ว่ากันว่าครั้งสุดท้ายที่ สองเพื่อนรักอย่าง โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ทะเลาะกันในที่สาธารณะคือปี 2010 

ขณะนั้นไบเดนเดินทางมาเยรูซาเล็ม โดยมุ่งหมายเจรจาตามแผนสันติภาพของ บารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อขอให้อิสราเอลยุติการยึดครองดินแดนในข้อพิพาทระหว่างปาเลสไตน์ 

แต่ปรากฏว่า เนทันยาฮูตัดสินใจ ‘หักหน้า’ เพื่อนรักของเขา ด้วยการออกคำสั่งให้อิสราเอลสร้างอะพาร์ตเมนต์ 1,600 แห่งในเวสต์แบงก์ (West Bank) กลางพื้นที่พิพาท ทันทีที่ผู้มาเยือนจากสหรัฐฯ เดินทางถึง

 นั่นจึงทำให้ไบเดนตัดสินใจ ‘เอาคืน’ เพื่อนที่มีความสัมพันธ์มานานกว่า 30 ปี ด้วยการ ‘ทิ้ง’ ให้เนทันยาฮูนั่งรอรับประทานมื้อเย็นถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที ทว่าเรื่องราวจบลงด้วยดีจากการประนีประนอมของไบเดน

แต่ดูเหมือนว่า หนังม้วนเดิมกำลังฉายซ้ำอีกครั้ง เพราะเมื่อคืนวานนี้ (25 มีนาคม 2024) สหรัฐฯ ตัดสินใจ ‘งดออกเสียง’ (Abstain) ในการลงมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) โดยเรียกร้องให้อิสราเอล-ฮามาสหยุดยิง (Ceasefire) หลังจากลงคะแนนเสียงยับยั้ง (Veto) มาถึง 3 ครั้ง นับตั้งแต่สงครามปะทุ

ปฏิกิริยาที่ตามมาคือ ผู้นำอิสราเอลตัดสินใจทิ้งสหรัฐฯ ไว้กลางทาง ด้วยการยกเลิกการเดินทางเยือนวอชิงตัน ดี.ซี.  (Washington D.C.) เพื่อเจรจาหาทางออกในเรื่องการบุกราฟาห์ (Rafah) เมืองทางตอนใต้ของกาซา หลังทำเนียบขาวพยายามเตือนเนทันยาฮูว่า การเปิดยุทธการนี้จะทำร้ายคนบริสุทธิ์ โดยเฉพาะพลเรือนชาวปาเลสติเนียน รวมถึงยังทำให้อิสราเอลดูเป็น ‘ผู้ร้าย’ มากขึ้นในสายตาชาวโลก

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้นักวิเคราะห์และสื่อมวลชนตีความหมายว่า มิตรภาพของ 2 คนอาจไม่สวยหรูเหมือนเดิมอีกต่อไป และหมายความว่า ความอดทนของทั้ง 2 ฝ่ายกำลังมาถึงจุดเดือดครั้งสำคัญ จนอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ไอสารเลว” 

นี่คือสิ่งที่สื่อต่างประเทศและคนใกล้ตัวไบเดนเผยในช่วงที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สบถคำผรุสวาทในที่ลับกับเพื่อนรักของเขา หลังรู้สึกตะหงิดและควบคุมสิ่งที่เนทันยาฮูทำต่อวิกฤตมนุษยธรรมในกาซาไม่ได้

เพื่อนรักและมิตรภาพ 40 ปี: ย้อนรอยความสัมพันธ์ไบเดน-เนทันยาฮู

“เขาเป็นเพื่อนผมมามากกว่าสามสิบปี อันที่จริงแล้ว บีบี้ ผมไม่ได้เห็นด้วยกับคำพูดโง่เง่าของเขาหรอก แต่ฉันรักนายนะ”

เหล่านี้คือคำพูดของไบเดนในปี 2014 ถึง ‘บีบี้’ (Bibi) หรือชื่อเล่นของเนทันยาฮูที่ผู้นำสหรัฐฯ เรียกใช้ แสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมอย่างเป็นพิเศษ แม้ว่าในเวลานั้น ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล-สหรัฐฯ กำลังมาถึงจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ก็ตาม

ย้อนกลับไปในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างสองผู้นำเริ่มขึ้นในทศวรรษ 1980 ช่วงเวลานั้น ไบเดนยังเป็นวุฒิสภาประจำคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะที่เนทันยาฮูทำงานให้กับสถานทูตอิสราเอลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พวกเขาจึงรู้จักกันในฐานะคนแวดวงเดียวกัน และเริ่มมีความสนิทสนมไปถึงระดับครอบครัว 

แม้ผู้นำอิสราเอลดำรงนายกรัฐมนตรีในปี 1996 และแพ้เลือกตั้งในเวลาต่อมา แต่ไบเดนก็ยังติดต่อหาเนทันยาฮูตามปกติ มีการเขียนข้อความส่วนตัวหากัน และแวะมาพบปะกันบ้าง ทำให้ผู้สังเกตการณ์และแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นว่า ไบเดนและเนทันยาฮูมีความสนิทสนมในฐานะเพื่อน มากกว่าการพูดคุยในฐานะนักการเมืองทั่วไป

มิตรภาพระหว่างเพื่อนรักถูกท้าทาย เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอลอยู่ในจุดตึงเครียดสูงสุดในยุคของโอบามา (2010-2014) หลังเกิดความพยายามผลักดันการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่าน สะท้อนผ่านบทสนทนาอันเลื่องชื่อระหว่างโอบามากับนีกอลา ซาร์กอซี (Nicolas Sarkozy) อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในการประชุม G20 ปี 2011 ที่หลุดรั่วออกมาจากความผิดพลาดของนักข่าว

“ผมทนเขาไม่ได้จริงๆ เขาคือไอ้ขี้โกหก” ซาร์กอซีกล่าว

“นายเหนื่อยกับเขาเหรอ แล้วผมล่ะ? ผมต้องคุยกับไอ้หมอนี่ทุกวันมากกว่านายอีก” โอบามาตอบ

อย่างไรก็ตาม สื่อต่างยกย่องว่า ไบเดนทำหน้าที่เป็น ‘กาวใจ’ สมานรอยร้าวระหว่างโอบามากับเนทันยาฮู จนมีคำกล่าวว่า การมีไบเดนในฐานะรองประธานาธิบดีทำให้ความสัมพันธ์กับอิสราเอลในยุคของโอบามาง่ายขึ้น และเปรียบดังหลักประกันอันล้ำค่าในการเจรจาต่อรอง 

เพื่อนรัก (หักเหลี่ยมโหด): เมื่อวิกฤตความชอบธรรมของสหรัฐฯ (และไบเดน) สั่นคลอน เพราะวิกฤตมนุษยธรรม

“สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของไบเดนและเนทันยาฮูอาจอยู่ในจุดที่แตกหัก” 

อารอน เดวิด มิลเลอร์ (Aaron David Miller) อดีตผู้เจรจานโยบายต่างประเทศในตะวันออกกลางของรัฐบาลสหรัฐฯ แสดงความคิดเห็นผ่านรอยเตอร์ (Reuters) ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังมติ UNSC ผ่าน

ขณะที่โพลิติโค (Politico) สื่ออเมริกัน วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเนทันยาฮู ‘เล่นหัว’ สหรัฐฯ มากเกินไป ทำให้ไบเดนรู้สึกไม่พอใจและคิดว่า เขาไม่ควรให้ใจไปกับผู้นำอิสราเอลจนกลับมาทำร้ายตนเอง รวมถึงความน่าเชื่อถือในระดับรัฐที่กำลังสั่นคลอน 

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ของไบเดน-เนทันยาฮูยังคงแน่นแฟ้นเป็นอย่างดี เมื่อผู้นำสหรัฐฯ ตัดสินใจบินตรงมายังเยรูซาเล็ม และมอบ ‘อ้อมกอดกระชับมิตร’ ให้กับเพื่อนรักของเขา หลังสงครามอิสราเอล-ฮามาสผ่านไป 10 วัน ก่อนจะเตือนสติในฐานะผู้นำกันเองว่า ‘อย่าผลีผลามมากเกินไป’ 

แต่แล้ว สถานการณ์สงครามที่ร้ายแรงอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นตัวแปรสำคัญของเหตุการณ์ทั้งหมด​ โดยเฉพาะวิกฤตด้านมนุษยธรรม เมื่อสหรัฐฯ พยายามเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ ซึ่งสวนทางกับภาพชาวปาเลสติเนียนที่หิวโหย ตามมาด้วยความตายในกาซาอย่างต่อเนื่องจนถึงขีดสุด จนทำให้องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ส่งเสียงเตือนว่า วิกฤตความอดอยากพุ่งสูงในระดับหายนะจากนโยบายของอิสราเอล 

ไม่ใช่แค่ความชอบธรรมของสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจผู้ผดุงความยุติธรรม ที่อาจดูปากว่า ‘ตาขยิบ’ หากนิ่งเฉยในสถานการณ์ดังกล่าว ทว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี 2024 ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ไบเดนตัดสินใจอะไรสักอย่าง เพื่อรักษาความชอบธรรมของตนเอง หากจัดการกับปัญหาดังกล่าวไม่ได้

รอยร้าวในความสัมพันธ์ครั้งนี้จึงสะท้อนจากท่าทีของไบเดนที่แข็งกร้าวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเชิญ เบนนี แกนตซ์ (Benny Gantz) นักการเมืองคู่แข่งเนทันยาฮูมาพบ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีหญิงสหรัฐฯ หรือการกล่าวตรงไปตรงมาว่า สิ่งที่อิสราเอลทำกำลังสร้างบาดแผลให้กับประเทศมากกว่าส่งเสริมสถานะที่ดี รวมถึงการเอ่ยปากชม ชัค ซูเมอร์ (Chuck Schumer) วุฒิสมาชิกแห่งสภาคองเกรส ว่า เขาแสดง ‘ความเห็นที่ดี’ หลังซูเมอร์ออกปากว่า เนทันยาฮูคือตัวบ่อนทำลายสันติภาพ และร้องขอให้อิสราเอลมีการเลือกตั้งใหม่

บทสรุป

อย่างไรก็ตาม การแตกหักระหว่างไบเดน-เนทันยาฮู อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองระหว่างสองประเทศอย่างใหญ่หลวง โดย จอน อัลเทอร์แมน (Jon Alterman) ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies) ด้านตะวันออกกลางแสดงความคิดเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่สหรัฐฯ และอิสราเอลจะต้องแตกหักดังที่มีการวิเคราะห์ไว้

ทั้งหมดนี้สะท้อนผ่านคำพูดของ โยอาฟ แกลลันต์ (Yoav Gallant) รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงภายใน ว่า รัฐบาลของ 2 ประเทศยังคงติดต่อกันอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะเกิดเหตุขัดข้องก็ตาม 

ยังไม่รวมบทบาทของพรรครีพับลิกัน ในฐานะพรรคที่มีโอกาสคว้าชัยในการเลือกตั้งปี 2024 หลัง ไมค์ จอห์นสัน (Mike Johnson) ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ระบุต่อหน้าสื่อมวลชนว่า เขากำลังคิดจะเชิญเนทันยาฮูให้ขึ้นพูดปราศรัยในสภาคองเกรส ซึ่งมีนัยสำคัญถึงการ ‘ตอกหน้า’ ใส่ไบเดนว่า เขาไร้ความสามารถในการจัดการวิกฤต

ขณะที่ ทาริก เคนนีย์ ชาวา (Tariq Kenny-Shawa) นักวิจัยชาวปาเลสติเนียนด้านนโยบายของสหรัฐฯ วิเคราะห์ผ่านอัลจาซีรา (Al Jazeera) ว่า นี่เป็นเพียงละครฉากหนึ่ง เพราะอันที่จริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ต่อรองเงื่อนไขทางมนุษยธรรม เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางอาวุธยุทโธปกรณ์

“รัฐบาลของไบเดนแสดงออกต่อหน้าสาธารณะเหมือนกับว่า พวกเขาได้ทำทุกอย่างเพื่อหยุดยั้งอิสราเอลแล้ว แต่ในความเป็นจริง พวกเขากำลังอำนวยความสะดวกให้กันอย่างไม่มีสิ้นสุด และอิสราเอลยังไม่เผชิญผลกระทบร้ายแรง จากอาชญากรรมสงครามหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เสียด้วยซ้ำ” 

ชาวากล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งตรงกับคำพูดของ จอห์น เคอร์บี (John Kirby) โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ย้ำว่า แม้การโหวตงดออกเสียงจะเกิดขึ้นในมติดังกล่าว แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศของวอชิงตัน

อ้างอิง

https://www.aljazeera.com/news/2024/3/18/biden-warns-netanyahu-against-mistake-of-invading-rafah-white-house

https://www.reuters.com/world/biden-netanyahu-collision-course-after-gaza-un-vote-2024-03-25/

https://edition.cnn.com/2014/10/29/politics/obama-netanyahu-relationship/

https://www.politico.com/news/magazine/2024/03/22/biden-netanyahu-friendship-pressure-campaign-00148328

https://www.aljazeera.com/news/2024/3/25/not-enough-why-us-did-not-veto-gaza-ceasefire-resolution-at-un

https://www.reuters.com/article/idUSTRE7A7201/

https://www.nbcnews.com/politics/joe-biden/netanyahu-biden-relationship-explained-us-israel-diplomacy-rcna119510

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-68662011

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,