ใครที่ได้ดู Il Buco (2021) หนังร่วมทุนสร้างสามสัญชาติ (อิตาลี-ฝรั่งเศส-เยอรมนี) ที่ว่าด้วยการสำรวจถ้ำบิเฟอร์โต (Bifurto Abyss) อันเป็นหนึ่งในถ้ำที่ลึกที่สุดในโลก ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลีในปี 1961 น่าจะตราตรึงไปกับฉากที่นักสำรวจมุดลอดถ้ำเข้าไปพบความมืดสนิท มีเพียงแสงไฟวอมแวมจากไฟฉาย ตลอดจนฉากที่เพลิงไฟบนกระดาษหายลับมอดลงไปในสีดำลึกลับของถ้ำ  เหล่านี้คือหนึ่งในสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ของตัวหนัง ซึ่งกำกับโดย ไมเคิลแองเจโล เฟรมมาริโน (Michelangelo Frammartino) คนทำหนังผู้เคยบอกเล่าช่วงชีวิตอันเรียบง่ายของคนเลี้ยงแกะชราใน Le Quattro Volte (2010)

จุดเด่นในงานของเฟรมมาริโน คือเรื่องเล่าอันแสนสามัญ โดยทั้งเรื่องแทบจะไร้บทสนทนาเป็นชิ้นเป็นอัน และถ่ายทอดผ่านแสงธรรมชาติเกือบตลอดทั้งเรื่อง Il Buco เองก็เช่นกัน เมื่อกล้องลากเลื้อยตามตัวละครเข้าไปสำรวจความเป็นไปภายในถ้ำ เฟรมมาริโนแทบไม่ได้จัดแสงใดอื่นเพิ่ม อันเนื่องมาจากข้อจำกัดเรื่องสถานที่ด้วยส่วนหนึ่ง และส่วนสำคัญคือความดำมืดนั้นขับเน้น ‘สิ่งที่เป็น’ ของถ้ำบิเฟอร์โตได้หมดจด 

สำหรับเฟรมมาริโนเองเจอเรื่องราวของถ้ำนี้ตอนกำลังหาโลเคชั่นถ่ายทำหนังเรื่อง Le Quattro Volte เมื่อปี 2007 ความลึกราวเจ็ดร้อยเมตรของถ้ำ ทำให้เฟรมมาริโนสนใจถ่ายทอดชีวิตของนักสำรวจที่พบเจอถ้ำบิเฟอร์โตเป็นครั้งแรก และถือเป็นต้นธารสำคัญที่ส่งให้หนังเข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเวนิสได้

สำหรับแสงธรรมชาติที่เกิด เรนาโต เบอร์ตา (Renato Berta) ผู้กำกับภาพชาวสวิตเซอร์แลนด์คือผู้รังสรรค์งานภาพของ Il Buco ขึ้นมา ซึ่งก็ได้รับคำชมเชยจาก เฟรมมาริโน เจ้าของเรื่องเล่านี้อยู่ไม่น้อย

“เขาคือผู้กำกับภาพแห่งศตวรรษที่ 20 เลยล่ะ” เฟรมมาริโนเล่าถึงเบอร์ตา “เขาเป็นคนออกแบบการใช้แสงในหนังทั้งหมด พอคิดไปคิดมาและเอามาคุยกันแล้ว เราก็ตกลงว่าเราจะไม่เพิ่มแสงอื่นๆ เข้าไปในฉากที่ถ่ายในถ้ำเด็ดขาด จะใช้แค่แสงจากไฟฉายบนหมวกนิรภัยของนักสำรวจเท่านั้น

“แล้วทั้งหมดนี้มันยังเต็มไปด้วยเงื่อนไขมากมาย แต่อะไรแบบนี้แหละที่ทำให้ผมหลงใหลกับมัน เพราะแม้แต่การขยับหัวเพียงนิดเดียวของคนในหนังเรื่องนี้ มันก็เปลี่ยนทิศทางของแสงที่ใช้ในถ้ำไปหมดเลย จึงต้องถึงมือระดับเรนาโตแหละ ที่จะควบคุมทุกการเคลื่อนไหวซึ่งคาดเดาไม่ได้ในการถ่ายทำนี้”

สำหรับเบอร์ตาเอง เขาบอกสั้นๆ ว่า “ลึกลงไปในถ้ำนั่น สิ่งที่คุณจะยึดนำสายตาได้ก็มีเพียงสีดำสนิท ดำที่สุดเท่าที่คุณจะนึกออก เพราะถ้าคุณอยู่ข้างนอก มันก็เป็นสีดำ เพียงแต่เป็นดำหลายเฉดน่ะ”

ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันดีว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว เรื่องแสงไฟนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ในการจะรังสรรค์งานภาพอันหมดจดออกมาให้ฉายบนจอใหญ่ ทว่า ก็มีคนทำหนังหลายคนที่ตั้งใจถ่ายทำด้วยแสงธรรมชาติผ่านเหตุผลนานัปการ ไม่ว่าจะในแง่เงื่อนไขของสถานที่ถ่ายทำอย่าง Il Buco ตลอดจนงานจากแสงธรรมชาตินั้นช่วยเสริมประเด็นที่หนังอยากสื่อมากกว่าแสงที่เกิดจากการจัดก็ตามที 

โดย Dancer in the Dark (2000) ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น หนังชวนหัวใจสลายของ ลาร์ส ฟอน ทรีเยร์ (Lars Von Trier) ที่ส่งเขาคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ กับ บียอร์ก (Björk) นักแสดงนำที่คว้ารางวัลนำหญิงมาครองได้ ตัวหนังว่าด้วย เซลมา (บียอร์ก) ผู้อพยพจากสาธารณรัฐเช็กเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ และทำงานเลี้ยงชีพด้วยการเป็นแรงงานในโรงงาน โดยในชีวิตที่กัดฟันดิ้นรนทุกทาง เธอกลับพบว่าดวงตาของเธอกำลังจะบอด และหนักหนากว่านั้นคือลูกของเธอซึ่งมีพันธุกรรมนี้เช่นกันคงจะตาบอดด้วยในไม่ช้าหากไม่ได้รับการผ่าตัด เซลมาจึงเก็บหอมรอมริบเงินเพื่อเป็นค่าผ่าตัดให้ลูก ทว่า ดูเหมือนชะตากรรมจะยิ่งผลักให้ชีวิตเธอออกห่างจากเป้าหมายไปทุกที

ฟอน ทรีเยร์ ตั้งใจให้ Dancer in the Dark เป็นภาพยนตร์มิวสิคัลเพื่อล้อเล่นกับฌ็องภาพยนตร์นี้ที่ปกติแล้วเต็มไปด้วยความสดใสรื่นเริง ตัวละครของฟอน ทรีเยร์ ที่เป็นคนน่ารักและมองโลกในแง่ดีจนชวนใจหาย จึงขับร้องเพลงท่ามกลางความขื่นขมไม่รู้จบของชีวิต และยิ่งขับเน้นด้วยแสงธรรมชาติอันแห้งแล้ง ปราศจากการตกแต่งหรือจัดวางและงานภาพจากกล้องแฮนด์เฮลด์ที่สั่นสะเทือน สะท้อนภาพชีวิตอันไม่มั่นคงของตัวเซลมา หรือกระทั่งเมื่อชีวิตเบียดขับตัวละครให้ไปใช้ชีวิตในเรือนจำ แสงแห้งแล้งจากห้องขังกับผนังอันเย็นยะเยือก ยิ่งขัดแย้งกับภาพความหวังที่ตัวละครมีให้ตัวเอง

หรืออย่างในหนังคนเถื่อนถ้ำของ อาเลฆันโดร กอนซาเลซ อีนาร์รีตู (Alejandro González Iñárritu) อย่าง The Revenant (2015) ที่ชิงออสการ์ 12 สาขาและคว้ากลับบ้านมาได้สามสาขา รวมถึงสาขากำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (โดยที่ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ได้รับรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรกจากเรื่องนี้ หลังเข้าชิงมาแล้วถึงหกครั้ง) และกำกับภาพยอดเยี่ยมโดย เอ็มมานูเอล ลูเบซกี (Emmanuel Lubezki) ตัวหนังดัดแปลงมาจากตำนานเรื่องเล่าของ ฮิวจ์ กลาสส์ (ดิคาปริโอ) นักค้าขนสัตว์ที่มีชีวิตอยู่จริงช่วงปลายศตวรรษที่ 18 โดยเรื่องราวที่ทำให้เขาถูกพูดถึงยาวนานในอีกร้อยปีให้หลัง คือวีรกรรมที่เขาถูกหมีกริซลีตะปบเอาปางตายอยู่กลางป่า มิหนำซ้ำ คณะเดินทางยังตัดสินใจทิ้งเขาไว้ให้ตายอยู่เช่นนั้น เนื่องจากไม่อาจแบกภาระการอพยพคนเจ็บหนักต่อไปได้ (ทั้งส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่ออยู่แล้วว่ากราสส์จะรอดชีวิตไปได้อีกกี่มากน้อย) กระนั้น กราสส์ก็กระเสือกกระสนดิ้นรนเอาชีวิตรอดเพื่อล้างแค้นคนในคณะเดินทาง

ลูเบซกีกล่าวว่า ทั้งอีนาร์รีตูและเขาตัดสินใจใช้แสงธรรมชาติเพื่อขับเน้นความรู้สึกดิบเถื่อนให้กับคนดู และแม้การถ่ายทำด้วยแสงธรรมชาติจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของลูเบซกี เพราะหนังลำดับก่อนหน้าที่เขาเคยกำกับภาพอย่าง Y tu mama tambien (2001) หรือ The Tree of Life (2011) ก็ล้วนแต่ถ่ายทำด้วยแสงธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ทั้งนั้น แต่กับ The Revenant ดูเหมือนจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง เมื่อโจทย์ใหญ่คือสภาพอากาศหนาวเย็นสุดขีด และสภาพอากาศที่ควบคุมไม่ได้ (เช่น พวกเขาวางแผนถ่ายทำที่แคนาดา แต่หิมะละลายเร็วกว่ากำหนด ทั้งกองจึงต้องหอบข้าวของย้ายไปถ่ายทำที่อาร์เจนติน่าตอนใต้ที่ยังมีหิมะอยู่แทน) ทั้งอีนาร์รีตูและลูเบซกีจึงต้องวางแผนการถ่ายทำอย่างรัดกุมที่สุด เพื่อไม่ให้การทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กำหนดไว้ 

เราต้องเก็บแสงไว้ให้ได้เร็วที่สุดในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด เพราะการถ่ายทำบนภูเขานี่ ทำให้แสงหมดเร็วกว่าปกติมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวนี่ตัวดีเลย” อีนาร์รีตูบอก “เพราะแสงจะหายวับไปหลังภูเขาทั้งที่ยังเป็นตอนกลางวันนั่นแหละ”

อย่างไรก็ดี มีเพียงฉากเดียวเท่านั้นที่ลูเบซกีบีบคอให้อีนาร์รีตูยอมให้จัดแสง เพราะไม่เช่นนั้นเขาก็ไม่อาจถ่ายทำอะไรได้เลย “เราจัดแสงกันอยู่ฉากเดียว คือฉากรอบกองไฟ ใช้แสงจากหลอดไฟเข้าช่วยเพื่อให้แสงจากกองไฟในกล้องมันเข้มข้นขึ้นน่ะ” เขาบอก “นี่แหละ เราจัดแสงกันอยู่แค่ฉากนี้แหละ”

การใช้แสงธรรมชาติถือเป็นเสน่ห์อีกประการหนึ่งของงานภาพยนตร์ โดยวิธีการที่จะซึมซับเป้าประสงค์ของการถ่ายทำเช่นนี้นั้น คือการเข้าไปรับชมในโรงภาพยนตร์ซึ่งถูกออกแบบมาให้คนได้ดูภาพเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เช่นนั้นโดยเฉพาะ 

ดั่งที่หนังลำดับล่าสุดอย่าง Il Buco ได้พิสูจน์ ว่าการรับชมแสงธรรมชาติในโรงภาพยนตร์ให้อรรถรสในการรับชมที่แตกต่างและวิเศษเป็นที่สุด

Tags: , , , , ,