นอกจาก IKEA และเมนูสวีดิชมีตบอลที่คนหลายคนคลั่งไคล้แล้ว ยังมีวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ที่น่ารักแต่นุ่มลึกของชาวสวีเดนที่ครองใจคน เช่นที่นิตยสาร Vogue เคยดันคำว่า Lagom (ลากอม) ให้เป็นคำฮิป ซึ่งอธิบายความคิดลึกซึ้งสะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างพอเหมาะพอควร แต่นอกจากนี้ ยังมีอีกคำหนึ่งที่ฮิปและฮิตในหมู่คนสวีเดนคือคำว่า ‘Fika’ (ฟิก้า)
Fika เป็นคำแสลงของคนสวีเดนที่อธิบายแนวคิดของการดื่มกาแฟไว้อย่างดีที่สุด คำนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นได้ทั้งคำนามและคำกริยา เกิดจากการสลับพยางค์ คำว่า Kaffi หรือ Kaffe ที่แปลว่า กาแฟ อีกทั้งคำว่า Fik ยังเป็นภาษาพูดที่แปลว่าคาเฟ่ได้อีกด้วย
Fika แปลง่ายๆ ว่าการดื่มกาแฟ แต่แก่นสารใจความมีมากกว่าแค่การดื่มกาแฟ เหตุผลในการดื่มกาแฟของเราก็มีหลากหลายกันไป ไม่ว่าจะดื่มเพื่อพึ่งสารคาเฟอีนให้เราตื่น ดื่มเพราะชอบรสขมกับกลิ่นหอม หรือดื่มเพื่อเข้าสังคม แต่ Fika น่าจะเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่แท้จริง เพราะการดื่มกาแฟไม่ใช่แค่การดื่มเครื่องดื่มแต่เป็นการใช้เวลาให้ช้าลงและอยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าจะอยู่กับตัวเอง ครอบครัว หรือเพื่อนฝูง ละเลียดรสนุ่มลึกกับขนมอบชิ้นโปรด ไม่ว่าจะทำที่บ้าน ในร้านกาแฟ หรือที่ทำงาน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการละเลียดเวลาอย่างมีคุณภาพ
ชีวิตของคนเมืองที่เร่งรีบรีบซื้อกาแฟใส่แก้วกระดาษวิ่งออกจากร้าน รีบดื่มกาแฟให้หมดแล้วรีบไปทำอย่างอื่น จึงทำให้เสน่ห์ของ Fika เด่นชัดขึ้นมาในเทรนด์โลก เพราะ Fika มีความหมายถึงการเข้าสังคมในแบบที่เราอาจมองข้าม คนสวีเดนใช้ช่วงเวลานี้ทำตัวให้ช้าลงท่ามกลางความรวดเร็วและวุ่นวาย ตัดสิ่งรบกวนภายนอก สนใจแค่สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เป็นเหมือนข้ออ้างที่จะหยุดพัก เพราะการพักที่มีประสิทธิภาพเติมพลังให้กับจิตวิญญาณได้เป็นอย่างดี
เพราะการดื่มกาแฟไม่ใช่แค่การดื่มเครื่องดื่ม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการละเลียดเวลาอย่างมีคุณภาพ
Fika ลบเลือนเส้นกั้นระหว่างการทำงานและการพักผ่อน บริษัท IKEA ยึดถือ Fika ให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่จำเป็น เพราะ Fika ย่นระยะห่างระหว่างความขึงขังจริงจังของการคุยงานด้วยท่าทางที่ผ่อนคลาย การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจากห้องประชุมเป็นโต๊ะกาแฟ ช่วยลดความตึงเครียดและทำให้ความคิดสร้างสรรค์ผุดออกมาง่ายดายขึ้น ช่างสมกับเป็นวิถีชีวิตของประเทศที่ร่ำรวยทั้งฐานะและคุณภาพชีวิตจริงๆ
Fika ไม่ได้มีรูปแบบข้อบังคับตายตัว ขอแค่มีกาแฟดีๆ อาจทดแทนด้วยชาก็พอไหว กินคู่กับขนมที่ช่วยส่งเสริมรสชาติของกาแฟก็ถือว่าสอบผ่านขั้นต้นของ Fika แล้ว เรื่องขนมก็ไม่ได้ยึดติดตายตัวว่าจะต้องเป็นขนมประเภทอะไร แต่ที่ยอดนิยมก็คือซินนามอนโรล บิสกิต คุกกี้ หรือขนมอบที่มีรสหวาน อาจมีผลไม้เสิร์ฟมาพร้อมกัน หรือทดแทนด้วยแซนด์วิชและสลัดก็ได้เช่นเดียวกัน
ช่วงเวลาไหนที่เหมาะจะ Fika ที่สุด? คำตอบคือได้ทุกเวลา เพราะ Fika คือส่วนประกอบหลักในการดำเนินชีวิตของคนสวีเดน ไม่ว่าจะในที่ทำงานที่มักจะมี Fika อย่างน้อยสองครั้งต่อวัน แต่ส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนกับว่าจะมี Fika เยอะครั้งกว่านั้น ในชีวิตจริง พนักงานในออฟฟิศจะได้ใช้เวลานี้ผ่อนคลาย พูดคุยกัน หรือเป็นเหตุผลง่ายๆ ที่จะนัดเพื่อนฝูงออกมาเจอกัน หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาเดินทาง เพียงแค่ห่อขนมและนำกาแฟติดตัวไปก็สามารถมี Fika ได้แล้ว
การ Fika ตามคนสวีเดนก็ดูจะทำได้ง่ายแสนง่าย ไม่ใช่แค่ภาพความชิคๆ คูลๆ นั่งผ่อนคลายในร้านกาแฟกับเพื่อนคนสนิทในเช้าวันอาทิตย์ แต่ให้ค่ากับคำว่า ‘เวลา’ และมุมมองใหม่ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนเป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะในบริษัทและองค์กรที่เป็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์ นำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์และการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นวิถีชีวิตที่สะท้อนความรุ่มรวยในคุณภาพชีวิตโดยแท้จริง
หากเป็นคนไทย ถ้าอยากทำความรู้จักใครก็คงชวนไปกินข้าวในร้านอาหารบรรยากาศดีๆ บางประเทศไปสังสรรค์กันที่บาร์ แต่ถ้าอยากทำความรู้จักและสนิทสนมกับคนสวีเดนโดยไม่เคอะเขิน ก็ให้ชวนพวกเขาไป Fika ด้วยกัน
ภาพประกอบโดย ปรางวลัย พูลทวี
FACT BOX:
คนสวีเดนชอบดื่มกาแฟมากเป็นอันดับ 6 ของโลกซึ่งดื่มกาแฟมากถึง 8.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟินแลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ
Tags: Kaffe, คุณภาพชีวิต, coffee, วัฒนธรรม, Culture, Sweden, Fika, กาแฟ