“หวงเพลงนี้มาก อยากเก็บไว้ฟังคนเดียว” 

“หนังเรื่องนี้เราให้ 10/10 เนื้อเรื่องค่อนข้างซับซ้อน ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ต้องมีความรู้ก่อนถึงจะสนุก”

“ทำไมร้านนี้แมสแล้วอะ เรากินมาก่อนตั้งนานแล้ว ตั้งแต่สมัยเปิดใหม่ๆ เลย”

โดยปกติแล้ว หากดูภาพยนตร์แล้วประทับใจ เราก็อยากแนะนำให้ใครสักคนต่อ ฟังเพลงแล้วไพเราะก็รู้สึกว่าคนอื่นก็น่าจะมีโอกาสได้ลองฟัง ทั้งที่ควรจะยินดีที่มีคนมาชื่นชอบสิ่งเดียวกัน เพราะหมายถึงความสำเร็จที่มากขึ้นของศิลปินและผลงาน 

แต่ทำไมหลายคนถึงแสดงออกในเชิง ‘หวง’ ราวกับว่าไม่อยากให้สิ่งที่ตนเองชื่นชอบถูกรู้จักในวงกว้าง

ลักษณะพฤติกรรมเช่นนี้ มีการจำกัดความไว้ว่า เป็นการกระทำแบบ ‘Gatekeeper’ และ ‘Gatekeeping’ เป็นหนึ่งในคำยอดนิยมของวัยรุ่น Gen Z ในปี 2021 แม้คำว่า Gatekeeper จะไม่ถูกใช้มากในไทย แต่ก็สามารถพบเห็นคนที่มีลักษณะเช่นนี้ได้เป็นปกติ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียลมีเดีย 

หากแปลอย่างตรงตัว ‘Gatekeeper’ มีความหมายว่าผู้รักษาประตู แต่ระยะหลังคำนี้มักถูกใช้ในการเรียกคนที่กีดกันผู้อื่นออกจากบางสิ่ง ซึ่งอาจเป็นเพลง, วงดนตรี, เกม หรือสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน โดยผู้ที่เป็น Gatekeeper อาจใช้วิธีอวดอ้างถึงความรู้หรือประสบการณ์ที่มากกว่า เพื่อตัดโอกาสไม่ให้ผู้อื่นได้เข้าถึงสิ่งนั้นเพราะหวังที่จะเก็บไว้เชยชมเองหรือไว้ดูเฉพาะในกลุ่มของตน

โดยปกติแล้ว กลุ่ม Gatekeeper ที่พยายามจะสร้างความเฉพาะตัวให้ตนและผลักคนทั่วไปให้เป็นอื่นด้วยการข่ม ก็จะถูกเสียดสีในระดับที่เข้มข้นกว่า อย่างคอกาแฟที่คอยตั้งคำถามทดสอบความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์กาแฟหากมีใครมาบอกว่าชอบดื่มเหมือนกัน เพื่อทดสอบความเป็นตัวจริงเรื่องกาแฟ หรือแฟนภาพยนตร์ที่บอกว่าถ้าจะไปดูเรื่องนี้อาจต้องมีความรู้ด้านอื่นก่อน เพราะมันลึกซึ้งเข้าใจยากเกินไปสำหรับคนทั่วไป กรณีนี้ก็จะถูกมองว่าเป็น Gatekeeper ขนานแท้

แม้ยากที่จะยอมรับ แต่บางครั้งเราก็อาจเป็น Gatekeeper เสียเอง เพราะอาการหวงนั้นย่อมเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เมื่อมองเห็นถึงความพิเศษของสิ่งหนึ่งที่ให้ความหมายหรือเชื่อมโยงกับตัวเองในสักแง่มุม การหวงและคิดกีดกันคนอื่นออกจากสิ่งที่ชอบ พยายามแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ หรือคิดว่าตนรู้จักสิ่งนั้นดีกว่าใคร อาจสร้างความรู้สึกพิเศษและทำให้เราดูแตกต่างจากคนอื่น

ก่อนหน้านี้ นางแบบชื่อดังอย่าง ไคลีย์ เจนเนอร์ (Kylie Jenner) ก็เคยถูกมองว่าเป็น Gatekeeper เช่นกัน จากการที่เธอไม่บอกแฟนคลับว่าเครื่องดื่มโซดายี่ห้อโปรดของเธอคืออะไร เพราะกลัวว่ามันจะยิ่งหาซื้อยาก พอให้เหตุผลเช่นนี้ การ Gatekeeping ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจได้มากขึ้นและดูจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะเธอก็เพียงแค่กลัวว่าสินค้าที่หายากอยู่แล้วจะหมดเกลี้ยงจนไม่เหลือให้ตนเท่านั้นเอง

วันหนึ่งศิลปินนอกกระแสที่เคยฟังตั้งแต่ยอดวิวหลักร้อย อาจดังเปรี้ยงขึ้นมาจนเดินไปไหนก็ได้ยินแต่เพลงของเขา ร้านอาหารที่เคยคิดว่าเป็นร้านลับในซอยลึก ก็อาจมีคนไปอุดหนุนเยอะจนต้องจองคิวล่วงหน้าเป็นเดือนๆ เพราะมันมีดีในตัวเองอยู่แล้ว เมื่อถูกค้นพบขึ้นมาจึงไม่แปลกที่คนอื่นจะชื่นชอบเช่นเดียวกันกับเรา

การมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ดี ทั้งกับคนอื่น ตัวเอง และธุรกิจ กลับกัน หากทั้งโลกมีแต่เราที่เข้าถึงสิ่งที่ชอบได้คนเดียว ก็อาจเป็นแรงสนับสนุนที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้สิ่งนั้นได้ถูกสร้างสรรค์ต่อไป

ที่มา

https://www.insider.com/gatekeeper-online-trend-insult-explained-2022-6

https://www.vogue.com/article/nepo-baby-gatekeeping-gaslighting-words-of-the-year 

https://loudwire.com/psychology-gatekeeping-rock-metal/ 

Tags: , , , ,