ล่วงเข้าเดือนพฤศจิกายน 2563 การชุมนุมประท้วงรัฐบาลยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของ คณะราษฎร 2563’ ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ประเด็นร้อนในช่วงนี้ยังหนีไม่พ้นการติดตามดูว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจจะรับมือกับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ รัฐจะหาทาง ประนีประนอม’ จริงหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตอบคำถามผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน ว่า “Thailand is the land of compromise” เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า การแสดงความจริงใจที่จะเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นวิธี ประนีประนอม’ อย่างสันติที่สุดแล้วในระบอบประชาธิปไตย เพราะทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นว่าควรแก้หรือไม่ควรแก้ในประเด็นใดบ้าง และสุดท้ายถ้าได้ร่างใหม่แล้ว ใครก็ตามที่ยังคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ดีกว่า ย่อมมีสิทธิไปโหวต ไม่รับ’ ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ (ผู้เขียน ขยายความเหตุผลในคอลัมน์นี้สองตอนที่แล้ว)

ผู้เขียนสังเกตว่า ยิ่งเกิดการชุมนุม กองเชียร์รัฐบาลทหารหลายคนยิ่งพยายามคัดค้านแบบ หัวชนฝา’ ชนิดอยู่ขั้วตรงข้ามกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างสิ้นเชิง เช่น การอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ดีอยู่แล้ว ที่นักการเมืองไม่ชอบ เพราะเป็นฉบับ ปราบโกง’ ทำให้ตัวเองโกงไม่สะดวก

การท่องวาทกรรมเก่าๆ เรื่อง รัฐธรรมนูญปราบโกง’ นั้น ถ้าย้อนไปก่อนลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อสี่ปีที่แล้ว ก็พอเข้าใจได้ถ้าใครจะเคลิบเคลิ้มตามคณะร่างรัฐธรรมนูญว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ เปรียบเสมือนถ้าเราซื้อสินค้ามาเพราะติดใจโฆษณา ยังไม่รู้ว่าใช้จริงแล้วดีหรือไม่

แต่ถ้าใช้สินค้านั้นแล้วพบว่าไม่ดีเท่ากับที่โฆษณา ผู้บริโภคที่มีเหตุผลย่อมเลิกใช้ เปลี่ยนไปใช้สินค้ายี่ห้ออื่นแทน

หลังจากที่บังคับใช้มาสามปี รัฐธรรมนูญ 2560 ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า สรรพคุณ ปราบโกง’ นั้นเป็นการ โฆษณาเกินจริง’ ไปมาก ความจริงก็คือ สถานการณ์คอร์รัปชันในไทยไม่เคยดีขึ้นหลังจากที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มิหนำซ้ำ ทั้งตัวบทรัฐธรรมนูญ และการแก้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ยัง ถอยหลัง’ ในแง่ที่บั่นทอนกลไกสร้างความโปร่งใส และกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งที่ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมนับเป็น หัวใจ’ ที่ขาดไม่ได้ในการต่อต้านคอร์รัปชันในศตวรรษที่ 21

เราอาจประเมินสถานการณ์คอร์รัปชันของไทยจากดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) ดัชนีด้านการทุจริตคอร์รัปชันที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลก จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ผลการคำนวณ CPI ปีล่าสุด 2019 ปรากฏว่า ประเทศไทยได้คะแนนเพียง 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 ในโลก

เมื่อเทียบกับ CPI ปี 2013 หรือหนึ่งปีก่อนที่ คสช. จะยึดอำนาจ ไทยได้คะแนน 35 คะแนน น้อยกว่าคะแนนปี 2019 เพียง 1 คะแนนเท่านั้น นอกจากนี้อันดับของไทยยังตกลงเรื่อยๆ ทุกปีตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา แปลว่าประเทศอื่นพัฒนาได้ดีกว่าโดยเปรียบเทียบ ล่าสุดปี 2019 เวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้วด้วยคะแนน 37 จาก 100 คะแนน

สรุปได้สั้นๆ ว่า สถานการณ์คอร์รัปชันในไทยไม่ได้ดีขึ้นในยุครัฐบาลทหารแม้แต่น้อย

คราวนี้ถ้าเราหันมาดูตัวบทที่เกี่ยวกับคอร์รัปชันในรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ชื่อเล่น:กฎหมาย ป.ป.ช.) จะพบว่า มีปัญหาแทบทุกขั้นตอน ผู้เขียนเรียงตามลำดับ 5 ข้อได้ดังนี้

  1. การคัดกรองคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. – ล้าสมัยและเลือกปฏิบัติได้

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 บัญญัติหลักเกณฑ์คุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไว้อย่างเข้มงวดมากกว่าเดิมมาก เช่น ต้องไม่เคยต้องคําพิพากษาฐานทุจริต หรือเคยพ้นจากตําแหน่งเพราะไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม อีกทั้งยังต้องไม่เป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน 

มาตรา 98 โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ห้ามถือ หุ้นสื่อ’ นั้นมีปัญหาอย่างมาก นับตั้งแต่เจตนารมณ์ที่ล้าสมัย ไม่ทันยุคโซเชียลมีเดียที่ใครๆ ก็เป็น สื่อ’ ได้ (ผู้เขียน เคยอธิบายในบทความชิ้นนี้) ไปจนถึงปัญหาในภาคปฏิบัติที่คนจำนวนมากรวมทั้งผู้เขียนมองว่าเป็นการ เลือกปฏิบัติ’ อย่างน่าเกลียด ใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดเฉพาะแต่กับผู้สมัครหรือ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน แต่ฝ่ายพรรครัฐบาลรอดหมด ทั้งที่บางคนมีพฤตินัยแทบไม่ต่างจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้านที่โดนตัดสิทธิ (ผู้เขียนจะเขียนถึงคำตัดสินที่มีปัญหาในตอนต่อๆ ไป) 

ในขณะเดียวกัน สื่อบางค่ายที่เจ้าของเป็นคู่ครองของ ส.ส. รายหนึ่ง สามารถทำข่าวเชียร์รัฐบาลอย่างออกหน้าออกตา กลับกลายเป็นว่าไม่ผิดอะไร ทั้งที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายข้อนี้ชัดเจน เป็นต้น  

  1. บทลงโทษนักการเมืองที่ทุจริตการเลือกตั้ง – เพิ่มอำนาจให้ กกต. แต่กลับลดความรับผิด

รัฐธรรมนูญ 2560 ติดดาบ’ ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มากขึ้น โดยให้อำนาจในการลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ทุจริตได้ทั้ง 2 ช่วง คือ ทั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง และหลังประกาศผลการเลือกตั้ง แถมมาตรา 23 วรรคสอง ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 ยังทำให้ กกต. ไม่ต้องรับผิดใดๆ ไม่ว่าจะทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง หาก “เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว และเป็นการกระทำโดยสุจริต” 

พูดง่ายๆ คือ กฎหมายให้ กกต. มีอำนาจมากขึ้น แต่ให้มีความรับผิดน้อยลง ผู้เขียนเห็นว่า เท่านี้ก็ผิดหลักการที่ควรเป็นชนิดที่ไม่มีเหตุมีผลใดๆ เลย เพราะถ้าเราให้องค์กรอิสระ(ใดก็ตาม) มีอำนาจมากขึ้น องค์กรนั้นๆ ยิ่งต้องมีความรับผิดมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง (ส่วนวลีที่ฟังดูดี เป็นการกระทำโดยสุจริต’ นั้นไม่มีความหมาย เพราะไม่มีทางที่ใครจะพิสูจน์ได้ว่า กกต. ตัดสินโดย ไม่สุจริต’) 

การยกเว้นความรับผิดให้กับ กกต. อย่างเหวี่ยงแหเช่นนี้ สร้างปัญหาทั้งทางหลักการและทางปฏิบัติ กรณีหนึ่งที่ชัดเจนคือ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 “ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิพากษายกคำร้อง กกต. ที่ให้ใบส้มหรือขอเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง 1 ปี นายสุรพล เกียรติไชยากร อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 8 จ.เชียงใหม่ กรณีใส่ซองทำบุญให้พระสงฆ์จำนวน 2,000 บาท ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 ฐานให้เงินหรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในช่วงมีการเลือกตั้ง” (ข่าวไทยพีบีเอส

ลำพังสามัญสำนึกก็น่าจะบอกเราได้ว่า เงินทำบุญไม่น่าจะนับเป็นเงิน ซื้อเสียง’ เพราะพระสงฆ์ไม่มีสิทธิเลือกตั้งด้วยซ้ำ แต่ กกต. กลับออกใบส้ม ส่งผลให้ว่าที่ ส.ส. ผู้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนกว่า 50,000 คะแนน ไม่ได้เป็น ส.ส. ต่อมาเมื่อศาลฎีกาตัดสินยกคำร้อง ซึ่งก็แปลว่าคำวินิจฉัยของ กกต. ผิดพลาด กกต. กลับไม่อาจคืนตำแหน่ง ส.ส. ให้กับผู้ชนะ และไม่ต้องรับผิดใดๆ ต่อการกระทำของตัวเอง

การเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระ แต่กลับลดความรับผิด ปิดกั้นกลไกตรวจสอบและมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นนี้ ไม่อาจเป็นผลดีต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้เลย 

  1. การยื่นถอดถอนนักการเมืองในสภา – ตัดสิทธิประชาชนออก

การถอดถอนนักการเมืองที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม มาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ สามารถร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ 

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับตัดสิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอน ส.ส. และ ส.ว. ออกไป ทั้งที่ฉบับก่อนหน้านี้ คือปี 2550 ให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยใช้วิธีเดียวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (สิทธิในการเข้าชื่อถอดถอนปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งต้องใช้ 50,000 รายชื่อ)

  1. มาตรฐานทางจริยธรรม – เขียนเองใช้เองตัดสินเอง และสุ่มเสี่ยงจะถูกใช้กลั่นแกล้ง

มาตรฐานทางจริยธรรม’ นับเป็นกลไกใหม่เอี่ยมของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คาดว่าจะนำมาป้องปรามคอร์รัปชัน โดยมาตรา 76 วรรคสาม ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมา 

เรื่องนี้มีปัญหาตั้งแต่ระดับหลักการเช่นกัน เพราะมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ไม่เพียงใช้บังคับกับฝ่ายการเมือง (ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีหรือ ครม.) แต่ยังใช้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเองด้วย เข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ชัดเจน เพราะเขียนเองและใช้บังคับกับตัวเอง ผลประโยชน์ทับซ้อนที่แย่กว่านั้นไปอีกระดับก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้ออกกติกา จะไปใช้กติกาที่ตัวเองเขียนในคดีที่คนยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยข้อหาละเมิดกติกา  

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผู้เขียนเห็นศาลเขียนกติกาเอง ใช้กติกานั้นกับคนอื่นและตัวเอง และมีอำนาจตัดสินคนอื่นตามกติกาที่ตัวเองเขียน ใครเรียนหลักการเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ คานอำนาจมาน่าจะต้องกลับไปถามอาจารย์ว่า เราจะเรียกระบอบการปกครองที่ยอมให้เกิดเรื่องแบบนี้ว่าอะไรดี

มาตรฐานทางจริยธรรมที่ว่านี้ถูก ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี 2561 เนื้อหาน่าเป็นห่วงไม่แพ้ปัญหาเชิงหลักการ โดยเฉพาะการระบุในข้อ 27 ว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ทั้งที่เนื้อหาในหมวด 1 เป็นอุดมการณ์กว้างๆ เช่น ข้อ 6 “ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน” ซึ่งกว้างเป็นทะเลจนเราไม่อาจเข้าใจตรงกันได้เลยว่า  พฤติกรรม’ แบบไหนที่จะนับว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อนี้ ทำแบบไหนที่จะถือว่า “ไม่พิทักษ์รักษาไว้… ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประชาชน” 

ในเมื่อเราเข้าใจตรงกันไม่ได้จากการอ่านตัวบท จึงสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่มาตรฐานทางจริยธรรมนี้จะถูกใช้ในการกลั่นแกล้งทางการเมือง 

  1. กลไกต่อต้านคอร์รัปชัน – บั่นทอนกลไกยื่นบัญชีทรัพย์สิน และ ป.ป.ช. โปร่งใสน้อยลง

ในคอลัมน์นี้ ผู้เขียนเคยยกตัวอย่าง สิ่งที่เกิดกับประชาชนที่พยายามตรวจสอบกรณีไม่ชอบมาพากลของอุทยานราชภักดิ์ และสิ่งที่เกิดกับสื่อมวลชนที่พยายามตรวจสอบกรณี นาฬิกายืมเพื่อน’ ของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่า เป็นตัวอย่างของความไม่โปร่งใสในยุครัฐบาลทหาร และทิ้งท้ายว่า ‘‘ความ(ไม่)โปร่งใสในสองกรณีนี้ส่งสัญญาณอันตราย เมื่อคำนึงว่าการ ปราบโกง’ ที่น่าเชื่อถือทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ต้องชัดเจนว่าไม่เลือกปฏิบัติเท่านั้น แต่จะทำโดยภาครัฐฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ต้องเปิดให้สื่อมวลชนและประชาชนได้เข้ามาร่วมเป็นหูเป็นตา ติดตามตรวจสอบด้วย …ในเมื่อไม่เปิดให้สื่อร่วมตรวจสอบ แถมยังคุกคามประชาชนที่กล้าตรวจสอบ ก็เท่ากับไม่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ส่งผลให้มันไร้ความหมาย และคอร์รัปชันยิ่งมีแนวโน้มที่จะระบาดซึมลึกหนักข้อกว่าเดิม”

บางคนอาจบอกว่า กรณีไม่ชอบมาพากลสองเรื่องนี้เป็น เรื่องเล็ก’ ผู้เขียนขอตอบสั้นๆ ว่า ถ้า เรื่องเล็ก’  ยังจัดการให้โปร่งใสไร้มลทินไม่ได้ เรื่องใหญ่’  กว่านี้จะมองเห็นได้อย่างไร เราจะมองเห็น เบาะแส’ ของการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างไร ถ้าสื่อมวลชนและประชาชนถูกกีดกันไม่ให้ตรวจสอบ

กฎหมาย ป.ป.ช. กลไกสำคัญในต่อกรกับคอร์รัปชันถูกแก้มาแล้วหลายครั้ง ครั้งล่าสุดในปี 2561 แก้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560

การแก้ที่ผู้เขียนเห็นว่ามีปัญหาและอันตรายมาก คือ มาตรา 105 วรรคสี่ ของกฎหมาย ป.ป.ช. 2561 ซึ่งระบุว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ 

สำนักข่าวอิศราอธิบายความหมายในทางปฏิบัติ ว่า 

“บรรดาอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) หากพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเดิมไม่ถึง 1 เดือน หรือไม่ได้พ้นตำแหน่ง และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินใหม่ นอกจากนี้ยังรวมถึงบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) ที่ลาออก แล้วได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว. บทเฉพาะกาล ด้วย …ในบรรดารายชื่อคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 มีรัฐมนตรีอย่างน้อย 7 ราย จากจำนวน 36 ราย ที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช. รอบใหม่ เนื่องจากเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ (เดิม) และไม่ได้ลาออกจากตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 1 เดือน ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 4.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 6.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ 7.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม”

ทุกวันนี้เราจึงไม่มีข้อมูลว่า พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วิษณุ เครืองาม ฯลฯ มีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไรในช่วงสี่ปีแรกที่เป็น ครม.

ผู้เขียนเห็นว่า การยกเว้นไม่ให้บุคคลเหล่านี้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพียงเพราะได้รับแต่งตั้งใหม่ภายใน 30 วันหลังพ้นตำแหน่งเดิม ไม่มีเหตุมีผลใดๆ ที่ฟังขึ้นแม้แต่น้อย เพราะในความเป็นจริง ยิ่งบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองได้กลับเข้ามาใหม่แทบจะทันทีที่พ้นจากอำนาจ ยิ่งจำเป็นต้องให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ เพราะคนยิ่งครองอำนาจนาน ยิ่งสุ่มเสี่ยงที่จะใช้อำนาจในทางมิชอบ จำเป็นต้องโปร่งใสและเปิดรับการตรวจสอบ

มาตรา 105 ของกฎหมาย ป.ป.ช. จึงทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถครองอำนาจได้นานหลายปี อาจยาวเป็นสิบๆ ปี โดยที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเลย ตราบใดที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ภายใน 30 วัน หลังพ้นตำแหน่งเดิม

นับว่าผิดเพี้ยนอย่างแรงจากเจตนารมณ์ของกลไกการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และทำให้กลไกนี้ไร้ประสิทธิผลโดยปริยายสำหรับผู้ที่ครองอำนาจยาวนาน ทั้งที่ยิ่งมีอำนาจทางการเมืองนาน ยิ่งควรโปร่งใสมากกว่าคนอื่น

นอกจากกฎหมายฉบับแก้ใหม่จะบั่นทอนกลไกสำคัญของการต่อต้านคอร์รัปชันแล้ว การกระทำของ ป.ป.ช. เองยังลดความโปร่งใสของตัวเอง เช่น สิ่งแรกๆ ที่หน่วยงานนี้ทำหลังจากที่กฎหมายใหม่มีผล คือถอดรายงานความคืบหน้าการไต่สวนคดีทุจริตต่างๆ ของ ป.ป.ช. ออกจากเว็บไซต์ทั้งหมด โดยอ้างว่า เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 36 ทั้งที่ ป.ป.ช. ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดของแต่ละคดีหรือแม้แต่ข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดหลายปีก่อนหน้านี้เว็บไซต์ ป.ป.ช. ก็เปิดเผยเฉพาะข้อมูลภาพรวมทั่วๆ ไป แต่นี่เป็นข้อมูลสำคัญที่ให้สื่อมวลชนและประชาชนติดตามตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. ได้ 

การดึงข้อมูลออกจากเว็บไซต์ จึงเท่ากับตัดโอกาสในการติดตามตรวจสอบของสื่อและประชาชน อีกทั้งยังไม่แสดงความโปร่งใสอย่างที่ควรเป็น ในยุคที่ประชาชนเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานโปร่งใสมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง

ว่ากันตามจริง รัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ มีข้อดีเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันอยู่หลายประการ ข้อที่ผู้เขียนเห็นด้วยก็อย่างเช่น การกำหนดให้คดีทุจริตไม่มีอายุความถ้าผู้ต้องหาหลบหนี การเพิ่มโทษ และการให้นิติบุคคลผู้ติดสินบนต้องรับโทษด้วย 

แต่เมื่อคำนึงถึงปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ระดับตัวบทของกฎหมาย ดังสรุปโดยสังเขป 5 ข้อข้างต้นแล้ว ผู้เขียนก็คิดว่า หรือนี่จะเป็นยุคแห่ง การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ที่แย่กว่า คอร์รัปชันเชิงนโยบาย’ เมื่อหลายปีก่อน – เมื่อผู้มีอำนาจบั่นทอนบิดผันหลักการและกติกาที่ควรเป็น ผลลัพธ์คือการเปิดช่องให้พวกพ้องตัวเองฉ้อฉลได้โดยไม่ผิดกฎหมายหรือจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน แต่สามารถใช้กติกาชุดเดียวกันนั้นมาเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง

Tags: , ,