ณ มุมเล็กๆ ในรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ยังมีรัฐมหาราชา (Princely State) แห่งหนึ่ง ดูเผินๆ ก็คงไม่ต่างกับราชรัฐอื่นๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ในอินเดีย เช่น ชัยปุระ (Jaipur) และอุทัยปุระ (Udaipur) คือมีราชวงศ์ดั้งเดิมและมหาราชาเป็นผู้ปกครองโดยสัญลักษณ์ แม้จะไร้ซึ่งอำนาจ

แต่สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดและสร้างความฮือฮาไปทั่วทั้งในและนอกประเทศ คือเรื่องราวของรัชทายาทของมหาราชาองค์ปัจจุบัน ผู้เปิดตัวอย่างไม่เกรงกลัวแรงกระเพื่อมจากครอบครัวและสังคมว่า “ฉันเป็นเกย์”

วันนี้ คอลัมน์ Indianiceation ขอพาผู้อ่านไปรู้จักกับเจ้าชายสีรุ้งองค์แรกของอินเดียผู้ประกาศตัวว่าเป็น ‘เกย์’ ท่ามกลางการต่อสู้ทางกฎหมายของชาว LGBTQIA+ เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ในสังคมที่ยังมีมุมมองแบบอนุรักษนิยมของอินเดีย 

ราชปิปลา

‘ราชปิปลา’ (Kingdom of Rajpipla) เป็นรัฐมหาราชาเล็กๆ ของกลุ่มกษัตริย์ราชปุต (Rajput) ซึ่งปกครองพื้นที่คุชราตและมหาราชสถาน โดยมีราชวงศ์โคฮิลราชปุต (Gohil Rajput) เป็นผู้ปกครอง ซึ่งสามารถสืบย้อนความเป็นมากลับไปได้ถึงปี 1340 หรือในยุคกลางของอินเดีย

ราชปิปลาถือเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ของรัฐคุชราต และด้วยความสามารถทั้งทางการทูตและการทหารของราชวงศ์โคฮิลราชปุต ทำให้ราชปิปลารอดพ้นจากการโจมตีหลายครั้ง ทั้งจากสุลต่านแห่งอาห์เมดาบาด (Ahmedabad), ราชวงศ์มุฆัล (Mughals) ในช่วงยุคกลาง, ราชวงศ์คายกวาฑ (Gaekwars) แห่งบาโรดา (Baroda) และอังกฤษในยุคอาณานิคม ก่อนที่สุดท้ายมหาราชาแห่งราชปิปลายอมสละพระราชอำนาจอันมีมาแต่เดิม รวมเข้ากับสหภาพอินเดียเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1948 หรือเกือบ 1 ปีหลังประกาศเอกราช 

ปัจจุบันแม้จะไม่มีพระราชอำนาจเช่นเดิมแล้ว ทว่ามหาราชาแห่งราชปิปลายังคงได้รับความเคารพจากผู้คนในรัฐคุชราต โดยมหาราชาและพระราชวงศ์ยังคงเสด็จเป็นประธานในงานพิธีและประเพณีสำคัญทางศาสนาอยู่เสมอ

หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของราชวงศ์โคฮิลราชปุตคือ เจ้าชายมานเวนทระ สิงห์ โคฮิล (Manvendra Singh Gohil) รัชทายาทแห่งราชปิปลา เขาเกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน 1965 และลูกชายคนเดียวของ มหารานา ศรี รฆุบิร สิงหจี ราชเจนทรสิงหจี ซาหิบ (Maharana Shri Raghubir Singhji Rajendrasinghji Sahib) มหาราชาแห่งราชรัฐราชปิปลา

เจ้าชายมานเวนทระเคยให้สัมภาษณ์ถึงความผูกพันของผู้คนในราชปิปลากับราชวงศ์ว่า “สำหรับประชาชนบางกลุ่ม ราชวงศ์ของเขายังเป็นที่พึ่งและได้รับความไว้วางใจมากกว่านักการเมืองเสียด้วยซ้ำ” ตัวอย่างเช่น เจ้าชายเคยถูกร้องขอโดยชาวบ้านให้ตัดสินข้อขัดแย้งระหว่างพวกเขาแทนศาลยุติธรรม เพราะชาวบ้านมองว่าศาลตัดสินไม่เป็นกลาง ซึ่งเจ้าชายระบุว่า ชาวบ้านเชื่อแบบนั้นเพราะราชวงศ์อยู่ที่นี่มากว่า 600 ปีแล้ว

“พวกเราอยู่ที่นี่ตลอดไม่เคยหายไปไหน แต่นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐมาแล้วก็ไป วันนี้เขาชนะ เขาทำงานได้ดีมาก แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่า พรุ่งนี้เราตื่นมาจะยังเจอเขาอยู่ ราชวงศ์จึงเป็นตัวแทนของความต่อเนื่องของราชปิปลาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และนั่นทำให้พวกเรายังมีที่ทางในสังคมอินเดียที่เปลี่ยนไปนี้”

 มานเวนทระ สิงห์ โคฮิล (Manvendra Singh Gohil) ที่มา: AFP

สีรุ้งในเลือดสีน้ำเงิน

ทุกบทสัมภาษณ์มีคำถามหนึ่งที่เจ้าชายมานเวนทระมักต้องตอบอยู่เสมอ คือ “แล้วการเป็นเกย์ ส่งผลกระทบอะไรภาพลักษณ์อันยาวนานของราชวงศ์ไหม” ก่อนจะไปหาคำตอบจากเจ้าชายอินเดียผู้ประกาศอย่างเต็มปากว่าเป็นเกย์ สิ่งหนึ่งที่เราควรรู้โดยเบื้องต้นคือ “แล้วเจ้าชายผ่านอะไรมาบ้างในฐานะเจ้าชายเกย์”

 ในช่วงทศวรรษ 1970 เจ้าชายมานเวนทระเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนบอมเบย์สก็อตแลนด์ (Bombay Scottish School) และระดับสูง ณ วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์และเศรษฐศาสตร์อัมรุตเบน จิวันลาล (Amrutben Jivanlal College of Commerce and Economics) เมืองมุมไบ หลังจบการศึกษา เขาถูกพ่อและแม่จับให้แต่งงานแบบคลุมถุงชน (ซึ่งเป็นเรื่องปกติในหมู่ชนชั้นสูงของอินเดีย) ในเดือนมกราคม 1991 กับเจ้าหญิงยุวรานี จันทริกา กุมารี (Princess Yuvrani Chandrika Kumari) แห่งจาปัว (Jhabua State) จากมัธยประเทศ

เจ้าชายมานเวนทระเคยกล่าวว่า “การแต่งงานในวัย 30 ปี เป็นหายนะและความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ชีวิตสมรสในครั้งนั้นไม่เคยสมบูรณ์ ผมไม่สามารถมีอะไรเกินเลย หรือแม้แต่มองเธอเป็นภรรยาได้ ผมรู้ตัวว่าทำผิดมาก ตอนนี้คนสองคนต้องทนทุกข์ แทนที่จะเป็นคนคนเดียว ชีวิตของผมห่างไกลจากความปกติและทนทุกข์มาก”

เจ้าหญิงยุวรานีฟ้องหย่าหลังจากแต่งงานได้เพียงปีกว่า โดยกล่าวในจดหมายว่า “ฉันกลับไปในสถานะเดียวกับที่ฉันจากมา” ซึ่งเป็นความหมายโดยนัยว่า เธอและสวามีไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว

เมื่อเรื่องถึงศาล คำพิพากษาและคำวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่โถมใส่เจ้าหญิงยุวรานีว่า เธอเป็นเหตุให้ฝ่ายชายไม่สามารถประกอบกิจอันพึงกระทำระหว่างสามีภรรยาได้ และเป็นเหตุแห่ง ‘ความไม่สมบูรณ์ของการแต่งงาน’ ซึ่งเจ้าชายมานเวนทระรู้สึกผิดต่อเธอเป็นอย่างมาก เพราะเขารู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า มันเป็นเพราะตนเอง แต่กระนั้นด้วยชื่อเสียงของราชวงศ์โคฮิลราชปุต จดหมายแสดงความประสงค์ที่อยากให้เจ้าชายมานเวนทระเป็นเจ้าบ่าวให้กับเจ้าหญิง และหญิงชั้นสูงยังคงหลั่งไหลมาจากทั่วทั้งอินเดีย แต่ทุกคำร้องนั้นถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงจากเจ้าชายมานเวนทระ

ด้วยความรู้สึกผิดต่ออดีตภรรยาและความรู้สึกสับสนกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญ เจ้าชายมานเวนทระเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตบำบัดในปี 2002 จากอาการของโรคซึมเศร้า ทว่าการพบนักจิตบำบัดในครั้งนั้นกลับเป็นครั้งแรกในชีวิตกว่า 30 ปีของเจ้าชายมานเวนทระ ที่ได้รู้จักกับคำว่า ‘เกย์’ หรือชายรักชาย

“ใช่ ผมเป็นเกย์” เขาตอบกับตัวเองได้ทันทีเลยว่า ทำไมเหตุการณ์แปลกต่างๆ จึงเกิดขึ้นระหว่างเขากับอดีตภรรยา และทำไมเขาถึงรักเธอไม่ได้ ภาพเก่าๆ ในวัยเด็กย้อนกลับมาทั้งหมด ว่าทำไมเขาถึงชอบเล่นกับเพื่อนผู้หญิงมากกว่าเพื่อนผู้ชาย แต่กลับไม่รู้สึกเกินเลยอะไรกับพวกเธอ

ทว่าในขณะเดียวกัน เขาก็รู้สึกได้ถึงความน่าหลงใหลบางอย่างของเหล่าเพื่อนผู้ชายในโรงเรียน เพราะเขาเกิดและเติบโตในพระราชวังที่แวดล้อมด้วยคนรับใช้ ตัดขาดจากโลกภายนอก เจ้าชายมานเวนทระกล่าวว่า มีบางครั้งที่เขารู้สึกแตกต่างจากพ่อ แต่ไม่รู้จะอธิบายมันอย่างไร ทำได้เพียงแต่เดินตามเส้นทางที่พ่อแม่ขีดไว้ให้เดินไปข้างหน้า เหมือนกับที่เหล่าเจ้าชายในอินเดียยุคหลังประกาศเอกราชควรจะทำ 

หลังเข้ารับการรักษาอาการซึมเศร้าและค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตนเองแล้ว ชีวิตก็มาถึงทางแยก ซึ่งเชื่อว่า LGBTQIA+ ทุกคนเคยผ่านกันมาหมดแล้ว คือ ‘เราจะทำยังไงกับพ่อแม่ดี’ และ ‘เราจะบอกเขาดีไหม’ หรือ ‘เราควรฝั่งกลบสิ่งนี้ไว้และตายไปพร้อมกับมัน’ สุดท้ายเขาเลือกที่จะไม่เก็บมันไว้อีกต่อไป เขาบอกกับพ่อแม่อย่างตรงไปตรงมาว่า “ผมเป็นเกย์” พ่อแม่ของเจ้าชายมานเวนทระตกใจมากกับสิ่งที่ได้ยิน เนื่องจากเขาคือรัชทายาทของราชวงศ์เก่าแก่ แต่ในทางหนึ่งก็พอจะทำใจยอมรับได้บ้างในฐานะลูก ซึ่งเงื่อนไขคือ เรื่องนี้ห้ามแพร่งพรายให้ใครรู้เป็นอันขาด เขาถูกสั่งให้กลับจากมุมไบ และเริ่มใช้ชีวิตเต็มเวลากับพ่อแม่ในราชปิปลา

The World First Openly ‘Gay Prince’

 ในปี 2005 จิรันตะนะ ภัตต์ (Chirantana Bhatt) นักข่าวหนุ่มจากวาโดดารา ขอเข้าสัมภาษณ์เจ้าชายมานเวนทระ เพื่อตีแผ่ชีวิตในหลายแง่มุมของเชื้อพระวงศ์อินเดียยุคหลังประกาศเอกราชว่า ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโลกนี้อย่างไร ซึ่งเจ้าชายมานเวนทระเปิดเผยรสนิยมทางเพศของเขา และความเครียดทางจิตที่ต้องเผชิญในฐานะเกย์ที่ถูกปิดบัง ให้นักข่าวหนุ่มผู้นั้นฟังอย่างหมดเปลือก

วันที่ 14 มีนาคม 2006 เรื่องราวการ ‘Come Out’ ของเจ้าชายกลายเป็นพาดหัวข่าวชื่อดังลงในทิพยะภัสการ (Divya Bhaskar) หนังสือพิมพ์ภาษาคุตราชรายวัน ฉบับวาโดดารา ก่อนค่อยๆ ขยายผลเพิ่มเติมไปในฉบับอื่นๆ เช่น ไดนิกภัสการ (Dainik Bhaskar) หนังสือพิมพ์ภาษาฮินดี รวมไปถึงถูกนำไปพูดในคอลัมน์วิเคราะห์ข่าวรายวัน ของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษหัวใหญ่ในอินเดียอย่าง DNA India ทำให้ในไม่ช้าบทสัมภาษณ์ของเจ้าชายมานเวนทระก็ปรากฏในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วประเทศ จนกลายเป็นประเด็นซุบซิบในแง่ลบ และล้อเลียนในสังคมติดต่อกันไปอีกหลายสัปดาห์

ชาวราชปิปลาตกตะลึงในสิ่งพวกเขาได้อ่าน ได้เห็น และได้ยิน พวกเขารับไม่ได้ที่ราชวงศ์ที่รักจะมีคนผิดปกติแบบนี้ มันช่างน่าอับอาย น่าเศร้า และน่ารังเกียจ ชาวบ้านรวมตัวกันตามตรอกซอกซอย เผาหุ่นจำลองของเจ้าชายอย่างไม่ปรานี ทั้งเยาะเย้ยและด่าทอในที่สาธารณะอย่างสนุกปาก สมาชิกราชวงศ์กล่าวหาว่า เขาสร้างความอับอายให้แก่บรรพชนและครอบครัว 

แต่คนที่ดูโกรธเจ้าชายมานเวนทระมากที่สุดดูจะเป็นคุณแม่ของเขา หลังจากเรื่องราวเกิดขึ้น เธอก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงหรือแม้แต่เจอหน้าลูกชาย พร้อมกับประกาศต่อหน้าสมาชิกราชวงศ์ทุกคนว่า “ชายประหลาดคนนี้ไม่ใช่ลูกของฉัน” และขู่ฟ้องร้อง ใครก็ตามที่บอกว่าเขาเป็นลูกชายของเธอ แน่นอนว่า นั่นเป็นความเจ็บปวดสุดแสนสาหัสครั้งที่ 2 ในชีวิตของเขา ซึ่งเจ้าชายเคยให้สัมภาษณ์ว่า 

“ตอนเด็กๆ ผมไม่ชอบเห็นเพื่อนผู้หญิงร้องไห้หรือโดนผู้ชายแกล้ง ผมมักจะปกป้องเพื่อนผู้หญิงของผมเสมอ แต่ผมกลับทำให้คุณแม่ร้องไห้ มันช่างน่าเศร้าจริงๆ”

แต่ในเมื่อเดินทางมาถึงขนาดนี้แล้วจะถอยกลับก็ไม่สามารถทำได้ แม้เขาจะรักษาคุณแม่ของตัวเองไว้ไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาทำได้ คือการกอบกู้ชื่อเสียงของราชวงศ์ เจ้าชายถูกให้ออกจากพระราชวังมาอาศัยในบ้านพักเล็กๆ ซึ่งเขาปรับเปลี่ยนให้เป็นบ้านสวนและแปลงเกษตรทดลองเพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกแบบปลอดสารพิษ

พร้อมผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหว จัดตั้งกองทุนลักษยะ (Lakshya Trust) เพื่อส่งเสริมความเข้าใจด้านความหลากหลายทางเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะซึมเศร้าที่มาจากการไม่สามารถเปิดเผยรสนิยมทางเพศที่แท้จริงได้ และที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ การให้ความช่วยเหลือด้านที่พักอาศัยและรายได้เลี้ยงชีพกับกลุ่ม LGBTQIA+ ที่ถูกขับไล่ออกจากสังคม 

เรื่องราวของเจ้าชายเลือดสีรุ้งไม่ได้จบลง ณ บ้านสวนเล็กๆ ในชานเมืองราชปิปลา ต่อมาเขาปรากฏตัวเป็นแขกรับเชิญ ในรายการดิโอปราห์วินฟรีย์โชว์ (The Oprah Winfrey Show) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2007 ซึ่งข้อความหนึ่งที่เขาให้สัมภาษณ์ในรายการครั้งนั้นคือ

“ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดของเกย์อย่างผมคือครอบครัว การมีครอบครัวหนุนหลังทำให้เราพร้อมต่อสู้กับสายตาแทะเล็มรอบตัว แต่การถูกทิ้งโดยคนในครอบครัวมันช่างเจ็บปวด เพราะฉะนั้นไม่ว่าเขาจะเป็นตัวอักษรใดใน LGBTQIA+ ได้โปรดอย่าไล่เขาออกจากบ้าน ให้เขายังอยู่กับบ้านเพื่อเรียนรู้ว่า การเป็น ‘มนุษย์’ ที่ดีนั้นมีความหมายอย่างไร” 

นอกจากนั้นเขายังได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนเปิดงานเทศกาลเกย์ Euro Pride ที่เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ประจำปี 2008 และในปี 2010 เขาเข้าดำรงตำแหน่งบรรณาธิการของ Fun นิตยสารเกย์ที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง ซึ่งตีพิมพ์ในราชปิปลา

สุดท้ายเจ้าชายมานเวนทระก็กู้หน้าตัวเองได้ในที่สุด คุณพ่อยอมรับในตัวลูกชายคนนี้มากขึ้นทีละน้อย แม้จะยังไม่ยอมพูดถึงเรื่องรสนิยมทางเพศอย่างตรงไปตรงมากก็ตาม ภาพการไปร่วมงานสังคมระดับสูงและระดับเมืองที่มีมหาราชา ทำให้เจ้าชายเกย์ผู้นี้กลายเป็นภาพที่ทุกคนในเมืองกลับมายอมรับอีกครั้ง ชาวบ้านต่างดีใจที่เขามีเจ้าชายที่มีความสามารถ จนเขากลายเป็นจุดสนใจของผู้คนในเมืองเสมอ เห็นได้จากที่เขามักถูกขอถ่ายภาพอยู่ตลอด และรายการโทรทัศน์ทั้งในและต่างประเทศต่อคิวสัมภาษณ์เจ้าชายนี้อย่างไม่ขาด

ในปี 2013 เจ้าชายมานเวนทระก็ลั่นระฆังวิวาห์กับ เซซิล ริชาร์ดสัน (Cecil ‘DeAndre’ Richardson) ชายชาวอเมริกันซึ่งเป็นพนักงานด้านเครื่องสำอางของห้างสรรพสินค้า Macy’s ในประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้การรับรู้และไม่ขัดขวางของราชวงศ์ โดยทั้ง 2 คน เดินทางไปมาระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดียเสมอ

เมื่อมาถึงตรงนี้อะไรๆ ช่างดูเป็นเรื่องราวชีวิตที่ Happy Ending แต่สุดท้ายคุณแม่ของเจ้าชายก็ยังไม่ยอมพบหน้าลูกชายของเธอ และแม้การแต่งงานในครั้งนั้นจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่เซซิลก็ไม่มีสิทธิจะเข้ามาในเขตพระราชวัง หรือแม้แต่ร่วมใดๆ กับราชวงศ์

ชีวิตของเจ้าชายมานเวนทระไม่ต่างอะไรกับเรื่องราวของกลุ่ม LGBTQIA+ ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของอินเดีย มีทั้งขึ้นและลง ทั้งสุขและทุกข์ กลุ่มผู้มีความหลากหลายที่เคยโลดแล่นในวรรณกรรม นิทาน และมหากาพย์ต่างๆ เมื่อหลายพันปีก่อน ปัจจุบันกลับทำเช่นนั้นไม่ได้ จากที่เคยได้รับการยอมรับในฐานะผู้ให้พร ผู้สอนนาฏศาสตร์ วันนี้เป็นเพียงผู้ให้พรแลกเศษเงินไม่กี่สิบรูปีตามข้างถนน แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นแค่ช่วงขาลงของกลุ่ม LGBTQIA+ ในอินเดีย และวันหนึ่งความหวังที่จะได้รับการยอมรับก็จะกลับมาอีกครั้ง ถึงแม้ว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเราทุกคนไม่ควรที่จะต้องถูกพิสูจน์ก็ตาม

อ้างอิง

Asian Boss, Meet India’s First Openly Gay Prince | Stay Curious, https://youtu.be/mqXNWnL-FzI?si=5A_3QDEVb0whZ3py

Cooking for the Crown, Cooking for the Crown in Rajpipla,https://youtu.be/t_Vne3gVS1Y?si=hXW-H_TZ7vPan5UB

Manvendra Singh Gohil, Be Happy and Be Gay – TEDxBITSHyderabad https://youtu.be/QpC9lPqvnpA?si=sRQEARhlCNJ-ikR1

BBC News, India’s gay prince opens his palace for LGBT community, https://youtu.be/zgGuMK6qpF0?si=-kiTBLiHd0c6saO7

Oprah’s Favorite Royal, Openly-Gay Prince Manvendra Singh Gohil, https://youtu.be/7Z4_PP1MYtY?si=BleH26jhY0GApu-o

Oprah Winfrey’s Official Website – Live Your Best Life. Oprah.com (24 October 2007). Retrieved on 20 August 2012.

Dixit, Mini (14 March 2016). “How India’s First Openly Gay Prince Came Out, met Oprah, and Now Fights for the LGBTQIA+ Community”. India Today.

Tags: , , , , ,