ตลอดสามตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนพยายามฉายภาพ ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ในยุคนี้ว่าแตกต่างจาก ‘คอร์รัปชันเชิงนโยบาย’ ที่คนไทยเคยตื่นตัวเมื่อหลายปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ เพราะคอร์รัปชันเชิงนโยบายของนักการเมืองที่เอื้อประโยชน์แก่ตัวเองหรือพวกพ้องนั้น ถึงแม้อาจจับได้ไล่ทันไม่ง่ายในคราวแรก (เพราะนโยบายเหล่านี้บางครั้งก็เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือประชาชนด้วย แม้จะมุ่งเอื้อประโยชน์เป็นหลัก) แต่อย่างน้อยการที่เรามีกฎหมายบังคับให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองแจกแจงทรัพย์สิน มีฐานความผิด ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ สำหรับผู้มีอำนาจที่ไม่อาจอธิบายที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้
อย่างน้อยกฎหมายเหล่านี้ก็ทำให้การคอร์รัปชันเชิงนโยบายมีความเสี่ยงสำหรับนักการเมือง แต่หลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ กฎหมายและกลไกอื่นๆ ที่ใช้ป้องปรามคอร์รัปชันกลับถูกบั่นทอน ส่งผลให้ผู้มีอำนาจสามารถฉ้อฉลได้อย่างไม่เกรงกลัว การฉ้อฉลเชิงอำนาจ โดยเฉพาะด้วยวิธีบั่นทอนกฎหมายและบังคับใช้อย่างเลือกปฏิบัติ จึงนับได้ว่าเป็น ‘วิชามารขั้นสูงสุด’ ของคอร์รัปชัน เพราะเป็นการฉ้อฉลที่ต่อให้เห็นเด่นชัดว่าไม่ถูกต้อง มันก็ไม่มีวันผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะกฎหมายถูกบั่นทอนและกลายสภาพเป็นเครื่องมือทางการเมือง และผู้บังคับใช้กฎหมายทุกระดับก็พร้อมจะก้มหน้าก้มตาทำตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจ
การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาไทย ถูกนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชนสากลตีแผ่ตลอดมาหลายปีว่ามีปัญหานานัปการ ลำพังการที่ใครๆ ก็ได้สามารถฟ้องคนอื่นในข้อหานี้ และตำรวจก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางสังคมที่จะดำเนินคดี แปลว่ามันเป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ปิดปากหรือกลั่นแกล้งกันได้อย่างง่ายดาย
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 มักจะพูดหยาบๆ แต่เพียงว่า “เราต้องมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันกษัตริย์” โดยไม่ดูสภาพความเป็นจริงว่ากฎหมายนี้ที่ผ่านมามีปัญหาอย่างไรบ้าง ลำพังการ ‘มี’ กฎหมาย ไม่ได้แปลว่ากฎหมายนั้น ‘ดี’ โดยอัตโนมัติ
ประเทศไทยค้าขายกับโลก รายได้กว่า 70% มาจากการส่งออกและท่องเที่ยว ในอดีตเป็นประเทศแรกๆ ที่ร่วมลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเมื่อค่อนศตวรรษก่อน และลงนามในกติกาสากลด้านสิทธิมนุษยชนฉบับหลักๆ ทุกฉบับ
ในเมื่อไม่ใช่ประเทศเผด็จการปิดตายไม่แคร์โลกอย่างเกาหลีเหนือ หรือมหาอำนาจพรรคเดียวที่ประเทศอื่นต้องเกรงใจอย่างจีน ไทยจึงไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากพยายามทำตามกติกาสากล(ที่ตัวเองไปลงนามไว้)
แล้วมาตรา 112 ขัดต่อกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างไร
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสรุปคำตอบในบทความ ‘ย้อนดู ม.112 ในสายตากลไกสิทธิมนุษยชน UN’ ไว้อย่างครบถ้วนชัดเจนแล้ว ผู้เขียนอยากเรียบเรียงประเด็นในบทความนั้นมาเป็นชุดคำถาม-คำตอบสั้นๆ เพื่อให้เห็นภาพว่า การบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ในปัจจุบันเข้าข่าย ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ อย่างไรบ้าง
ถาม: สิทธิเสรีภาพการแสดงออกที่ไหนๆ ก็ต้องมีขอบเขตทั้งนั้น มีประเทศไหนบ้างไม่มีกฎหมายคุ้มครองประมุข
ตอบ: ก็ใช่ แต่ในเมื่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การจำกัดสิทธิจึงต้องเป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการคุกคามการแสดงออก
ในบทความ ‘จาบจ้วง/เฮทสปีช/บุลลี่/บังคับ กับสิทธิเสรีภาพการแสดงออก’ ผู้เขียนเคยสรุป ‘ข้อจำกัด’ ของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกตามมาตรา 19 หรือ Article 19 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ว่า รัฐจะจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพนี้ก็ได้ แต่ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย ไม่คลุมเครือ และเห็นชัดว่าจำเป็นต่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีเท่านั้น
ถาม: อ้าว ก็ถูกต้องแล้วไง มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง เพราะการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์นั้นจำเป็นต่อการรักษาความมั่นคงของชาติ เป็นไปตามกติกา ICCPR มีอะไรไม่ถูกตรงไหน
ตอบ: จะดูหยาบๆ แค่นั้นไม่ได้ ต้องดูเนื้อหาของกฎหมายและวิธีบังคับใช้ด้วย ในเมื่อคำอย่าง ‘ความมั่นคงของชาติ’ ‘ความสงบเรียบร้อย’ และ ‘ศีลธรรมอันดี’ ล้วนถูกตีความเหวี่ยงแหได้อย่างกว้างขวางโดยผู้มีอำนาจ รัฐที่เป็นเผด็จการหรืออำนาจนิยมจัดย่อมอยากตีความแบบกว้างเพื่อปิดปากคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติจึงออกเอกสารชี้แจง UN Human Rights Committee: General Comment No. 34 ในปี 2011 ซึ่งนับเป็นการตีความ Article 19 อย่างเป็นทางการ มีผลผูกพันทุกประเทศที่ให้สัตยาบันใน ICCPR รวมทั้งไทยด้วย
เอกสารชิ้นนี้ระบุชัดว่า ข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกในแต่ละประเทศจะถือว่าสอดคล้องกับ Article 19 ก็ต่อเมื่อผ่านเกณฑ์หลักๆ สามประการที่วันนี้นิยมว่า ‘แบบทดสอบสามส่วน’ หรือ Three-part Test
ลองมาดูกันว่า มาตรา 112 ของไทย ไม่ผ่านเกณฑ์สามประการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง
ข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพ (ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) คลุมเครือและถูกตำรวจตีความอย่างกว้างขวางเกินตัวบทมากขึ้นอย่างไร้ที่สิ้นสุด
เกณฑ์ข้อแรกในการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกคือ ข้อจำกัดนั้นต้องถูกระบุอย่างชัดเจนในกฎหมาย มีความคงเส้นคงวาของการบังคับใช้ ทุกคนอ่านกฎหมายแล้วเข้าใจตรงกันได้ว่า ทำแบบไหนผิดกฎหมาย แบบไหนไม่ผิด
ผู้เขียนเคยยกตัวอย่างว่า คำว่า ‘จาบจ้วง’ ไม่มีในสารบบกฎหมายไทยแม้แต่น้อย มาตรา 112 ในกฎหมายอาญาระบุเพียง “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เท่านั้น แต่มาตรานี้กลับถูกบังคับใช้อย่างเกินเลยตัวบทมากขึ้นเรื่อยๆ
ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในวันส่งท้ายปี 2563 เมื่อแอดมินเพจเฟซบุ๊กคณะราษฎรรายหนึ่ง ถูกตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพัก ยึดปฏิทินลายเส้นการ์ตูนเป็ด และแจ้งข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ ตามมาตรา 112
เมื่อถูกทนายทักท้วงว่า ตำรวจยังไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ข้อความใดบ้างในปฏิทินที่ตำรวจเห็นว่าเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 112 ตำรวจตอบว่า
1. ภาพเป็ดใส่เครื่องแบบพร้อมเกราะกำบังและข้อความว่า “ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษรวมทุกคำสอนของเรา” ซึ่งสามารถสื่อความหมายได้ว่าปฏิทินนี้เป็นปฏิทินที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน
2. ภาพเป็ดสีเหลืองบนปฏิทินเดือนมกราคมพร้อมข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งเป็นข้อความที่รัชกาลที่ 10 เคยตรัสไว้กับประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ ทั้งในรูปยังมีคำราชาศัพท์บนสุนัข 2 ตัวว่า “ทรงพระเจริญ”
3. ภาพเป็ดสีเหลืองใส่แว่นบนปฏิทินเดือนกรกฎาคมพร้อมข้อความว่า “เหงื่อเราจะเทไปให้ต้นไม้ของพ่อยังงดงาม” โดยภาพดังกล่าวทำให้เห็นว่าสื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 9
ผู้เขียนเชื่อว่า ใครๆ ที่ยังพอมีสามัญสำนึกอยู่บ้าง จะไม่มีทางตีความทั้งสามกรณีที่ตำรวจอ้างว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์ได้เลย
ถ้าตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด (ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญา) การแสดงออกใดๆ ก็ตามที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นการกล่าววาจาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียน การวิพากษ์วิจารณ์ พูดถึงในแง่ลบ ฯลฯ ต้องถือว่าไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายนี้ ไม่ใช่ตีความตามอำเภอใจ ตีขลุมให้เข้าข่าย
ไม่มีประเทศไหนคาดหวังให้คนทุกคนในประเทศรักและเทิดทูนกษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ และคนที่รักสถาบันก็อาจไม่รักทุกเรื่องทุกเวลา
ตราบใดที่ไม่เข้าข่ายดูหมิ่น/หมิ่นประมาท/อาฆาตมาดร้ายอย่างชัดเจน การพูดถึงปัญหาของสถาบัน การยกข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การวิพากษ์วิจารณ์ การเสียดสีหรือล้อเลียน และการแสดงออกอื่นๆ ทุกประเภทของคนที่ ‘เฉยๆ’ หรือ ‘ไม่รัก’ หากมองตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลแล้วจะต้องถือว่าอยู่ในแดนสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่แดนของการทำผิดกฎหมาย
แม้อาจเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ชอบใจหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม
มาตรา 112 ไม่มีเหตุยกเว้นโทษ ทั้งที่สมาชิกสถาบันกษัตริย์เป็นบุคคลสาธารณะ
เกณฑ์ข้อสองของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระบุว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกจะต้องมีความจำเป็น (necessary) และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย (legitimate)
มาตรา 112 ไม่เป็นไปตามเกณฑ์นี้แม้แต่น้อย โดยใครๆ ก็สามารถฟ้องคนอื่นในข้อหาละเมิดมาตรา 112 ได้ และไม่มีการกำหนดเหตุยกเว้นความผิดกรณีที่ผู้กระทำวิพากษ์วิจารณ์ติชมโดยสุจริต ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป และไม่มีการกำหนดเหตุยกเว้นโทษกรณีที่ผู้กระทำกล่าวถ้อยคำที่เป็นความจริงและการพิสูจน์เป็นประโยชน์สาธารณะ
(ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) – “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”)
พูดอีกอย่างคือ ผู้ต้องหาคดี 112 ไม่มีโอกาสชี้แจงว่าตนมีเจตนาบริสุทธิ์ เช่น ตนอยากให้สถาบันกษัตริย์ปฏิรูป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงปัญหาก่อน ถึงแม้ถ้อยคำบางคำที่ใช้อาจฟังดูรุนแรงอยู่บ้าง แต่ที่พูดทั้งหมดนั้นพูดด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบัน เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ฯลฯ
การสู้คดีด้วยการยืนยัน ‘เจตนาสุจริต’ ทำนองนี้เป็นเรื่องปกติในคดีหมิ่นประมาททั่วไป แต่ผู้ต้องสงสัยในคดี 112 กลับไม่มีโอกาส เพราะกฎหมายไม่เปิดโอกาส ทั้งที่การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ควรอนุมานไว้ก่อนว่า ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผู้พูดต้องการยกประเด็นสาธารณะ เพราะสมาชิกของสถาบันกษัตริย์เป็นบุคคลสาธารณะ
ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลายต่อหลายคนท้วงติงรัฐบาลตลอดมาหลายปีว่า มาตรา 112 ของไทยไม่เป็นไปตามกติกาสากลที่ประเทศไทยลงนาม และย้ำหลายครั้งว่า
“บุคคลสาธารณะทั้งปวง รวมทั้งผู้ซึ่งใช้อำนาจทางการเมืองสูงสุดอย่างประมุขของรัฐและของรัฐบาล ย่อมควรตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ และการต่อต้านทางการเมืองได้อย่างชอบธรรม”
“ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าการแสดงออกบางอย่างอาจถูกมองว่าเป็นการดูถูกหรือโจมตีบุคคลสาธารณะ ไม่เพียงพอที่จะอ้างว่ามอบความชอบธรรมให้กับการจำกัดสิทธิหรือลงโทษ”
บทลงโทษตามมาตรา 112 รุนแรงเกินเหตุ ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด
เกณฑ์ข้อสุดท้ายระบุว่า การจำกัดสิทธินั้นต้องได้สัดส่วน (proportionality) กับความผิด และต้องไม่เป็นไปอย่างกว้างขวาง
พูดอีกอย่างคือ การจำกัดสิทธิจะต้อง ‘ได้สัดส่วน’ กับอันตรายที่ทำให้รัฐอ้างว่าต้องออกข้อจำกัดสิทธิ เช่น ถ้าเราถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่น ศาลตัดสินให้แพ้ สั่งจำคุกเรา 20 ปี การโดนโทษที่รุนแรงขนาดนี้ก็ชัดเจนว่า ‘ไม่ได้ส่วน’ กับการกระทำความผิด (หมิ่นประมาทด้วยวาจา)
มาตรา 112 ไม่เป็นไปตามเกณฑ์นี้แม้แต่น้อย เริ่มตั้งแต่โทษจำคุก 3-15 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินเหตุ ไม่ได้สัดส่วน (proportionate) กับความรุนแรงของความผิด ซึ่งกรณีนี้ความผิดคือการแสดงออกทางวาจา ไม่ใช่ฆ่าคนตาย
ควรหมายเหตุไว้ตรงนี้ด้วยว่า กฎหมายมาตรา 112 ของไทย เป็นกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขของรัฐที่มีโทษรุนแรงเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองแต่ประเทศซาอุดีอาระเบียเท่านั้น
ถาม: ตำรวจก็แค่ทำตามหน้าที่ ถ้าไม่มีความผิด ก็สู้คดีไปสิ สุดท้ายถ้าไม่ผิดจริงศาลก็ปล่อย
ตอบ: ในความเป็นจริง ที่ผ่านมามีคดี 112 มากมายหลายคดีที่ผู้ต้องหาถูกจำคุกอย่างน่ากังขาว่า ‘ผิดจริง’ หรือไม่ อาทิ คดี ไผ่ ดาวดิน ถูกตัดสินจำคุกจากการแชร์พระราชประวัติรัชกาลที่ 10 บนเฟซบุ๊ก (โดยที่ผู้เขียนพระราชประวัตินั้นคือ บีบีซี สำนักข่าวอังกฤษ ไม่เคยถูกตำรวจแจ้งความแต่อย่างใด)
ใครที่พูดว่า “ถ้าไม่ผิดไม่ต้องกลัว” อาจยังไม่เข้าใจความล่าช้าและอยุติธรรมของกระบวนการ ดังตัวอย่างที่ ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง “แม่จ่านิว” มารดาของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาหลายปี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563
คดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาสู้คดียืดเยื้อยาวนานถึง 4 ปี เพียงเพราะพิมพ์ตอบข้อความสั้นๆ ว่า “จ้า” ในแชตส่วนตัว ถูกตำรวจฟ้องข้อหาละเมิดมาตรา 112
ลำพังการพิมพ์โต้ตอบในแชตส่วนตัว คนนอกเข้าถึงไม่ได้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ตำรวจไม่ควรทำคดีนี้ตั้งแต่แรก ยังไม่ต้องนับว่าคำว่า “จ้า” ไม่มีทางถูกตีความว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายได้เลย
คดีนี้เป็นตัวอย่างอันดีที่ชี้ให้เห็นว่า มาตรา 112 สามารถถูกนำมาใช้กลั่นแกล้งกันได้อย่างง่ายดายเพียงใด ต่อให้สุดท้ายศาลจะยกฟ้อง ระหว่างทางก็ต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียสุขภาพจิตมากมายไปกับการสู้คดี ไม่นับว่าตกอยู่ใต้แรงกดดันทางสังคม ถูกคนที่ไม่สนใจจะค้นรายละเอียดตราหน้าว่า ‘ล้มเจ้า’ เอาได้ง่ายๆ
ในเมื่อทั้งตัวบทและการบังคับใช้มาตรา 112 เห็นชัดว่าไม่เป็นไปตามกติกาสากลด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยไปลงนาม มิหนำซ้ำการตีความของตำรวจก็ ‘ออกทะเล’ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เป็นต้นมา ชัดเจนว่ากฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากแกนนำและผู้ที่ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้เขียนก็อยากชวนทุกท่านไตร่ตรองว่า นี่ไม่ใช่หรือคือส่วนหนึ่งของการ ‘ฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ของรัฐบาลทหารที่เราประสบพบเจอ
และวิธีใช้กฎหมายมาตรา 112 ของตำรวจในเวลานี้นั้น กำลังส่งผลดีหรือผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์มากกว่ากัน
Tags: มาตรา 112, Citizen 2.0, Power Corrupt, การฉ้อฉลเชิงอำนาจ