รายได้อาจมาจากภาษีเงินเดือน หรืออะไรก็ตามที่เราได้ออกแบบไว้ ผมเคยประเมินว่าน่าจะใช้งบปีนึงประมาณห้าหมื่นล้านบาท เพื่อทำให้คนทำงานมีระบบประกันสังคมถ้วนหน้า

แรงงานในมาตรา 33, 39 ก็ให้ใช้ประกันสังคมถ้วนหน้า ไล่ไปจนถึงข้าราชการที่สามารถใช้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามประชาชนจะมีระบบนี้ยืนพื้นอยู่ รูปธรรมอาจจะคล้ายๆ สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 40 ทั้งการชดเชยรายได้ ชดเชยความเสียหายจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ กระทั่งชดเชยการตั้งครรภ์ และการสูญเสียรายได้

นี่คือครั้งแรกที่ประกันสังคมคัดสรรตัวแทนผู้ประกันตนโดยวิธี ‘เลือกตั้ง’ สิ่งนี้เปลี่ยนประกันสังคมไปมากขนาดไหน

เยอะเลย ประกันสังคมหมดเงินกับโฆษณาแต่ละปีเยอะมาก แค่ปฏิทินประกันสังคมในแต่ละปีก็ห้าสิบล้านบาทแล้ว ไหนจะผลิตวารสารประกันสังคมอีก 4.5 แสนเล่มรวม 12 ล้านบาท เงินประกันสังคมหมดไปกับเรื่องพวกนี้ แต่จัดการเลือกตั้งจ่ายไปสองร้อยล้าน อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ประชาชนได้เดินเข้าไปในประกันสังคม ได้เห็นว่าประกันสังคมมันเก่าขนาดไหน หลังเลือกตั้งคนกลับมาสนใจประกันสังคมมากขึ้น ติดตามว่าเกิดอะไรขึ้นกับประกันสังคม สื่อมวลชนกระแสหลักหรือสื่อใหม่ๆ ต่างให้ความสนใจ

แต่ก่อนกระทรวงแรงงานมีแต่ข่าวแจก ข่าวปล่อย ไม่มีนักข่าวมาประจำน่าจะสักสิบปีได้ แต่พักหลังข่าวหลายสำนักก็เริ่มมีพาร์ทติดตามประกันสังคม กับกระทรวงแรงงานมากขึ้น ซึ่งก็เป็นผลมาจากการเลือกตั้ง 

หลังการเลือกตั้ง ทีมประกันสังคมก้าวหน้าจะเริ่มปัดกวาดจากตรงไหน

เรื่องที่สามารถเริ่มทำได้เลย คือความโปร่งใส ซึ่งบางอย่างอยู่ในอำนาจบอร์ดประกันสังคมอยู่แล้ว บอร์ดคนหนึ่งมีรายงานการประชุม บอร์ดคนหนึ่งมีรายงานงบการเงิน และประกันสังคมต้องเผยแพร่ แต่ประกันสังคมทำขั้นต่ำเพียงปีละครั้ง ส่วนนี้เราได้เริ่มทำไปแล้วเพราะอยู่ในอำนาจของบอร์ด เมื่อเราเห็นอะไรในประกันสังคมเราก็เอาออกมาเผยแพร่ อนุกรรมการจังหวัดเห็นเรื่องนี้ก็เอามาเผยแพร่  ประชาชนต่างจังหวัดสามารถมีส่วนร่วมมากน้อยภายใต้กลไกตัวนี้ ความโปร่งใสเป็นเรื่องที่เราเริ่มทำไปแล้ว

ด้านการลงทุน และสิทธิประโยชน์เป็นก้าวต่อไปที่จะตามมา มีหลายสิทธิประโยชน์ที่ดูแล้วสามารถขยับได้ เช่น คนเกิดน้อย ก็เพิ่มเงินชดเชยค่าคลอดบุตร เพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตร เพื่อเก็บงานเอาให้แม่ของเด็ก จะได้ต้องลาออกจากงานหลังคลอด เมื่อไม่ต้องลาออกเขาจะได้ส่งประกันสังคมต่อไป เช่นเดียวกับการลงทุน ถ้าประกันสังคมสามารถบริหารได้อย่างโปร่งใส กำไรเพิ่มขึ้นสัก 1% ส่วนนี้ก็จะกลับมาสู่สิทธิประโยชน์หลายอย่างตามที่ผมย้ำเช่นเดียวกัน

ส่วนบำนาญอาจต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะมันเป็นส่วนที่คำนวณลำบาก และผูกพันระยะยาว

มีคำกล่าวที่ว่า “เราเรียกร้องมากไปไหม สงสารนายจ้างบ้าง” 

นายจ้างเขาก็ต้องอยากได้สิทธิประโยชน์เพิ่มสิ (หัวเราะ) 

มันเป็นสวัสดิการให้แรงงานของเขา นายจ้างเองก็ต้องจ่ายด้วย เหตุใดจึงไม่อยากให้สิทธิประโยชน์เพิ่มล่ะ อันนี้ชวนมองกลับ หากคุณไปคุยกับนายจ้างจริงๆ ที่ไม่ใช่เป็นนายจ้างในทวิตเตอร์ กับคนเบียวนายจ้าง หรือแอคหลุมเซฟเจ้าสัว 

อย่างในโรงงานสิ่งทอหญิงล้วนมีคน 2,000 คน มีคนท้องปีละ 5 จาก 2,000 คน จำนวนมันไม่ได้เยอะ มันไม่ได้ทำให้กระบวนการผลิตย่ำแย่ ขณะเดียวกัน มีผลสำรวจจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลว่า หากถามเพื่อนในแผนกเดียวกันในช่วงที่เพื่อนลาคลอด มโนของชาวทวิตเตอร์อาจจะต่อคนลาคลอดคือ “เพื่อนต้องเกลียดแน่เลย เพราะต้องมาทำงานแทน” แต่หากไปถามคนทำงานจริงๆ เขากลับมองว่า “ก็ลาสิ ชีวิตนึงมันจะมีสักกี่ครั้ง” เพราะนี่คือมนุษย์ มันมีความเห็นอกเห็นใจกัน ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง นายจ้างที่กดขี่ ใช้แรงงานเหมือนทาสก็มี แต่มีเป็นส่วนน้อย ไม่งั้นสังคมเราไม่พัฒนาหรอก เช่นเดียวกับลูกจ้างที่หมั่นไส้เพื่อนร่วมงานเมื่อลาคลอด ก็อาจจะมีเหมือนกัน แต่ผมว่ามันส่วนน้อย คนส่วนมากเห็นอกเห็นใจกัน และต้องการเห็นสังคมที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน นี่คือภาพความเป็นจริง 

ช่วยย้ำอีกสักครั้ง ประกันสังคมเป็นสวัสดิการสำหรับใคร 

อย่างที่ผมย้ำ ประกันสังคมคือสวัสดิการของ ‘คนธรรมดา’ คนที่ไม่มีอภิสิทธิ์ชน ประกันสังคมเติบโตมาพร้อมนักต่อสู้ประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไม่ได้มาจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มีมันสมองเลิศล้ำ หรือนักการเมืองใจดี มันมาจากการต่อสู้ของคนธรรมดา ที่มาทำให้คนธรรมดาอย่างเราสามารถคิดฝันการรักษาในโรงพยาบาลได้ มีเงินดูแลลูก มีบำนาญยามแก่เฒ่า นี่คือสิ่งที่ประกันสังคมได้เดินหน้ามา

แต่ประกันสังคมต้องเดินหน้าต่อไป และนอกจากบอร์ด สิ่งที่จะขับเคลื่อนประกันสังคมให้เดินหน้า คือการสังเกต และการติดตามของผู้ประกันตน จากการการบรรยายกับพรรคการเมืองต่างๆ เท่าที่สังเกต คนสนใจประกันสังคมเยอะมาก ประกันสังคมอาจเป็นหน่วยงานราชการที่คนใกล้ชิดมากที่สุดในแง่ ‘ชีวิต’ เมื่อคุณเกิด แก่ เจ็บ ตาย คุณก็มาที่ประกันสังคม เพราะงั้นเราต้องพยายามผลักดันและกดดันให้มันดีขึ้น เพราะประกันสังคมไม่ได้หล่นลงมาจากฟากฟ้า

ถ้าให้ผมออกตัว ผมยังไม่ได้ทำอะไร แต่เราจะเห็นการแข่งขันและการสื่อสารเชิงนโยบาย ได้เห็น สปสช.และประกันสังคมแข่งกันขยับ ประกันสังคมสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น อาจจะดีบ้าง บ้งบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการเลือกตั้ง คนนับล้านมาสนใจเรื่องนี้ มีความคาดหวัง เป็นกำลังใจบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อผลักดันสวัสดิการให้พวกเขา 

ผมคิดว่าข้าราชการไม่ใช่กลุ่มที่เลวร้าย พวกเขาก็อยากให้ประกันสังคมดีขึ้นเช่นกัน ถ้ามีแรงสนับสนุนจากประชาชนช่วยกันผลักดัน ผมมองว่านี่คือสิ่งที่คนต้องการ และการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้

‘ภาพฝัน’ ประกันสังคมของคุณเป็นอย่างไร

เป็นเรื่องเรื่องพื้นฐานแบบที่ผมบอก คือสวัสดิการสำหรับคนธรรมดา ทำให้ประกันสังคมเป็นขาหนึ่งของหรือเป็นก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ คือสวัสดิการของคนวัยทำงานที่เป็นรูปธรรมในวัย 18-60 ปี เป็นสวัสดิการของเด็กเกิดใหม่ทั้งแบบตั้งใจ และไม่ตั้งใจ แต่เป็นสิ่งสามัญสำหรับเขา หรือเป็นสวัสดิการสำหรับคนที่ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากเขามีลูก ท้อง ว่างงาน ชรา หรือเจ็บป่วย 

มีตอนหนึ่งในซีรีส์ The Crown ฉากที่คนว่างงานบุกเข้าไปในห้องนอนของพระราชินี ในยุคนายกรัฐมนตรี มากาเรต แทชเชอร์ (Margaret Thatcher) สิ่งที่แทชเชอร์ทำกับคนอย่างเขา คือการไม่อนุญาตให้แก่ ไม่อนุญาตให้ว่างงาน เรียนหนังสือ หรือมีความฝัน เขาไม่ถูกอนุญาตให้เป็นคน เนื่องจากแทชเชอร์ตัดสวัสดิการของประชาชนทั้งหมด กลายเป็นว่าคุณต้องให้เขาแสตมป์เพื่อยืนยันว่าคุณจนเพียงพอที่จะได้สวัสดิการ 

นี่คือสิ่งที่มันเป็นอยู่ในสังคมไทย คุณต้องผ่านการ ‘อนุญาต’ เพราะงั้นประกันสังคมที่ผมอยากเห็นคือคุณไม่ต้องถูกอนุญาตให้คุณเป็นมนุษย์ คุณสามารถป่วยได้ คุณสามารถว่างงาน คุณสามารถออกจากงาน คุณสามารถขี้เกียจ คุณสามารถมีลูก ลูกของคุณสามารถวิ่งตามความฝัน เราคงไม่ต้องเป็นประเทศควรจะเห็นสัญญาณกันขโมยเกาะที่กระป๋องนมผงในร้านสะดวกซื้อเพียงเพราะนมเป็นสินค้าที่ถูกขโมยมากที่สุด นี่ไม่ใช่ประเทศที่เราอยากเห็น 

Fact Box

  • ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้ง ‘ปีกแรงงาน’ พรรคอนาคตใหม่ ว่ากันว่าหากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จัดตั้งรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อของษัษฐรัมย์จะปรากฏในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  • นอกเหนือจากการเป็นคณะกรรมการประกันสังคมฝั่งตัวแทนลูกจ้าง ษัษฐรัมย์เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยด้านรัฐสวัสดิการ และผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐสวัสดิการ 
  • อดีตเขาเคยเป็นข้าราชการ และปัจจุบันเป็นแรงงานตามมาตรา 33 ส่งผลให้ษัษฐรัมย์มีประสบการณ์ใช้ประกันสุขภาพมาแล้วทั้ง 2 ลักษณะ คือสิทธิข้าราชการและประกันสังคม
  • ปัจจุบัน ษัษฐรัมย์เป็นหนึ่งในทีม ‘ประกันสังคมก้าวหน้า’ ซึ่งได้รับคะแนนเสียงจากผู้ประกันตนมาเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งประกันสังคมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567
Tags: , , , , , ,