“ถ้าบ้านผมดีขึ้น ผมจะกลับบ้าน”

ผู้สัมภาษณ์รายหนึ่งพูดขึ้นระหว่างการสัมภาษณ์

ในระยะ 3 ปี ครอบครัวหนึ่งอาจง่วนอยู่กับการเตรียมเด็กวัย 3 ขวบ เข้าเรียนอนุบาล 1 ในจังหวัดภูเก็ต

ในระยะ 8 ปี เส้นทางการศึกษาของเด็กอีกคนอาจกำลังเข้าสู่วัยประถม 3 เตรียมเป็นเด็กประถมปลายในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ 

และในระยะ 12 ปี เด็กสักคนคงโตพอรับอิสระที่มาพร้อมกับความเป็น ‘วัยรุ่น’ ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวลในกรุงเทพฯ

ขณะที่ระยะเวลา 3-12 ปี ณ ชายแดนใต้สุดของไทย กลับเป็นห้วงเวลาของการระเห็จระเหเร่ร่อนจากบ้านเกิด หอบความฝัน แบกภาระเดินทางกว่าพันกิโลเมตรมุ่งหน้าสู่เมืองหลวง 

‘พลัดถิ่น’ มีความหมายว่า อยู่ไกลจากถิ่นที่อยู่ของตน นิยามนี้ใช้ได้กับชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จากบ้านอันไกลโพ้น เข้ามาเป็นแรงงานในเมืองหลวง 

ไม่ได้เป็นความต้องการหรือความถวิลหาสิ่งศิวิไลซ์ในมหานคร แต่เป็นความจำเป็นของมนุษย์ที่ต้องหันหน้าเข้าหาทรัพยากรอย่างเงินตรา มาใช้หล่อเลี้ยงปากท้องตนและครอบครัว ด้วยเหตุผลที่ว่า บ้านเกิดเมืองนอนไม่รองรับหรือรับรองชีวิตของประชากรท้องถิ่น เมื่อไร้งาน ไร้เงิน การพลัดถิ่นจึงเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

แต่การพลัดถิ่นของประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเหตุผลที่มากกว่าแค่การขาดทรัพย์ ขาดงาน และมีหนี้สิน หากมองให้ลึก ตั้งใจรับฟังสิ่งที่ผู้พลัดถิ่นพูด ต้นสายปลายเหตุของการพลัดถิ่นในวันนี้มีมากกว่าแค่เรื่องเงินๆ ทองๆ อยู่มากโข 

นราธิวาสไม่มีฝัน

เย็นวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ใต้ชายคามัสยิดแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง ซอย 2 เป็นสถานที่พูดคุยระหว่างฉันกับชาวนราธิวาสผ่านโทรศัพท์มือถือ เสียงปลายสายเล็กเบาคล้ายผู้หญิง เธอแนะนำตัวว่าชื่อ ดารีม

ดารีม ในวัย 25 ปี นิยามตนเป็น ‘เควียร์’ อัตลักษณ์หนึ่งในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ปัจจุบันดารีมคือพนักงานออฟฟิศบนตึกใหญ่ใจกลางกรุง แม้บัตรประชาชนดารีมจะระบุชัดว่าบ้านเกิดของเธอคือนราธิวาส แต่วันนี้เธอยืนอยู่ในเมืองหลวง ด้วยเหตุที่บ้านเกิดของเธอมอบสิ่งที่เธอต้องการให้ไม่ได้ นั่นคือการตั้งต้นทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่

“กรุงเทพฯ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในตำแหน่งงานที่เราอยากทำ เราอยากเก็บประสบการณ์ เราอยากทำงานในบริษัทใหญ่ เพราะได้เครื่องมือในการทำงานที่ครบครันกว่า และเป็นการสร้างโปรไฟล์ว่า เราได้ทำงานในบริษัทชั้นนำ ถ้าพูดกันตามจริงโดยส่วนใหญ่บริษัทจะมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะความเจริญ คมนาคมดี มีที่พัก”

จริงแท้อย่างไม่มีข้อสงสัย ใครจะปฏิเสธสิ่งที่ดารีมพูดท้ายประโยคได้ว่า ความเจริญของประเทศรูปขวานนี้รวมศูนย์อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่ความสะดวกสบายที่มหานครมอบให้ แต่ความก้าวหน้า และอนาคตของคนไทยนับล้านแขวนไว้กับมหานครแห่งนี้เช่นกัน หลักฐานชี้ชัดคือตัวเลขประชากรแฝง ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวมีประชากรแฝงมากถึง 9.25 ล้านคน 

กรุงเทพฯ จึงกลายเป็น ‘บ่อน้ำแห่งความหวัง’ ของคนทั้งประเทศ รวมถึงชาวชายแดนใต้อย่างดารีมในวันนี้

“หลังจบมหาวิทยาลัย ถ้าไม่ได้รับราชการในพื้นที่ ส่วนใหญ่ก็มากรุงเทพฯ น้อยมากจะกลับบ้านเกิด การทำงานในสามจังหวัดชายแดนของเด็กจบใหม่ในเรตเงินเดือน 17,000-18,000 บาท แทบไม่มีให้เห็น เรตนี้ต้องมาทำงานที่สงขลา ซึ่งไม่ใช่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เวลาหางานทำทีหนึ่งก็ไล่ตั้งแต่อำเภอไปจังหวัด ที่ไหนมีบิ๊กซี มีห้างใหญ่ๆ ก็แปลว่ามีงาน แต่บางพื้นที่แม้แต่เซเว่นฯ หรือบิ๊กซีก็ไม่มี

“ส่วนคนมีฐานะทางบ้านดี มีธุรกิจส่วนตัว ทำสวนทำไร่ เขาก็กลับบ้าน เพราะมันเลี้ยงเขาได้”

เป็นเรื่องน่าแปลก ที่ผืนดินกว้างใหญ่ของนราธิวาส กลับรองรับความเป็นอยู่ของคนเพียงหยิบมือ ผู้มากมีเงินทองกลายเป็นประชากรผู้อยู่รอดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มั่นคง กินอิ่ม นอนหลับ ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งต้องพลัดถิ่นเกิด เข้ามาควานหาความก้าวหน้าในเมืองหลวง

สิ่งที่น่าเหนื่อยใจสำหรับดารีม ผู้ครึ่งชีวิตเคยอาศัยอยู่นราธิวาส คือการมองเห็นความเหลื่อมล้ำแบบสุดโต่ง “รวยก็รวยสุด จนก็จนสุด ไม่มีฐานะกลางๆ” ดำเนินไปไร้จุดยุติ ซึ่งความเหลื่อมล้ำนี้ ดูเหมือนจะมีต้นเหตุจากความเจริญภายนอกไม่อาจเข้าสู่พื้นที่บ้านเกิดของเธอได้

เสียงคู่สนทนาพูดช้าลง เพื่อให้ฉันฟังอย่างแจ่มชัดว่า สาเหตุของปัญหามาจากความไม่สงบของพื้นที่ผ่านการบริหารราชการ และนักการเมืองที่แม้จะมีตำแหน่งใหญ่พอที่จะนำความเจริญลงสู่พื้นที่ แต่สุดท้ายก็นิ่งเฉย ไร้วี่แววการพัฒนา

และดารีมรู้สาเหตุของความนิ่งสงัดนั้น

“อาจตกใจ ถ้าเราบอกว่า ผู้ใหญ่บ้านเราโดนยิงตายหลังรับตำแหน่งทุกปี หลังๆ คนมารับตำแหน่งใหม่เลยไม่ค่อยทำอะไร อย่างคนล่าสุดไม่ทำอะไรเลย แล้วเขาก็รอดมาจนถึงทุกวันนี้”

การได้เห็นผู้ใหญ่บ้านโดนกระชากลมหายใจด้วยลูกปืนนัดแล้วนัดเล่า ฟังดูน่ากลัวสำหรับใครหลายคน แต่กับดารีม นี่คงเป็นความไม่เคยชินที่เธอเองต้องยอมรับและปรับตัว ด้วยสถานการณ์ ณ ชายแดนใต้ยังคงมีเสียงปืน เสียงระเบิดจนทุกวันนี้ แม้จะมีกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติความมั่นคง ที่ให้อำนาจทหารเข้าคุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

“บ้านเรามีกฎอัยการศึก ชีวิตมันจึงยากขึ้น ต้องมานั่งหวาดระแวงเหตุร้ายช่วงที่งบแผ่นดินกำลังมา ใครออกไปทำงานเขาก็กลัวระเบิด 

“มีครั้งหนึ่งเรากลัวมาก ตอนเล่นซ่อนแอบกับน้องแล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 4 นัด ใกล้ๆ เรากับน้อง เราเป็นพี่ใหญ่ต้องดูแลน้องทั้งหมดแต่เราเองก็กลัว ไม่รู้เลยว่าตอนนั้นจะเจอกับอะไรอีก สุดท้ายเราเอาน้องๆ มาซ่อนในหลุมที่เขาขุดไว้”

วัยเด็กของคนทั่วไปอาจพอมีบ้างที่กระสุนพลาสติกนัดเล็กๆ จากปืนของเล่นจะกระทบที่ต้นขาหรือหลังคอ โดนสัก 10 นัด ก็คงไม่สาหัสสากรรจ์นัก แต่สำหรับดารีมที่อุ้มน้องหนีลูกปืนจริงตั้งแต่เล็ก หากมีเพียงนัดเดียวตรงเข้าสักจุดของร่างกาย เธออาจบาดเจ็บหรือสิ้นลม 

การปรากฏตัวที่มหานครของดารีม คงหนีไม่พ้นการย้อนไปที่ความฝันตั้งต้นที่นราธิวาสไม่สามารถมอบให้เธอได้ เมื่อบริษัทใหญ่และห้างหรูสำหรับสามชายแดนภาคใต้ยังเป็นเซเว่นฯ หรือบิ๊กซี เมื่อชีวิตของเธออยากตะกายไปไกลกว่าการเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ การมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงจึงเป็นหนทางที่เหมาะควรแล้วสำหรับเธอ

อย่างไรก็ตาม ถิ่นเกิดของดารีมที่แล้งเงิน แล้งงานนั้น มิได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดบ้านเกิดที่ขับไสความเจริญออกไปจนหมดสิ้น

แสงไฟในเมืองหลวง

ตะวันโพล้เพล้ ตึกรามริมถนนกำลังประชันแสงสว่างอย่างคับคั่ง การจราจรถนนลาดพร้าวเข้าสู่ช่วงหนาแน่นอีกครั้งจากการกลับที่หลับนอนของแรงงานในช่วงเย็น เมื่อท้องฟ้ามืดลงช่วงเวลาพักผ่อนจึงเริ่มขึ้น นั่นเป็นเพียงมุมมองสากลที่มืดค่ำแล้วต้องนอนหลับพักผ่อน หากแต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าสู่ช่วงเวลาเหล่านั้นได้เพียงฟ้ามืด 

ชายรายหนึ่งยังต้องรอคอยอีกสักนิด ทำหน้าที่ของตนในห้างสรรพสินค้าริมถนนลาดพร้าวจนกว่าจะถึงเช้าวันใหม่ เพื่อให้ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ยังสว่างไสวโดยไร้ปัญหามาก่อกวน 

“ผม ฮาริก อายุ 34 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงห้างสรรพสินค้า มาอยู่กรุงเทพฯ 7 ปี ย่างเข้า 8 ปีแล้ว” 

ชายตรงหน้าเริ่มแนะนำตัวกับเรา แต่ยังกวาดตามองและคอยฟังเสียงรอบตัว เพราะหากไฟฟ้าเกิดติดๆ ดับๆ หรือมีเสียงจากพ่อค้าแม่ค้าตะโกนว่า แอร์เสีย ฮาริกอาจต้องหยุดสัมภาษณ์ แล้ววิ่งตรงไปจุดเกิดเหตุ

ฮาริก หนึ่งในประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขามีลูกน้อย และรถคู่ใจที่ยังเป็นเจ้าของได้ไม่เต็มสิทธิเพราะยังค้างค่าผ่อนชำระ ทำให้ฮาริกต้องโบกมือลาบ้านเกิด หันหลังให้ภรรยาและลูกมุ่งตรงสู่กรุงเทพฯ

“ผมมีหนี้ค่าผ่อนรถ บางเดือนมีก็จ่าย บางเดือนไม่มีเราก็พักไว้”

สำหรับผู้มีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ยังพอมีโอกาสได้ลูบเบาะรถที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงในราคาผ่อนย่อมเยา แต่สำหรับฮาริก ไม่ว่ารถที่เขาผ่อนจะราคาย่อมเยาหรือผ่อน 0% เงินเดือนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่อาจหยิบยื่นสิ่งใดให้ฮาริกได้เป็นเจ้าของอย่างเต็มมือ

“ตอนอยู่ใต้ เงินที่ได้มันไม่ใช่เงินเดือน เป็นเงินที่หาได้เรื่อยๆ วันต่อวัน จากการกรีดยาง เฉลี่ยครั้งละ 4,000-5,000 บาท แต่ค่าผ่อนรถอย่างเดียวก็ 4,000 กว่าบาทแล้ว ใกล้สิ้นเดือนก็ขาดมือ ไม่รู้จะไปหาเงินก้อนมาจากไหน ของที่ผ่อนไว้บางเดือนก็ไม่จ่าย พยายามเสาะหาทางรอดเป็นเดือนๆ ไป”

5,000 บาท เป็นจำนวนเงินสูงสุดที่ฮาริกหาได้เทียบเท่ากับเงินค่าฝึกงานของนักศึกษาฝึกงานบางบริษัท หรืองานรับจ้างทำสินค้ากิ๊ฟช็อป ทว่า 5,000 บาทของฮาริก คือการตื่นแต่เช้าตรู่ วิ่งเข้าสวนยาง ทำงานจนเหงื่อตกพร้อมกับการล่วงรู้ในใจว่า เงินที่ได้จากการเข้าสวนในวันนี้ จะถูกภาระที่ยังเหลือกัดกินทั้งหมด 

หากลองคิดกลับกัน ในพื้นที่อันถูกขึงตรึงไว้ด้วยกฎหมายความมั่นคงถึง 3 ฉบับ ในฐานะคนเรียนจบช่างอย่างฮาริก จะหางานใดได้นอกจากเข้าป่ากรีดยาง เพราะลำพังภาคธุรกิจที่ควรจะเข้ามาสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ในยามไร้ศึก ก็ไม่อาจแบกธุรกิจมารับความเสี่ยงจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่ของเขาได้

“ยะลา ปัตตานี ไม่มีงานทำ เราเลยขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ 

“ผมเรียนสายอาชีพช่าง เพื่อนผมส่วนใหญ่ที่เรียนสายเดียวกัน จบแล้วก็ออกไปหางานตามหัวเมืองอย่างภูเก็ตหรือกรุงเทพฯ เพราะงานมันเยอะกว่า เดินทางสะดวกกว่า เรามาทำงานหวังเอาเงินเดือนใช้หนี้ เลยไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเลย ตอนมาอยู่กรุงเทพฯ ผมก็มีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าห้อง ค่ากินค่าอยู่ แต่ยังพอเหลือส่งให้ลูกเมีย บางทีก็ส่งให้ครอบครัว เพราะทำงานเสริมด้วย ถ้าตอนนี้ผมอยู่บ้านคงไม่มีเงินใช้หรอก ดีไม่ดีติดลบด้วย”

ไม่ว่าจะสายสามัญหรือสายช่าง บ้านของเขาก็ไม่มีเลือดมากพอจะสูบฉีดเลี้ยงประชากรได้ทั้งหมด สิ่งที่ฮาริกย้ำคือการหางานนอกพื้นที่แดนใต้ เพื่อเปิดโอกาสให้ชีวิตได้ทำตามฝัน คือการปลูกบ้านสักหลัง และกลับไปอยู่กับลูกเมีย

เช่นเดียวกับ ดารีม การมีบ้านเกิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมพ่วงมาด้วยเรื่องเล่าจากการประสบพบเจอความรุนแรงในพื้นที่ อันฝังลึกลงไปในประสบการณ์ของผู้คน

“เราจะไม่ออกจากบ้านเลยช่วงนั้น เพราะกังวลว่า ตัวเองจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยของรัฐ พวกนั้นเห็นใครออกจากบ้านก็จับตัวหมด เพื่อนเราเคยโดนเจ้าหน้าที่รัฐจับตัวครั้งหนึ่ง เขาไม่ได้พาไปโรงพัก แต่เขาพาไปค่ายทหาร สุดท้ายถูกปล่อยตัวออกมา แต่ก็โดนซ้อม

“ค่ายทหารมีเยอะมากในพื้นที่ แต่จับคนร้ายไม่ได้สักที หลังเกิดเหตุการณ์ได้สัก 1-2 วันถึงออกมาประกาศว่าคนนี้เป็นคนทำ ไม่เคยจับได้แบบคาหนังคาเขา แล้วคนที่ประกาศออกมาก็ไม่รู้ว่าทำอย่างที่ทหารว่าจริงไหม”

นอกจากความสุขที่ถูกฉุดดึงสูญหาย หลังการเข้ามาของเหล่าทหารชุดลายพราง ยังพรากโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของสามจังหวัดให้พินาศด้วยเสียงปืนเสียงระเบิด ที่มักดังขึ้นในช่วงงบประมาณแผ่นดินผ่าน อาจเป็นอย่างที่หนึ่งในผู้คนที่เราพูดคุยด้วยวันนี้กล่าวว่า “พอเหตุการณ์ความรุนแรงหายไปนานๆ ก็จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมาทีหนึ่ง ถ้าเหตุการณ์สงบ งบประมาณก็คงไม่ลงมาที่นี่”

แม้นี่คงไม่ใช่บรรยากาศที่เอื้อให้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โหยหาบ้าน แต่สำหรับฮาริก ‘ความคิดถึงบ้านเกิด’ ยังสว่างชัดในใจ ชายตรงหน้ายังตั้งมั่นว่า สักวันจะกลับบ้านเกิดอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

“คิดถึงนะ คิดถึงลูกเมีย แต่คงไม่พามาอยู่ที่กรุงเทพฯ หรอก ผมจะกลับบ้าน อยากสร้างบ้านก็สร้างที่นั่น ผมจะส่งเงินไปให้สร้าง ในอนาคตถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้ว ผมจะกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวถาวร”

หากใจกว้าง แดนใต้คงดีกว่านี้

“สิ่งที่ผมจำได้ในตอนเด็ก คือการเห็นทหารในพื้นที่ เห็นด่าน เห็นรถถัง พอโตขึ้นและเดินทางออกนอกพื้นที่เลยรู้ว่า สิ่งที่เห็นมันคือความไม่ปกติ ผมเองก็ตั้งคำถามว่า ทำไมบ้านเราถึงเป็นแบบนั้น”

เมื่อเริ่มต้นถามถึงบ้านเกิด ความทรงจำแรกผ่านบทสนทนาระหว่างฉันกับ ดิน-ยามารุดดิน ทรงศิริ คือสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดยะลา 

“การเมืองในพื้นที่แย่ลงอย่างชัดเจน หลังจากยะลากับอีกสองจังหวัดชายแดนภาคใต้มีกฎหมายพิเศษเข้ามาควบคุมพื้นที่ คนในพื้นที่เริ่มไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เศรษฐกิจในพื้นที่เริ่มไม่เติบโต ผู้คนก็ต้องโยกย้ายไปทำงานที่อื่น”

ปี 2547 เป็นช่วงที่คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้จักกับกฎอัยการศึก พระราชบัญญัติความมั่นคง และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เบียดเสียดเข้ามาในพื้นที่ และค่อยๆ กัดกลืนวิถีชีวิตดั้งเดิมทั้งยามเช้า ยามค่ำ เหลือไว้เพียงความเงียบ หากจะมีเสียงใดดังขึ้นมาบ้าง โดยมากคือเสียงปืนและเสียงระเบิด

“บรรยากาศก่อนปี 2547 ประชาชนในพื้นที่ยังสามารถออกเดินทางตอนกลางคืน เล่นกีฬากลางถนนตอนมืดค่ำได้ เพราะมีความปลอดภัย ชาวไทยพุทธกับมุสลิมยังพูดคุยกันปกติ เวลาไปบ้านของเพื่อนบ้านก็มีก็ต้อนรับกันด้วยการเสิร์ฟน้ำเปล่า

“แต่หลังปี 2547 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่มันเปลี่ยน เรารู้สึกว่าคนไทยพุทธเริ่มหายไปจากพื้นที่ อาจจะด้วยความกลัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนอยู่ในยะลา พอเริ่มโตขึ้นเราจึงเดินทางออกนอกชายแดนใต้เพื่อเรียน หางานทำ และเริ่มใช้ชีวิตนอกบ้านเกิด ตอนนั้นชนบทของยะลาเริ่มเงียบเหงาแล้ว”

15 ปี เป็นช่วงอายุที่บุตรหลานใครสักคนอาจกำลังจะเข้าศึกษาในชั้น ม. 3 ณ โรงเรียนสักแห่ง ทว่านี่เป็นช่วงอายุสุดท้ายที่ดินได้อยู่กินในบ้านเกิดของตัวเอง ก่อนจะพลัดถิ่นหนีความวุ่นวายทางการเมืองและสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ 

หากเป็นคนอื่น ที่ไม่ได้คร่ำหวอดทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ ไฟใต้อาจถูกแยกออกจากปัญหาการว่างงาน พิษเศรษฐกิจ และการเติบโตของเมือง แต่สำหรับดินแล้ว ทั้งหมดมีผลผูกพันกัน เพราะ “ในพื้นที่ที่มีความรุนแรงทุนไม่ลง เมื่อทุนไม่ลงมาโปรเจกต์ต่างๆ จึงไม่เกิดขึ้น เมื่อโปรเจกต์ต่างๆ ไม่เกิดขึ้นงานมันก็ไม่เกิด เมื่องานไม่เกิดคนก็ไม่มีงานทำ สุดท้ายเมื่อคนไม่มีงานทำ อยู่ไม่ได้เขาก็ต้องออกนอกพื้นที่” 

จากการบริหารของรัฐ นำมาสู่ความรุนแรงในพื้นที่ ปัญหาไม่อาจจบเพียงเสียงลูกปืนดังขึ้นแล้วทุกอย่างจะสวยงามแบบภาพยนตร์หรือละครหลังข่าว สำหรับยะลาแล้ว ความแร้นแค้นจากการกลายเป็นพื้นที่สีแดงคือการไร้ซึ่งงาน และเงินเดือนที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีเพียงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กที่นานๆ ครั้งจะเข้ามาในพื้นที่ เมื่อมีธุรกิจเข้ามาตอกเสาเข็มในยะลาครั้งหนึ่ง จึงเกิดเป็นภาพคนเข้าแถวสมัครเป็นพนักงาน ดังที่ดินว่า “เหมือนเกณฑ์ทหาร” ร่ำไป

หากลองเพ่งมองความจริง ความรุนแรงทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การพลัดถิ่น เป็นกลุ่มปัญหาที่ก่อเกิดจากนโยบายภาครัฐทั้งสิ้น กฎหมายถึง 3 ฉบับ ซ้อนทับชีวิตคน 3 จังหวัด ทำให้คนในพื้นที่ไม่มีแม้สิทธิการชุมนุมร้องขอความเป็นธรรมจากภาครัฐ ขณะที่ทหารผู้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน กลับได้รับอำนาจเต็มให้ควบคุมคนในพื้นที่ วันใดคิดอยากจับประชาชนสักคนหนึ่ง ก็ทำได้โดยไม่มีผลย้อนหลัง 

“มีช่วงหนึ่ง ตำรวจไปค้นบ้านญาติผม อ้างว่าเขาเป็นแนวร่วมขบวนการต่อต้านรัฐ​ เป็นการมาค้นแบบไม่มีหมายค้นซึ่งผิดหลักการ 

“หรือสัปดาห์ก่อน พ่อเพื่อนผมโดนสุ่มตรวจ DNA เขาได้ยินทหารคุยกันว่า ต้องทำยอด เหมือนทำงานส่งนาย ซึ่งการทำแบบนี้มันละเมิดสิทธิมนุษยชนมากๆ” 

เมื่อรัฐใจไม่กว้างพอจะให้สิทธิและเสรีภาพแก่คนในพื้นที่ปาตานี หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในความหมายของพวกเขา ความแตกต่างระหว่างคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับคนในอีก 74 จังหวัดจึงเด่นชัด แม้จะถือบัตรประชาชนพลเมืองไทยเช่นเดียวกัน แต่การปฏิบัติกลับแตกต่าง คนชายแดนใต้จึงถูกบีบออกพื้นที่ กลายเป็นคนพลัดถิ่นในประเทศ ออกเสาะหาความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมจากที่อื่น

“รัฐต้องใจกว้าง ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย สามารถคุยถึงความเห็นที่แตกต่างกันได้อย่างสันติ เมื่อเขามีพื้นที่พูดคุยแล้ว การจับอาวุธจึงไม่จำเป็น มนุษย์ไม่มีใครอยากตาย เว้นแต่เขาจะพูดไม่ได้ เขาเลยต้องใช้ปืนพูดแทน พยายามรับมือกับเขาด้วยกระบวนการที่สันติ ให้พวกเขาได้ตัดสินใจว่าอยากมีชะตากรรมอย่างไร”

แม้วันนี้ไฟแดนใต้ยังลุกโชน ไร้วี่แววการมอดดับ แต่ความฝันจะได้กลับบ้านเกิดที่พลัดพรากอีกครั้งของดิน ยังไม่มอดไหม้ไปพร้อมกับไฟ

“ความฝันของผมอาจจะเป็นเพียงการได้ออกจากบ้านไปกรีดยางอย่างปลอดภัย ฝันของผมอาจจะแค่กลับบ้านไปขายน้ำปั่น นั่นคือความฝันของผม เมื่อยะลาสามารถตอบโจทย์ความฝันของผมได้ ผมจะกลับบ้าน 

“ยังมีคนเป็นเรือนแสนที่มีความฝันแตกต่างกัน เมืองต้องตอบโจทย์ความฝันแสนอย่างนี้ให้ได้

“ความฝันของผมอาจเกิดขึ้นไม่ได้จวบจนกระทั่งผมตายไปแล้ว แต่ยะลาต้องเปิดพื้นที่รองรับความฝันของแสนคนที่เหลือที่เขาอยากกลับไปอยู่บ้าน

“ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะใช้เวลาอีกเท่าไร”

 

ขอขอบคุณ

ดารีม 

ฮาริก 

มายารุดดิน ทรงศิริ

Tags: , , , , , , , ,