ละครเวที Teenage Wasteland : Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum ของกลุ่ม Splashing Theatre คือพลังงานการแสดงที่เปี่ยมล้นแต่สมดุลระหว่างคนหนุ่มสาวกับนักแสดงรุ่นใหญ่ เล่าเรื่องโลกสามโลกสลับกัน ตัวละครต่างกัน มีเรื่องราวจบในตัวเอง แต่ในบางห้วงบางฉาก ตัวละครเหล่านั้นก็เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างหาคำอธิบายไม่ได้​

หลายฉากโลดแล่นผ่านตา เราพยายามใช้สมาธิในการเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งสามก้อนเข้าด้วยกัน แต่กลับพบว่า ทางที่ดีที่สุดในการชมคือการเออออตามเรื่องราวไปก่อน เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่มีอะไรที่คาดเดาได้เลย​

เฟิร์ส-ธนพนธ์ อัคควทัญญู และ แมค-ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี คือสองหนุ่มที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม Splashing Theatre เฟิร์สเคยกล่าวในบทสัมภาษณ์ว่า ก่อนเฟิร์สเข้ามหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขามีความตั้งใจอยากทำงานด้านภาพยนตร์มาก่อน แต่เมื่อได้มีส่วนร่วมกับการแสดงละครเวทีของคณะในปีแรก ก็เบนเข็มทุ่มเทให้กับการทำละครมานับแต่นั้น

แต่ละครเวทีเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าความเป็นภาพยนตร์ยังฝังแฝงอยู่ในวิธีการเล่าเรื่อง การใช้จังหวะการกระทำของตัวละครที่ฉับพลัน คล้ายกับการตัดสลับภาพบนจอหนัง เปลี่ยนฉาก การเล่าเรื่องแบบไม่ต่อเนื่องกัน แต่กลับกระโดดไปโลกนั้นที โลกนี้ที พาคนดูเหวี่ยงหวือ พิลึกกึกกือแต่คึกคัก มีถ้อยคำชวนคิดแทรกอยู่เป็นระยะ ระหว่างการละเล่นที่ดูหลุดโลกทั้งสามเหตุการณ์

ภาพ: Xie Ren Jay

โลกแรก คือเรื่องราวของกลุ่มเด็กที่เล่นบอร์ดเกม ความสดใสของวัยเยาว์ แทรกมากับเรื่องราวความตายที่เป็นปริศนา ดูเหมือนว่าในการเล่นเกมของพวกเขา ได้ทำใครสักคนในกลุ่มให้ตายดับไป โดยไม่มีใครจำเหตุการณ์ได้ว่าผู้ใดลงมือกระทำ และกระทำอย่างไร

โลกต่อมา คือเรื่องราวของตัวละครที่ชื่อ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ พ้องพานกับชื่อบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทย ละครนำเสนอเรื่องราวของเขาทั้งเกร็ดชีวิตที่มาจากเรื่องจริง และปฏิสัมพันธ์ที่ ‘จิตร’ มีต่อตัวละคร ‘ผู้กำกับหนุ่ม’ ที่ดึงเอาตัว ‘จิตร’ ในประวัติศาสตร์มาเป็นตัวละครในภาพยนตร์ของตนเอง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ซ้อนอยู่ในละครอีกชั้นหนึ่ง มันจึงเป็นความสัมพันธ์ที่ทะลุออกจากมิติเรื่องแต่งสู่มิติเรื่องจริง ซึ่งก็เป็นจริงเพียงแค่ในละคร

โลกที่สาม คือโลกของสงครามในอวกาศ เรื่องราวมิตรภาพเพื่อนรักวัยเด็ก ที่กำเนิดมาคนละเผ่าพันธุ์ และต่างเผ่าพันธุ์ต่างก็มีแนวโน้มคุกคามกันเองเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางหมู่ดาว

เมื่อรวมสามรสเข้าด้วยกัน ละครจึงมีกลิ่นของวรรณกรรมเยาวชน ไซไฟ และละครอิงประวัติศาสตร์การเมืองปนเปกันไป แต่ถึงจะเป็นละครเวทีที่มีสามโลกซ้อนกันอยู่ แต่ไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง มีส่วนที่ทับและติดต่อสัมพันธ์กัน แม้ไม่ชัดเจนว่าเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร หรืออะไรคือระบบเหตุผลที่รองรับความสัมพันธ์เหล่านั้น คงเหลือที่ว่างไว้ให้ตีความและเชื่อมโยง

พอถึงจุดหนึ่ง เราเลิกตั้งใจลำดับเรื่องราว แล้วปล่อยให้ตัวละครในฉากต่างๆ นำพาเราไปอย่างอิสระ ด้วยพลังงานเปี่ยมล้นของพวกเขา

ภาพ: Xie Ren Jay

ร่วมลืม

ในโลกของกลุ่มเด็กผู้เล่นบอร์ดเกม พวกเขาแสดงออกชัดเจนว่าเป็นเพื่อนรักสามัคคีกัน แต่ในความสามัคคีนั้นก็ก่อให้เกิดคำถาม ใครกันที่ฆ่าเพื่อนได้ลงคอ​

บางที นี่อาจไม่ใช่การสืบหาเงื่อนงำแบบวรรณกรรมเยาวชน ที่เด็กวัยใสร่วมกันสืบเสาะผจญภัย แต่นำไปสู่ความจริงที่ว่า ธรรมชาติของเกมนี้ คือเกมที่ทุกคนร่วมกันฆ่า แล้วร่วมกันลืม เพราะฉะนั้นการหาต้นตอความตายอาจไม่ใช่ประเด็นของเรื่องตั้งแต่แรก​

ส่วนมิตรภาพระหว่างสายพันธุ์ในอวกาศ กฎของสงคราม คือการลืม ‘มิตรภาพ’ ระหว่างบุคคลชั่วขณะ แล้วก้าวเข้าสู่บทบาทของ ‘ตัวแทนสายพันธุ์’ ประจันหน้าเข้าหากัน เฉกเช่นการสวมหุ่นกันดั้ม ยืมมือจักรกลเพื่อสร้างระยะห่างจากการฆ่าด้วยน้ำมือตน​

มองละครที่ซ้อนทับภาพยนตร์อีกชั้น เราจะพบว่านักแสดงที่ออกจากหน้ากล้องแล้วจะกลับกลายเป็นคนอีกคน ผลักตัวเองออกจากเรื่องราวที่เขาเคยสวมบทบาท เป็นการลืมลบเพื่อกลับไปใช้ชีวิตปกติ สนทนากัน ชวนไปกินข้าวในละแวกนั้น มันคือการลืมที่จำเป็น เพราะคงไม่มีใครจดจำเอาเรื่องราวสมมติในภาพยนตร์มาซ้อนกับความจริงในชีวิต หากพวกเขาเป็นคนปกติ

ร่วมลงทัณฑ์

ในตอนหนึ่ง จิตรโดนตำหนิว่าจัดทำหน้าปกและเนื้อหาของหนังสือมหาวิทยาลัยขัดกับความดีงาม เนื้อหาตามบันทึกคือ เขาโดนนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ลงทัณฑ์แทนมหาวิทยาลัยด้วยการ ‘โยนบก’ ซึ่งหมายถึงการใช้กำลังทำร้าย โยนทั้งร่างให้ลงมากระแทกพื้น​

แต่ในละคร ฉากที่จิตรโดนโยนบก กลับเป็นการแสดงที่ปราศจากตัวผู้กระทำ เสมือนปล่อยให้ผู้ชมร่วมเป็นประจักษ์พยาน และถูกถามผ่านการมอง ขณะดูจิตรแกว่งไกวโยนตัวเองไปมาว่า จะปล่อยให้คนคนนี้ถูกกระทำรุนแรง รับโทษทัณฑ์จากความดื้อด้านและเอียงซ้ายอันแปลกแยกของเขาหรือไม่ และการเฉยเมยคือคำตอบ ที่เบิกทางให้ความรุนแรงเกิดขึ้น​

ตัดไปที่ภาพสงครามในอวกาศ ตัวละครเอกถูกบังคับให้ลงทัณฑ์เพื่อนของเขา โทษฐานที่อยู่คนละเผ่าพันธุ์ และได้รับการย้ำเตือนว่า “เพื่อนเป็นแฟนตาซีของวัยเด็ก” เพื่อเป็นใบอนุญาตฆ่าอย่างไร้ความรู้สึกผิด​

ขณะที่กลุ่มเด็กเล่นบอร์ดเกมอันใสซื่อกลับกลายเป็นร้ายกาจ เมื่อสถานการณ์หรือกฎของเกมบีบบังคับ ดูเหมือน ‘กฎ’ ในเกมบอกให้พวกเขาทำเช่นนั้น แต่เป็นสภาพบังคับจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการรวมหมู่เพื่อกำจัดใครสักคน ตอบสนองความต้องการของตนเอง

ภาพ: Xie Ren Jay

ร่วมเล่าใหม่

การเป็นละครที่มีภาพยนตร์ซ้อนอยู่ เปิดพื้นที่ให้บทละครได้วิพากษ์พฤติกรรมการนำเอาเรื่องคนตายมาปู้ยี่ปู้ยำเล่าซ้ำใหม่ พร้อมๆ ไปกับการวิพากษ์ตัวเอง เช่นที่คำอธิบายละครเบื้องต้นทำให้ดูเหมือนว่าตั้งใจมาเล่าเรื่องชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ความจริงกำลังวิพากษ์การเล่าซ้ำประวัติศาสตร์ ซึ่งก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ละครเรื่องนี้กระทำอยู่เอง​

การเล่าซ้ำบางครั้งคือการสร้างความลืมอย่างแยบยล​

ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยความสับสนงุนงง จับต้นชนปลายได้ยาก มีการร่วมกันลืมเรื่องของคนบางคนหรือบางเหตุการณ์สำคัญด้วยความจงใจ ให้กลายเป็นอดีตที่สะอาดเกลี้ยงเกลา ไร้คำถาม​

 บอร์ดเกมที่จบและเริ่มเล่นกันใหม่ ฉายภาพความสนุกสนานและชัยชนะที่กลบเกลื่อนว่าครั้งหนึ่งเคยมีคนตาย และคนคนนั้นไม่ใช่ใครอื่น คือคนที่ครั้งหนึ่ง พวกเขาเคยเรียกว่าเพื่อนรัก​

ความตายเป็นโศกนาฏกรรม แต่การจงใจลืมนั้นเป็นการกระทำอันเหี้ยมโหด เลือดเย็น​

เช่นเดียวกับการสร้างละครอิงประวัติศาสตร์ การร่วมกันแสวงหาความจริงด้วยการประกอบสร้างเรื่องเล่าขึ้นใหม่ กลับกลายเป็นการปิดผนึกหรือลบล้างความจริงซ้ำอีกชั้นอย่างอำพราง​

ทำให้มันยิ่งกลายเป็นเพียงละคร ทำให้เป็นเพียงเรื่องแต่ง หรือเป็นแค่เกม​

ทำให้ลืมว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริง​

และอาศัยการลืมเสียสนิทเป็นข้ออ้าง เพื่อไม่มีใครต้องรับผิดชอบ

FACT BOX:

  • Teenage Wasteland : Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum ยังคงแสดงความหลงลืมในโลกรกร้างในวันที่ 6-10 กันยายน 2560 เวลา 19.30 น.
  • สถานที่: Creative Industries ชั้น 2 โรงละคร M Theatre
  • บัตรราคา 550 บาท นักเรียน นักศึกษา 350 บาท
  • สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/Splashingtheatre
Tags: , , , , , ,