ในโลกที่ทุกคนมีเสรีภาพในการพูด (Free Speech) การจะใช้คำพูดไม่ว่าจะดีหรือชั่วเพื่อทิ่มแทงใครสักคนล้วนเกิดขึ้นได้เสมอ

คำถามคือ เมื่อถูกใครสักคนใช้คำพูดในทำนองที่สร้างความเกลียดชังหรือ Hate Speech เราควรรับมืออย่างไร หรือเราควรจะเซ็นเซอร์ Hate Speech ให้หมดไปจากโลกใบนี้

ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของงานวิจัยเรื่อง ‘Hate Speech และข้อมูลที่อันตราย : ทางเลือกวิธีตอบโต้ทางการเมือง’ (Hate Speech & Harmful Information : Alternatives for Political Response) จะมาไขข้อข้องใจให้กระจ่าง

“Hate Speech ที่ต้องเซ็นเซอร์คือ Do Harm Speech ความหมายคือ เริ่มมีการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงต่อบุคคล หรือยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง”

Hate Speech มีมาตั้งแต่มนุษย์หัดใช้ภาษา!

ดูเหมือนมนุษย์จะมีความเกลียดชังอยู่แล้ว เพราะทันทีที่มี ‘ภาษา’ เกิดขึ้น มนุษย์ก็เริ่มใช้มันฟาดฟันกันผ่านคำด่าทอ ส่วนคำว่า Hate Speech ดร.ชาญชัย บอกว่า เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ศตวรรษนี้เอง

“คอนเซปต์ที่เรียกว่า Hate Speech ผมคิดว่าเพิ่งมีช่วง 200-300 ปีก่อน คือมันมาพร้อมคอนเซปต์ Free Speech

“ส่วนช่วงที่ Hate Speech ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง คือช่วงที่รวันดามี Hate Radio ซึ่งเผยแพร่คำพูดปลุกปั่นยุยงผ่านทางวิทยุเยอะแยะมากมาย หลังจากนั้นก็มีกรณีที่ต่อเนื่องเรื่อยๆ เคสที่เกิดเยอะๆ จะเป็นเรื่องของสีผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา และเพศ ขณะที่ปัจจุบันก็เกี่ยวพันมาถึงเรื่องการเมือง”

จงพูดมันออกมา การเซ็นเซอร์ไม่ใช่ทางออก

แม้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่บางครั้งการแสดงความเห็นที่สร้างความขัดแย้งก็ไม่ได้ให้ผลอะไรมากไปกว่าความเกลียดชัง หลายคนจึงให้ความเห็นว่า ควรมีการเซ็นเซอร์ Hate Speech แต่ ดร.ชาญชัย คิดว่า การเซ็นเซอร์คือการกดทับ ที่จะทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าเดิม

“ผมเสนอว่า Hate Speech เป็น Free Speech เราไม่ควรเซ็นเซอร์ Hate Speech นี่คือมาตรฐานขั้นต่ำสุดที่สังคมต้องมี เพราะผมถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น ไม่ควรถูกเซ็นเซอร์ เพราะไม่เช่นนั้นมันอาจจะถูกเซ็นเซอร์หมดจนเราไม่สามารถพูดอะไรได้เลย และเราจะรู้ได้ยากมากเลยว่าอะไรคือ Hate Speech

“สิ่งที่สำคัญในการคิดถึง Hate Speech คือส่วนใหญ่คนจะคิดว่าห้ามพูด สำหรับผมแล้วการห้ามพูดมันคือการกดมันลงไป กวาดปัญหาไว้ใต้พรม เอาอะไรปิดเตาถ่านเอาไว้ ควันไฟมันก็จะขึ้นมาอีก

“สำหรับผมมันต้องมีที่ให้ปล่อย แต่ต้องปล่อยให้ถูกที่และให้ถูกกาลเทศะ”

“หลักการสำหรับ Hate Speech ที่ผมใช้คือ Do No Harm Principle คือคุณสามารถใช้เสรีภาพมากเท่าที่จะมากได้ ตราบใดที่ไม่ไปก่ออันตรายกับคนอื่น”

ด่าได้ แต่อย่าทำร้ายกันก็พอ

จะด่าก็ด่า แต่การยุยงให้ทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงต่อตัวบุคคล ถือเป็นการใช้ Hate Speech ที่เกินขอบเขต ซึ่งการใช้ Hate Speech ทำนองนี้ ดร.ชาญชัย เห็นว่าควรถูกเซ็นเซอร์

“Hate Speech ที่ต้องเซ็นเซอร์คือ Do Harm Speech ความหมายคือ เริ่มมีการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงต่อบุคคล หรือยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง ไอ้คนนั้นมันเลวร้ายอย่างนั้นอย่างนี้ เราต้องไปจัดการมัน เจอมันที่ไหนต้องเอายาพิษให้มันกิน ตัดคอมัน เข้าไปชกมัน แบบนี้มันเริ่มเกินความเป็น Hate Speech แล้ว แต่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองไปละเมิดเสรีภาพคนอื่นที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเขา

“เพราะฉะนั้นหลักการสำหรับ Hate Speech ที่ผมใช้คือ Do No Harm Principle คือคุณสามารถใช้เสรีภาพมากเท่าที่จะมากได้ ตราบใดที่ไม่ไปก่ออันตรายกับคนอื่น”

รับมือคำด่าด้วย ‘ข้อมูล’

หลายคนรับมือกับคำด่าหรือคำกล่าวหาด้วยการด่ากลับ โดยใช้คำพูดที่รุนแรงและเสียดแทงยิ่งกว่าเดิม วิธีนี้อาจจะดีในแง่ของการได้ระบายอารมณ์ แต่กลับทำให้บทสนทนาดำดิ่งสู่วังวนของความรุนแรง

“ถ้าเขาพูด Hate Speech ที่ผสมทั้ง argument (ข้อโต้แย้ง) ข้อมูล และคำด่า มีสองวิธีที่จะตอบโต้กับเขาคือ หนึ่ง มึงด่ากู กูด่ามึงกลับ อันนี้ก็จะพาลงเหวกันไปเรื่อยๆ ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น อีกแบบคือการใช้ Counter Speech คือให้ข้อมูลที่ให้แง่มุมโต้แย้งกับเขา และหักล้างเหตุผลกัน เพื่อที่จะให้คนเห็นว่าอะไรคือของจริง อะไรคือความจริง แล้วให้คนเขาพิจารณากันเอง”

“มึงด่ากู กูด่ามึงกลับ อันนี้ก็จะพาลงเหวกันไปเรื่อยๆ ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น”

จงอยู่กับ Hate Speech ด้วยความอดทน รับฟัง และเข้าใจ

หากมองให้ดี ความรุนแรงทางคำพูดคือภาพสะท้อนปัญหา ความเจ็บปวดภายในจิตใจของผู้พูด การอดทนรับฟังเพื่อทำความเข้าใจ จะช่วยให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายใต้ถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความรุนแรงได้ ดร.ชาญชัย แนะว่า ความอดทนและรับฟัง เป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกันกับ Hate Speech

“ต้องใช้ตบะแก่กล้าในการทนรับฟัง Hate Speech ให้ได้ แล้วทำความเข้าใจว่าที่เขาด่าเราเพราะอะไร เราไปทำอะไรให้เขาเจ็บใจขนาดนั้น…”

 

ครั้งหน้าที่คุณถูกด่า ลองถามตัวเองดูนะครับว่าจะเลือกจัดการกับคำด่านั้นยังไง

 

เรียบเรียง: จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์

Tags: , ,