การใช้ชีวิตแบบที่ ‘แต่งงาน มีลูก และมีครอบครัวที่อบอุ่น’ ในปัจจุบันกลายเป็นเพียง ‘ทางเลือก’ ของการเติมเต็มชีวิตที่สมบูรณ์ มีผู้คนไม่น้อยปฏิเสธเส้นทางชีวิตดังกล่าวและแสวงหาการเติมเต็มชีวิตที่สมบูรณ์ในแบบของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้คนอีกมากมายที่ยินดีจะเติมเต็มคุณค่าของตนเองผ่านแบบแผนชีวิตเช่นนี้ ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มคนในชุมชนเพศหลากหลาย (LGBTQIA+)

อย่างไรก็ตาม การแต่งงานและมีลูกสำหรับคู่รัก LGBTQIA+ ในประเทศไทยดำเนินไปไม่ง่ายนัก แม้ว่าประเด็นการรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันกำลังถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ในงานเสวนา ‘สิทธิเพื่อการมีและรับรองบุตรของครอบครัวหลากหลายทางเพศ = บุพการี’1 ผู้เข้าร่วมเสวนาได้สะท้อนให้เห็นว่า คู่รัก LGBTQIA+ ที่ต้องการจะมีบุตรประสบปัญหาทางกฎหมายหลายประการ ทั้งยังแสดงความกังวลใจถึงร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ไม่ให้สิทธิคู่รัก LGBTQIA+ ในการมีบุตรครบถ้วนที่ถูกต้องตามกฎหมาย

บทความนี้จะสำรวจความเป็นบิดามารดาและบุตรในระบบกฎหมายไทยที่มีอยู่และกำลังจะเกิดขึ้น ที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการก่อตั้งสถาบันครอบครัวเพศหลากหลาย

‘บิดามารดาและบุตร’ ในระบบกฎหมายไทย 

กรอบคิดเรื่อง ‘ครอบครัว’ ในระบบกฎหมายไทย จัดวางอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ 2 ลักษณะ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา และความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร ความเป็นสามีภรรยาจะเกิดขึ้นเมื่อชายหญิงจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่

ความเป็นบิดามารดาและบุตรจะเกิดขึ้น 2 แบบ ได้แก่ 

หนึ่ง การตั้งครรภ์โดยวิธีการธรรมชาติ กรณีที่พ่อแม่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เด็กที่เกิดมาจะกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เด็กที่เกิดมาจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของแม่เท่านั้น จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อต่อเมื่อพ่อจดทะเบียนกับสมรสกับแม่ จดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลมีคำสั่งพิพากษาให้เป็นบุตร 

สอง การไม่ตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติ ในปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้สามีภรรยาที่ประสบปัญหาสภาวะมีบุตรยาก (Infertility) สามารถใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เพื่อให้มีบุตรได้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีนี้ จะถือเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตรหรืออีกกรณีหนึ่งคือการอุปการะบุตรบุญธรรม กฎหมายกำหนดให้บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น3

สถานะของการเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย จะนำมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ต่อกันระหว่างสามีภรรยา เช่นเดียวกัน สถานะการเป็นบิดามารดาและบุตรตามกฎหมาย ก็จะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่บางประการทั้งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงในกฎหมายฉบับอื่น เช่น หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดู อำนาจปกครอง สิทธิในการใช้ชื่อสกุล สิทธิตามกฎหมายที่เกิดจากการประกันภัยหรือประกันชีวิต สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สิทธิตามกฎหมายประกันสังคม สิทธิในการลดหย่อนภาษี และสิทธิของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

พ่อแม่ LGBTQIA+ ที่ยังคงถูกเลือกปฏิบัติ 

สิทธิในการแต่งงานและก่อตั้งครอบครัว เป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อที่ 16, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 23, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ข้อ 10 หรือในอนุสัญญาฯ เฉพาะ อย่างอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ข้อ 16 ต่างก็ได้รับรองสิทธิในการแต่งงานและก่อตั้งครอบครัว เพื่อยืนยันถึงการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นอกจากนี้ หลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakarta Principles) ค.ศ. 2006 ข้อ 24 ระบุชัดเจนถึงสิทธิในการแต่งงานและก่อตั้งครอบครัวของกลุ่มคนในชุมชนเพศหลากหลาย (LGBTQIA+) ไว้ว่า 

“มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการสร้างครอบครัว โดยไม่ขึ้นกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ครอบครัวมีหลายรูปแบบ ห้ามมิให้ครอบครัวใดตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติจากสาเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศของสมาชิกคนใดในครอบครัว”

ถึงกระนั้น การยืนยันถึงสิทธิในการสมรสและก่อตั้งครอบครัวของตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับที่กล่าวมา ยังไม่สามารถทำให้กฎหมายไทยรับรองถึงสิทธิในการแต่งงาน และก่อตั้งครอบครัวของกลุ่มคนในชุมชนเพศหลากหลาย (LGBTQIA+) ได้อย่างเหมาะสม กล่าวคือ ระบบกฎหมายครอบครัวของไทยยังตั้งอยู่บนฐานคิดแบบรักต่างเพศ (Heterosexual) อันหมายถึงชายและหญิงเท่านั้นที่จะสมรสกันได้ อีกทั้งชายและหญิงเท่านั้นที่จะมีลูกและเลี้ยงลูกได้ ทำให้คู่รักเพศกำเนิดเดียวกันไม่สามารถแต่งงานและมีลูกภายใต้ระบบกฎหมายนี้ได้

ในปัจจุบันคู่รัก LGBTQIA+ ที่ต้องการจะมีลูก ประสบปัญหาถูกกีดกัน 2 ประการ 

หนึ่ง คู่รัก LGBTQIA+ ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ได้ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีการผสมเทียม ที่กฎหมายอนุญาตให้หญิงที่จะรับบริการต้องมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย5 หรือการเข้าถึงการมีบุตรผ่านการตั้งครรภ์แทน ที่นิยมเรียกกันว่า ‘การอุ้มบุญ’ ก็มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นกรณีที่สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนเท่านั้น6

สอง คู่รัก LGBTQIA+ ไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ร่วมกันได้ (Jointly Adoption) แม้ต้องการจะรับเด็กคนหนึ่งมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้เยาว์จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลหนึ่งได้เพียงคนเดียว จะเป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม7

คดีกอร์ดอนและมานูเอล

แม้ว่าระบบกฎหมายไทยจะยังไม่อนุญาตให้คู่รัก LGBTQIA+ สามารถเข้าถึงสิทธิในการมีบุตรและเลี้ยงดูบุตรได้เท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสถาบันครอบครัว LGBTQIA+ เคยถูกท้าทายต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ผ่านคดีของกอร์ดอนและมานูเอล คู่รักเพศกำเนิดเดียวกันชาวสเปน ที่ร้องให้ศาลมีคำสั่งให้เด็กหญิงคาร์เมนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนและคู่สมรสจากหญิงอุ้มบุญชาวไทย8

คดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 จะบังคับใช้ ตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 56 ของกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า หากเป็นการตั้งครรภ์แทนก่อนที่กฎหมายจะใช้บังคับ สามีภรรยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน สามารถร้องขอต่อศาลให้เด็กที่เกิดมาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนได้ กอร์ดอนและสามีจึงใช้กระบวนการทางศาลผ่านมาตราดังกล่าว 

แม้ว่าก่อนหน้านั้น อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ออกสาร เรื่อง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ระบุว่า คู่รักร่วมเพศไม่ใช่บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามบทเฉพาะกาลมาตรา 56 และคู่รักร่วมเพศไม่สามารถร่วมประเวณีกันจนเกิดบุตรได้ ย่อมไม่ถือเป็นครอบครัวตามกฎหมาย ไม่สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้9 ซึ่งประเด็นนี้ กอร์ดอนได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ10

แต่ท้ายที่สุด ศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ พ.1239/2558 หมายเลขแดงที่ พ.716/2559 รับรองสถานะความเป็นบิดาของเด็ก และให้อำนาจปกครองตกแก่กอร์ดอนฝ่ายเดียว ด้วยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก11 ทั้งในคำสั่งยังกล่าวด้วยว่า “แม้ผู้ร้องเป็นคนรักร่วมเพศ แต่ความเป็นคนรักร่วมเพศมิใช่อุปสรรคที่จะทำให้ผู้ร้องไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงให้ได้รับความสุขและความอบอุ่นเท่ากับเด็กอื่นๆ”

แก้ 1448 อาจยังไม่เพียงพอ 

แม้ว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณากฎหมาย จะพยายามขยายกรอบคิดเรื่องความเป็นบุพการีในระบบกฎหมาย ไม่ให้มีเพียงแต่พ่อที่เป็นเพศกำเนิดชายและแม่ที่เป็นเพศกำเนิดหญิง ผ่านการสร้างถ้อยคำทางกฎหมายให้มีความเป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น คู่สมรส คู่ชีวิต และบุพการี เพื่อให้คู่รัก LGBTQIA+ สามารถเข้าถึงสิทธิในการมีบุตรและเลี้ยงบุตรได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการมีบุตรและรับบุตรเป็นประเด็นที่ค่อนข้างท้าทายกรอบคิดเรื่องสถาบันครอบครัวของรัฐไทย เพราะการอนุญาตให้เด็กเกิดขึ้นและถูกเลี้ยงดูโดยบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สร้างความกังวลมากมายในกลุ่มอนุรักษนิยม จึงน่าหวาดหวั่นว่าในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับใดจะผ่านมาเป็นกฎหมายประกาศใช้บังคับ ประเด็นเรื่องนี้ก็อาจถูกยกเลิกหรือตัดออกไป หากอคติต่อครอบครัว LGBTQIA+ ยังดำรงอยู่ 

 เชิงอรรถ

1 ณัฐชานันท์ กล้าหาญ, สิทธิการเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวหลากหลายทางเพศ… ความเท่าเทียมที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย,26 กันยายน 2562, https://thestandard.co/lgbt-families-and-child-custody/

2 พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558, มาตรา 29

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา 1598/28

ข้อมูลเพิ่มเติมใน ริญญาภัทร์ ณ สงขลา, การรับรองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2558). 

พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 , มาตรา 19 

เรื่องเดียวกัน, มาตรา 21 (1)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา 1598/26

ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร, “สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย” (วิทยานิพนธ์นิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, วิชาเอกกฎหมายมหาชน สาขาวิชานิติสาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2559), 77-83 .

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง, \\\”สาร\\\” อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ฉบับที่ 50, 26 สิงหาคม พศ 2558 https://jvnc.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/2734/iid/31682

10 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คำร้องเลขที่ 463/2558 เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิเด็ก กรณีกล่าวอ้างว่า เด็กที่เกิดจากการอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มีปัญหาการคุ้มครองสิทธิเด็กตามกฎหมาย. 

11 วิวัฒน์ กอสัมพันธ์และกรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง, สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการหัวข้อ “สถานการณ์กฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ”, 26 มิถุนายน 2564, https://www.law.tu.ac.th/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7-5/.

Tags: , , ,