“มีใครเป็นเหมือนกันไหมครับ คือว่าผมเป็น Introvert มักจะเก็บตัวเงียบๆ ไม่คุยกับคนเยอะๆ ชอบเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง รู้สึกเหมือนได้ชาร์จพลังงานชีวิตเลย”

คงมีทั้งคนที่อ่านแล้วปล่อยผ่าน คิดตาม เห็นด้วย หรือแม้แต่แอบเบ้ปาก เวลาที่เจอประโยคนิยามตัวตนซึ่งมักพบได้บ่อยครั้งในระยะหลัง จากผู้คนบนหน้าโซเชียลมีเดีย

ถ้ามองในแง่ดี การอธิบายตัวตนของใครคนหนึ่งก็ช่วยให้เราได้รู้จักเขาในมิติที่ลึกขึ้น แต่ขณะเดียวกันการกระทำดังกล่าวก็ไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถาม บ้างก็ว่าหากเป็น Introvert จริงๆ ทำไมถึงต้องมาอธิบายตัวเองให้ชาวบ้านรู้เสียยืดยาว บ้างก็ว่าเวลาอ่านข้อความเช่นนี้แล้วรู้สึกว่า ผู้โพสต์ทำเพราะอยากดูเท่เฉยๆ 

แล้วอะไรอยู่เบื้องหลังการโพสต์เหล่านี้กัน?

ทำไมคนเราถึงชอบที่จะระบุหรืออธิบายตัวเอง

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาเผยว่า คุณค่าและแรงจูงใจของผู้คนจะเพิ่มขึ้นเมื่อพวกเขาได้พูดถึงตัวเอง การพูดเรื่องตัวเองจะกระตุ้นสมองในทำนองเดียวกับการได้รับประทานอาหารดีๆ หรือมีเซ็กซ์ ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครๆ ก็ชอบที่จะทำ เพียงแต่ว่าโซเชียลมีเดียอาจเป็นพื้นที่ที่ทำให้คำอธิบายตัวตนเหล่านั้นถูกขยายความมากขึ้นก็เท่านั้น

หากจำกันได้ ก่อนหน้ายุคอินโทรเวิร์ตครองเมือง มีแบบทดสอบทางจิตวิทยาอันหนึ่งที่เป็นที่นิยมอย่างมาก ชื่อว่าแบบทดสอบ MBTI (Myers–Briggs Type Indicator) ซึ่งผู้คนมักจะใช้มันในการระบุตัวตนว่าเรามีบุคลิกภาพแบบไหนและกดแชร์มันลงในโซเชียลมีเดีย ซึ่งและมันเคยมีอิทธิพลขนาดว่าในอดีตบางบริษัทถึงกับนำแบบทดสอบนี้ไปใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดกลุ่มพนักงานเลยทีเดียว

ประเด็นอยู่ที่ว่า การทำแบบทดสอบบุคลิกภาพนี้มีการนำผู้คนไปจำแนกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน โดย MBTI จะมีการแบ่งผู้คนออกเป็น 16 บุคลิกภาพและมีคำบรรยายอุปนิสัยประกอบ เช่น นักคำนวณจะเป็นคนที่มองโลกบนความเป็นจริง หรือนักผจญภัยจะเป็นคนที่มีความเป็นศิลปินในตัวเอง

แม้จะบรรยายออกมาได้อย่างละเอียดเพียงใด มันก็คงไม่อาจอธิบายตัวตนของใครคนหนึ่งได้อย่างถูกต้องตายตัวจากการตอบไม่กี่คำถาม อีกทั้งอุปนิสัยก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แบบทดสอบ MBTI หรือการอธิบายตนว่าเป็นอินโทรเวิร์ตจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าเชื่อถือหรือควรยึดติดนักในทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะทำ และมันอาจช่วยให้หลายคนได้ค้นหาตัวเองได้จริง

ถ้าเป็น Introvert จริง ทำไมถึงชอบอธิบายตัวเอง

โดยปกติแล้ว เราจะใช้เวลาในการพูดถึงเรื่องตัวเองประมาณ 30-40% ของบทสนทนา แต่ถ้าย้ายพื้นที่มาเป็นบนโซเชียลมีเดีย ตัวเลขของการพูดถึงตัวตนของตัวเองให้คนอื่นได้เห็นจะขึ้นมาเป็น 80% ซึ่งอาจเป็นเพราะการพูดคุยแบบตัวต่อตัวนั้นทำได้ยากกว่า จากปัจจัยในชีวิตจริงซึ่งมีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้มากมาย ทั้งภาษากาย ความไวในการตอบสนอง หรือการอ่านสีหน้าท่าทางของคู่สนทนาที่ทำให้ยากกว่าการสื่อสารทางโซเชียลมีเดีย

ขณะเดียวกันบนโลกออนไลน์เราสามารถเลือกวิธีที่จะนำเสนอตนเองได้ง่ายกว่า ซึ่งก็แปลว่า มันอาจง่ายกว่าสำหรับชาว Introvert ด้วยเช่นกัน เพราะหากเราอยากให้คนอื่นมองเข้ามาอย่างไรเราก็จะมีเวลาในการปรับแต่งมันโดยไม่มีแรงกดดันจากปัจจัยอื่นๆ เช่นสายตาของผู้คน

หลายคนคงเคยกลับมาดูอินสตาแกรมสตอรี่ของตัวเองซ้ำๆ หรือเปิดดูโปรไฟล์เฟซบุ๊กของตัวเอง หากเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจก็เลือกที่จะกดลบหรือซ่อนมัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ผู้คนใช้ในการบอกว่าตนเป็นและช่วยเพิ่มความภาคภูมิใจในตัวเองได้

ดังนั้น การที่ Introvert หรือคน MBTI ต่างๆ จะออกมาโพสต์เรื่องราวของตัวเองก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เราสามารถแสดงออกบางอย่างได้ง่ายขึ้นอยู่แล้ว ผู้คนล้วนแล้วแต่ต้องการการยอมรับจากตัวเองและสังคมและมีการแสดงมันออกมาในสักทาง ต่อให้ไม่ใช่ชาวอินโทรเวิร์ตเองก็ตาม เพราะการแสดงออกถึงตัวตนนั้นเป็นหนึ่งในสิ่งปกติที่สุด และที่สำคัญคือมันไม่ได้ทำร้ายใครเลย

ที่มา

https://buffer.com/resources/psychology-of-social-media/ 

https://www.usatoday.com/story/news/nation/2019/05/06/myers-briggs-type-indicator-does-not-matter/3635592002/

https://www.wired.co.uk/article/myers-briggs-test-internet-fans

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/positive-prescription/201703/why-we-love-talking-about-ourselves

Tags: , , ,