การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งนี้ถือว่าแตกต่างจากหลายปีก่อน ท่ามกลางการหาเสียงด้วยนโยบายแบบประชานิยม บางพรรคต้องการเสียงคนรุ่นใหม่ทุกเพศ บางพรรคหวังคะแนนเสียงจาก ‘เพศชาย’ โดยเฉพาะ เคล้าด้วยข่าวฉาวของสองผู้สมัครฯ ที่เป็นตัวเต็ง ทั้งเรื่องการเกี่ยวพันคดีทุจริตคอร์รัปชัน หรือประเด็นละเอียดอ่อนอย่างการเหยียดเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และผู้สมัครที่มีแนวคิดเอนไปทางฝั่ง ‘ต่อต้านเฟมินิสต์’

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2022 ผู้สมัครที่เป็น 2 ตัวเต็งหลักคือ อี แจ-มยอง (Lee Jae-myung) วัย 57 ปี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดคยองกี จากพรรคมินจูแห่งเกาหลี หรือ พรรคประชาธิปไตยเกาหลี (Democratic Party of Korea: DPK) ที่เป็นแกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่วนอีกคนคือ ยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol) อดีตอัยการสูงสุด จากพรรคพลังประชาชน (People Power Party: PPP) ที่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน

การหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้เราแทบจะไม่เห็นนโยบายลงลึกของทั้งสองพรรคเท่าไรนัก เนื่องจากพรรคการเมืองพยายามสร้างกระแสข่าวฉาวของคู่แข่ง พยายามนำเสนอว่าใครเคยทำผิดอะไร ใครมีชนักติดหลังแบบไหน ไปจนถึงการปราศรัยที่บางครั้งชวนให้ขมวดคิ้วโดยไม่ต้องรอให้ใครปั่นข่าว จนพวกเขาถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลายครั้ง

เทคนิคการรณรงค์หาเสียงแบบเน้นสาดโคลน ทำให้สื่อในเกาหลีใต้ รวมถึงสื่อต่างประเทศมองว่าใจความสำคัญของการเลือกตั้งปี 2022 ถูกกลบโดยพรรคการเมืองด้วยกันเอง และ The Momentum ได้รวบรวมนโยบายคร่าวๆ ของทั้งสองผู้สมัคร รวมถึงข่าวฉาวที่พวกเขากำลังเผชิญมาให้ได้พิจารณาไปพร้อมกัน เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้คงหนีไม่พ้นสองคนนี้อย่างแน่นอน

 

นโยบายหาเสียงเคล้าข่าวทุจริตของผู้สมัคร อี แจ-มยอง

ประเด็นหลักในการหาเสียงของ อี แจ-มยอง ตัวแทนจากพรรคประชาธิปไตยเกาหลี ยังคงเป็นเรื่องการรับมือกับโควิด-19 เขายืนยันว่าหากได้เป็นประธานาธิบดี งานแรกที่จะทำทันทีคือการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อการบรรเทาทุกข์จากโควิด-19 และประกาศตัวว่า แม้จะอยู่พรรคเดียวกับประธานาธิบดี มุน แจ-อิน แต่เขายังไม่เห็นด้วยการกับเยียวยาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

นโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคม เขากล่าวว่าจะจัดการกับตลอดอสังหาริมทรัพย์ ปรับมาตรฐานใหม่เพื่อให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น ตรวจสอบการทำธุรกรรมเก็งกำไรจากอสังหาฯ เน้นเรื่องขยับรายได้ขั้นพื้นฐานต่อหัวให้สูงขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โครงการปรับปรุงชุมชน รวมถึงการผลักดันเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลและการใช้พลังงานหมุนเวียน ส่วนประเด็นสังคมอื่นๆ เขาค่อนข้างสนับสนุนแนวคิด ‘สตรีนิยม’ หรือ ‘เฟมินิสต์’ และคาดหวังว่าแนวคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศที่กลุ่มเฟมินิสต์พยายามขับเคลื่อน จะทำให้โลกและสังคมในเกาหลีดีขึ้นกว่าเดิม

อี แจ-มยอง ยังชูเรื่องกฎหมายรอยสักในการหาเสียง แม้คนไทยหลายคนจะมองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เกาหลีใต้เป็นประเทศพัฒนาแล้วไม่กี่ประเทศ ที่การสักยังคงผิดกฎหมายหากไม่ได้สักโดยแพทย์เฉพาะทาง และอาจมีการจับปรับช่างสักสูงสุดถึง 50 ล้านวอน (1.4 ล้านบาท)

ปัจจุบันหน่วยงานรัฐพยายามช่วยเหลือ ด้วยการทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับการสักที่กลายเป็นแฟชั่นทั่วไป แต่การหลับหูหลับตาไม่สามารถทำได้ตลอดไป และจำเป็นต้องแก้ที่ตัวบทกฎหมาย อี แจ-มยอง จึงใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นหนึ่งในเรื่องหาเสียง เขาระบุว่ากฎหมายดังกล่าวไม่สมเหตุสมผล วงการสักมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากทำความเข้าใจและเปิดโอกาส ทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย ก็จะสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับเกาหลีใต้

เขาคาดหวังว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นแรงสนับสนุนให้นโยบายดังกล่าว เนื่องจากสถาบันวิจัย แกลลอป โคเรีย เผยผลสำรวจในปี 2021 พบว่า 81 เปอร์เซ็นต์ ของคนอายุระหว่าง 20 ปี และ 60 เปอร์เซ็นต์ ของคนอายุ 30-40 ปี สนับสนุนให้การสักเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

ส่วนนโยบายด้านการต่างประเทศ อี แจ-มยอง มองว่าจำเป็นต้องผูกมิตรกับสหรัฐอเมริกาและจีนไปพร้อมกัน และเห็นด้วยกับนโยบาย เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ที่ ประธานาธิบดี มุน แจ-อิน ทำอยู่ก่อนแล้ว ส่วนเรื่องการรับมือกับเกาหลีเหนือ เขาและพรรคประชาธิปไตยเกาหลี ยังคงมุ่งมั่นใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตและสันติวิธี เพื่อป้องกันสงครามบนคาบสมุทร ไปจนถึงความพยายามที่จะทำให้เกิดการร่วมมือทางเศรษฐกิจของสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม อี แจ-มยอง เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการกล่าวหาว่า โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) ประธานาธิบดียูเครน เป็นผู้ ‘ยั่วยุ’ รัสเซียให้โจมตียูเครน เพราะพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนาโต้ ความคิดเห็นของเขาถูกนำไปตั้งกระทู้ในโซเชียลมีเดีย ท่ามกลางเสียงด่าทอและผิดหวังของประชาชน จนภายหลังต้องออกมาขอโทษและหันมาประณามการรุกรานของรัสเซีย

ในแง่ข่าวฉาวที่ติดตัวมาตั้งแต่แรก สมัยที่เป็นนายกเทศมนตรีจังหวัดซองนัม ก่อนย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคยองกี เขาเคยมีปัญหาเรื่องการเกี่ยวพันโครงการพัฒนาที่ดินและการสร้างอพาร์ตเมนต์ในซองนัมเมื่อปี 2015 ขณะที่การสอบสวนเรื่องราวดังกล่าวไม่คืบหน้าไปไหน เนื่องจากมีการขัดขวางการทำคดี และมีผู้เกี่ยวข้องหลายคนฆ่าตัวตาย ประเด็นดังกล่าวจึงยังไม่ได้รับความกระจ่างจนถึงทุกวันนี้

ส่วนภรรยาของเขาเคยมีข่าวลือว่าใช้ข้าราชการยักยอกเงินหลวง ใช้พนักงานรัฐทำงานที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัว และตัวของ อี แจ-มยอง อาจเคยเกี่ยวข้องกับคดีความรุนแรงทางเพศ ซึ่งข้อมูลชุดนี้ขัดแย้งกับการที่เขาออกตัวว่าสนับสนุนเฟมินิสต์ เพราะพรรคการเมืองคู่แข่งพยายามนำเสนอให้สังคมเห็นอีกแง่มุมของเขา

 

นโยบายหาเสียงเคล้าข่าวลือเรื่องเหยียดเพศของผู้สมัคร ยุน ซอก-ยอล

หากมองเรื่องประสบการณ์ทางการเมือง ยุน ซอก-ยอล อาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ด้อยกว่าคู่แข่งคนสำคัญ เนื่องจากเขาเป็นอดีตอัยการ และแทบไม่เคยมีบทบาทในการเมืองระดับประเทศ แต่ว่ากันว่าเขาคือตัวแทนของการพยายามรีแบรนด์ปรับภาพลักษณ์พรรคพลังประชาชน

นโยบายหลักของ ยุน ซอก-ยอล กับพรรคพลังประชาชน คือการพยายามเอาชนะใจคนรุ่นใหม่เพศชาย ทั้งนโยบายปรับเพิ่มงานเดือนเกณฑ์ทหารเป็น 2 ล้านวอน มุ่งผลักดันทำให้โซลกลายเป็นศูนย์กลางของธุรกิจสตาร์ทอัพ ในแง่นโยบายทางเศรษฐกิจ เขามองว่าเอกชนถือเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนรัฐบาลจะทำหน้าที่เป็นผู้คอยผลักดัน สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และประกาศว่าจะเพิ่มโทษคดีล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงเพิ่มโทษต่อผู้ที่กล่าวหาว่าคนอื่นกระทำการใดๆ ที่ล่วงละเมิดทางเพศแบบไม่มีหลักฐาน

ยุน ซอก-ยอล โพสต์เฟซบุ๊กว่าถ้าชนะการเลือกตั้ง หนึ่งในงานที่จะต้องทำให้สำเร็จโดยเร็วคือการยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว (Ministry of Gender Equality and Family) หรือชื่อเดิมที่เรียกกันว่า ‘กระทรวงสตรี’ ทิ้งทันที และแทนที่ด้วยกระทรวงใหม่ที่ไม่แบ่งแยกเรื่องเพศ เพราะหลายครั้งหลายหน กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอคติในการจัดการคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองชื่อดัง เช่น การนิ่งเฉยต่อคดีล่วงละเมิดทางเพศเลขานุการของอดีตนายกรัฐมนตรีโซล ปาร์ค วอน-ซูน (Park Won-soon) และอดีตนายกเทศมนตรีปูซาน โอ คอ-ดน (Oh Keo-don)

ในการสัมภาษณ์ช่วงต้นปี 2022 ยุน ซอก-ยอล กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “ตอนนี้เกาหลีใต้ไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศแล้ว” และแสดงความคิดเห็นว่าการเรียกร้องของกลุ่มเฟมินิสต์ ส่งผลให้อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ต่ำลง เฟมินิสต์ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงทางการเมือง ส่งผลให้ผู้ชายไม่อยากออกเดตกับผู้หญิงเพราะเกิดการสร้างภาพจำว่าผู้หญิงยุคใหม่เป็นคนเจ้าอารมณ์

นโยบายเรื่องเพศและความคิดเห็นของเขา ได้รับการสนับสนุนล้นหลามจากกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์และผู้ที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม จนกระทั่งการดีเบตครั้งสุดท้ายของเหล่าผู้สมัครประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล จะแก้คำพูดของตัวเองที่เคยให้กับสื่อไว้เป็น “ผมคงพูดแบบชี้ขาดเลยไม่ได้ว่าเกาหลีใต้ไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ”

ด้านนโยบายต่างประเทศ เขาเน้นเรื่องการผูกมิตรทางการค้ากับสหรัฐฯ และจีน พยายามทำให้ประชาชนเห็นว่าเกาหลีใต้จะแยกเรื่องเศรษฐกิจออกจากความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้ และจะผลักดันให้เกาหลีใต้มีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น นอกจากนี้จะเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น และหาทางปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ด้วยการทำให้กองกำลังของเกาหลีใต้เข้มแข็งขึ้น ติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐฯ เพื่อยับยั้งการรุกรานของเกาหลีเหนือ

เรื่องราวที่ทำให้ ยุน ซอก-ยอล ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนีไม่พ้นนโยบายทางสังคมที่เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ การเลือกฐานเสียงหลักเป็นผู้ชายและกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงเรื่องการเป็นหน้าใหม่ที่ไร้ประสบการณ์ในการเมืองระดับประเทศ จนทำให้ถูกตั้งฉายาว่าเป็น ‘โดนัลด์ ทรัมป์ สาขาเกาหลีใต้’ (Yoon Suk-yeol the South Korean Trump)

 

การเลือกตั้งที่โดดเด่นด้วยประเด็นทางเพศ กับเสียงของคนเกาหลีที่แตกเป็นสองฝ่าย

สถาบันวิจัย แกลลอป โคเรีย สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2022 ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ในตอนนั้นทั้งคู่มีคะแนนนิยมเท่ากันที่ 35 เปอร์เซ็นต์ และในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ผลสำรวจชุดใหม่ระบุว่า อี แจม-ยอง มีคะแนนนิยม 38 เปอร์เซ็นต์ เหนือกว่า ยุน ซอก-ยอล เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

คะแนนของทั้งสองตีคู่สูสีกันมาตลอด จนกระทั่งวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา อัน ชอล-ซู (Ahn Cheol-soo) นักธุรกิจซอฟต์แวร์ หนึ่งในผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ประกาศถอนตัวกะทันหัน และหันมาสนับสนุน ยุน ซอก-ยอล กับพรรคพลังประชาชน เกิดการคาดการณ์ว่าคะแนนเสียงเดิมที่จะโหวตให้ อัน ชอล-ซู จะถูกเทมาที่ ยุน ซอก-ยอล ด้วยหรือไม่

ต่อมามีผลสำรวจอีกชุดหนึ่งระบุว่า ความนิยมของ ยุน ซอก-ยอล ในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 41 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ รองลงมาคือ อี แจ-มยอง อยู่ที่ 34 เปอร์เซ็นต์ จนทำให้สำนักข่าวต่างประเทศวิเคราะห์สถานการณ์ต่อไปว่า หาก ยุน ซอก-ยอล ชนะการเลือกตั้งจริงๆ ถือเป็นสัญญาณให้เห็นว่าแอนไทเฟมินิสต์กำลังมาแรงมากในเกาหลีใต้

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีม็อบต่อต้านเฟมินิสต์และม็อบเฟมินิสต์ ออกมาเคลื่อนไหวอยู่หลายครั้ง นักข่าวหลายสำนักได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับคนในม็อบ และรู้ว่ากลุ่มแอนไทเฟมินิสต์ไม่พอใจที่ผู้ชายต้องเกณฑ์ทหาร ส่วนผู้หญิงได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ รวมถึงการที่เพศชายต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือเรื่องสิทธิสตรีแต่หลงลืมสิทธิของเพศชาย ส่วนม็อบของเฟมินิสต์ยังคงชูประเด็นว่าคนทุกเพศล้วนได้รับความเจ็บปวดจากสังคมเกาหลีใต้ ที่เต็มไปด้วยความเป็นปิตาธิปไตยเข้มข้น

ฮัน จี-ยอง (Han Ji-young) นักจิตวิทยาทางเพศ แสดงความคิดเห็นกับ VICE World News ต่อความคิดเห็นของสังคมเกาหลีใต้ที่แบ่งเป็นสองขั้วนี้ว่า หากมองจากสถานะทางสังคมและสิทธิมนุษยชนของสตรีในเกาหลีใต้ ประเด็นที่ประธานาธิบดีควรผลักดันคือการสนับสนุนเฟมินิสต์ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดี 2022 คือการแข่งขันเพื่อหาว่าใครจะเลือกปฏิบัติทางเพศ และแสดงความโกรธเกรี้ยวได้มากกว่ากัน

สำนักข่าว Vice ระบุว่า แม้ตอนนี้เกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 10 ของโลก แต่ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศอยู่ในระดับตกต่ำรั้งท้ายที่อันดับ 115 จากทั้งหมด 149 ประเทศ

นอกจากนี้ Indian Express ที่ตามติดกระแสเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หลายปีที่ผ่านมา ขบวนการเฟมินิสต์ในเกาหลีใต้ถูกโจมตีด้วยข้อมูลผิดๆ จากกลุ่มอนุรักษนิยมและคนที่เชื่อว่าเฟมินิสต์คือความพยายามมีบทบาทและสิทธิเหนือเพศชาย ทั้งที่ประเด็นของเฟมินิสต์คือการเรียกร้องความเท่าเทียมให้ทุกเพศ ทั้งการจ้างงาน บทบาทในสังคม และการเยียวยาเหยื่อคดีทางเพศที่เป็นเพศชาย เพราะส่วนใหญ่เหยื่อคดีทางเพศที่เป็นเพศชายจะไม่ได้รับการดูแลเท่าเพศอื่นๆ รวมถึงผลักดันเรื่องการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) แต่ตอนนี้เกาหลีใต้มีม็อบต่อต้านเฟมินิสต์บิดประเด็นของคนที่มีความคิดตรงข้ามว่า เฟมินิสต์เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิของเพศชาย เป็นเพศที่เรียกร้องเพื่อให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์มากกว่าเพศอื่นๆ

คิม จี-ยอง (Kim Ji-yeong) รองศาสตราจารย์ด้านปรัชญา มหาวิทยาลัยแห่งชาติชางวอน มองว่าเกาหลีใต้กำลังเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการมีบทบาทในประชาคมโลก การรับมือกับโรคระบาด การเติบโตทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ ภาพยนตร์ ซีรีส์ และ K-pop แต่พอพูดถึงประเด็นทางเพศ เกาหลีใต้กลับไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้อย่างภาคภูมิใจเหมือนกับเรื่องอื่นๆ และประเด็นทางเพศจะเป็นหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่ฉุดรั้งการพัฒนาของเกาหลีใต้

“การให้ความสำคัญกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพศชายอย่างเดียว แสดงให้เห็นถึงสภาวะเปราะบางของผู้หญิงในเกาหลีใต้ และผู้มีอำนาจจะยิ่งทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมกว้างขึ้นกว่าเดิม” – คิม จี-ยอง

ท่ามกลางเรื่องเพศที่กลายเป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม เกิดการแตกขั้วทางความคิดไปหลายแบบ แต่ตอนนี้ยังมีหนึ่งสิ่งที่ผลสำรวจหลายเจ้าระบุตรงกัน คือคนเกาหลีใต้อยากได้ผู้นำที่จัดการกับความเหลื่อมล้ำที่ฝังลึก ต้องการผู้นำที่ปราบปรามคอร์รัปชันเด็ดขาด และต้องการคนที่สามารถสมานรอยร้าวของการเมืองหลายขั้วได้ แต่ท่ามกลางนโยบายแบบประชานิยม การสาดโคลนใส่กัน ผู้สมัครที่มาแรงทั้งสองคนยังไม่ได้กล่าวถึงวิธีการจัดการกับความเหลื่อมล้ำ และวิธีรับมือกับกลุ่มชนชั้นนำของประเทศอย่างกลุ่มแชโบลแต่อย่างใด

 

 

อ้างอิง

 https://www.cfr.org/in-brief/south-korea-presidential-election-candidates-platforms-foreign-policy-issues

 https://indianexpress.com/article/explained/explained-south-koreas-presidential-election-2022-7803232/

 https://www.vice.com/en/article/y3vx8k/south-korea-incel-gender-wars-election-womens-rights

 https://www.reuters.com/world/asia-pacific/will-presidential-election-mark-end-s-koreas-tattoo-taboos-2022-02-21/

 https://www.nytimes.com/2022/03/06/world/asia/south-korea-early-voting-covid.html

 https://www.eastasiaforum.org/2022/03/07/south-koreas-populist-turn/

 http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20220306000019

 http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20220112000732

 http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20220228000935

ภาพ: AFP/Reuters 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,