อุตสาหกรรมประมงมีปัญหามากมาย เช่น การจับปลามากเกินความจำเป็นจนระบบนิเวศเสียสมดุล การทำฟาร์มสัตว์ทะเลที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้แรงงานทาส มีความพยายามหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหานี้

ตอนนี้หลายบริษัทที่จำหน่ายอาหารทะเลที่ใช้พืชมาทำเป็นอาหารทะเลเทียม แต่บริษัท Shiok Meats ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัปจากสิงคโปร์กำลังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยในการผลิตกุ้งและอาหารทะเล และลดการพึ่งพาการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งแบบอุตสาหกรรม ไม่อยากสนับสนุนคำว่า ‘เทียม’ ‘ปลอม’ หรือ ‘เลี้ยงในห้องทดลอง’ สาตยา ศรีรามและคาอี้หลิง นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งบริษัทจึงคิดจะขายกุ้งที่สร้างขึ้นจากสเต็มเซลล์

โดยในขณะนี้ยังผลิตได้แค่เนื้อกุ้งบด ยังทำกุ้งเป็นตัวๆ ไม่ได้ จึงผลิตออกมาได้แค่ขนมจีบกุ้งก่อน บริษัทตั้งเป้าว่าจะเริ่มขายผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่เป็นขนมจีบกุ้งจากสเต็มเซลล์ในสิงคโปร์ภายในปี 2021 และมีแผนที่จะขายในฮ่องกง อินเดีย และออสเตรเลีย ในอนาคต

พวกเขาใช้สเต็มเซลล์จากกุ้งที่เลี้ยงในฟาร์มท้องถิ่น ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ด้วยคุณสมบัติที่สเต็มเซลล์จากสัตว์สามารถจัดเก็บไว้ได้ เจริญเติบโต และผลิตซ้ำใหม่ได้เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม สเต็มเซลล์ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมและปลอดเชื้อ มันก็จะสามารถสร้างเนื้อสัตว์ในปริมาณมากๆ ได้ เซลล์ที่ได้มีส่วนประกอบของโปรตีน  คาร์โบไฮเดรต และไขมัน แต่ไม่มีระบบย่อยอาหารจึงต้องให้อาหารง่ายๆ อย่างของเหลวที่มีสารอาหาร

ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนหาวิธีลดต้นทุน เนื่องจากต้นทุนตอนนี้อยู่ที่ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อกุ้ง 1 กิโลกรัม ส่วนหนึ่งมาจากสารอาหารที่ผลิตจากบริษัทยา ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยสูตร แต่นักวิทยาศาสตร์กำลังหาทางพัฒนา บริษัทตั้งเป้าว่าควรจะพัฒนาและวิจัยให้เหลือ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม

ครั้งแรกที่เปิดให้ทดลองชิมโดยไม่บอกว่าเป็นอะไร สาตยากล่าวว่า คนแยกความแตกต่างของรสชาติไม่ออก  เธอยังกล่าวว่า ได้รับการตอบรับอย่างดีจากอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งบริษัทได้ผลิตให้ผู้เข้าร่วมงาน Disruption in Food & Sustainability Summit เมื่อปี 2019 ชิม 

เกษตรกรรมที่สร้างเนื้อสัตว์จากเซลล์หรือ Cellular Agriculture กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่บริษัทสตาร์ตอัป เช่น บลูนาลู บริษัทผลิตเนื้อปลาจากเซลล์ในแคลิฟอร์เนีย หรืออาวองต์ มีทส์ ในฮ่องกง ซึ่งกำลังทำวิจัยทำเนื้อปลาและโปรตีนจากอาหารทะเลจากเซลล์ โดยเน้นไปที่กระเพาะปลา

เดวิด เบเกอร์ นักวิชาการด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า เทคโนโลยีผลิตอาหารที่ทำจากเซลล์สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตอาหารทะเลได้ ตอนนี้มันสร้างรายได้จากการส่งออกประมาณ 135,000 ดอลลาร์สหรัฐ และคิดเป็นสัดส่วน 17% ของการบริโภคโปรตีนของโลก 

รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารเพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตภูมิอากาศ โดยลงทุนด้านนี้กว่า 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และลงทุน 144 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านอาหาร รัฐบาลยังแต่งตั้งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์โปรตีนทางเลือกโดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้

ที่มา:

https://vegconomist.com/society/singapore-emerges-as-the-food-tech-ecosystem-of-asia/

https://www.channelnewsasia.com/news/cnainsider/lab-grow-stem-cell-based-protein-home-shiok-meats-sandhya-sriram-12511730

https://www.scmp.com/lifestyle/food-drink/article/3075109/how-singapore-start-ups-sustainable-seafood-grown-stem-cells

ภาพ : Reuters Staff/REUTERS

Tags: , , ,