ร้านค้าต่างๆ ที่ในหนังสือเล่มนี้แนะนำมา บางเจ้าอาจจะไม่ได้มีหน้าร้านโดดเด่น หรือมีชื่อเสียงในโลกโซเชียล
ทว่าในโลกออฟไลน์คนในชุมชนย่อมต้องนึกถึงเมื่อเวลาหิว เพราะร้านอาหารเหล่านี้ค้าขายกันมาหลายทศวรรษ
ส่งต่อสูตรอาหารกันจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน

เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด สถานที่หนึ่งที่ทุกคนต้องไม่พลาดที่จะแวะไปไม่ว่าจะระหว่างการเดินทาง เป็นหนึ่งในจุดหมายท่องเที่ยว หรือเพื่อหาซื้อของฝากกลับบ้าน คือ ‘ตลาด’

ตลาดสดของไทยไม่เพียงเป็นสถานที่ค้าขายอาหารและขนมเท่านั้น แต่เวลาที่ได้เดินตลาด โดยเฉพาะย่านตลาดเก่า สิ่งหนึ่งที่ผู้ไปเยือนจะได้สัมผัสคือ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ

ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของสด ขนม ของใช้ หรืองานศิลปะที่ขึ้นชื่อประจำจังหวัดนั้นๆ ก็ดี หากเป็นสินค้าที่อยู่ในตลาดเก่าในชุมชน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

แต่คุณรู้หรือไม่ว่าตลาดเก่าในประเทศไทยนั้นมีกี่แห่ง และแต่ละแห่งมีอะไรที่คุณไม่ควรพลาดบ้าง

‘เที่ยวเพลินเดินตลาดทรัพย์สินฯ’ คือหนังสือรีวิวตลาดสดเก่าแก่ที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พร้อมเรื่องเล่าเกร็ดประวัติความเป็นมาของจังหวัด การเกิดขึ้นของตลาด วิถีชุมชน และสถานที่ท่องเที่ยวรายรอบ

เป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลอย่างพอเหมาะและครบถ้วน สมควรจะเป็นของฝากให้ผู้ใหญ่ที่ไปต่างจังหวัดบ่อยๆ หรือมีติดรถไว้เพื่อการเที่ยวครั้งหน้าของคุณจะไม่ได้ซื้อเพียงแค่ขนมหม้อแกง หรือขนมโมจิ

 

ตลาดสดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หมายถึงตลาดเก่าดั้งเดิมที่อยู่คู่กับชุมชนมาเป็นเวลาเนิ่นนาน จนกลายเป็นที่ดินที่มีเรื่องราวสะท้อนความเป็นมาผ่านอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบและฝีมือของคนในท้องถิ่น รวมถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน โดยในหน้าบทนำของคุณพลอย จริยะเวช คอลัมนิสต์ ได้กล่าวถึงการบำรุงรักษาตลาดเก่าโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่า

“สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ดำเนินการพัฒนาตลาดเก่าหลายแห่งทั่วประเทศ โดยยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนที่ตั้งของตลาดไว้ ด้วยการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอาคารบริเวณตลาด ที่บ้างก็เป็นตึกแถวไม้อายุใกล้ร้อยปี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เปี่ยมร่องรอยชีวิตจริงของผู้คน” (2559, น.10)

การรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และร้านค้าขายในหนังสือเล่มนี้จึงมีความแตกต่างจากหนังสือรีวิวอื่นๆ ตรงที่เลือกนำเสนอร้านค้าเก่าแก่ในตลาดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานก่อนจะเป็นตลาดที่อยู่ในความดูแลของหลวงทุกวันนี้ เช่น ตลาดหัวรอ จังหวัดอยุธยา เดิมเป็นย่านตลาดน้ำและชุมชนขนาบน้ำที่เรียกว่า ย่านหัวรอ ในสมัยยุคต้นรัตนโกสินทร์ และค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงในสมัยรัชกาลที่ 5 จนเหลือเพียงตลาดบกในปัจจุบัน

ตลาดสดที่รวบรวมมาไว้ในหนังสือเล่มนี้มีหลายแห่งหลายจังหวัดด้วยกัน คือ ฉะเชิงเทรา อยุธยา เพชรบุรี นครปฐม นครสวรรค์ ลำปาง และสงขลา ในแต่ละจังหวัดเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงประวัติของตลาดตั้งแต่แรกเริ่ม และการปรับปรุงบูรณะตลาดขึ้นใหม่โดยสำนักงานทรัพย์สินฯ ตามด้วยรูปวาดแผนที่ตั้งของตลาด (ซึ่งรูปในหนังสืออาจจะไม่ได้มีความโดดเด่นมากนัก ดังนั้นคุณควรจะใช้ GPS เพื่อความแน่นอนอีกครั้งหากตามรอย) บางตลาดก็มีการบูรณะกันหลายครั้งเพราะเหตุไฟไหม้ เช่น ตลาดสดริมน้ำ จังหวัดเพชรบุรี ที่เคยเป็นที่กำเนิดของเจ้าจอมเมืองเพชรในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง 6 พระองค์ และได้รับการบูรณะหลังไฟไหม้ในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2557)

บางตลาดก็เปลี่ยนเจ้าของก่อนจะตกมาอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินฯ อย่าง ตลาดราชวงศ์ จังหวัดลำปาง ซึ่งมีเจ้าของเดิมคือ พลตำรวจตรีเจ้าราชวงศ์ (เจ้าแก้วปราบเมรุ ณ ลำปาง) ตั้งแต่ยุคที่ลำปางยังมีการปกครองแบบหัวเมืองล้านนา (ก่อนจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6) ซึ่งภายหลังทายาทได้ขายที่ดินส่วนนี้ให้แก่สำนักงานทรัพย์สินฯ ปัจจุบันจึงกลายเป็นตลาดค้าอาหารสดตอนเช้ามืด ค้าผ้าช่วงสายถึงบ่าย และขายอาหารเมืองเหนือปรุงสำเร็จตั้งแต่กลางวันถึงย่ำค่ำ

และบางตลาดก็เคยเป็นสิ่งอื่นก่อนจะมาเป็นตลาด ดังเช่น ตลาดบ่อนไก่ จังหวัดนครสวรรค์ ที่เดิมเป็นสังเวียนชนไก่ของเมืองปากน้ำโพ หรือ ตลาดท่าม้า จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เคยเป็นบริเวณคอกม้าใหญ่ หรือคอกม้าหลวง ตามราชประเพณีเดิมของกษัตริย์ที่ต้องมีม้าไว้ประดับบารมีหรือใช้ยามมีศึกสงคราม

 

สำหรับร้านค้าต่างๆ ที่ในหนังสือเล่มนี้แนะนำมา บางเจ้าอาจจะไม่ได้มีหน้าร้านโดดเด่น หรือมีชื่อเสียงในโลกโซเชียล ทว่าในโลกออฟไลน์คนในชุมชนย่อมต้องนึกถึงเมื่อเวลาหิว เพราะร้านอาหารเหล่านี้ค้าขายกันมาหลายทศวรรษ ส่งต่อสูตรอาหารกันจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ร้านขายเครื่องโต๊ะจีนเจ๊หมวย ที่ตลาดสดทรัพย์สินฯ จังหวัดชลบุรี ที่เปิดมานานถึง 54 ปี โดยของขายดีคือ ฮ่อยจ๊อเนื้อปู ปีกไก่ปรุงรส และลูกชิ้นปลา ร้านข้าวแช่แม่อร ที่ตลาดสดริมน้ำ จังหวัดเพชรบุรี ที่สืบทอดสูตรจากคุณยายกว่า 30 ปี มีจุดเด่นที่น้ำอบข้าวแช่จะใส่ในหม้อดินขนาดใหญ่ เพื่อรักษาความเย็น และใส่ดอกมะลิและกระดังงาไทย กินกับเครื่องเคียง ปลาผัดหวาน ไชโป๊ผัดหวาน และกะปิทอด หรือ ร้านข้าวหลามแม่ลูกจันทร์ ที่ใช้สูตรวิธีการเผาข้าวหลามแบบดั้งเดิมที่ส่งต่อกันมาถึง 4 รุ่น ทำให้มีกลิ่นหอมจากควันไม้เป็นเอกลักษณ์ และพัฒนาให้มีหลายรส ทั้งข้าวหลามขาว ข้าวหลามดำ ข้าวหลามอัญชัญ ข้าวหลามสังขยา และข้าวหลามบ๊ะจ่างเครื่องแน่น

นอกจากนี้คำบอกเล่าของเหล่าแม่ค้าพ่อค้าถึงวิธีการกินของคนในท้องถิ่น ก็อาจกลายเป็นความสนุกหากคุณได้ลงพื้นที่จริงแล้วลองชิมอย่าง ลาบเหนือ หรือภาษาเหนือที่เรียกว่า ส้า (ภาษาอีสานเรียกว่า ก้อย) จากร้านลาบเหนือ ปืนไท ณ ตลาดราชวงศ์ จังหวัดลำปาง ที่เปิดขายมากว่า 30 ปี ซึ่งคนลำปางมักชอบกินส้าที่ทำจากเนื้อวัว เพราะติดใจในรสชาติเข้มข้นจัดจ้านจากความดิบและขมของดีวัวเมื่อผสมกับเครื่องปรุงของลาบ

หากคุณมีโอกาสได้เยือนต่างจังหวัด และยังไม่รู้จะเริ่มจากร้านค้าอะไร เพราะเต็มไปด้วยร้านค้าละลานตาไปหมด ลองเริ่มจากการลิ้มลองอาหารท้องถิ่นดู ประสบการณ์ตรงที่คุณได้รับอาจไม่ได้มีเพียงแค่รสชาติ แต่อาจยังได้สัมผัสบรรยากาศทางวัฒนธรรมที่หาไม่ได้จากที่ไหนอีกด้วย

ป.ล. หนังสือเล่มนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ ไม่มีขายตามร้านทั่วไป คนที่สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ หรือดาวน์โหลดในรูปแบบ E-book ได้ที่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

อ้างอิง:
วิมลภัทร์ เปี่ยมพงศ์สานต์ และคณะ. 2559. เที่ยวเพลินเดินตลาดทรัพย์สินฯ. กรุงเทพฯ: วีรวรรณ พริ้นท์ติ้ง แอนด์ แพ็คเก็จจิ้ง จำกัด.

Tags: