“เจนค่ะ เจนค่ะ หนูชื่อเจน มากับนุ่น แล้วก็มากับโบว์”

“วาสนาผู้ใดหนอ ได้รักได้ดูแลเธอน่ะ มันเป็นใครหนอ…” 

เชื่อว่าบ่อยครั้ง หลายคนต้องเคยเจอกับประสบการณ์เอาเพลงบางเพลงออกจากหัวไม่ได้ ต้องฮัมเพลงเหล่านั้นไปตลอดทั้งวัน จนสุดท้ายต้องกลับไปเปิดยูทูบ พยายามเสิร์ชหาจากถ้อยคำที่พอจำได้ แล้วฟังวนไปจนกว่าจะรู้สึกพึงพอใจ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่สิ่งผิดแปลกที่น่ากังวล เนื่องจากสามารถพบได้ทั่วไปในผู้คนหลากหลายช่วงอายุ อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจสร้างความรำคาญเล็กน้อย เพราะเสียงในหัวที่วนไปมาอาจทำลายสมาธิในการทำอะไรบางอย่าง

ภาวะเพลงติดหู (Earworm) เป็นคำที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์เมื่อเราได้ยินเพลงหรือทำนองเดิมซ้ำๆ ในหัว และไม่สามารถนำมันออกจากความคิดได้ โดยเพลงที่เล่นวนในห้วงความคิดจะมีความยาวไม่เกิน 20 วินาที ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงบางท่อนของเพลงที่ให้จังหวะสนุกสนาน หรือมีการใช้โน้ตเสียงสูงและเสียงต่ำประกอบกันในท่อนเดียว เรื่องนี้นักจิตวิทยาด้านดนตรีส่วนใหญ่เชื่อว่า คุณสมบัติของเพลงที่ก่อให้เกิดภาวะเพลงติดหู มักเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ใช้คำง่ายๆ ในการขับร้อง และมีท่อนฮุกที่ใช้คำเดิมๆ ในการร้องซ้ำ ซึ่งระยะเวลาการเกิดภาวะเพลงติดหูขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที ขณะที่ผู้คนอีก 8.5% ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง กว่าเพลงที่เล่นซ้ำในหัวจะหายไป

แน่นอนว่า ภาวะเพลงติดหูไม่ใช่สิ่งที่ผิดแปลกหรือเป็นอันตราย แต่กลับเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถพบเจอได้ทั่วไป จากงานวิจัย ‘Stuck in my head: Musical obsessions and experiential avoidance’ ในปี 2020 พบว่า ผู้คนกว่า 97% เคยเจอภาวะเพลงติดหูในทุก 1 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจในประเทศฟินแลนด์เมื่อปี 2011 รายงานว่า ผู้ทำแบบทดสอบกว่า 89.2% เกิดภาวะเพลงติดหูอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้บ่อยในกลุ่มศิลปินนักแต่งเพลง หรือผู้คนที่ชื่นชอบการฟังเพลงเป็นพิเศษ  

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เราพยายามหลีกเลี่ยงหรือไม่คิดถึง ยิ่งทำให้เพลงเหล่านั้นเล่นวนซ้ำในหัวมากขึ้น เหมือนตุ่มที่เกิดจากการระคายเคืองที่ยิ่งเกายิ่งคัน เนื่องจากภาวะเพลงติดหูเชื่อมโยงกับสมองในส่วนของการรับรู้เสียงดนตรี ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับส่วนที่ทำหน้าที่ดึงความทรงจำออกมา 

ในรายงานวิจัยที่ชื่อ ‘Tunes stuck in your brain: The frequency and affective evaluation of involuntary musical imagery correlate with cortical structure’ ในปี 2015 ที่ทดลองการใช้เครื่องตรวจหาความผิดปกติโดยใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นความถี่วิทยุ (MRI) เพื่อประเมินความเชื่อมโยงระหว่างอารมณ์เมื่อเกิดภาวะเพลงติดหู กับการทำงานของโครงสร้างเยื่อหุ้มสมอง ระบุว่า เมื่อเราได้ยินเพลงเล่นซ้ำไปมา สมองจะส่งข้อมูลเสียงไปเก็บไว้ในระบบความทรงจำระยะสั้นที่เปลือกสมองส่วนรับรู้การได้ยิน (Auditory Cortex) ซึ่งอยู่บริเวณกลีบขมับของสมอง (Temporal Lobe) เมื่อเราถูกกระตุ้นจากเหตุการณ์ ความรู้สึก หรือความทรงจำที่เชื่อมโยงกับเพลงดังกล่าว สมองจะนำความทรงจำรูปแบบเสียงที่เก็บไว้ออกมาฉายซ้ำ และยิ่งเราพยายามที่จะไม่คิดถึงมันมากเท่าไร ยิ่งกระตุ้นให้เล่นเพลงเดิมซ้ำๆ ในหัว

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ไมเคิล เค. สกัลลิน (Michael K. Scullin) นักจิตวิทยาและประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ (Baylor University) สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า อีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือในบางครั้ง ภาวะเพลงติดหูไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังจากฟังเพลงนั้นจบ บางครั้งเกิดขึ้นในอีกหลายชั่วโมงหรืออีกหลายวันต่อมา ถึงแม้ยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้ แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กระบวนการที่ทำให้เกิดภาวะเพลงติดหูเชื่อมโยงกับกลไกหน่วยความจำในสมอง 

อย่างไรก็ตาม ภาวะเพลงติดหูไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่กลับเป็นตัวบ่งชี้ว่า สมองของเราแข็งแรงและทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ ทว่าในบางกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ที่มีพฤติกรรมทำสิ่งเดิมซ้ำไปซ้ำมา เมื่อเกิดภาวะเพลงติดหูบ่อยๆ อาจส่งผลให้เกิดความเครียด และควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา หากภาวะเพลงติดหูกินเวลานานหรือรบกวนชีวิตประจำวัน

ในประเด็นนี้มีงานวิจัย ‘Major depression with musical obsession treated with vortioxetine: a case report’ ในปี 2021 ที่ระบุว่า ภาวะเพลงติดหูที่กินเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน อาจเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าได้ หากมีอาการเบื่ออาหารและอารมณ์ฉุนเฉียวร่วมด้วย อีกทั้งภาวะเพลงติดหูยังมีส่วนคล้ายคลึงกับภาวะเสียงหลอนในหูหรือหูแว่ว เป็นอาการที่คนไข้ได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง และเชื่อว่าตนเองกำลังได้ยินเสียงนั้นอยู่ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคทางจิตเวชหรือระบบประสาท ที่ควรได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง 

หากในวันที่คุณต้องการใช้สมาธิเพื่อจดจ่อกับอะไรบางสิ่ง แล้วเกิดภาวะเพลงติดหูจนนำไปสู่ความรำคาญ คุณอาจแก้ไขโดยการเปิดเพลงอื่นคลอเบาๆ หาภาพยนตร์หรือหนังสือมาดึงความสนใจออกไปจากเสียงเพลงที่เล่นซ้ำในหัว ถ้ายังไม่ได้ผลให้ลองเคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะงานวิจัยในปี 2015 เกี่ยวกับการป้องกันภาวะเพลงติดหู แสดงให้เห็นว่า การเคี้ยวหมากฝรั่งจะช่วยยับยั้งสมองในการรื้อความทรงจำระยะสั้น อันก่อให้เกิดภาวะเพลงติดหู อีกทั้งยังช่วยให้รู้สึกสงบและมีสมาธิมากขึ้น

อ้างอิง

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4723199/

https://www.webmd.com/brain/news/20230331/what-earworms-reveal-about-health

https://www.linkedin.com/pulse/understanding-earworm-reasons-impact-divya-singhal

Tags: , , ,