ถึงแม้การทำคราฟต์เบียร์ในประเทศไทยอาจจะยังถูกกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ แต่หากใครเป็นคอเบียร์ไทยก็จะรู้กันดีว่า ‘กลุ่มคนทำเบียร์’ ในบ้านเรา คอยเคลื่อนไหวและพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา

Deva Farm & Cafe ฟาร์มฮอปส์แห่งแรกในเมืองไทย ที่ อ๊อบ-ณัฐชัย และ อาร์ต-ธีรภัทร อึ๊งศรีวงศ์สองพี่น้องแห่งเบียร์ ‘เทพพนม’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ถือเป็นข่าวใหญ่ข่าวดีประจำปีของวงการคนทำเบียร์และคอเบียร์ ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมวงการโฮมบริวให้การ ‘ต้มเบียร์’ ก้าวหน้าไปมากกว่าที่เคย

3 ไอเดียจุดกำเนิด Deva Farm & Cafe

“เรามีไอเดียนี้หลังจากที่เริ่มทำเบียร์ พอทำเบียร์เองแล้วมันก็ทำให้เราคิดว่า ถ้าเราปลูกฮอปส์ได้คงดีเนอะ เพราะฝรั่งก็ปลูกกัน อีกส่วนหนึ่งคือฮอปส์แต่ละพื้นที่จะมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เราก็คิดว่าถ้ามาปลูกในไทย ก็น่าจะได้กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ไปอีกแบบหนึ่ง” อ๊อบ-ณัฐชัย เล่าไอเดียการเริ่มทำฟาร์มฮอปส์

“สองคือการปลูกเองจะทำให้เราได้ใช้ของ ‘สด’ เหมือนกับการใช้ผลไม้สดทำขนมนั่นแหละครับ เพราะการต้มเบียร์อยู่เมืองไทยมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะได้ใช้ของสดจากเมืองนอก สมมติเรานำเข้าดอกฮอปส์สด เราไม่รู้หรอกว่ามันผ่านมาแล้วกี่วันกว่าจะมาถึงเรา แต่ถ้าเราปลูกเองเก็บเอง เรารู้ว่ามันสดจริง

“ข้อสุดท้ายคือ อยากท้าทาย เพราะมีแต่คนบอกว่าเมืองไทยปลูกฮอปส์ไม่ได้ ต่อให้ปลูกได้ก็ไม่ออกดอก หรือถ้าออกดอกก็ไม่ดี นี่คือสิ่งที่เราได้ยินเยอะมาก เราก็เลยอยากลองปลูก”

ภาพของโรงเรือน 5 หลังที่เต็มไปด้วยต้นฮอปส์ที่ Deva Farm & Cafe ทำให้เรารู้ว่าบางทีสิ่งที่เชื่ออาจไม่จริงเสมอไป แค่ยังไม่มีคนลองทำเท่านั้นเอง

ฮอปส์กับเบียร์

เบียร์ คือสุราหมักชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมหลักๆ 4 ชนิด คือ น้ำ มอลต์ ฮอปส์ และยีสต์ โดยฮอปส์จะทำหน้าที่ให้รสชาติขมและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของเบียร์แต่ละยี่ห้อ

ก่อนหน้านี้การทำเบียร์เกิดจากการนำเข้าวัตถุดิบทั้งมอลต์และฮอปส์ ดังนั้นการทำไร่ปลูกฮอปส์ก็เหมือนผลิตวัตถุดิบขึ้นเองเพื่อลดการนำเข้า ลดต้นทุน และส่งเสริมให้การทำเบียร์ในประเทศไทยมีทางเลือกที่หลากหลายและมีโอกาสเติบโตมากขึ้น

คิดง่ายๆ เหมือนกับการปลูกสตรอว์เบอร์รีหรือผลไม้เมืองหนาวอื่นๆ ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งการนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์ ฮอปส์ก็เช่นกัน

จาก DIY สู่ระบบฟาร์ม

“ฮอปส์เป็นพืชที่จริงๆ แล้วโตง่ายเป็นอันดับสองรองจากต้นไผ่ คือมันโตไวมาก” อ๊อบ-ณัฐชัย ให้ความเห็นหลังทดลองปลูกต้นฮอปส์ครั้งแรก

“เราเคยได้ยินมาว่าฮอปส์มันปลูกไม่ได้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร ก็เลยลองสั่งเหง้าฮอปส์มาจากอเมริกาเพื่อมาลองปลูก เริ่มจากห้าต้นเองครับ เพื่อลองดูว่ามันเป็นไปได้ไหม

“ช่วงแรกผมปลูกในห้องแอร์เลย เพราะฮอปส์ต้องการอากาศหนาว ใช้ไฟ glowlight เหมือนการปลูก indoor gardening แล้วใช้ราวตากผ้ามาเป็นหลักให้ต้นพันไปเรื่อยๆ พอเราเห็นว่ามันออกดอกได้ ผมก็เลยมั่นใจ เริ่มสั่งทำโรงเรือนจริงจัง สั่งระบบน้ำ ระบบปุ๋ย ลองปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นแล้วว่ามันผ่านมากับเราได้ทั้งหน้าร้อน ฝน หนาว ผมก็เลยสบายใจแล้วว่า ไม่ว่าจะฤดูไหน ฮอปส์ก็ออกดอกได้แน่นอน”

ฮอปส์เพื่อวงการคราฟต์เบียร์ไทย

อ๊อบ-ณัฐชัย และ อาร์ต-ธีรภัทร อึ๊งศรีวงศ์ สองพี่น้องแห่งเบียร์ ‘เทพพนม’ เริ่มปลูกครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2015 ปัจจุบันมีโรงเรือนทั้งหมด 5 โรง สำหรับรองรับฮอปส์ประมาณ 27 สายพันธ์ุ

เบียร์เทพพนมรุ่น ‘ปากเกร็ด Wet Hops’ ได้ลองใช้ฮอปส์ที่ปลูกใน Deva Farm & Cafe ทำเบียร์ และเพิ่งวางขายไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้เพิ่งเก็บเกี่ยวดอกฮอปส์รุ่นล่าสุดไป คุณอ้อบ และ คุณอาร์ต บอกเราว่าได้แบ่งขายให้บริวเวอร์เจ้าอื่นๆไปบ้างแล้วรวมถึงกำลังจะทำเบียร์เทพนมแบทช์ต่อไปโดยใช้ฮอปส์ที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ชิมกันช่วงปลายปีนี้ หากเรียบร้อยแล้ว The Momentum จะมาอัพเดทให้ทราบทันที

“เป้าหมายของผมในการทำฟาร์มฮอปส์เมื่อปีที่แล้ว คือทำให้ฮอปส์ออกดอกให้ได้สำหรับปีหน้า เป้าหมายคือการปลูกให้ได้ผลผลิตพอที่จะแบ่งขายให้กับคนทำเบียร์คนอื่นๆ ได้บ้าง”

เมื่อฮอปส์ที่ Dave Farm & Cafe เริ่มเบ่งบานในฤดูกาลหน้า เราหวังว่าวงการคราฟต์เบียร์ไทยคงจะคึกคักไม่น้อย

 

DEVA FARM & CAFE
Open: 19:00-24:00 น. | จันทร์-เสาร์
Address: 85/4 ติวานนท์-ปากเกร็ด ซอย 21 อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
Tel: 08 3035 7956
Parking: จอดรถริมถนน

 

FACT BOX:

  • ฮอปส์ (Hops) เป็นวัตถุดิบที่ให้รสขมและให้กลิ่นกับเบียร์ แต่ละสายพันธ์ุจะให้กลิ่นและความขมที่แตกต่างกัน โดยบริวเวอร์หรือนักต้มเบียร์จะทำหน้าที่เป็นพ่อครัวในการปรุงเบียร์ โดยเลือกผสมฮอปส์หลายๆ ชนิดเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้รสชาติเบียร์ที่เป็นเอกลักษณ์
  • ถ้าเจอคำว่า ‘Fresh Hops’ หรือ ‘Wet Hops’ ในการอธิบายเบียร์ หมายความว่าเบียร์ตัวนั้นใช้ดอกฮอปส์สดในการผลิต
  • ฮอปส์ที่เก็บสดสามารถใช้ได้เลยภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะนำไปอบแห้งและอัดเป็น pellet ซึ่งเป็นฮอปส์ที่นำมาใช้ต้มเบียร์ที่เห็นได้ทั่วไป
  • ฮอปส์ที่ใช้ทำเบียร์จะเป็น ‘ตัวเมีย’ ทั้งหมด
  • สำหรับมือใหม่หัดดื่ม หากอยากลองเบียร์ที่มีรสชาติและกลิ่นของฮอปส์ชัดเจน พุ่งตรงไปยังประเภท IPA (Indian Pale Ale) หรือทดลองขวดที่มาจากฝั่งอเมริกาหรืออเมริกันสไตล์ เพราะหากเปรียบเทียบการผลิตเบียร์ในยุโรปเป็นสไตล์โลกเก่า ที่เน้นรสชาติและความหอมของมอลต์ อเมริกาคือผู้ผลิตเบียร์แบบโลกใหม่นำเทรนด์คราฟต์เบียร์ ซึ่งจะมีคาแรกเตอร์ของฮอปส์ที่โดดเด่นกว่าสไตล์อื่นๆ
Tags: , , ,