When Philo Met Sophia (03)

I Love, I Hate, therefor I am: ความยอกย้อนของความรัก

 

 

1.

คำว่า Philosophy (ความรักในความรู้/ปัญญา) ที่มาจากคำกรีกโบราณคำว่า philo+sophia มีความน่าสนใจตรงที่ว่า philo/philos กินความหมายทั้ง ‘การรัก’ และ ‘ถูกรัก’ เป็นความรักใน ‘แบบเพื่อน’ และ ‘แบบคนรัก’ มีความหมายถึงการครอบครอง เป็นเจ้าของกันและกัน ส่วนคำว่า philia ที่ปัจจุบันมักแปลว่า ‘ความใคร่, ความคลั่งใคล้’ หรือโดยเฉพาะการเป็นชื่อกลุ่มอาการทางจิตเวชต่างๆ ถือว่าเป็นการ ‘กลายความ’ ที่ตัดเอาลักษณะหลากนัยของความรักแบบ philo/philos ที่ชาวกรีกโบราณเห็นว่า มีนัยซับซ้อนครอบคลุมหลายความหมาย

ภาพ Objet petit a ที่แสดงภาวะที่เข้าถึงไม่ได้ของความปรารถนา ในแผนภาพคือ a ซึ่งจะทำให้เรารู้สึก ‘ขาดพร่อง’ ไม่สมบูรณ์เรื่อยไป

โดยอีกคำที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน และต้องถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กับ philo/philos ก็คือคำว่า eros ที่ในภาษากรีกโบราณหมายความถึง ‘ความต้องการ’ และ ‘ความขาด’ พูดอีกอย่างก็คือ ‘ความปรารถนาในสิ่งที่ขาด’ ดังเช่นที่นักคิด-นักปรัชญาในสายจิตวิเคราะห์แบบลาก็อง (Lacanian Psychoanalysis) ทั้งหลายพยายามอธิบายเอาไว้ผ่านแนวคิดเรื่อง Objet petit a

แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะความรักในแบบ eros ยังซับซ้อนย้อนแย้งขึ้นไปอีกด้วยการที่ความรักดังกล่าวเป็นการ ‘ปรารถนาในสิ่งที่ขาด’ และ ‘สิ่งที่ขาดนั้นต้องไม่มีวันเติมเต็มได้’ เพราะหากเติมเต็มได้เมื่อไร ความรักก็จะจบสิ้นลงทันที

นี่จึงเป็นเหตุผลและคำอธิบายว่า ทำไม ‘ความรัก’ ในฐานะของความขาดพร่อง/ไม่สมบูรณ์จึงต้องคงอยู่เช่นนั้นเรื่อยไป เหมือนความหิว ความกระหายที่ต้องมีอยู่ ตราบเท่าที่เรายังมีชีวิต ดังนั้น ถ้อยคำในบทเพลง บทกวี หรือบทสนทนาในภาพยนตร์หรือวรรณกรรมที่ว่า “ความรักเธอทำให้ชีวิตฉันสมบูรณ์” หรือ “อยากให้เธอมาเติมเต็มชีวิตของฉัน” จึงเป็นจริงไปไม่ได้สำหรับความรักในแบบ eros ที่มันจะดำรงคงอยู่ได้ก็ต้องขัดแย้งยอกย้อนในตัวเองสืบเนื่องเรื่อยไป เราจำต้องหิวและกระหายในรักไปเรื่อยๆ เมื่อสิ้นสุดความรู้สึกหิวและกระหายเมื่อไร ก็นับเป็นจุดสิ้นสุดของความรักแบบ eros

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า คู่รักคู่ชีวิตที่พวกเขายังรักกันอยู่โดยไม่หิวกระหายกันและกันจะไม่รักกันอีกแล้ว พวกเขาอาจยังคงรักกัน แต่เป็นไปในรูปแบบมิตรภาพแบบ philo/philos หรือบางทีก็เป็นไปในแบบ agape ที่ตีความเป็นความรักในเชิงศาสนา รักในรูปแบบการอุทิศตน เพื่อสิ่งสูงส่งยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา ซึ่งแน่นอนว่า คนในโลกสมัยใหม่อาจมองว่า agape ไม่ใช่ความรัก หรือถ้าใช่ ก็ไม่ใช่รักในแบบที่ ‘ควรเป็น’ เพราะจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องตกเป็นทาสรับใช้อีกฝ่าย ซึ่งจะเป็นการดีกว่า หากเราจะมีความรักในแบบ agape ให้กับความเชื่อความศรัทธาหรือสิ่งนามธรรมทั้งหลาย

 

2.

ย้อนกลับมายังประเด็นของ eros ซึ่งผมคิดว่ามีประเด็นน่าสนใจและเรื่องราวให้ได้พูดถึงอีกพอสมควร ด้วยเพราะชาวกรีกสร้างคำคำนี้ขึ้นมาบนปฏิทัศน์ (Paradox) หรือมาจากตำนานความเชื่อที่ยังไม่มีบทสรุป หากเรื่องเล่าหนึ่งที่ถือว่าสามารถอธิบายความรักในแบบ eros ได้ดีที่สุดปรากฏอยู่ในบทสนทนาของเพลโต (Plato) เรื่อง Symposium ในบทตอนที่นักบวชหญิงไดโอติมาสนทนาโต้ตอบกับโสเครติสในวัยหนุ่มนั่นเอง

 

“(…) เรื่องมีอยู่ว่าในวันสมภพของเทพีอโฟรไดท์ มีงานเลี้ยงกันในหมู่เทพเจ้า ครั้งนั้น, โพรอส-เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์, ผู้เป็นบุตรของเมตีส-เทพแห่งการไตร่ตรอง, มาร่วมเป็นแขกในงานเลี้ยงนั้นด้วย เมื่องานเลี้ยงยุติลง เพเนีย-ภูตผู้ยากจน,ได้มาร้องขอเศษอาหารอยู่ที่หน้าประตู

“ขณะนั้น, เทพโพรอสซึ่งมึนเมาจากการเสวยน้ำทิพย์เนคตาร์ (ครั้งนั้นยังไม่มีไวน์) ได้เข้าไปหลับสนิทอยู่ในอุทยานของเทพซีอุส ในสถานการณ์คับแค้นนางภูตเพเนียจึงวางแผนจะให้กำเนิดบุตรกับพระองค์ นางจึงนอนลงเคียงข้างและให้กำเนิดภูตแห่งความรัก

“เพราะว่าความรักโดยธรรมชาติเป็นผู้หลงใหลในความงาม และเพราะว่าอโฟรไดท์เป็นเทพีที่งดงาม อีกทั้งเขาเกิดมาในวันเดียวกับพระนาง นั่นทำให้เขากลายเป็นบริวารผู้ติดตามรับใช้ เทพีองค์นี้จึงเป็นทั้งผู้อุปถัมภ์และเป็นชะตากรรมของภูตแห่งความรัก

“ในเบื้องแรก, ความรักมักยากจนแต่เป็นคนอ่อนโยนและงดงามเช่นที่คนจำนวนมากจินตนาการไว้ ทว่าบางครั้งทุกข์ยากและมอซอ, เดินเปลือยเท้าและไร้บ้าน, หลับอยู่บนพื้นดินใต้ท้องฟ้า, ตามข้างถนนหรือหน้าประตู และมักอมทุกข์เช่นเดียวกับผู้เป็นมารดา

“ในส่วนที่คล้ายกับบิดานั้น เขามีคุณสมบัติที่ขัดแย้งกับความเป็นคนรูปงามและเป็นคนดี กล่าวคือเป็นคนกล้าหาญ, กล้าได้กล้าเสีย, มีความเข้มแข็งและเป็นนักล่าที่ทรงพลัง, เป็นผู้มีกุศโลบาย, ใส่ใจในการแสวงปัญญา, ปราดเปรื่องและมีความเป็นปราชญ์ ทั้งเป็นพ่อมดและโซฟิสต์ที่ร้ายกาจ

“โดยธรรมชาติความรักมิได้มีชีวิตคงกระพันทั้งมิได้เป็นอมตะ ทว่ารื่นเริงเบิกบานในชั่วขณะแห่งความสนุกสนาน และพลันอับเฉาในช่วงถัดมา จากนั้นก็กลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกตามคุณสมบัติของผู้เป็นบิดา ความรักมีชีวิตคล้ายกระแสที่ไหลเข้าไหลออก จึงมักไม่ขาดแคลนแต่ก็ไม่มั่งคั่ง ทั้งเป็นผู้อยู่กึ่งกลางระหว่างความมีอวิชชากับมีความรู้” [1]

 

จะเห็นได้ว่า eros หรือ เอรอส (Eros) ภูตแห่งความรักที่ในตำนานนี้[2] คือผู้ติดตามเทพีอโฟรไดท์/อโฟร์ดิเท (Aphrodite) จะถูกอธิบายไว้ในลักษณะดำรงอยู่ระหว่างความขัดแย้ง ยากไร้แต่งดงาม เดี๋ยวเบิกบานเดี๋ยวเศร้าตรม เป็นทั้งความรู้และไม่รู้ พูดอีกทางความรักคือความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง (ของความปรารถนา)

ใน Symposium เพลโตยังอธิบาย (ผ่านปากคำของไดโอติมา) อีกด้วยว่า ‘ความรัก’ ถือกำเนิดขึ้นเพราะสิ่งมีชีวิตที่มีอายุขัยเช่นมนุษย์เรา ปรารถนาจะดำรงอยู่สืบไปแบบที่ทวยเทพมีความเป็นอมตะ ‘ความรัก’ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เรา ‘เป็นนิรันดร์’ แม้ด้วยชีวิตโดยจำกัด ผ่านการสืบวงศ์วานและชีวิต กล่าวในอีกทาง ความรักทำให้มนุษย์ที่มีชีวิตจำกัด/ไม่ต่อเนื่องสามารถคงอยู่/ต่อเนื่องสืบต่อไปได้แม้ต้องตาย นี่ถือเป็นความยอกย้อนสำคัญที่สุดของ ‘ความรัก’ ซึ่งทำให้คนธรรมดาอย่างเราๆ พูดในสิ่งที่เหมือนจะขัดแย้งในตนเองได้ว่า “ในบางครั้ง เราก็มีชีวิตอยู่เป็นนิรันดร์”

เอรอส (Eros) ภูตแห่งความรัก หรือที่เรามักเรียกกันว่า กามเทพ (Cupid) มีปีกและมาพร้อมกับคันธนู 

3.

กล่าวได้ว่าสำหรับชาวกรีกแล้ว ความรักในแบบ eros นั้นดำรงอยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วเสมอ นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่ แซปโฟ (Sappho) กวีหญิงชาวกรีก ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่าง 630-570 ก่อนคริสตกาล ให้อรรถาธิบายความรักในแบบ eros ผ่านบทกวีของเธอว่า เป็น glukupikron หรือ ‘ความหวานขม’

 

“Eros once again limb-loosener whirls me sweetbitter,

impossible to fight off, creature stealing up”[3]

 

อาจเพราะ eros สำหรับแซปโฟสามารถบันดาลทั้งความเจ็บปวดและความสุข เป็นความยอกย้อนไม่ลงรอยซึ่งเป็นคุณสมบัติข้อสำคัญของความรัก

ในงาน Eros the Bittersweet: An Essay[4] ของแอนน์ คาร์สัน (Anne Carson) นักเขียน นักวิชาการ และกวีหญิงคนสำคัญชาวแคนาดา พยายามชี้ให้เห็นว่า ‘ความหวานขม’ หรือ Sweetbitter[5] ในบทกวีของของแซปโฟนี้ อาจมีลำดับเหตุการณ์ในตัวของมันเอง คือเริ่มจากความหวานก่อนจากจึงไปสู่ความขม ความรักในมุมมองของคนส่วนใหญ่ หรือโดยเฉพาะกวีมากมาย นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มักจะเริ่มต้นด้วยความหวานแล้วจบลงด้วยความทุกข์ตรมและขื่นขมมากกว่าสุขสม

แอนน์ คาร์สัน (Anne Carson)

ในขณะที่คำว่า Limb-Loosener หรือ λυσιμέλης ซึ่งเป็นอีกคำที่ใช้อธิบายถึงคุณลักษณะของ eros ถูกตีความว่า เป็นการสลาย-แยกร่าง ซึ่งเป็นนัยของ ‘ความตาย’ หรือ Thanatos ซึ่งทำให้ความรักนี้ไม่เพียงแต่บันดาลหวานขม แต่ยังมีอำนาจที่เชื่อมโยงไปสู่ความเป็นและความตายอีกด้วย ซึ่งไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับการตีความนี้หรือไม่อย่างไร สิ่งที่ยากจะปฏิเสธได้ก็คงเป็นเรื่องที่ว่า ความรักสามารถบันดาลความหวานและความขม ชีวิตหรือจุดจบชีวิต ให้คนที่มีรักได้อย่างแท้จริง ไม่เพียงเท่านั้น แซปโฟเองน่าจะเป็นกวีหญิงคนแรกๆ ที่สามารถอธิบายถึง ‘ความขาด’ ที่อยู่ในความรักแบบ eros ไว้ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ในบทกวีรักชิ้นหนึ่งเธอได้บรรยายไว้ว่า

 

“A hole is being gnawed in [my] vitals”[6]

 

โพรง (Hole) ที่ถูกพรรณนาถึงในบทกวีอาจคือ ‘ความรู้สึกว่างโหวง’ ที่คนซึ่งตกอยู่ในห้วงความรักสัมผัสรับรู้ได้ โพรงนั้นกำลังกัดกินแก่นชีวิต/อวัยวะสำคัญภายใน ถ้อยความนี้สัมพันธ์กับความรักในมุมมองแบบจิตวิเคราะห์ที่ว่า เมื่อฉันปรารถนาในเธอ ส่วนหนึ่งของฉันได้สูญหายไป ความขาดของเธอ คือความขาดของฉัน[7]  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใน Theogony ตำนานกำเนิดเทพที่เล่าไว้โดยกวีเฮซิออด (Hesiod) ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง 750-650 ก่อนคริสตกาล กล่าวว่า อโฟร์ไดท์เกิดขึ้นมาจากฟองมหาสมุทรที่ผุดขึ้นโดยรอบ ‘อวัยวะเพศ’ ที่ถูกตัดของเทพยูเรนัส (Uranus)

หากอโฟร์ไดท์คือเทพีแห่งความรัก (ที่เก่าแก่ที่สุด) ก็คงไม่ผิดไปจากความจริง ถ้าจะกล่าวว่า ความรักกำเนิดขึ้นได้จากความสูญเสีย ผู้ที่รักจึงเป็นผู้ที่สูญเสียมากกว่าผู้ได้เสมอ

 

4.

เมื่อความรักตั้งวางอยู่บนความยอกย้อนจึงไม่แปลกหากบางครั้ง ‘ความรัก’ จะพาเราไปสู่สิ่งตรงกันข้ามอย่าง ‘ความเกลียดชัง’

ในอารยธรรมโบราณ ‘การรักเพื่อนและเกลียดชังศัตรู’ ถือเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐาน ความรักและความเกลียดจึงเป็นสิ่งประกอบสร้างที่ดำรงคงอยู่ตราบเท่าที่เรายังอยู่กันเป็นสังคม แต่ในกรณีของความรัก อาจเรียกได้ว่ามีความสลับซับซ้อน เมื่อ ‘ความเกลียดชัง’ สามารถเกิดขึ้นได้แม้ใน ‘ความรัก’

นวนิยายเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าสามารถอธิบายถึงความรักและความเกลียดชังได้ดีที่สุดก็คือ Ask the Dusk (1939) ของ จอห์น แฟนเต (John Fante) ที่เป็นเรื่องราวชีวิตของอาตูโร แบนดินี นักเขียนไส้แห้งที่เผอิญตกหลุมรักพนักงานเสิร์ฟสาว คามิลลา โลเปซ

เพียงแต่ในช่วงแรกเริ่มแทนที่แบนดินีจะแสดงความรักออกมาผ่านถ้อยคำ หรือการแสดงออกที่อ่อนโยน เขากลับเลือกจะพูดแย่ๆ และแสดงความเหยียดหยาม เช่นเดียวกันกับคามิลลาที่เธอเลือกจะกัดปากเขาแทนการจูบแบบอ่อนหวาน ความรักและความเกลียดชังปรากฏอยู่ในคำพูดและการแสดงออกของทั้งสอง และมันยิ่งยอกย้อน เมื่อแบนดินีพบว่า คามิลลารักแซมมี เพื่อนร่วมงานเธอหมดหัวใจ แม้ว่าต่อมาแซมมี หนุ่มจ๋องๆ คนนั้นจะทำร้ายหรือปฏิบัติอย่างเลวร้ายกับเธอเพียงใดก็ตาม แซมมีก็เป็นคนแรกที่คามิลลาเลือกจะกลับไปหา ความเกลียดของแซมมีดึงดูดเธอกลับไปในทุกครั้ง เธอรักแม้จะถูกเกลียด ในขณะที่แบนดินีที่พยายามดีกับเธอ เปลี่ยนแปลงชีวิตเพื่อเธอ กลับทำได้แค่ไล่ตามเธอ ซึ่งที่สุด คามิลลา (ที่ถูกแซมมีไล่) หายตัวไปในทะเลทรายอย่างไร้ร่องรอย

ความสัมพันธ์ของตัวละครใน Ask the Dusk ไม่เพียงตั้งวางอยู่ความรักและความเกลียดชังที่ดำรงคงอยู่อย่างยอกย้อนและสลับซับซ้อนตั้งแต่ต้นจนจบ หากการหายตัวไปของคามิลลายังอาจหมายถึง Objet petit a วัตถุปรารถนาที่เราไม่มีวันเข้าถึง

แน่นอนว่า ความสัมพันธ์แบบทั้งรักและเกลียดไม่ได้มีปรากฏเพียงแค่ใน ‘เรื่องแต่ง’ เพียงเท่านั้น เพราะในชีวิตรักจริงๆ ของหลายๆ คู่ ความรักและความเกลียด ความเป็นคนรักและศัตรู ก็ผสมผสานและดำรงอยู่ใจกลางความสัมพันธ์นั้น เป็นความรักที่จะเกลียดหรือเป็นความเกลียดที่จะรัก

กวีเอกชาวโรมัน คาทัลลัส (Catullus) รจนาภาวะยอกย้อนนี้ไว้ได้อย่างสละสลวยงดงามเอาไว้ว่า

 

“I hate and I love. Why? you might ask.

I don’t know. But I feel it happening and I hurt.”[8]

 

ถ้อยความนี้สามารถเตือนให้เห็นด้านที่เป็นอันตราย สุ่มเสี่ยง และเป็นภัย หรือคือ ‘ความเสี่ยง’ เหมือนดังที่ อแล็ง บาดียู (Alain Badiou) หรือสรวิศ ชัยนาม อธิบายไว้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความรักใดไม่เป็นพิษ หากมันเป็นทั้งพิษและยารักษาหัวใจในเวลาเดียวกัน

โลกที่ความรักบันดาลแต่ความสุขและความสมหวัง คงมีก็เพียงแต่โลกในจินตนาการเท่านั้น แอนน์ คาร์สันพรรณนาไว้ในตอนจบของ Eros the Bittersweet ว่า สุดท้ายโลกอันสมบูรณ์แบบของความรักจะทำให้เราหมดสิ้นจินตนาการ นั่นก็เพราะว่า ความรักเกิดจากความไม่สมบูรณ์/ยอกย้อนของชีวิต ที่คงอยู่ได้ด้วยการรักษาความไม่สมบูรณ์/ยอกย้อนของชีวิตนั้น ให้คงอยู่สืบเนื่องเรื่อยไป

              

 

[1] เพลโต, ซิมโพเซียม: ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรัก, อัคนี มูลเมฆ แปล (กรุงเทพฯ: 1001 Nights Editions, 2565) 81-82.

[2] ในขณะที่บางตำนานเล่าว่า เอรอสมีพี่น้องฝาแฝดที่ชื่อ ฮิเมรอส (Himeros) ซึ่งหมายถึงภูตแห่งความปรารถนาทางเพศ กำเนิดมาพร้อมกันในวันที่เทพีอโฟร์ไดท์ถือกำเนิดขึ้น ในแบบฉบับที่ไดโอติม่าเล่าทั้งอโฟร์ไดท์และเอรอสเพียงแต่มีวันเกิดตรงกันเท่านั้น

[3] Carson, Anne, Eros the Bittersweet: An Essay (New York: Dalkey Archive, 2022) 3. 

[4] หนังสือจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในชื่อว่า Odi et Amo Ergo Sum (“I Hate and I Love, Therefore I Am”) ที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1986 สร้างผลกระทบกระเทือนต่อแวดวงวิชาการกรีกและโรมันโบราณอย่างมาก จากการที่วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้มีการอ้างอิงและตีความผ่านกรอบคิดทฤษฎีมากมายที่แปลกล้ำหรือไม่อยู่ในขนบแบบคลาสสิกมาก่อน

[5] คาร์สันให้หมายเหตุไว้ว่าในโลกของภาษาอังกฤษคำว่า sweetbitter ต้องถือว่าผิดหลัก หรือที่ถูกต้องแล้วควรเป็น bittersweet แต่ก็จะทำให้สูญเสียความหมายดั้งเดิมของแซปโฟไป หากโชคดีว่าในโลกภาษาไทย เราใช้คำว่า ‘หวานขม’ กันเป็นปกติอยู่แล้ว

[6] Carson, Anne, Eros the Bittersweet: An Essay (New York: Dalkey Archive, 2022) 35.

[7] Ibid., 35.

[8] Ibid., 7.

Tags: , , , , , ,