เรามักพบเห็นการแสดงความคิดเห็นจำนวนมากต่อกรณีการทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ และการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น คอมเมนต์ด่าทอผู้ก่อเหตุหรือเห็นอกเห็นใจเหยื่อจะปรากฏอยู่ตามข่าวอาชญากรรม ข่าวประจำวัน หรือการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดในกลุ่มเพื่อน เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งปกติที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ 

แต่ในวงการไอดอลเกาหลี ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นศิลปินบางคนออกมาแสดงจุดยืนต่อเรื่องบางสิ่ง เช่น ประเด็นข่าว ประเด็นสังคม หรือประเด็นอาชญากรรม แล้วแทบทุกครั้งที่ศิลปินออกมาแสดงความคิดเห็น พวกเขามักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าคนดังไม่ควรออกมาพูด ไม่ควรออกมาแสดงความคิดเห็น และแนะนำให้อยู่เฉยๆ เสียจะดีกว่า

เย ชูฮวา (Yeh Shuhua) สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีวง (G)I-DIE ที่เป็นชาวไต้หวัน คือหนึ่งในไอดอลที่มักแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสังคมอย่างตรงไปตรงมาเสมอ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดในร้านอาหารร้านหนึ่งในจีนกลายเป็นประเด็นไวรัล เมื่อผู้ชายโต๊ะหนึ่งเดินเข้าไปหากลุ่มผู้หญิงที่กำลังนั่งกินข้าวกันอยู่ 4 คน พยายามจะเข้าไปทำความรู้จักและแตะเนื้อต้องตัวแต่ผู้หญิงปฏิเสธ ฝ่ายชายจึงเข้าไปล็อกคอ และกลุ่มเพื่อนๆ ของชายดังกล่าวรวมแล้ว 9 คน ได้เข้าไปรุมทำร้ายร่างกายกลุ่มหญิงสาวที่พยายามต่อสู้ จนฝ่ายหญิงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการโคม่า

แน่นอนว่าหากมองจากคลิปวิดีโอ คำให้การของพยานและผู้เสียหาย กลุ่มผู้ชายที่เข้าไปทำร้ายร่างกายเป็นฝ่ายผิด 100 เปอร์เซ็นต์ นักแสดง นักร้อง และอินฟลูเอนเซอร์ในจีนต่างเผยแพร่คลิปดังกล่าวในโซเชียลมีเดียส่วนตัว จนทำให้สังคมให้ความสนใจกับคดีนี้อย่างมาก เกิดการตั้งคำถามถึงการรุมทำร้ายร่างกาย เกิดความสงสัยว่าทำไมผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองถึงได้รับผลลัพธ์เป็นการถูกทุบตีหนักกว่าเดิม เรื่องทุกอย่างดูจะเป็นไปตามปกติในสังคมที่มีวิจารณญาณ ผู้คนตำหนิด่าทอกลุ่มชายที่ซ้อมผู้หญิง แต่พอไอดอลเกาหลีอย่างชูฮวาออกมาแสดงความคิดเห็นถึงข่าวนี้บ้าง เธอกลับได้รับเสียงวิจารณ์ที่แตกออกเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจน

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2022 ชูฮวาแสดงความคิดเห็นผ่านเว่ยป๋อ (Weibo) โซเชียลมีเดียของจีน ตอนหนึ่งกล่าวว่า เธอไม่สามารถทนเห็นความเจ็บปวดของเด็กผู้หญิงทุกคนได้ เธออาจไม่สามารถทำความเข้าใจถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ใจของเหยื่อได้อย่างลึกซึ้ง เธออาจช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่หวังว่าเหยื่อจะค่อยๆ รักษาบาดแผลที่เจ็บปวดได้ในเร็ววัน และขอให้ผู้บังคับใช้กฎหมายทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

“ทำไมมนุษย์ที่มีสมอง มีการนึกคิดมากกว่าสัตว์ถึงไม่เข้าใจเรื่องนี้ เกิดเป็นคนทั้งทีก็ควรจะเป็นคนที่ดี หญิงสาวเหล่านี้ไม่สมควรถูกกระทำด้วยความรุนแรง ฉันไม่รู้เลยว่าสวะพวกนี้ฟังภาษาคนรู้เรื่องไหม แต่ฟังให้ดีว่า ถ้าพวกคุณไม่ทำร้ายเธอ ผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องปกป้องตัวเอง พอรู้ว่าขยะเหล่านี้ยังมีชีวิต มีลมหายใจ ก็ชวนให้รู้สึกอยากจะอ้วก”

ไม่นานหลังชูฮวาแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย มีผู้คนจำนวนมากเข้ามาขอให้เธอลบความคิดเห็นนี้ทิ้งไป บางคนไม่พอใจที่ไอดอลพูดจาหยาบคาย หลายคนกังวลว่าคำพูดของเธอจะทำให้ตัวเธอเองถูกโจมตี เป็นผลเสียมากกว่าผลดี และไม่อยากให้พูดถึงเรื่องนี้เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์คนจีนต้องเสื่อมเสีย เพราะเสียงของชูฮวาจะทำให้แฟนคลับทั่วโลกได้ยิน

แล้วก็เป็นดังที่หลายคนคาดการณ์ไว้จริงๆ คดีดังในจีนกลับเข้าสู่ความสนใจของวงสังคมอีกครั้ง ทำให้ชูฮวาตอบกลับความคิดเห็นเชิงเป็นห่วงที่ไม่อยากให้แสดงความคิดเห็นว่า เธอหวังว่าการที่ตัวเองจะเป็นไอดอลของใครสักคน ไม่ควรจะเป็นไอดอลเพียงแค่ภาพลักษณ์ หน้าตา หรือความสนใจภายนอกอย่างเดียว เธอไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ แต่อย่างน้อยก็อยากจะมีชีวิตที่ซื่อสัตย์กับตัวเอง จริงใจกับคนอื่น และเป็นกระบอกเสียงให้กับความไม่เป็นธรรมในสังคมได้

การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาของชูฮวา ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางกลุ่มตามดูการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกในวงคนอื่นๆ จนเกิดการตั้งกระทู้พูดคุยเกี่ยวกับการแสดงจุดยืนของ โช มิยอน (Cho Miyeon) ที่เคยวิจารณ์ห้องแชต Nth (N번방) กลุ่มแชตผิดกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการข่มขืน กระทำอนาจาร ทำร้ายร่างกาย ซ้อมทรมาน คลิปแอบถ่าย การล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงและเด็ก รวมถึงการข่มขู่แบล็กเมล์เหยื่อจนมีบางส่วนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ที่มีสมาชิกในห้องแชตมากกว่า 2.6 แสนคน ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ทั้งพนักงานออฟฟิศ ข้าราชการ อาจารย์ แพทย์ นักกฎหมาย นักการเมือง นักกีฬา นักร้อง นักแสดง ฯลฯ

ความเลวร้ายของห้องแชท Nth มีหลากหลายเรื่องราวเหนือจินตนาการ เช่น คลิปข่มขืนเหยื่อแล้วนำกรรไกรสอดเข้าไปในช่องคลอด คลิปที่กลุ่มชายฉกรรจ์เอามีดกรีดตามร่างกายเหยื่อแบบช้าๆ คลิปดักฉุดเด็กนักเรียนที่กำลังกลับจากโรงเรียน คลิปมีเพศสัมพันธ์กับศพ ที่ทั้งหมดไม่ใช่การแสดงหรือการจัดฉากอย่างหนัง AV แต่เป็นเรื่องจริงที่มีผู้เคราะห์ร้ายถูกกระทำโดยไม่ยินยอม

ในรายการ I saw the devil ที่มิยอนเป็นแขกรับเชิญ ได้หยิบยกกรณีห้องแชทกามมาเป็นธีมประจำสัปดาห์ ทีมงานจำลองห้องแชตที่คุยกันแต่เนื้อหาทางเพศ การคุกคามทางเพศ การข่มขืนกระทำชำเราแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในข่าว จนมิยอนพูดกลางรายการว่า “สกปรก” คำคำนี้สร้างเสียงวิจารณ์เป็น 2 ฝั่งอีกครั้ง ทางหนึ่งคือขอบคุณที่แสดงจุดยืนชัดเจนกับการประณามผู้กระทำผิด แต่คนบางกลุ่มก็ไม่พอใจกับการออกตัวของเธอ และเรียกมิยอนว่าเป็นเฟมินิสต์เพราะด่าผู้ชายในห้องแชตว่าเป็นพวกสกปรก

กระทู้ที่พูดถึงมิยอนมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ฝ่ายสนับสนุนมิยอนตั้งคำถามต่อคนที่โจมตีเธอว่า ทำไมการบอกว่าคนที่ข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศคนอื่นเป็นพวกคนสกปรก ถึงทำให้เธอกลายเป็นเฟมินิสต์ แล้วเฟมินิสต์ไม่ดีตรงไหน

บางความคิดเห็นกล่าวว่าตัวเองเป็นผู้ชายก็รู้สึกว่า โจ จูบิน (เจ้าของห้องแชต Nth) เป็นพวกขยะสังคม เป็นอาชญากร เป็นคนเลวเหมือนกับที่มิยอนวิจารณ์ หรือคอมเมนต์ที่ถามว่าไอดอลจะแสดงความคิดเห็นไม่ได้เหรอ ผู้หญิง ผู้ชาย หรือคนเพศอื่นๆ ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นถึงคดีใหญ่ระดับประเทศแบบนี้หรือ ถ้าแสดงความคิดเห็น ทุกคนก็จะต้องเป็นเฟมินิสต์หรือไม่ แล้วทำไมเฟมินิสต์ถึงกลายเป็นคำด่าทอในสังคมเกาหลีใต้ จนกระทู้ดังกล่าวมีคอมเมนต์ต่อกันหลักร้อยคอมเมนต์

มิยอน (G)I-DLE

ในหลายประเทศ เฟมินิสต์ถูกมองว่าเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีอุดมการณ์แรงกล้า เป็นนักขับเคลื่อนสังคมที่มุ่งหวังสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศ แต่ในบางประเทศ เฟมินิสต์ไม่ต่างอะไรกับ ‘ผู้ก่อการร้าย’ เป็นสิ่งที่สังคมหวาดกลัว เป็นสิ่งที่สังคมรังเกียจและรำคาญใจหากได้เห็นคนที่มีทัศคติคล้ายเฟมินิสต์ มีนักเคลื่อนไหวจำนวนมากถูกคลื่นความเกลียดชังโถมใส่ รวมถึงในประเทศไทยก็เคยมีการแสดงความคิดเห็นทำนองว่า ถ้าเห็นคนที่มีความคิดทางการเมืองแบบต่างกันสุดขั้วเดินมาพร้อมกับเฟมินิสต์ ผู้พูดก็พร้อมที่จะยิงเฟมินิสต์ให้ตายก่อน

ก่อนหน้ากรณีของสมาชิกวง (G)I-DLE เรื่องราวทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับ พัค เยอึน (Park Ye-Eun) อดีตสมาชิกวง Wonder Girls เธอไม่เคยปฏิเสธว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประจำปี 2022 ออกมาว่า ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) เป็นผู้ชนะ ฐานเสียงส่วนใหญ่ของเขาที่เป็นกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์พากันส่งข้อความขู่ฆ่า ข้อความแสดงความรังเกียจหรือสมน้ำหน้าให้เยอึนทางอินสตาแกรม (อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงและฐานเสียงที่เป็นกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ของ ยุน ซอกยอล ได้ที่ ‘ปมเรื่องเพศ’ กับ ‘การหาเสียงแบบสาดโคลน’ สื่อมองการเลือกตั้งผู้นำเกาหลีใต้ 2022 เละเทะที่สุดในรอบหลายปี)

ทำให้เธอแคปเจอร์ข้อความทั้งหมดโพสต์ลงไอจีสตอรี่โดยไม่ปิดชื่อบัญชี เพื่อให้สังคมรู้ว่ากลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ที่คุกคามเธอเป็นใครบ้าง ผู้ใช้บัญชีเหล่านั้นอาจเป็นเพื่อน เป็นคนรัก เป็นญาติพี่น้อง หรือเป็นพ่อแม่ของใครสักคน ก่อนเธอจะพิมพ์ข้อความทิ้งท้ายว่า

“สังคมเรายังมีพวกชอบคุกคามคนอื่น พวกไม่สนใจโลก กับพวกที่ไม่เคยพอใจกับอะไรทั้งนั้น เพราะแบบนี้ไงฉันถึงต้องเป็นเฟมินิสต์”

พัค เยอึน อดีตสมาชิกวง Wonder Girls

กลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ยังเคยโจมตี ไอรีน (Irene) และ จอย (Joy) สมาชิกวง Red Velvet เพราะสรุปว่าพวกเธอเป็นเฟมินิสต์จากการที่จอยสวมเสื้อยืดที่สกรีนคำว่า We all should be Feminists (เราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์) และบางส่วนพากันเผารูปไอรีนเพราะเธอถือหนังสือ คิมจียอง เกิดปี 1984’ ที่เล่าถึงชีวิตของหญิงสาวเกาหลีในสังคมที่อัดแน่นด้วยแนวคิดแบบปิตาธิปไตย 

นอกจากนี้ยังเกิดการโจมตี อันซาน (An San) นักยิงธนูเหรียญทองโอลิมปิก เพียงเพราะเธอตัดผมสั้นแบบผู้ชายและมีบุคลิกท่าทางมาดแมนเกินไป ทั้งที่เธอใช้ความสามารถทางด้านกีฬาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ (กลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ให้เหตุผลที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้รับรองสถิติว่า ผู้หญิง 90 เปอร์เซ็นต์ที่เรียนในมหาวิทยาลัยสตรีและตัดผมสั้นมักเป็นเฟมินิสต์) มิหนำซ้ำ กลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ยังเคยทำเว็บไซต์ Check Femi เพื่อเช็กว่าคนดังคนไหนบ้างที่เป็นเฟมินิสต์ ก่อนเว็บไซต์จะถูกคนทั่วโลกเข้าไปถล่มจนต้องลบเว็บไซต์ทิ้งภายหลัง

ปรากฏการณ์หวาดกลัวเฟมินิสต์ และการล่าแม่มดในเกาหลีใต้ยังคงมีให้เห็นเรื่อยมา เมื่อเกิดไวรัลทำนองนี้ขึ้นทีไร ก็มักจะเกิดคำถามตามมาว่าทำไมคนเกาหลีใต้บางส่วนถึงเกลียดกลัวเฟมินิสต์ พวกเขาเข้าใจความหมายของเฟมินิสต์แบบไหน แล้วเฟมินิสต์คือการพยายามทำลายกรอบจารีตเดิมเพื่อผลักให้เพศหญิงขึ้นเป็นใหญ่แทนที่เพศชายจริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถูกอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีก พานให้คิดว่ากลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ได้เคยพยายามทำความเข้าใจถึงความหมายแท้จริงของเฟมินิสต์หรือไม่

เฟมินิสม์ (คำนาม) ขบวนการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศที่มีอุดมการณ์และแนวคิดแบบสตรีนิยม มีหัวใจสำคัญคือความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียมกันทุกด้านทั้ง สิทธิ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

 

อ้างอิง

https://m.weibo.cn/status/4779324790800668

 https://news.sbs.co.kr/news/endPage.do?news_id=N1006784285&plink=TWEET&cooper=TWITTER

 https://m.pann.nate.com/talk/366529485?currMenu=search&page=1&q=%EB%AF%B8%EC%97%B0

– https://www.jazminemedia.com/2022/03/wonder-girls-yeeun-shares-harassing-and-disrespectful-dms-she-received-from-anti-feminists/

https://themomentum.co/analysis-south-korea-election-2022/

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , ,