วันนี้ (2 ตุลาคม 2566) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งในงานมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณปี 2566 ให้กับหัวหน้าส่วนราชการว่า นโยบายของรัฐบาลจะเปิดตลาดการค้าให้มากขึ้น เพื่อทำให้สินค้าไทยส่งออกไปยังทั่วโลกได้ จึงเป็นที่มาของการขยาย ‘เขตการค้าเสรี’ (Free Trade Area: FTA) ในการเปิดตลาดใหม่ๆ สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น โดยมุ่งเน้นประเทศแถบยุโรป อาหรับ และแอฟริกาให้มากขึ้น รวมถึงขยายหมวดหมู่สินค้าให้ครอบคลุมกับธุรกิจไทย นำมาซึ่งการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) มากขึ้น และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

“เรื่องนี้ภาคธุรกิจบอกว่า ถ้าเราขยายได้มากก็จะสนใจลงทุนมากขึ้น เพราะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันกับเขาได้ เราจะเร่งเจรจาเอฟทีเอ (FTA) ที่ค้างอยู่กับอียู (EU) และเปิดตลาดใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลางและแอฟริกา อีกอย่างคือเปิดการทูตให้ Proactive ให้มากขึ้น ไม่รอคำเชื้อเชิญจากต่างประเทศอย่างเดียว แต่จะรุกไปพบ ไปคุย ไปจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อบอกชาวโลกว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว

“การลงทุนทั้งภาคเกษตร การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ต้องใช้ทรัพยากรทั้งคน เงิน และเวลา แต่เชื่อว่า จะเพิ่มความสามารถได้มหาศาล ซึ่งจะนำไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของโลก รักษาความเป็นกลางระหว่างขั้วอำนาจ ซึ่งจะกลายเป็นจุดแข็งประเทศไทย และบริษัทต่างชาติกำลังให้ความสนใจ”

นายกรัฐมนตรียังระบุด้วยว่า การดำเนินการหลายนโยบายจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และทำให้รัฐบาลสามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน สำหรับปริญญาตรี ในปี 2570

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2567 เศรษฐาระบุว่า การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐให้เป็นรูปธรรม โดยในปีงบประมาณนี้ รัฐบาลจะได้งบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ให้รอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และจะรักษาระเบียบวินัย ศักยภาพการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยอะไรทำได้ก็ขอให้ดำเนินการไปก่อน แต่อย่าลืมความถูกต้องตามกระบวนการ

“ผมขอให้ทุกหน่วยงานทำงานอย่างบูรณาการ ไม่ให้ซ้ำซ้อน ขอให้วางแผนและจัดทำงบอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คำนึงผลประโยชน์สูงสุดของรัฐ และวินัยการเงินการคลัง ให้ดำเนินการตามความจำเป็น เร่งด่วน สอดคล้องกับงบในปัจจุบัน อะไรทำได้ ก็เริ่มได้ทันที โดยทุกอย่างหวังว่าจะมีผลตอบแทนคุ้มค่า เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุน อีกอย่างคือขอให้ทำงบประมาณเป็นฐานศูนย์ หรือ Zero Based ในรายจ่ายลงทุนที่ต้องมีรายละเอียดชัดเจน และขอให้นำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อความโปร่งใสในการทำงาน

“ผมไม่สนับสนุนการทำงานที่ไม่เกิดผลให้ประเทศ ประชาชน เพราะจะนำภาษีประชาชนไปละลายในแม่น้ำเสียเปล่า ไม่สนับสนุนการนำงบประมาณไปทำอะไรที่ไม่มีวัตถุประสงค์ ไม่มีจุดประสงค์ที่จับต้องได้ ไม่มีความชัดเจน ผมขอให้พิจารณาลดแผนงาน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือถ้าเป็นไปได้ ยกเลิกแผนงานที่ไม่ชัดเจนไปเลย เพื่อให้การใช้งบประมาณ เป็นไปอย่างตรงเป้า และเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ”

Tags: