ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงบทบาทของสื่อมืออาชีพว่าควรยกระดับการทำงานของตัวเอง ในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม #เยาวชนปลดแอก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คณะประชาชนปลดแอก ยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชนร่างรัฐธรรมนูญยุบสภา ภายใต้ 2 จุดยืน คือ ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝัน คือการอยากเห็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน ได้เสียงตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศ ดังเห็นได้จากการจัดการชุมนุมสนับสนุนข้อเรียกร้องแทบทุกจังหวัด แต่ละเวทีมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ทุกคนจะตีความรูปธรรมของ ‘1 ความฝันแตกต่างกัน (เช่น ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยทุกข้อกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ จากเวที #ธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563) คนที่เข้าร่วมก็ดูจะเห็นพ้องต้องกันว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องธรรมดาที่เราควรทำได้ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ และจริงๆ ก็ควรทำได้มานานแล้ว

อย่างไรก็ดี คนอีกจำนวนมากในสังคมที่คุ้นชินกับการที่สถาบันกษัตริย์เป็นหัวข้อต้องห้าม’ (taboo) ในสังคมไทยมาเนิ่นนานก็มองว่า นักศึกษาและอีกหลายคนที่พูดเรื่องนี้กำลังจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้รัฐบาลใช้กฎหมายจัดการให้ถึงที่สุด

ในเวลาเดียวกัน เราก็ได้เห็นการใช้ถ้อยคำรุนแรงที่โจมตีสร้างความเกลียดชังต่อใครคนใดคนหนึ่งเพียงเพราะเขาคิดไม่เหมือนกันกับเรา หรือที่เรียกว่า hate speech (เฮทสปีช) มากขึ้น บางคนที่ถูกโจมตีบอกว่าเขากำลังถูกรุมกลั่นแกล้งรังแกหรือ bully (บุลลี่) ผ่านโซเชียลมีเดีย และอีกหลายคนก็พูดทำนองว่า ฉันมีสิทธิไม่เห็นด้วยกับแก แกมีสิทธิอะไรมาบังคับให้ฉันเห็นด้วย

ผู้เขียนเห็นว่า ก่อนอื่นเราควรตัดเรื่องบังคับออกไปได้เลย เพราะข้อเท็จจริงก็คือต่างคนต่างมีอิสรภาพทางความคิด (แต่จะถูกครอบงำหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง) ไม่มีทางที่ใครจะบังคับให้คนอื่นเปลี่ยนความคิดได้ การเปลี่ยนความคิดเกิดจากการตรึกตรองและตัดสินใจด้วยตนเองเองเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่บางคนใช้คำว่าบังคับ เอาเข้าจริงก็เป็นเพียงการถกเถียงธรรมดาๆ เพียงแต่คนที่ใช้คำคำนี้อาจไม่เคยชินกับการที่คนอื่นแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับเขาหรือเธอ

อีกสามคำที่เหลือ คือจาบจ้วง’ ‘เฮทสปีชและบุลลี่เป็นคำเจ้าปัญหามากกว่า ส่วนหนึ่งเพราะวันนี้มีความเข้าใจผิดอย่างแพร่หลายว่าคำเหล่านี้แปลว่าอะไรกันแน่

ลองมาเริ่มกันจากบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพการแสดงออก ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights ย่อว่า ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในปี .. 2539 และมีผลบังคับใช้ในปี .. 2540

การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกอยู่ในข้อ 19 (Article 19) ของ ICCPR ว่า

1.บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

2.บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือ

3.การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย ดังนั้นการใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย และจำเป็นต่อ

() การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

() การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน

จากบทบัญญัติในข้อ 19 จะเห็นว่ากติการะหว่างประเทศก็เปิดช่องให้รัฐบาลต่างๆ ออกข้อจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกได้ แต่ประเด็นที่สำคัญคือข้อจำกัดนั้นต้องถูกบัญญัติเป็นกฎหมายและชัดเจนว่าจำเป็นต่อการเคารพสิทธิหรือชื่อเสียงคนอื่น การรักษาความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย สาธารณสุข หรือศีลธรรมอันดี

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้คงสงสัยว่า เขียนข้อจำกัดแบบนี้เท่ากับเปิดช่องให้รัฐออกกฎหมายแย่ๆ หรือตีความกฎหมายแบบบิดเบือนมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ในเมื่อความมั่นคงของชาติ’ ‘ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีล้วนถูกตีความเหวี่ยงแหได้กว้างขวางในรัฐอำนาจนิยม (ในประเทศไทยยุคเผด็จการทหาร คสช. แม้แต่คนที่ถ่ายรูปอวดขันสีแดงที่มีข้อความอวยพรสงกรานต์จากอดีตนายกฯ คู่ปรับรัฐบาลทหาร ก็ถูกจับในข้อหายุยงปลุกปั่นมาแล้ว)

เพื่อขจัดความสงสัยและสร้างความกระจ่าง สร้างมาตรฐานการตีความ Article 19 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติจึงออกเอกสารชี้แจง UN Human Rights Committee: General Comment No. 34 ในปี 2011 ซึ่งนับเป็นการตีความ Article 19 อย่างเป็นทางการ มีผลผูกพันทุกประเทศที่ให้สัตยาบันใน ICCPR รวมทั้งไทยด้วย

เอกสารชิ้นนี้เป็นผลจากการปรึกษาหารือ ถกเถียงอภิปรายอย่างเข้มข้นระหว่างคณะกรรมการฯ กับรัฐบาลประเทศสมาชิก องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับชาติ นักวิชาการ และเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก (ข้อย่อย 3 ใน Article 19) ว่า ข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพจะต้องไม่ทำให้สิทธิเสรีภาพนั้นตกอยู่ในอันตราย สุ่มเสี่ยงที่จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป (jeopardized) และข้อจำกัดนั้นจะสอดคล้องกับ Article 19 ก็ต่อเมื่อผ่านเกณฑ์หลักๆ สามประการที่วันนี้นิยมว่า Three-part Test ได้แก่

1.ข้อจำกัดนั้นต้องถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย

ยกตัวอย่าง คำว่าจาบจ้วงไม่มีในสารบบกฎหมายไทย มาตรา 112 ในกฎหมายอาญาระบุเพียงผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ดังนั้น ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ และการวิพากษ์วิจารณ์ทั่วๆ ไปที่ไม่เข้าข่ายนี้ จึงไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

คนที่หาว่านักศึกษาจาบจ้วงจึงสมควรมองเห็นว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจ แต่ไม่ผิดกฎหมายเมื่อไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนเป็นกฎหมายก็แปลว่าไม่อาจอ้างเป็นข้อจำกัดสิทธิได้ 

แต่ต่อให้ระบุข้อจำกัดสิทธิอย่างชัดเจนเป็นกฎหมายแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการจำกัดสิทธินั้นจะเป็นไปตามกับ Article 19 โดยอัตโนมัติ ต้องทดสอบต่ออีกสองข้อ

2.การจำกัดสิทธินั้นต้องมีความจำเป็น (necessary) และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย (legitimate)

รัฐบาลของประเทศสมาชิกมีหน้าที่ชี้แจงให้ชัดว่า การจำกัดสิทธินั้นจำเป็นอย่างไร เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1993 ชาวแคว้นควีเบ็คสามคนจากประเทศแคนาดา ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าการที่กฎหมายควีเบ็คห้ามใช้ภาษาอังกฤษในการโฆษณาบริการของบริษัทพวกเขา (อยากใช้ภาษาอังกฤษเพราะอยากได้ลูกค้าที่พูดภาษาอังกฤษ) นั้น เป็นการละเมิด Article 19 กรณีนี้คณะกรรมการฯ เห็นด้วยกับผู้ร้อง มีความเห็นว่ากฎหมายควีเบ็คขัดต่อ Article 19 เพราะการที่รัฐบาลอ้างว่าห้ามโฆษณาในภาษาอังกฤษเพื่อปกป้องภาษาฝรั่งเศสที่ใช้ในชุมชนควีเบ็คนั้น เป็นข้อจำกัดที่ไม่จำเป็นเพราะรัฐบาลสามารถปกป้องและส่งเสริมการใช้ภาษาฝรั่งเศสได้ในหลายหลายวิธีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนที่อยากใช้ภาษาอังกฤษ 

อีกตัวอย่างหนึ่ง ศาลหลายประเทศอธิบายว่า ต้องมีกฎหมายดูหมิ่นศาลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล (มีความจำเป็น) เพราะความสงบเรียบร้อยในศาลสำคัญต่อการพิจารณาคดี (เป็นวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรม) เป็นต้น

3.การจำกัดสิทธินั้นต้องได้สัดส่วน (proportionality) และต้องไม่เป็นไปอย่างกว้างขวาง

วิธีการจำกัดสิทธิจะต้องได้สัดส่วนกับอันตรายที่ทำให้รัฐอ้างว่าต้องออกข้อจำกัดสิทธิ เช่น ถ้าเราถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่น ศาลตัดสินให้แพ้ สั่งจำคุกเรา 20 ปี การโดนโทษที่รุนแรงขนาดนี้ก็ชัดเจนว่าไม่ได้ส่วนกับการกระทำความผิด (หมิ่นประมาทด้วยวาจา) – กรณีนี้เป็นตัวอย่างสมมติเท่านั้น ในความเป็นจริงความผิดฐานหมิ่นประมาทของไทยมีโทษสูงสุดคือปรับสองหมื่นบาทหรือจำคุกหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่างการจำกัดสิทธิที่ไม่ได้ส่วนก็คือมาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามกฎหมายอาญาของไทยดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีโทษจำคุก 3-15 ปี และใครๆ ก็ฟ้องคนอื่นในข้อหานี้ได้ ก่อให้เกิดการใช้ข้อหานี้ฟ้องกลั่นแกล้งปิดปากมากมาย ส่งผลให้ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลายต่อหลายคนท้วงติงรัฐบาลตลอดมาหลายปีว่า มาตรา 112 ไม่เป็นไปตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยลงนาม และย้ำหลายครั้งว่าบุคคลสาธารณะอาจตกเป็นเป้าของการวิจารณ์ และลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าการแสดงออกบางอย่างอาจถูกมองว่าเป็นการดูถูกหรือโจมตีบุคคลสาธารณะนั้นๆ ไม่เพียงพอที่จะอ้างว่ามอบความชอบธรรมให้กับการจำกัดสิทธิหรือลงโทษ” 

เกณฑ์ทดสอบสามประการ หรือ Three-part Test ที่สรุปมาข้างต้นนั้น ช่วยให้เราพอมองออกว่า แต่ละกรณีที่รัฐชอบอ้างกฎหมายมาจำกัดสิทธิการแสดงออกของประชาชนนั้น เป็นไปตามกติกาสากลหรือ Article 19 หรือไม่ 

ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ตำรวจชอบอ้างข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 กฎหมายอาญา มาจับคนที่ปราศรัยต่อต้านรัฐบาล ถ้าเราใช้เกณฑ์ทดสอบข้างต้นจะเห็นว่า ตกเกณฑ์ตั้งแต่ข้อแรก เพราะกฎหมายมาตรา 116 เต็มไปด้วยความคลุมเครือไม่ชัดเจน โดยเฉพาะมาตรา 116 (2) ที่กำหนดให้การกระทำด้วยวิธีใดๆเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร” 

คุณณัชปกร นามเมือง จากไอลอว์ ตั้งข้อสังเกตในบทความมาตรา 116 กับการตั้งข้อหาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองว่าคำว่าความปั่นป่วน’ ‘กระด้างกระเดื่องหรือก่อความไม่สงบล้วนเป็นถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นอัตวิสัยหรือขึ้นกับผู้ตีความ หรืออีกนัยหนึ่งคือ กฎหมายนี้ยกอำนาจให้รัฐเป็นผู้ตีความการกระทำของประชาชนว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้น ข้อหาตามมาตรา 116 จึงเปิดช่องให้รัฐใช้ตั้งข้อหาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองได้จากสถิติการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 116 ตั้งแต่หลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 20 สิงหาคม 2563 จะพบว่า มีการนำข้อหายุยงปลุกปั่นมาใช้จัดการกับกลุ่มที่แสดงออกในเชิงต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อย่างน้อย 89 ราย ยกตัวอย่างเช่น คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง คดีกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร หรือ คดีล่าสุดอย่างคดีกลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคามประชาชน เปิดทางให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ และขอให้รัฐบาลประกาศยุบสภา

แล้ว เฮทสปีช กับ บุลลี่ อยู่ตรงไหน

ICCPR ระบุในข้อ 20(2) ว่าการสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายในขณะที่เฮทสปีช’ (hate speech) ตามความหมายที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้หมายถึงข้อความที่มุ่งสร้างความเกลียดชังแก่ตัวบุคคล เพียงเพราะเขาสังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (คนผิวสีใดสีหนึ่ง ชนกลุ่มน้อย ศาสนา ฯลฯ) บางองค์กรรวมทั้งองค์การสหประชาชาติมองว่า ข้อความที่เข้าข่ายนี้ แม้อาจไม่ถึงขั้นยั่วยุให้เกิดความรุนแรงก็จัดเป็นเฮทสปีชได้ 

พูดอีกอย่างคือ เฮทสปีชจำนวนมากทุกวันนี้ยังไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายรวมทั้งองค์การสหประชาชาติคิดว่าควรต้องหาวิธีรับมืออย่างเป็นระบบ เนื่องจากบั่นทอนบรรยากาศการถกเถียงในสังคม เหยียดคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม ตอกตรึงอคติและการเลือกปฏิบัติที่เลวร้าย สุดท้ายอาจนำไปสู่ความรุนแรง ที่ผ่านมาเราจะเห็นมาตรการทางสังคมมากมายหลายรูปแบบ เช่น แคมเปญ #StopHateForProfit เรียกร้องให้บริษัทใหญ่ๆ ระงับโฆษณาในเฟซบุ๊กตลอดเดือนกรกฎาคม 2020 เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านเฮทสปีช เพราะมองว่าเฟซบุ๊กไม่จริงจังและจริงใจในการจัดการกับข้อความเฮทสปีชทั้งหลายโดยเฉพาะของฝ่ายขวาจัด แคมเปญนี้มีบริษัทเข้าร่วมกว่า 900 บริษัท 

ส่วนการบุลลี่ (bully) มีความหมายที่แคบกว่านั้นมาก โดยหมายถึงรูปแบบความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและเยาวชน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีสถิติการบุลลี่ในโรงเรียนสูงมาก นิยามบุลลี่ว่า หมายถึง พฤติกรรมก้าวร้าวต่อเด็กและเยาวชนที่ผู้ถูกกระทำไม่ต้องการ กระทำโดยเด็กและเยาวชนด้วยกันที่ไม่ใช่พี่น้องหรือคนที่ออกเดทกันอยู่ พฤติกรรมนี้เกี่ยวโยงกับอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และกระทำซ้ำๆ หรือมีโอกาสสูงมากที่จะกระทำซ้ำ การบุลลี่อาจก่อความเจ็บปวดหลายรูปแบบให้กับผู้ที่ตกเป็นเป้า ทั้งความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ 

ดังนั้นจากนิยามนี้จะเห็นว่า การบุลลี่ต้องมีครบองค์ประกอบสามส่วน คือ 1) เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวต่อเด็กหรือเยาวชน 2) เกี่ยวโยงกับอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และ 3) กระทำซ้ำๆ หรือมีโอกาสสูงมากที่จะกระทำซ้ำ 

พฤติกรรมอื่นๆ ที่เราอาจมองว่าก้าวร้าว เช่น การพิมพ์เถียงกันออนไลน์ การเหยียดกันเองระหว่างผู้ใหญ่ หรือการนัดต่อยเคลียร์กันหลังโรงเรียนเลิกครั้งเดียวจบ ทั้งหมดนี้ไม่เข้าข่ายบุลลี่แต่อย่างใด

Tags: , , ,