“ซากุระห่างไกลจากการต้องควบคุมน้ำหนักมากนะ เธอผอม และอาจผอมเกินไปด้วยซ้ำ”

 

“ทำไมผู้หญิงกลุ่มหนึ่งมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยแค่ 42-53 กิโลกรัม ถึงถูกทีมงานสั่งให้กินสลัด ควบคุมน้ำหนักให้ดีกว่านี้”

 

“ถ้าบอกว่า LE SSERAFIM หุ่นไม่ดี ไม่กระชับ ไม่ฟิตแอนด์เฟิร์ม แล้วรูปร่างอย่างฉันจะเรียกว่าอะไรดี โคตรอ้วนเหรอ… บ้าหรือเปล่า แต่ฉันว่าตัวเองก็ไม่ได้อ้วนไง มาตรฐานแบบนี้มันเพี้ยนกันไปใหญ่แล้ว”

 

สารคดีที่เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการฟอร์มวงเกิร์ลกรุ๊ป LE SSERAFIM (เล เซราฟิม) ของค่ายเพลง Source Music and HYBE สร้างเสียงวิจารณ์แก่ผู้ชมชาวเกาหลีใต้และในหลายประเทศรวมถึงไทย เนื่องจากบางช่วงบางตอนเผยให้เห็นประเด็นน่าสนใจ ทั้งกฎเกณฑ์เข้มงวด การอดหลับอดนอนเพื่อฝึกซ้อม การควบคุมน้ำหนัก หรือลักษณะบางอย่างที่คล้ายว่ามีบรรยากาศ Gaslighting ระหว่างค่ายเพลงกับตัวศิลปิน

เดิมทีภาพจำของไอดอลเกาหลีมักมาพร้อมกับใบหน้าดูดี ร่างกายแข็งแรง ไอดอลหญิงส่วนใหญ่จะมีรูปร่างผอมเพรียว ส่วนไอดอลชายเต็มไปด้วยมัดกล้ามที่สวยงาม พวกเขาจะมอบความบันเทิงแก่แฟนคลับผ่านบทเพลง ท่าเต้นประกอบดนตรีจังหวะสนุกสนาน และโดดเด่นเฉิดฉายบนเวที แต่ระหว่างทางก่อนโชว์เพอร์ฟอร์แมนซ์ ไอดอลส่วนใหญ่ทั้งหญิงและชายจะต้องสร้างระเบียบวินัยในตัวเองหลายอย่าง เช่น ซ้อมร้องเพลงอย่างหนัก ซ้อมเต้นอย่างหนักติดต่อกันหลายวันหลายชั่วโมง ตารางงานที่อัดแน่น ตารางออกกำลังกายที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอในช่วงโปรโมต รวมถึงการควบคุมน้ำหนักอย่างเคร่งครัด

ประเด็นที่ถูกวิจารณ์ในสารคดีเกิดขึ้นระหว่างที่ มิยาวากิ ซากุระ (Miyawaki Sakura) ผู้อยู่ในวงการไอดอลญี่ปุ่นมานานหลายปีจากการเป็นสมาชิก HKT48 อดีตไอดอลวง IZONE และปัจจุบันเป็นสมาชิกวง LE SSERAFIM กล่าวกับทีมงานต้นสังกัดทั้งน้ำตาว่าเธอมองเห็นความเครียดของเพื่อนในวง

สารคดีตอนก่อนๆ ที่เผยให้เห็นว่าพวกเธอต้องซ้อมหนักทั้งการร้อง การเต้น การแสดงสื่ออารมณ์ ฝึกภาษาต่างประเทศ ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างหนัก เรียนรู้ทุกอย่างเพื่อให้ไอดอลคนหนึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ค่ายมองว่าควรจะมี แล้วตอนนี้ต้นสังกัดยังกดดันเรื่องรูปร่างของพวกเธอ เพราะมองว่าไอดอลหญิงจำเป็นต้องผอมเพรียว ตามที่บริษัทกำหนดไว้ว่าหุ่นแบบไหนคือความสวยที่พวกเขาต้องการ  

“ฉันรู้สึกว่ามีบางอย่างไม่ยุติธรรม พวกเราทำงานกันหนักมาก ซ้อมหนักมาก กำลังพยายามให้หนักขึ้นไปอีก ฉันเคยเห็นเมมเบอร์ต้องเจ็บปวดจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ฉันไม่อยากให้เมมเบอร์ต้องเสียเวลาหรือเครียดกับอะไรแบบนี้ แค่อยากให้ทุกคนโฟกัสกับสิ่งที่พวกเรากำลังพยายามทำอยู่มากกว่า

“ฉันไม่ได้มองว่าเรื่องนี้สร้างปัญหาแก่เมมเบอร์ ถ้าวันไหนที่รู้สึกว่าน้ำหนักตัวกำลังเพิ่มขึ้น ฉันก็จะควบคุมน้ำหนัก จะกินสลัด ขณะเดียวกันเมมเบอร์คนอื่นๆ ก็ยังคงกินอะไรก็ได้ตามที่พวกเธออยากกิน ฉันรู้ดีว่าพวกเราได้รับการดูแลจากบริษัทเป็นอย่างดี แต่เรื่องนี้ (รูปร่าง) พวกเราจะขอจัดการกันเอง”

คิม แชวอน (Kim Chaewon) ที่เคยเดบิวต์เป็นสมาชิกวง IZONE เหมือนกับซากุระ แสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าตนไม่มีปัญหาที่แต่ละคนมีตารางอาหารไม่เหมือนกัน ก่อนหน้านี้พยายามไม่สนใจกับประเด็นนี้มากเกินไป เพราะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์กับตัวพวกเธอเอง ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังอยากให้เมมเบอร์ได้กินในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ส่วนสมาชิกอีกคนอย่าง ฮอ ยุนจิน (Huh Yunjin) เสริมกับทีมงานที่พูดเรื่องรูปร่างว่า นอกเหนือจากความผอม สุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญที่เธอไม่อยากให้มองข้าม

เหตุผลที่ซากุระกับเมมเบอร์บางคนโต้ตอบทีมงานต้นสังกัดไปแบบนั้น เป็นเพราะพนักงานชายคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นเชิงแนะนำว่าสมาชิกทั้งหมดจำเป็นต้องควบคุมน้ำหนักมากกว่าเดิม บอกว่าพวกเธอควรมีรูปร่างในแบบที่เขามองว่าเหมาะสม ไปจนถึงข้อเสนอแนะว่าหากจำเป็นก็ต้องกินสลัดให้มากกว่านี้ ในขณะที่ตัวของไอดอลเองไม่ได้มองว่าพวกเธอมีน้ำหนักตัวมากเกินไป 

เมื่อสารคดีนี้ถูกเผยแพร่ เกิดเสียงวิจารณ์การทำงานของต้นสังกัดอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่การแสดงความเป็นห่วงต่อสุขภาพของสมาชิกในวง เนื่องจากหลายคนยังอยู่ในวัยกำลังเติบโต ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารมีประโยชน์ตามหลักโภชนาการควบคู่กับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ประกอบกับสารคดีได้เผยให้เห็นว่าสมาชิกทั้งหมดของ LE SSERAFIM มีรูปร่างผอมบางมากอยู่แล้ว เพราะหากวัดจากโปรไฟล์ที่ต้นสังกัดระบุไว้ พวกเธอมีน้ำหนักเฉลี่ย 42-53 กิโลกรัม และมีส่วนสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 163-174 เซนติเมตร ห่างไกลจากคำว่ามีน้ำหนักเกินมาตรฐานมากพอดู

เกิดการตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ค่ายเพลงน้อยใหญ่ในเกาหลีใต้ที่สั่งให้ไอดอลควบคุมน้ำหนักได้จ้างนักโภชนาการเพื่อดูแลด้านการควบคุมอาหารหรือไม่ เพราะทีมงานชายบอกแค่ว่าอยากให้ไอดอลหญิงกินผักเพื่อรักษารูปร่าง แต่การกินผักไม่ใช่ทั้งหมดของกระบวนการควบคุมน้ำหนักที่ถูกต้อง 

งานของไอดอลถือว่าใช้ร่างกายหนักพอสมควรแม้จะไม่เทียบเท่ากับนักกีฬา แต่ก็มีความจำเป็นไม่น้อยที่ค่ายเพลงควรมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้จริงๆ เนื่องจากหลายครั้งที่ผ่านมา เคยมีไอดอลหลายคนทั้งชายหญิงออกมาเล่าประสบการณ์การลดน้ำหนักที่ผิดหลักโภชนาการ วันหนึ่งกินเพียงแค่สลัด อกไก่ชิ้นเล็กจิ๋ว ธัญพืชไม่ถึงหนึ่งกำมือ กับกาแฟดำหนึ่งแก้ว จนทำให้มีไอดอลบางส่วนเผชิญกับปัญหาความเครียดจากความกดดันเรื่องรูปร่างที่ไม่ผอมเพรียวตรงตามมาตรฐานความงาม (beauty standard) ที่สังคมบางส่วนสร้างบรรทัดฐานไว้

นอกจากเรื่องการควบคุมน้ำหนักที่เข้มงวด ตารางการซ้อม การขึ้นแสดง การเดินสายออกโปรโมตตามรายการวิทยุและโทรทัศน์ของเหล่าไอดอล ก็ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ศิลปินบางกลุ่มได้นอนเพียงไม่กี่ชั่วโมงและต้องเต้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในห้องซ้อม ไม่ต่างอะไรกับการออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานและแคลอรีจำนวนมาก หากไม่กินอาหารให้เพียงพอแล้วร่างกายจะนำอะไรไปเผาผลาญ จะเอาแรงที่ไหนไปทำกิจกรรมมาราธอนทั้งหมดที่ว่ามา

มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางราย มุ่งประเด็นไปยังคำพูดบางช่วงบางตอนของทีมงานชายที่แนะนำให้ไอดอลควบคุมน้ำหนัก มองว่าน้ำเสียงที่เอ่ยออกมาคือการพยายามอธิบายว่าบริษัทพร้อมสนับสนุนทุกอย่าง พร้อมจัดการทุกเรื่องให้กับไอดอล หลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับตัวของศิลปินแล้วว่าจะมีวินัยในตัวเองมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะโยงไปยังการแนะนำว่าให้ควบคุมน้ำหนักตัวเองให้ดี เกิดการตั้งคำถามว่าสิ่งที่ผู้ชมกำลังเห็นอยู่นี้เป็นเพราะบริษัทพยายามจะ ‘Gaslighting’ ตัวศิลปิน ควบคู่กับการเลือกใช้คำว่า ‘Self-Management’ แทนการออกคำสั่งตามตรงให้ลดน้ำหนักหรือไม่

จึงต้องอธิบายเพิ่มเติมเพื่อตอบคำถามที่ว่า ‘Gaslighting’ กับ ‘Self-Management’ คืออะไร?

เคยมีสำนักข่าวหลายแห่งนิยามถึงผู้มีพฤติกรรมชอบควบคุม ทำร้ายใจจิตผู้อื่น ป้อนข้อมูลไม่ถูกต้องแก่บุคคลหรือกลุ่มคน โดยมีเจตนาชักจูงให้อีกฝ่ายเกิดความสับสนและกังขาในความเชื่อเดิมของตัวเอง เป็นได้ทั้งการทำให้อีกฝ่ายคล้อยตาม สร้างความรู้สึกผิดทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไรผิด สำนักข่าว BBC เรียกผู้แสดงพฤติกรรมประเภทนี้ว่าเป็น จอมปั่นหัว (Gaslighting)

ส่วนคำว่า การจัดการตัวเอง (Self-Management) เดิมทีมักถูกใช้อย่างแพร่หลายกับผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคมะเร็ง ที่พยายามรู้จักการจัดการตัวเองเบื้องต้น เรียนรู้บางสิ่ง กระทำบางอย่างเพื่อบรรเทาหรือบำบัดความเจ็บปวดจากโรคภัย แต่เมื่อคำดังกล่าวถูกนำมาใช้ในความสัมพันธ์ อาจหมายความถึงการชี้นำให้บุคคลหรือกลุ่มคนกระทำบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องทำ หรือทำบางสิ่งตามความต้องการของผู้พูด โดยยึดหลักว่าจำต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ เป็นสิ่งที่ควรทำ เป็นความรับผิดชอบของกลุ่มคนนั้นๆ จะต้องทำบางสิ่งตามความต้องการของผู้พูด

การอ้างถึง Gaslighting และ Self-Management ของความคิดเห็นในบอร์ดพูดคุยของเกาหลีใต้ และทวิตเตอร์ของแฟนคลับชาวไทย มาจากเหตุการณ์ที่ทีมงานชายไม่ได้พูดตามตรงว่าอยากให้ไอดอลลดน้ำหนัก แต่เลือกที่จะใช้คำพูดอื่นๆ หว่านล้อมว่าตอนนี้บริษัทจัดเตรียมทุกอย่างให้แล้ว หวังว่าพวกเธอจะทำทุกอย่างให้ดี หวังว่าจะมีวินัยในการควบคุมน้ำหนัก ใช้คำว่า self-management แทนการบอกความต้องการแท้จริง อาจอนุมานได้ว่าถ้าไอดอลไม่สามารถทำให้ตัวเองเป็นไปตามความคาดหวังนี้ ก็อาจไม่ใช่ไอดอลที่ดี ทำให้ทีมงานต้องผิดหวัง ผู้ชมบางส่วนจึงมองว่าบริษัทได้ Gaslighting ศิลปินของตัวเองไปแล้ว

หากมองอีกมุมหนึ่ง ผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางรายเชื่อว่าทีมงานชายเหล่านั้น มีสิทธิเอ่ยคำแนะนำให้ไอดอลควบคุมน้ำหนักด้วยการกินสลัด และตัวของไอดอลเองก็มีสิทธิเลือกที่จะฟังแล้วทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ ทว่าในกรณีของเด็กฝึกที่ยังไม่เดบิวต์ หรือไอดอลที่ยังมีอายุและประสบการณ์น้อย พวกเขาหรือเธออาจไม่สามารถแสดงจุดยืนได้มากเท่ากับกรณีของ LE SSERAFIM

ท่ามกลางการถกเถียงกันของสังคมยุคใหม่ ที่มองว่ามาตรฐานความงามบางประเภทอาจสร้างผลเสียมากกว่าผลดี มาตรวัดความงามแบบจำเพาะเจาะจงส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งจำเป็นต้องมีรูปร่างได้แค่ไม่กี่แบบ ถ้ารูปร่างไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ก็ต้องอดอาหาร ต้องวิตกกังวลเวลาชั่งน้ำหนัก ต้องไร้เรี่ยวแรงในการทำงานที่รัก เพียงเพราะพยายามทำให้ตัวเองเหมาะสมกับมาตรฐานความงามที่หลายครั้งก็เป็นพิษ ที่ต้องต่อยอดประเด็นไปอีกว่าสิ่งเหล่านี้เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบันจริงหรือ  

 

อ้างอิง

https://youtu.be/d93epoeYqbk 

https://twitter.com/hen_yang/status/1571314230808440832?s=20&t=ehqGQuCNrcCVDi0xWLMfeA

https://twitter.com/TSaku1339/status/1571371076017618945?s=20&t=kEpN9Gklzh82Q92REZK8HA

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , ,