ขณะที่หลายคนกำลังงงงวยกับคำใหม่ที่ไม่คุ้นหูอย่าง ‘ปาตานี’ ว่าคืออะไรกันแน่ ยิ่งในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ที่มีกระแสเรื่องประชามติสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Rights of Self Determination: RSD) จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำให้คำว่า ‘ปาตานี’ กลายเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง พร้อมด้วยปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ทั้งด้านบวกและด้านลบต่อคำดังกล่าว 

อย่างไรก็ดี คำถามที่มักเกิดขึ้นต่อผู้เขียนซ้ำๆ ในฐานะผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ คือคำถามที่ว่า ‘ปาตานี คืออะไร? และแตกต่างกับปัตตานีอย่างไร?’ 

ผู้เขียนเคยอธิบายประเด็นเหล่านี้ให้เป็นไปตามหลักวิชาผ่านบทความวิชาการสองชิ้น ได้แก่ บทความ ‘ปา-ตา-นี: ประวัติศาสตร์แห่งตัวตนที่เพิ่งสร้าง’ (2563) และ ‘ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง ปตานี ปัตตานี และปาตานี’ (2565) 

กระนั้น การอ่านบทความทั้งสองชิ้นจึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีฐานความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งนัก แต่ด้วยกระแสความสนใจต่อประเด็นดังกล่าว เหตุนี้ผู้เขียนจึงขอใช้บทความขนาดสั้นชิ้นนี้ ในการตอบคำถามและอธิบายว่า ‘ปาตานี คืออะไร? และแตกต่างกับปัตตานีอย่างไร?’ โดยพยายามลดความเป็นวิชาการให้มากที่สุด แต่ก็ขอทดแทนด้วยการใช้ ‘หลักฐานใหม่ๆ’ และ ‘วิธีวิทยาใหม่ๆ’ เพื่อยืนยันทฤษฎี ‘ปาตานีที่เพิ่งสร้าง’ ของผู้เขียน

ก่อนอื่นผู้อ่านต้องทราบก่อนว่าตามประวัติศาสตร์แล้ว ชาวสยามอย่างน้อยในสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 4) รู้จักเพียงแต่คำว่า ‘ตานี’ เท่านั้น แม้ว่าจะมีคำว่า ‘Patani/Patane’ ปรากฏในแผนที่ของชาวยุโรปมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ‘ตานี’ ที่ว่านี้ ใช้เรียกทั้ง เมืองตานี ชาวตานี กล้วยตานี ผ้ายกตานี น้ำมันตานี และกริชตานี 

ทั้งเอกสารพงศาวดาร แผนที่เดินเรือ จดหมายเหตุ หรือวรรณกรรมของชาวสยามในช่วงเวลานี้ ไม่มีปรากฏทั้งคำว่า ‘ปัต’ ‘ปะ’ และ ‘ปา’ ต่อหน้าคำว่า ‘ตานี’ เลย ควรต้องย้ำด้วยว่า การใช้เพียงคำว่า ‘ตานี’ ไม่ได้ใช้เฉพาะชาวสยามในพื้นที่ภาคกลาง แต่ชาวสยามปักษ์ใต้ เช่น พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา จะนะ-เทพา ก็เรียกคนที่อาศัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในปัจจุบันว่า ‘คนตานี’ (เรียกเพี้ยนเป็น ‘ตาหนี’ ก็มี) และเรียกเมืองว่า ‘เมืองตานี’ เท่านั้น การเรียกขานเช่นนี้ก็ยังใช้กันมาจวบจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว 

ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ (ที่ยังปราศจากความคิดทางการเมืองในเรื่องอัตลักษณ์ ‘ปาตานี’ ที่เพิ่งสร้างหลังปี 2540) พวกเขาก็เรียก ‘ปัตตานี’ สั้นๆ ว่า ‘ตานิง’ ซึ่งเป็นการออกเสียง ‘ตานี’ ด้วยสำเนียงมลายูท้องถิ่นแบบตานิง-กลาแต (ปัตตานี-กลันตัน) โดยพวกเขามักแทนตัวเองต่อคนข้างนอกว่า ‘ออแฆตานิง’ หรือ ‘คนตานี’ ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่ชาวสยามทั้งในภาคกลางและปักษ์ใต้เรียกขานพวกเขาด้วย 

จะเห็นได้ว่าสำหรับชาวบ้านทั่วไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นชาวลุ่มแม่น้ำในภาคกลางหรือมลายู พวกเขารู้จักเพียงแต่คำว่า ‘ตานี’ เท่านั้น การหมกมุ่นกับคำว่า ‘ปตานี/ ปัตตานี/ ปาตานี’ ไม่ใช่ธุระของสาธุชนคนกาปง (บ้านๆ) แต่อย่างใด เพราะในขณะที่ชาวบ้านทั้งสยาม-มลายูรับรู้แต่เพียงคำว่า ‘ตานี’ นั้น ‘ปตานี/ ปัตตานี’ (ยังไม่มีปาตานี) กลับเป็นเรื่องของชนชั้นปกครองเสียมากว่า เพราะมักไปเกี่ยวข้องกับชื่อเต็มของเมืองในฮิกายัต (Hikayat) หรือพงศาวดารของมลายู เอกสาร บันทึก แผนที่ต่างประเทศ หรือกระทั่งเอกสารทางการของรัฐบาลสยามสมัยหลังรัชกาลที่ 4 มาแล้ว 

สำหรับ ปตานี/ ปัตตานี ที่เป็นคำเดียวกับ Patani ในภาคภาษาไทยนั้น เพิ่งมาปรากฏใช้กันในช่วงรัชกาลที่ 5 โดยช่วงแรกใช้ ปตานี/ ปะตานี ปะปนกันก่อน แต่หลังจากปี 2449 ไปแล้ว รัฐบาลสยามได้สถาปนาให้ ‘Patani’ (ไม่ว่าคำนี้จะปรากฏในเอกสาร แผนที่ หรือบันทึกฉบับใด) ถอดเสียงเป็นภาษาไทยว่า ‘ปัตตานี’ จึงเท่ากับว่าปัตตานีกลายเป็นคำทางการของรัฐบาลสยามมาตั้งแต่บัดนั้น กระทั่งต่อมาถูกท้าทายจากขบวนการชาตินิยมปัตตานีที่สร้างวาทกรรม ‘ปาตานี’ นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน 

และถึงแม้ ‘ปาตานี’ จะเผยตัวตนครั้งแรกในฐานะหน่วยทางการเมืองมาตั้งแต่ 2540 โดย อับดุลเลาะห์ ลออแมน และอารีฟิน บินจิ (จำรูญ เด่นอุดม) จากหนังสือ ‘ลังกาสุกะ – ปาตานี ดารุสลาม’ (2540) หนังสือเล่มนี้คือหมุดหมายของการสถาปนาคำว่าปาตานีขึ้นในโลกภาษาไทย ในฐานะหน่วยการวิเคราะห์เดียวกับปัตตานีที่รัฐบาลไทยใช้ เมื่อมีการสถาปนาปาตานีขึ้น ผลกระทบที่สำคัญที่สุด คือการที่ปัตตานีและปตานี/ ปะตานี ที่เคยใช้กันมาแต่เดิมกว่าร้อยปีถูกทำให้หายไปและถูกสวมทับด้วยคำว่าปาตานีไปจนหมดสิ้น แต่กว่าจะมีผู้สังเกตเห็นถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว ต้องรอถึงปี 2558 เมื่อ ทวีพร คุ้มเมธา เขียนบทความกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างปัตตานีกับปาตานีครั้งแรกในโลกภาษาไทยในเว็บไซต์ประชาไท 

บทความชิ้นนี้ถือเป็นปฐมบทต่อการตั้งข้อสงสัยของการปรากฏขึ้นและดำรงอยู่ของ ‘ปาตานี’ น่าสนใจว่า นอกจากคำว่าปัตตานีและปาตานีในเวลานั้นแล้ว ปตานีได้ถูกกล่าวถึงในฐานะการอ่านออกเสียงที่ถูกต้องของคำว่า ‘Patani’ ด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น บทความดังกล่าวยังให้ข้อมูลถึงบรรยากาศและความรู้สึกผ่านบทสัมภาษณ์ของ ซะการีย์ยา อมตยา กวีและปัญญาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เขาเห็นว่าคำว่าปาตานีนี้เป็นคำใหม่มาก ไม่ใช่คำดั้งเดิม และเพิ่งแพร่หลายเมื่อ 2-3 ปีมานี้ เป็นคำของกลุ่มนักกิจกรรม แต่ชาวบ้านทั่วไปในเวลานั้นไม่รู้จักและไม่ได้ใช้คำนี้เลย พวกเขาใช้เพียงคำว่าปตานี นอกจากนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์อีกคนคือ ณายิบ อาแวบือซา ก็ยอมรับว่า คำว่าปตานีเป็นคำสามัญที่ชาวบ้านพูดและออกเสียงกัน พอมีสระอาเป็นปาตานี ทำให้ดูเป็นของใหม่ในภาษาไทย และนี่คือบรรยากาศของการถกเถียงในช่วงต้นของวาทกรรมปาตานีที่เริ่มปะทะกับความรับรู้ของคนไทยในสังคมทั่วไป ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2558 เป็นต้นมา

ควรกล่าวด้วยว่าตามหลักภาษาศาสตร์แล้ว ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ให้ความเห็นถึงความไม่ปกติของคำว่าปาตานีไว้ว่า

“หากวิเคราะห์รากที่มาของชื่อในแบบยาวี ڤتانی นั้น เมื่อไม่มี ا หลัง پ จึงควรจะเป็น ปะ- (ปตานี) และเอาเข้าจริงใกล้เคียงกับ ปัต- (ปัตตานี) มากกว่าปา- (ปาตานี) เสียด้วยซ้ำ ในการอ่านตัวอังกฤษ Pa- (Patani) ก็มิได้ยืนยันว่าจะออกเสียง ปา- เสมอไป การเกิดขึ้นของชื่อปัตตานีจากสยาม อาจไม่ใช่อะไรที่จะมีนัยทางการเมืองดังที่หลายคนมองเช่นนั้น ตรงกันข้าม การสำแดงตนของชื่อ ปาตานี ในระยะหลังนี้ต่างหาก ที่เป็นคำต่อสู้ทางการเมืองในนัยของการปลดแอก” 

ข้อสังเกตเบื้องต้นสอดคล้องกับแนวคิดของผู้เขียนและผู้อื่นที่กล่าวไปแล้ว จะเห็นได้ว่าปาตานี คือคำที่ถ่ายเสียงอย่างผิดๆ มาจากคำว่า Patani ที่เขียนเป็นอักษรโรมัน แท้จริงแล้วคำนี้ควรถอดเสียงออกมาเป็น ปตานี/ ปะตานี ซึ่งตรงตามลิ้นและเสียงของชาวมลายูมากกว่า ดังจะขยายสมมติฐานนี้ต่อไป 

เมื่อได้ข้อสรุปเบื้องต้นเช่นนี้ อาจมีผู้ไม่เชื่อและเห็นแย้งว่า การที่ผู้เขียนโต้คำว่า ปาตานี ว่าเป็นคำที่ผิด แต่ ปตานี/ ปะตานี นั้นถูกต้อง ว่านี่เป็นเพียงความเห็นของผู้เขียนและผู้อื่นอีกไม่กี่คนเท่านั้น และความจริงแล้วการออกเสียงจากอักษรยาวีไม่ได้มีกฎตายตัวในการออกเสียงสระสั้นยาว เช่น อะ หรือ อา เสมอไป ดังนั้น ในความเห็นของพวกเขา ‘ปาตานี’ ย่อมเป็นคำเก่าแก่ มีอยู่จริง และออกเสียงได้ถูกต้อง 

เพื่อเป็นการตอบโต้ความเชื่อว่า ‘ปาตานี’ เป็นคำเก่าแก่ดั้งเดิมและออกเสียงได้ถูกต้อง ผู้เขียนได้พัฒนาคำอธิบายให้ซับซ้อนและรัดกุม มากกว่าเพียงอาศัยหลักออกเสียงภาษาและการเขียนภาษามลายูเบื้องต้น เช่นที่ ตูแวดานียา ตูแวแมแง เคยใช้อธิบายว่า ปาตานีไม่น่าจะออกเสียงหรือสะกดอย่างถูกต้องเพราะแท้จริงแล้วต้องใช้คำว่า ปตานี/ ปะตานี วิธีการใหม่คือ การศึกษาข้อถกเถียงระหว่าง Logos VS Graphe ในแวดวงปรัชญากรีกโบราณ ซึ่งผู้เขียนขอทดลองประยุกต์ใช้วิธีนี้กับกรณีปาตานีในบทความชิ้นนี้เป็นที่แรก 

Logos VS Graphe ข้อถกเถียงของนักปราชญ์กรีกโบราณกับการสืบหาการออกเสียงของ ‘Patani’ ในอดีต

สำหรับผู้ที่สนใจปรัชญากรีกโบราณแล้ว การปะทะกันระหว่างการพูด (Logos) กับการเขียน (Graphe) นั้นเป็นที่ชัดเจนมากในทัศนคติของโสเครตีสและเพลโต นักปรัชญากรีกโบราณอันเลื่องชื่อ พวกเขาเชื่อว่าการพูดย่อมมีศักดิ์เหนือกว่าการเขียน ดังที่โสเครตีสกล่าวไว้ว่า ‘การเขียนอุปมาดั่งลูกไม่มีพ่อ’ (Bastard) เพราะถูกตัดขาดจากบิดาอันเป็นผู้เขียนทันทีเมื่อถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชน

เนื่องจากหลังจากนั้นคงไม่มีผู้เขียนคนใดสามารถมาตามแก้ต่างกับการเขียนของตนได้อีก หรือในอีกนัยหนึ่ง เมื่อการเขียนถูกกระทำสำเร็จขึ้นแล้ว โดยตัวของมันเองนั้นไม่สามารถให้คำอธิบายในตัวเองได้อีก แต่การพูดคุยสนทนา ผู้พูดสามารถพูดคุยซึ่งหน้าและแก้ไขความผิดพลาด หากผู้สนทนาเข้าใจไม่ตรงตามที่เขาตั้งใจจะสื่อออกไปได้ ด้วยเหตุนี้การพูดจึงเป็นพี่ชายที่ถูกกฎหมายของการเขียน 

นี่คือข้อถกเถียงอันน่าสนใจระหว่างความสำคัญระหว่างการพูดกับการเขียน ที่ถูกหยิบยกมาขบคิดในบทสนทนา ‘เฟดรัส’ (Pheadrus) ของเพลโตที่เขียนขึ้นกว่า 2,000 ปีก่อน เมื่อนำการแบ่งชนิดระหว่างการพูดและการเขียนในปรัชญากรีกมาใช้กับ Patani คงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะสนใจ Patani ในอักษรโรมัน โดยเฉพาะในแผนที่ฝรั่งสมัยเก่า เพราะการถอดเสียงหรือถ่ายเสียงออกคงจะเป็นได้เพียงสำเนียง ‘คาราโอเกะ’ คือ ‘พา-ทา-นี’ เท่านั้น (ที่ผ่านมาการทึกทักไปเองว่า Patani ต้องออกเสียงว่าปาตานี คือความผิดพลาดที่แสนยิ่งใหญ่ในวงการวิชาการบ้านเรา)

หากมีสมมติฐานเบื้องต้นว่า Patani ต้องออกเสียงว่า ปตานี/ ปะตานี ตามคำอธิบายของผู้เขียนและตูแวดานียา ตูแวแม สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้คือการพิสูจน์ ปตานี/ปะตานี ฐานะที่เป็น Logos ตามสมมติฐานดังกล่าว ด้วยการนำ Graphe ที่เก่าแก่และพอจะหลงเหลือยู่นอกเหนือจาก Patani ที่บันทึกไว้ลอยๆ อย่างขาดคำอธิบายและบริบท เพื่อพิสูจน์ DNA ระหว่างพี่ชาย (ปตานี/ ปะตานี) กับน้องชาย (Patani) เนื่องจากโสเครตีสกล่าวว่า การพูดเป็นพี่ชายที่ถูกกฎหมายของการเขียน 

ดังนั้น สมมติฐานของผู้เขียนคือ การออกเสียง ปตานี/ ปะตานี ย่อมคือพี่ชายของคำว่า Patani เพื่อให้การทดสอบสมมติฐานเป็นไปอย่างใกล้เคียงกับสำเนียงการพูดหรือการออกเสียงในยุคเก่ามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอหลักฐาน เอกสารที่มีเนื้อความอธิบายการออกเสียงที่ถูกต้องของคำว่า Patani สองชิ้นสำคัญ คือ 

1. Sejarah Melayu (พงศาวดารมะละกา) ที่เขียนขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 

2. ประวัติเมืองปัตตานี (ฮิกายัตปัตตานี ฉบับแปลถวายรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2471)

เอกสารทั้งสองชิ้นคือหลักฐานที่ผู้เขียนคัดมาและเห็นว่ามีความสำคัญกับการสืบเสาะการออกเสียง Patani ที่ถูกต้องแม่นยำที่สุดตามลิ้นและสำเนียงของชาวมลายูโบราณ สำหรับ Sejarah Melayu นั้นมิพักสงสัยว่าเก่าแก่หลายร้อยปีถึงสมัยอยุธยา ดังนั้น เนื้อความที่อธิบายการออกเสียง Patani ย่อมเป็นลิ้นและสำเนียงของคนมลายูสมัยโบราณอย่างแท้จริง ในส่วนประวัติเมืองปัตตานีหรือฮิกายัตปัตตานี ฉบับแปลถวายรัชกาลที่ 7 แม้จะมีอายุไม่ถึง 100 ปี แต่เมื่อตรวจสอบกับเอกสารแวดล้อมอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกันแล้ว น่าเชื่อว่าการออกเสียง Patani ที่ปรากฏในเอกสารชิ้นนี้ ย่อมสะท้อนสำเนียงอันจริงแท้และดั้งเดิมของคนมลายูปัตตานีที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 7 ได้อย่างไม่มีปัญหา

บทวิเคราะห์ Logos

1. Sejarah Melayu (พงศาวดารมะละกา)

ประโยคใน Sejarah Melayu ที่กล่าวถึง Logos ของ Patani ได้แก่ “…สถานที่ที่พระองค์เรียกว่า ปะ-ตานี (พ่อของตานี)…” ซึ่งเอกสารชิ้นนี้สะกด Patani เป็นอักษรโรมันว่า ‘Pa-tani’ จะเห็นได้ว่าราชสำนักมะละกาขับเน้นถึงที่มาของ Patani ว่ามาจากความหมายว่า ‘พ่อของตานี’ (Tani’s Father) ซึ่งคำว่าพ่อในภาษามลายูคือ ‘ปะ’ (Pak) ซึ่งออกเสียงสั้นอย่างชัดเจนไม่มีทางเป็น ‘ปา’ ได้อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ การที่ราชสำนักมะละกา (รวมถึงผู้ถอดความจาก Sejarah Melayu อักษรยาวีเป็นอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 2 – ค.ศ. 1821) จงใจเขียน Patani ว่า Pa-tani ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า คำแรกของพยางค์ย่อมแยกเป็นอิสระกับคำว่าตานีในพยางค์หลัง 

ดังนั้น Graphe ของ Patani ใน Sejarah Melayu จึงต้องออกเสียง เป็น ปตานี/ ปะตานี คำอธิบาย Logos เช่นนี้สอดคล้องกับ อิบรอฮิม ชุกรี ปัญญาชนท้องถิ่นของปัตตานีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่งหนังสือชื่อ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี (2491) และในหนังสือเล่มดังกล่าวเขาเองก็เชื่อว่าที่มาของปัตตานีมาจากคำว่า ‘เปาะตานี’ ซึ่ง ‘เปาะ’ กับ ‘ปะ’ คือคำเดียวกันที่แปลว่า ‘พ่อ’ แตกต่างกันเพียงสำเนียงระหว่างมลายูปัตตานี-กลันตันกับมลายูมาตรฐานเท่านั้น 

แต่ถ้าหากกลับสมมติฐานโดยเชื่อว่า ปาตานีเป็นพี่ชายที่ถูกกฎหมายของ Patani ตรรกะคำอธิบายที่ปรากฏในเอกสารชิ้นนี้จะมีปัญหาขึ้นทันที เพราะเอกสารชิ้นนี้ใช้ ‘Pa’ ในฐานะสระเสียงสั้น (ปะ) ไม่ใช่เสียงยาว (ปา) ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะในมุมมองใด ปาตานีจึงไม่ใช่พี่ชายที่ถูกกฎหมายของ Patani ดังนั้น จากปากคำของเอกสารของโลกมลายูเอง ชาวมลายูอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่อมออกเสียง Patani ด้วยสระเสียงสั้นว่า ปตานี/ ปะตานี และไม่มีทางเป็นปาตานีอย่างเด็ดขาด

2. ประวัติเมืองปัตตานี (ฮิกายัตปัตตานี ฉบับแปลถวายรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2471)

ดังที่กล่าวว่าเอกสารชิ้นนี้มีอายุไม่ถึง 100 ปี แต่นั่นก็เฉพาะอายุตัวเอกสารที่แปลออกมาจากต้นฉบับที่เป็นภาษามลายูเท่านั้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เขียนสนใจคือการพูดหรือออกเสียงที่ซ่อนอยู่ในฐานะคำอธิบายการออกเสียง Patani ต่างหาก เพราะในเอกสารฉบับนี้ ระบุที่มาถึงชื่อดั้งเดิมของปัตตานีว่า ‘เมืองปตานี (ตามสำเนียงตัวอักษรภาษามลายูที่อ่านเขียนกัน)’ ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านให้ความสนใจกับข้อความในเครื่องหมายวงเล็บ () เพราะนี่คือคำอธิบายเดิมที่ผู้แปลและเรียบเรียงเอกสารบันทึกไว้เอง 

ดังนั้น ตามตรรกะแล้ว ประโยค ‘เมืองปตานี (ตามสำเนียงตัวอักษรภาษามลายูที่อ่านเขียนกัน)’ ย่อมมีทั้ง Logos และ Graphe ซ้อนทับกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ กล่าวคือ มีคำอธิบายในการออกเสียงและการเขียนอย่างครบครันในประโยคเดียว! เพราะผู้แปลกำลังมีบทสนทนาให้เหตุผลกับผู้อ่านว่า ปตานีคือคำที่ชาวมลายูใช้ออกเสียงกัน แม้จะปรากฏคำว่าปาตา-นีในฐานะที่มาจากคำว่า ‘Pantai ini’ (หาดแห่งนี้) อธิบายต่อท้าย แต่เป็นเพียงการอธิบายว่า ที่มาอาจมาจากคำว่า ‘หาดแห่งนี้’ เท่านั้น และที่สำคัญที่สุด ผู้แปลเอกสารจงใจใช้คำว่าปตานีในการเรียกเมืองดังกล่าว 

คงจะสิ้นสงสัยแล้วว่าผู้แปลเอกสารประวัติเมืองปัตตานี ต้องการที่จะบอกแก่ผู้อ่าน (ราชสำนักสยามผ่านสายพระเนตรรัชกาลที่ 7) ว่า ชื่อเดิมของปัตตานี คือปตานี/ ปะตานี ซึ่งก็คือรูปเดียวกับคำว่า Patani ที่พิสูจน์มาแล้วจาก Sejarah Melayu จะเห็นได้ว่าทั้งสองเอกสารที่ยกมานี้ แม้จะมีที่มาและความสำคัญ รวมถึงบริบทที่แยกเป็นเอกเทศกัน แต่ความเชื่อมโยงของการอ่านออกเสียงว่า ปตานี/ ปะตานี เป็นสิ่งเดียวกันนับตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ 7 จนกระทั่งถูกขับเบียดและทำให้หายไปในช่วงปี 2540 

หากใครคิดจะตอบโต้เอกสารชิ้นนี้ พึงรับรู้ไว้ด้วยว่าผู้แปลฮิกายัตฉบับนี้เป็นภาษาไทยคือ เติงกูจิ (จิต) เด่นอุดม (บางเอกสารเรียก กูจิ เด่นอุดม) อดีตผู้ช่วยจ่าศาลจังหวัดปัตตานี เขาสืบเชื้อสายมาจากราชสำนักปัตตานีครั้งรายาเต็งกูลามิดเด็นเป็นเจ้าเมืองปัตตานีในสมัยรัชกาลที่ 1 และเคยอาศัยอยู่ที่จะบังติกอ ปัตตานี จึงเรียกการแปลและเรียบเรียงประวัติเมืองปัตตานีฉบับนี้ ว่าเป็นมุมมองของ ‘คนใน’ (Insider) เชื้อสายราชสำนักปัตตานีอย่างแท้จริง 

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ย่อมยืนยันได้ว่า ปตานี/ ปะตานี คือคำที่ถูกต้องชอบธรรมทั้งในการอ่านออกเสียงและการเขียน บทความนี้พิสูจน์แล้วว่า พี่ชายที่ถูกกฎหมายของ Patani คือ ปตานี/ ปะตานี ดังที่ราชสำนักมะละกา ราชสำนักปัตตานี ราชการสยาม และราษฎรสยาม (ทั้งไทย จีน และมลายู) ต่างก็อ่านออกเสียงและเขียนเช่นนี้มาตลอดตั้งแต่สมัยโบราณ และคงเป็นเรื่องน่าขันถ้าจะมีใครปฏิเสธว่าสำเนียงของคนโบราณเป็นการอ่านออกเสียงและเขียนที่ผิด เพราะตามตรรกะแล้ว แม้กระทั่งสำเนียงและการเขียนของคนในสมัยรัชกาลที่ 5-7 แม้จะไม่ได้ห่างไกลกับยุคสมัยเราเท่าใดนัก แต่ก็ย่อมใกล้เคียงกับคนสมัยโบราณมากกว่าคนยุคปัจจุบัน 

การกล่าวหาว่า Patani ไม่สามารถออกเสียงและเขียนได้เป็น ปตานี/ปะตานี ดังที่นักวิชาการบางคนเคยให้ความเห็นไว้จึงเป็นข้อครหาที่เลื่อนลอยและฟังไม่ขึ้น ด้วยเหตุนี้ ใครก็ตามที่พยายามดันทุรังจะใช้ปาตานีในฐานะที่เป็นคำเก่าแก่โบราณที่อ่านและถอดเสียงได้ถูกต้อง ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นความพยายามที่ปราศจากเหตุผลและหลักฐานตามหลักวิชา 

ทั้งนี้ ประวัติเมืองปัตตานีก็หาได้เป็นเอกสารชิ้นเดียวที่ปรากฏอย่างขาดบริบทแวดล้อมอื่นๆ ควรต้องกล่าวด้วยว่าก่อนการสถาปนาปัตตานี ขึ้นในปี 2449 มีการใช้ ปตานี/ ปะตานี อย่างแพร่หลายแล้ว ไม่ว่าจะทั้งเอกสารราชการหรือราษฎรทั่วไป ในส่วนของทางราชการนั้น เอกสารที่พบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เช่น ตารางจำนวนคนและเรือที่อพยพมาอยู่ในแขวงเมืองจะนะ จังหวัดสงขลา ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2439) ปรากฏคำว่า ‘เมืองปตานี’ ย่อมสะท้อนว่า วงการราชการสยามในเวลานั้นใช้คำว่า ปตานี/ปะตานี 

ส่วนหลักฐานที่ไม่ได้มาจากวงการราชการซึ่งสะท้อนถึงความรู้ ความเข้าใจของราษฎรทั่วไป พบหลักฐานเป็นเครื่องเงินที่วิหารเขียนใต้องค์พระธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกับสลักคำว่า ‘มณฑลปตานี’ ไว้บริเวณฐานตั้ง การจัดทำเครื่องเงินชิ้นนี้เป็นผลงานสั่งทำของตระกูลคณานุรักษ์ ชาวจีนที่ตั้งรกรากในปัตตานีมาตั้งแต่ต้นกรุงเทพฯ จึงอนุมานได้ว่าชุมชนคนจีนในปัตตานีก็ใช้ปตานีเช่นพวกมลายูด้วย นอกจากนั้นยังพบว่า หลังจากการปฏิวัติ 2475 ไปแล้ว ปาฐกถาของสภาผู้แทนราษฎรเรื่องสภาพของจัดหวัดต่างๆ ที่จัดพิมพ์เมื่อปี 2478 ส.ส.ชาวไทยเชื้อสายมลายูท่านหนึ่งก็เรียกปัตตานีในสมัยโบราณว่าปะตานี ซึ่งเป็นการออกเสียงสั้นๆ ว่า ‘ปะ’ อย่างสิ้นสงสัย 

น่าสนใจอีกว่า เอกสารต้นฉบับพิมพ์ดีดชิ้นหนึ่ง คือ ตำนานมณฑลปัตตานี ที่ถูกจัดทำขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง 2460-2480 โดยพระยาศรีบุรีรัฐ (สิทธิ์ ณ สงขลา) อดีตนายอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ข้าราชการสยามผู้ชำนาญภาษามลายูอีกท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ไม่ว่าจะออกเสียงว่า ปัตตานีหรือปตานี/ ปะตานี/ ปตานิง/ ปะตานิง ก็ถูกต้องตามหลักภาษามลายูทั้งนั้น เพราะทั้ง ‘ปัตตา’ (สำเนียงมลายูไทรบุรี) และ ‘ปะตา’ (สำเนียงมลายูปัตตานี) ก็ล้วนแปลว่า ‘หาดทราย’ ทั้งสิ้น ต่างกันแค่คำลงท้ายคือ ‘นี’ ที่มลายูปัตตานีออกเสียงว่า ‘นิง’ นอกนั้นเหมือนกันทั้งหมด แต่ทั้งนี้รัฐบาลสยามยืนยันที่จะเรียกอย่างสำเนียงมลายูไทรบุรีว่า ‘ปัตตานี’ 

ดังนั้น เมื่อใช้วิธีวิทยาและการนำเอาข้อมูล เอกสารชั้นต้นมาวิเคราะห์ร่วมกับวิธีวิยาเรื่อง Logos VS Grahpe ผู้เขียนจึงขอยืนยันตามสมมติฐานของผู้เขียนที่ว่า ปาตานี แท้จริงเป็น ‘คำใหม่’ ที่เพิ่งถูกประดิษฐ์สร้างและเป็นการถอดเสียงอย่างผิดๆ ด้วย ‘สำเนียงคาราโอเกะ’ หาใช่การออกเสียงอย่างถูกต้องดังที่ชาวมลายูโบราณพูดและเขียนกันแต่อย่างใด เพราะคนในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรู้จักกันแต่เพียงคำว่า ‘ตานี/ ตานิง’ ‘ปตานี/ ปะตานี/ ปตานิง/ ปะตานิง’ ซึ่งเป็นสระเสียงสั้นที่ตัว ‘Pa’ เท่านั้น 

ด้วยเหตุนี้ หากมีคนถามว่าปาตานี (ไม่ใช่ Patani) คืออะไร แตกต่างกับปัตตานี อย่างไร คำตอบที่จะให้ได้ก็คือ ปาตานี เป็น ‘กระแสเคลื่อนไหวทางการเมือง’ (Political Movement) หรือวาทกรรมทางการเมืองรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ที่ต้องการสถาปนา ‘อัตลักษณ์ใหม่’ ของตนเพื่อให้รู้สึกเป็น ‘คู่ตรงข้าม’ กับ ‘ปัตตานี’ ที่สถาปนาขึ้นโดยรัฐไทย เป็นการประกอบสร้างตัวตนและประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่การกลับไปหาความจริงแท้ทางประวัติศาสตร์อย่างที่เข้าใจกันในยุคหลังแต่อย่างใด เพราะคำที่เก่าแก่โบราณอย่างแท้จริง คือคำว่า ‘ปตานี/ ปะตานี’ ซึ่งปัจจุบันกำลังถูกทำให้ลืมไปอย่างน่าเสียดาย

อ้างอิง

จีรวุฒิ บุญรัศมี. ‘ปา-ตา-นี : ประวัติศาสตร์แห่งตัวตนที่เพิ่งสร้าง’ ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2563.

ครองชัย หัตถา และคณะ. ภูมิภาคมลายู-ปาตานีกับการเมืองการปกครองของไทย. (นครศรีธรรมราช: บีแอนด์บีเอกสาร). 2565. หน้า 189-221.

อารีฟิน บินจิ และอับดุลลอฮ ลออแมน ใน ลังกาสุกะ – ปาตานี ดารุสลาม. (ยะลา: ศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้) 2541.

https://prachatai.com/journal/2015/09/61358

อาทิตย์ ทองอินทร์ และ ตูแวดานียา ตูแวแมแง. นิยามความหมายของ “พื้นที่สีแดง” ในปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการบริหารกิจการสาธารณะยุคดิจิทัล ครั้งที่ 5 (The 5th National Conference on Public Affairs Management in the Digital Era) วันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2562 ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

คำนำเบื้องต้น และ การอ่านเฟดรัสของเพลโต ใน อู่ทอง โฆวินทะ และศุภมิตร เขมาลีลากุล (แปล). บทสนทนาเฟดรัสและไอออนของเพลโต. (กรุงเทพฯ: คอมมอนบุ๊คส์). 2558.

Sejarah Melayu or Malay Annals. (translated by John Leyden). (London). 1821. pp. 320.

อิบรอฮิม ชุกรี (แปลโดย หะสัน หมัดหมาน และ มะหามะชากี เจ๊ะหะ). ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี. (เชียงใหม่: ซิลวอร์มบุ๊ค). 2549. หน้า 14.

ประวัติเมืองปัตตานี (ฮิกายัตปัตตานี ฉบับแปลถวายรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2471). หน้า 2. 

อารีฟิน บินจิ (จำรูญ เด่นอุดม). ปาตานี… สุลต่านมลายูเชื้อสายฟากิฮ อาลี มัลบารี ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม. (สงขลา: มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้). 2558. หน้า 93.

หจช.ม.ร.5ม/50/2 เรื่อง แขกมาตั้งทำมาหากินอยู่ในแขวงเมืองจะนะหลายครัว ร.ศ. 115. 

สมาคมมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น. ปาฐกถาของสภาผู้แทนราษฎรเรื่องสภาพของจัดหวัดต่างๆ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2478). (กรุงเทพฯ: อมริทนร์พริ้นติ้ง). 2539. หน้า 206. 

พระยาศรีบุรีรัฐ (สิทธิ์ ณ สงขลา). ตำนานมณฑลปัตตานี. หน้า 12.

Tags: , , , , ,