รัฐบาลไต้หวันประกาศจะปลดอนุสาวรีย์ เจียง ไคเช็ก (Chiang Kai-shek) อดีตประธานาธิบดีผู้ปกครองประเทศนานกว่าทศวรรษภายใต้กฎอัยการศึก ทว่าประวัติศาสตร์ว่าด้วย เจียง ไคเช็กยังคงเป็นที่ถกเถียงต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อปี 2018 รัฐบาลไต้หวันตั้งคณะกรรมการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ เพื่อสอบสวนประวัติศาสตร์ว่าด้วยการปกครองโดยอดีตนายพลผู้เป็นประธานาธิบดี และเคยถูกยกย่องในฐานะ ‘วีรบุรุษ’ ทั้งในห้วงที่ยังเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยจีน และในช่วงเวลาที่เป็นไต้หวัน โดยหนึ่งในข้อเสนอคือการรื้ออนุสาวรีย์ทิ้งจากพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ

ปัจจุบัน ไต้หวันมีรูปปั้นของเจียง ไคเช็ก ตั้งอยู่กลางอนุสรณ์สถานที่นครไทเป ก่อนหน้านี้ ท่าอากาศยานประจำชาติอย่างสนามบินไต้หวันเถาหยวน ยังเคยมีชื่อว่าท่าอากาศยานนานาชาติเจียง ไคเช็ก กระทั่งเปลี่ยนชื่อเมื่อปี 2006 ภายใต้แนวคิดเดียวกันว่าด้วยการถอดรื้อความทรงจำเกี่ยวกับเจียง ไคเช็ก

ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนจากคณะรัฐมนตรีระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงภายในจะถอดรูปปั้นกว่า 760 แห่งทั่วประเทศที่ยังตั้งอยู่ เพื่อลบคำวิจารณ์ที่ระบุว่า รัฐบาลจัดการเรื่องนี้อย่างล่าช้า ในความเป็นจริงการตั้งอยู่ของอนุสาวรีย์อดีตประธานาธิบดีมีการถกเถียงกันจำนวนมาก โดยเฉพาะรูปปั้นใหญ่ที่สุดที่อยู่ในอนุสรณ์สถานเจียง ไคเช็กกลางนครไทเป ก่อนหน้านี้ รูปปั้นเจียง ไคเช็กจำนวนมากถูกย้ายไปยังซือหู (Cihu) ซึ่งเป็นสวนรูปปั้นอนุสรณ์สถานของเจียง ไคเช็ก และมีรูปปั้นของเขานับพันตั้งอยู่บริเวณดังกล่าว

เมื่อสงครามกลางเมืองจีนสิ้นสุด พรรคก๊กมินตั๋งและผู้สนับสนุนหลายล้านคนหลบหนีไปยังไต้หวันด้วยความพ่ายแพ้ เจียง ไคเช็กสถาปนารัฐบาลจีนพลัดถิ่น และปกครองประชากรไต้หวันด้วยกฎอัยการศึกมานานหลายทศวรรษ กระทั่งเจียง ไคเช็กถึงแก่อสัญกรรมในปี 1975 และถ่ายโอนอำนาจต่อไปยังลูกชาย โดยเขาถือเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ ในปี 1947 ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นอุบัติการณ์ 28 กุมภาพันธ์ เมื่อเกิดการลุกฮือของชาวไต้หวันทั่วประเทศ และรัฐบาลใช้อำนาจปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง โดยคาดว่ามีชาวไต้หวันเสียชีวิตกว่า 2 หมื่นคน พร้อมด้วยประชาชนที่หายสาบสูญไปอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ จากการปกครองภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกในไต้หวันอีกยาวนานจนสิ้นสุดลงในปี 1987 โดยมีประชาชนกว่า 1.4 แสนคนถูกจำคุก และ 3,000-4,000 คนถูกประหารชีวิต เนื่องจากต่อต้านพรรคก๊กมินตั๋ง ขณะเดียวกัน แม้ปัจจุบันไต้หวันจะเป็นหนึ่งในดินแดนประชาธิปไตยที่ ‘ก้าวหน้า’ แต่ในยุคของเจียง ไคเช็ก ไต้หวันอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม พยายามผูกติดกับอัตลักษณ์ความเป็นจีน กระแสธารว่าด้วยการลบความเป็นจีน (De-Sinicization) ในปัจจุบันที่กำลังเฟื่องฟู จึงต้องการลบเจียง ไคเช็กออกไปด้วย

กระนั้นเอง หลายคนตั้งคำถามถึงการตัดสินใจดังกล่าว เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นภายในสมัยที่เจียง ไคเช็กปกครอง ทั้งยังมีส่วนในการต่อสู้กับญี่ปุ่นและคอมมิวนิสต์ รวมถึงตั้งโรงเรียนเตรียมทหาร ขณะที่พรรคก๊กมินตั๋งก็ยังเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองหลักของไต้หวัน

พรรค The Democratic Progressive Party (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลหลักของไต้หวันถูกกล่าวหามาเป็นระยะว่าต้องการถอดความเป็นเจียง ไคเช็กออกไป ตรงกันข้ามกับพรรคก๊กมินตั๋งที่ยังต้องการยึดประวัติศาสตร์เดิม รวมถึงยังคงมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำให้เห็นแย้งกับพรรค DPP รวมถึงต้องการให้พรรค DPP ตัดสินใจให้ดีก่อนจะนำรูปปั้นเจียง ไคเช็ก และเรื่องราวของเจียง ไคเช็กออกจากประวัติศาสตร์

Tags: ,