แน่แท้ว่า ‘มนุษย์’ ไม่ได้มีแค่เพศชาย เพศหญิง ‘ความหลากหลาย’ อยู่คู่กับมนุษยชาติเสมอมา เช่นเดียวกับความหลากหลายทางเพศ ที่เราไม่สามารถจะนิยามอัตลักษณ์ทางเพศให้เหลือแค่สองเพศได้ แต่กว่าที่ความหลากหลายทางเพศจะถูกยอมรับจนกลายเป็นเดือน Pride เดือนแห่งความเท่าเทียม บุคคลที่มีความรู้สึกรักใคร่ชอบพอเพศเดียวกัน หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศต่างจากเพศกำเนิดต้องผ่านช่วงเวลาของการกดขี่และการต่อสู้ยืนหยัดเพื่อความหลากหลายทางเพศมาอย่างยากลำบาก

เหตุจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riot) เมื่อปี 1969 นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาการของชื่อ LGBTQIA+ เนื่องจากการประท้วงดังกล่าวช่วยให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในโลกตะวันตกมีกำลังใจในการลุกขึ้นสู้กับค่านิยมแบบเก่า (โดยเฉพาะความเข้าใจเรื่องเพศแบบสองขั้ว) และกล้าแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนอย่างเปิดเผย 

ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา กลุ่มผู้มีความหลากหลายฯ จึงได้เริ่มใช้คำและอักษรย่อต่างๆ เพื่อความสะดวกในการนิยามตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา แต่เนื่องจากการเคลื่อนไหวในช่วงแรกมีเพียง เลสเบี้ยน เกย์ และไบเซ็กส์ชวล ที่ถูกให้ความสนใจ อักษรย่อที่ใช้เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายฯ จึงมีแค่ L – เลสเบี้ยน G – เกย์ และ B – ไบเซ็กชวล เป็นหลัก ต่อมาค่านิยมของสังคมก้าวไปอีกขั้น กลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) และกลุ่มคนเพศลื่นไหล (Queer) ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 จนทำให้อักษร T และ Q ถูกรวมเข้ากับ LGB ที่มีอยู่ตั้งแต่ต้น และกลายเป็นชื่อย่อ LGBTQ ที่คุ้นเคยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ตัวอักษร L G B T และ Q ก็ไม่สามารถแสดงถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายฯ ได้ในทุกแง่มุม เพราะเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี และการแสดงออกทางเพศ เป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นรสนิยม หรือความพอใจ ดังนั้น รูปแบบใหม่ก็สามารถถูกสร้างขึ้นได้ในทุกเวลา ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นตัวอักษรอื่นๆ ถูกเติมให้กับชื่อ LGBTQ ด้วย

The Momentum ตั้งใจหยิบยกตัวอักษรแทนความหลากหลายทางเพศอย่าง LGBTQIA+ มาพูดคุยเพื่อชี้ถึงที่มาและพัฒนาการของตัวอักษรเหล่านี้ เพื่อเฉลิมฉลอง Pride Month และมอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายฯ ให้กับสังคม

L – Lesbian: ผู้หญิงที่สนใจในเพศเดียวกัน

คำว่า ‘เลสเบี้ยน’ มีรากศัพท์มาจากชื่อเกาะ ‘เลสโบ’ (Lesbo) ในประเทศกรีซ ที่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแซปโฟ (Sappho) กวีหญิงในสมัยกรีกโบราณ ผู้มีผลงานโดดเด่นด้านกวีที่แสดงถึงความรักระหว่างผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ คำว่าเลสเบี้ยนจึงถูกใช้เพื่ออธิบายถึงผู้หญิงที่มีความสนใจในเพศเดียวกัน นับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา

 

G – Gay: ผู้ที่สนใจในเพศเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เพศชายรักชายเท่านั้น

เดิมที่แล้ว ‘เกย์’ แปลว่าความรื่นรมย์ในภาษาอังกฤษ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความหมายกลับถูกดัดแปลง กลายเป็นคำที่ไว้พูดถึงความเสเพล ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คำว่าเกย์จึงถูกใช้ในเชิงลบเพื่ออธิบายถึง ‘หนุ่มผู้ยอมจำนน’ (Submissive Male) ที่ขายบริการทางเพศให้ผู้ชายคนอื่น ด้วยเหตุนี้คำว่าเกย์ จึงถูกใช้เพื่อบรรยายถึงผู้ชายที่มีความสนใจในเพศเดียวกัน ในช่วงต้นและกลางศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ดี เนื่องจากว่าที่มาของคำว่าเกย์ไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นชายเพียงอย่างเดียว กลุ่มผู้หญิงที่มีความสนใจในเพศเดียวกันจึงเริ่มใช้คำว่าเกย์เพื่อพูดถึงตัวตนของตัวเองเช่นกัน ทำให้ท้ายที่สุด เกย์กลายเป็นคำที่มีความหมายครอบคลุม (Umbrella Term) ที่มีไว้เพื่ออธิบายถึงผู้ที่มีความสนใจในเพศเดียวกัน

 

B – Bisexual: ผู้ที่สนใจในคนทั้งสองเพศ

เนื่องจากคำว่าไบ (Bi) แปลว่าสองในภาษาอังกฤษ ความหมายของคำว่าไบจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการตีความของแต่ละยุค ในช่วงศตวรรษที่ 19  ‘ไบ’ ถูกใช้โดยแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ เพื่อสื่อถึงคนที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นทั้งชายและหญิง ในยุคต่อมา มันถูกใช้เพื่อสื่อถึงคนที่มีนิสัยและแสดงออกในลักษณะที่เป็นชาย (Masculine) และหญิง (Feminine) ในคนเดียวกัน จนท้ายที่สุด หลังจากที่กระแสการแสดงออกทางเพศเริ่มเป็นที่ยอมรับในสังคมมากยิ่งขึ้น คำว่าไบจึงถูกใช้เพื่อพูดถึงคนที่มีความสนใจต่อทั้งผู้ชายและผู้หญิง นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา

T – Transgender: บุคคลข้ามเพศ

คำว่า Transgender ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1960 ในหนังสือเรื่อง Sexual Hygiene and Pathology เพื่ออธิบายถึงคนที่นิยามตนเองแตกต่างจากเพศกำเนิด โดยคำว่า Transgender เริ่มถูกยอมรับในสังคมวงกว้าง และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคำบ่งบอกตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในช่วงทศวรรษ 1990 เพราะไม่มีประวัติหรือความหมายในแง่ลบ และยังสามารถอธิบายถึงคุณสมบัติของคนที่เป็น Trans ได้อย่างแม่นยำ (Tran แปลว่า ‘ข้าม’ ในภาษาอังกฤษ)

 

Q – Queer: บุคคลลื่นไหลทางเพศ หรือผู้ที่ไม่ได้ถือว่าตนเองเป็น ผู้ชาย ผู้หญิง หรือผู้ที่รักคนต่างเพศ

เนื่องจากคำว่า Queer แปลว่าประหลาดในภาษาอังกฤษ มันจึงถูกใช้เพื่อด้อยค่าคนที่ไม่ได้อยู่ในขนบเพศสองขั้วมาตลอดประวัติสาสตร์ แต่เมื่อกระแสการเคลื่อนไหวทางสังคมเรื่องเพศช่วงกลางและปลายศตวรรษที่ 20 คำว่า Queer ที่ถูกใช้เป็นคำด้อยค่าคนที่หลุดจากขนบ จึงถูกผู้มีความหลากหลานทางเพศ ‘ยึดคืน’ ในทศวรรษ 1980 ทำให้สถานะของมันถูกเปลี่ยนจากเครื่องมือเพื่อกดขี่ และสร้างความเจ็บปวด กลายเป็นคำระบุตัวตนที่น่าภาคภูมิใจ

นอกจากนี้ตัวอักษร Q ที่ย่อมาจากคำว่า Queer ยังสามารถใช้แทนคำว่า Questioning ได้อีกด้วย เพื่อตั้งคำถามต่อตัวเอง และผู้ที่ยังไม่แน่ใจในรสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองได้อีกด้วย

I – Intersex: เพศกำกวม หมายถึง ผู้ที่มีทั้งอวัยวะหรือฮอร์โมนของทั้งเพศชายและเพศหญิง

ถึงแม้ว่าคำว่า Intersex จะมีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 และ 17 ความหมายของมันกลับผิดแปลกไปจากการตีความที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ในช่วงแรก มันถูกใช้เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเพศ การตีความดังกกล่าวเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน จนกระทั่ง ริชาร์ด โกลด์ชมิดต์ (Richard Goldschmidt) นักพันธุ์ศาสตร์ชาวเยอรมัน มอบความหมายใหม่ให้กับคำว่า Intersex ในปี 1917 โดยเขาชี้ว่า Intersex คืออาการของคนที่มีอวัยวะเพศชายและหญิงในร่างเดียวกัน เช่น ระบบสืบพันธุ์อวัยวะเพศต่างจากเพศหญิงและชาย บางครั้งอาจพบทั้งสองลักษณะทางเพศได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา การตีความของ โกลด์ชมิดต์ก็ได้กลายเป็นที่ยอมรับ และเป็นรากฐานสำหรับการนิยามตัวตน และการเคลื่อนไหวทางสังคมของผู้มีอาการดังกล่าว

 

A – Asexual: ผู้ไม่ฝักใจทางเพศ

คำว่า Asexual ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1890 โดย แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ (Magnus Hirschfeld) นักเพศศาสตร์ชาวเยอรมัน เพื่อสื่อถึงคนที่ไม่มีความต้องการ หรือแรงดึงดูดทางเพศ นับแต่นั้น Asexual ก็ได้กลายเป็นศัพท์พื้นฐานที่ถูกพูดถึงทั้งในวงการการแพทย์ และสังคมทั่วไป โดยหมายถึงบุคคลที่รู้สึกได้ถึงความรัก แต่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศหรือไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับใคร หรือเพศไหนก็ตาม

+ หรือ Plus: ความหลากหลายอีกมากมาย

      อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น การเคลื่อนไหวเรื่องเพศในปัจจุบันช่วยสร้างความตระหนักถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และช่วยให้ผู้คนหันมาสำรวจอัตลักษณ์ของตนเองมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การนิยามตัวตนแบบใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากตัวอักษร L G B T Q I และ A จึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เครื่องหมายบวกจึงถูกใช้เพื่อสื่อถึงความเป็นไปได้อันนับไม่ถ้วนเหล่านั้นนั่นเอง

 

ที่มา

https://www.gayly.com/history-word-%E2%80%9Cgay%E2%80%9D

https://www.nationalgeographic.com/history/article/from-lgbt-to-lgbtqia-the-evolving-recognition-of-identity

https://www.lgbtqhistory.org/lgbt-rights-timeline-in-american-history/

https://www.stonewall.org.uk/about-us/news/short-history-word-bisexuality

https://www.them.us/story/inqueery-intersex#:~:text=According%20to%20the%20Oxford%20English,way%20we%20understand%20it%20today.

https://www.them.us/story/inqueery-transgender

Tags: , , , ,