ในวันฟ้าโปร่งของวันที่ 26 เมษายน 2567 เวลาราวเที่ยงวัน ใครหลายคนอาจจะตื่นเต้นกับปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับกรุงเทพมหานคร หรือ ‘ปรากฏการณ์ไร้เงา’ ทำให้เงาของวัตถุที่ถูกแสงแดดตกกระทบอยู่เพียงใต้วัตถุเท่านั้น

และหากพูดถึงอุณหภูมิความร้อน ก็จะพบว่าอุณหภูมิของกรุงเทพฯ สูงเกือบ 40 องศาเซลเซียส จึงไม่แปลกใจที่ใครหลายคนคงเลือกที่จะอยู่บ้านเปิดเครื่องปรับอากาศ​ หรือเลือกจะไปเดินเล่นในศูนย์การค้าเพื่อหนีคลื่นความร้อนจากดวงอาทิตย์

ถึงอย่างนั้นในมหานครแห่งนี้ ไม่ได้มีแค่ประชาชนที่มีทางเลือกหลบร้อนในวันที่ไร้เงา แต่หากยังมีกลุ่มคนไร้บ้าน ที่กำลังประสบปัญหานี้ไม่ต่างกัน เพียงแต่พวกเขาไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะคลายร้อนเฉกเช่นเดียวกันคนอื่นๆ

ทีมข่าว The Momentum ลงพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ยาวไปจนถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อสำรวจการใช้ชีวิตของคนไร้บ้านว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไรในวันที่ร้อนระอุเช่นนี้

‘เทียน’ หญิงไร้บ้านวัย 42 ปีเล่าให้ฟังว่า อยู่แถวใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเพราะมีห้องน้ำและมีจุดบริจาคอาหารของมูลนิธิกระจกเงาที่ทำให้พอประทังชีวิตได้ อีกทั้งยังสะท้อนปัญหาการไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงชีพของคนไร้บ้าน

“คนพวกนี้ไม่มีบัตรประชาชนกันหรอก จะไปทำก็เสียเงิน จะไปหางานได้จากที่ไหนกัน ไม่มีบัตร เขาก็ไม่รับทำงาน”

“แล้วร้อนแบบนี้ไปอยู่ตรงไหนกัน” เราถามกลับ

“ก็อยู่ใต้สะพานบ้าง ใต้ต้นไม้บ้าง เพราะแดดมันแรงมาก” เทียนให้คำตอบถึงวิธีคลายร้อนของพวกเขา ก่อนที่จะเดินเข้าคิวไปรับอาหารที่มีกลุ่มอาสามามอบให้

ถัดมาจากสะพานพระปิ่นเกล้าไม่ใกล้ไม่ไกล บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือตรงข้ามโรงละครแห่งชาติ ‘เพ็ญ’ หญิงสาววัย 50 ปีกำลังนำเสื้อผ้าของตนออกมาตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค

ภายหลังทราบว่า เธอเพิ่งเดินทางมาจากจังหวัดสระแก้ว ทำอาชีพรับจ้างขนมันฝรั่งมาก่อน แต่รู้สึกว่าชีวิตยังไม่ได้หลุดพ้นจาก ‘ความเป็นทาส’ จึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไขว่คว้าหาโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ความมุ่งมั่นนั้นก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง

“วันแรงงานนี้จะเดินทางไปขอพรย่าโมที่โคราช ให้ชีวิตประสบความสำเร็จ” เพ็ญกล่าว

“แล้วจะไปเมื่อไรครับ” เราถามกลับ

เพ็ญตอบคำถามเราด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ “ก็ไม่รู้เหมือนกัน รอวันที่จักรวาลเปิด ถึงเวลาเขาก็จะให้เราไปได้เองนั้นแหละ” ก่อนที่เธอจะเก็บเสื้อผ้าที่ตากไว้และเดินทางไปฝั่งสนามหลวง เพื่อแยกย้ายกับทีมของเรา

เรายังคงเดินเท้าต่อไปถึงบริเวณหน้าวัดบุรณศิริมาตยาราม ริมคลองหลอด ก่อนจะพบกับ ‘เอก’ ที่นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ข้างตัวมีรถเข็นบรรทุกถุงใส่เสื้อผ้าพะรุงพะรัง

เราเข้าไปทักทายอย่างเป็นมิตรเพื่อพูดคุยกับเขาว่าทำไมมานั่งอยู่ตรงนี้ เอกบอกว่าที่เลือกมานั่งตรงนี้เพราะมานั่งหลบร้อน เมื่อแดดร่มแล้วก็จะเดินหาเก็บขวดขายต่อไป

“เก็บขวดขายได้วันละเท่าไรครับ” เราถาม

“มันก็ได้ไม่เท่าไรหรอก พอค่าน้ำ ค่ากาแฟ” เขาตอบ

เขายังบอกอีกว่า ชีวิตประวันไม่ได้มีอะไรมาก นอกเสียจากเก็บขวดขายไปวันๆ เพื่อเลี้ยงชีพ ภายหลังถูกไล่ออกจากงานประจำ

“ผมเคยเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทแห่งหนึ่งมาก่อน แต่กระทำผิดกฎจึงถูกไล่ออกมา”

ด้วยความสงสัยเราจึงถามย้อนกลับไปว่า แล้วจะกลับไปเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอีกครั้งหรือไม่

เอกส่ายหน้าพร้อมบอกว่า คงไม่กลับไปเป็นแล้ว และหากได้พบกับลูกชายที่เพิ่งถูกปล่อยตัวออกมาจากคุก ก็น่าจะเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาของตน

“แล้วเราจะตามหาได้อย่างไร” เราถาม

“คงมีสักวัน ที่ผมเจอเขา” เอกเล่าด้วยสายตาแห่งความหวัง พร้อมระบุรายละเอียดว่า ลูกชายน่าจะอยู่แถววงเวียนใหญ่กับเพื่อน ซึ่งจะหาโอกาสเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อถามหาลูกจากคนที่อยู่ในย่านนั้นสักวันหนึ่ง

ข้อมูลเมื่อปี 2566 จากแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่า มีคนไร้บ้านอยู่ทั่วประเทศราว 2,500 คน แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ ประมาณ 1,200 คน หรือราวครึ่งหนึ่งของประชากรคนไร้บ้านทั้งหมด

ที่น่าสนใจคืออายุของคนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุคิดเป็น 20% ของจำนวนทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญและทุ่มพละกำลังแก้ไขปัญหานี้

จากการพูดคุยกับคนไร้บ้านพบว่า แม้ว่าจะมีปัญหาความร้อนที่มากระทบผิวหนังของพวกเขา แต่นั่นแลดูจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเขาสามารถไปนั่งหาที่หลบความร้อนได้

แต่ชีวิตของพวกเขานั้นมี ‘ภารกิจอื่น’ ที่ทำให้พวกเขาต้องเอาชีวิตสู้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือหาครอบครัว เพื่อนำพาชีวิตของพวกเขาให้หลุดพ้นจากสถานะทางสังคมที่เผชิญอยู่

แม้ว่า ‘เป้าหมาย’ ของพวกเขาเหล่านั้นจะดูเป็นแสงที่ริบหรี่ในวันธรรมดาๆ ที่แสงส่องเจิดจรัสก็ตามที

Tags: , , ,