เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2018 ทาง Man Booker International Prize ประกาศรายชื่อหนังสือหกเล่มที่เข้าชิงรางวัลประจำปี 2018

ความพิเศษของรางวัลนี้ก็คือ วัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนให้มีการแปลวรรณกรรมภาษาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งน่าจะเป็นข่าวดีของคนทั่วโลกที่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ จะมีโอกาสเข้าถึงและซึมซับวรรณกรรมต่างเชื้อชาติเหล่านี้ ที่เคยมีภาษาเป็นพรมแดนกั้นไว้

เงื่อนไขของหนังสือที่จะได้รับรางวัลก็คือ ต้องเป็นงานวรรณกรรมที่แปลเป็นภาษาอังกฤษและพิมพ์ในสหราชอาณาจักร เงินรางวัล 50,000 ปอนด์จะแบ่งให้กับนักเขียนและนักแปลอย่างละครึ่ง สมกับที่ทั้งคู่ต่างก็เป็นผู้สร้างสรรค์งาน และทำให้งานแปลนี้เกิดขึ้นมาได้

ไฮไลต์ของการประกาศชอร์ตลิสต์ในปี 2018 นี้ก็คือ ผู้เข้าชิงในชอร์ตลิสต์สองคนต่างเคยได้รับรางวัลนี้มาแล้ว และในจำนวนนี้มีเล่มที่เคยได้รางวัลวรรณกรรมภาษาอารบิกนานาชาติ และที่น่าสนใจมากๆ คือ ในจำนวนหกเล่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นงานที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อิสระ

นี่คือรายชื่อหนังสือเข้ารอบชอร์ตลิสต์ ทั้งจากฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ฮังการี โปแลนด์ สเปน และอิรัก และรอลุ้นที่จะได้รางวัลในการประกาศรายชื่อผู้ชนะ ในวันที่ 22 พฤษภาคม ณ พิพิธภัณฑ์ วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต ในลอนดอน

 

Vernon Subutex 1

เขียนโดย Virginie Despentes (ฝรั่งเศส)

แปลโดย Frank Wynne

สำนักพิมพ์ MacLehose Press

เรื่องราวของซูบูเท็กซ์ อดีตเจ้าของร้าน Revolver ร้านขายเพลงที่มีชื่อฉาวในปารีส และเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาในทศวรรษ 2000s ทำให้ความนิยมในซีดีและไวนิลถดถอย ร้านของเขาก็ไปไม่รอด

เมื่อร้านปิดกิจการ ซูบูเท็กซ์ก็สิ้นไรหนทางทำกิน จนกระทั่งเงินเก็บที่มีหมดเกลี้ยง เพื่อนที่ช่วยจ่ายค่าเช่าบ้านก็ตายกะทันหัน ได้แต่เกาะเพื่อนๆ ขอนอนบนโซฟาว่างๆ และใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางท้องถนนกรุงปารีส

แต่ขณะที่เขากำลังจะเริ่มยื่นมือขอเงินจากคนแปลกหน้าตามท้องถนน คอมเมนต์บนเฟซบุ๊กที่เขาเคยเขียนไปส่งๆ กำลังทำให้อินเทอร์เน็ตลุกเป็นไฟ เหตุที่เขาไม่รู้เรื่องเลยสักนิด เพราะไม่มีปัญญาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมาหลายสัปดาห์แล้ว

ข่าวที่ถูกกล่าวขานไปทั่วก็คือ ซูบูเท็กซ์เป็นเจ้าของบันทึกวิดีโอม้วนสุดท้ายของนักดนตรีชื่อดัง อเล็กซ์ บลีช (Alex Bleach) ซึ่งเพิ่งจะตายจากการเสพยาเกินขนาด ฝูงชนกำลังตามหาตัวเขา ตั้งแต่โปรดิวเซอร์เพลง ดาวโป๊ ไปจนถึงเกรียนในอินเทอร์เน็ต โดยที่ซูบูเท็กซ์ไม่รู้เรื่องเลย

คณะกรรมการให้ความเห็นว่า “หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับเซ็กซ์ในอินเทอร์เน็ตและความสัมพันธ์ในอุตสาหกรรมเพลง ท่ามกลางความน่าขนพองของทุนนิยมร่วมสมัย”

นักเขียน Virginie Despentes เกิดในปี 1969 ปัจจุบันเป็นนักเขียน และนักทำหนัง แต่ในอดีต เธอเคยเป็นทั้งแม่บ้าน ผู้ให้บริการทางเพศ และนักข่าวสายร็อก นิยายเล่มแรกของเธอที่ชื่อ Baise-Moi (1992) ซึ่งมีพล็อตแนว rape-revenge ได้รับการสร้างเป็นหนังในปี 2000 และถูกแบนในฝรั่งเศสเป็นเวลา 28 ปี เธอมีผลงานออกมาแล้วมากกว่า 15 เล่ม

 

Frankenstein in Baghdad

เขียนโดย Ahmed Saadawi (อิรัก)

แปลโดย Jonathan Wright

สำนักพิมพ์ Oneworld

ฉากอยู่ในแบกแดดภายใต้การปกครองของสหรัฐฯ ฮาดี คนเก็บขยะพบกับชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ และเย็บมันเข้าด้วยกันจนกลายเป็นศพในร่างเต็ม เขาให้เหตุผลว่าทำแบบนั้นไปเพื่อประสงค์จะให้รัฐบาลตระหนักได้ว่าชิ้นส่วนเหล่านี้คือ ‘มนุษย์’ และนำไปจัดหาการฝังศพอย่างเหมาะสมต่อไป

แต่เมื่อศพนั้นหายไป การฆาตกรรมก็เกิดขึ้นไปทั่วเมือง และมีข่าวลือสะพัดว่าฆาตกรคนนี้ ฆ่ายังไงก็ไม่ตาย ฮาดีตระหนักได้ว่าเขาได้สร้างสัตว์ประหลาดขึ้นมา เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยเลือดเนื้อมนุษย์เพื่อเอาตัวรอด เริ่มแรกก็อาจทำไปด้วยความรู้สึกผิด แต่ต่อมาก็ฆ่าเหยื่ออย่างไม่เลือกหน้า

คณะกรรมการเห็นว่า ผู้เขียนสามารถนำเราไปสำรวจอารมณ์อันลึกซึ้งที่มีต่อความตายและการสูญหาย และผลกระทบที่มีต่อผู้คน ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกของการประชดประชัน

Saadawi เกิดในแบกแดด และเป็นนักเขียนอิรักคนแรกที่ได้รางวัลวรรณกรรมภาษาอารบิกระดับนานาชาติ จากหนังสือเล่มเดียวกันนี้ และได้รับเลือกเป็นหนึ่งในนักเขียนอาหรับยอดเยี่ยมจำนวน 39 ที่อายุต่ำกว่า 40

The White Book

เขียนโดย Han Kang (เกาหลีใต้)

แปลโดย Deborah Smith

สำนักพิมพ์ Portobello

ชื่อนี้ต้องคุ้นตาคอหนังสือแน่ๆ เพราะฮันคัง (Han Kang) (รวมทั้งผู้แปล เดบราห์ สมิธ) เคยได้รับรางวัลเดียวกันนี้จากเล่ม The Vegetarian เมื่อปี 2016

มาคราวนี้ เธอและผู้แปลจับมือกันเข้าชอร์ตลิสต์อีกครั้งด้วยหนังสือ The White Book หนังสือลักษณะคล้ายกับสูจิบัตรประกอบศิลปะสื่อการแสดงสด ในนิทรรศการชื่อ Vanishing Point

เนื้อหาในหนังสือว่าด้วยผู้เล่าที่ไร้นาม ซึ่งย้ายไปอยู่ในเมืองหนึ่งในยุโรป แต่กลับถูกหลอกหลอนด้วยเรื่องราวของพี่สาว ผู้ที่มีชีวิตได้เพียงแค่สองชั่วโมงหลังคลอดแล้วก็เสียชีวิต

ขณะพิจารณาความตาย เธอก็มุ่งความสนใจไปที่ความขาว และภาพแทนของมันต่อสิ่งต่างๆ หนังสือใช้กลวิธีเล่าเรื่องโดยใช้สิ่งของสีขาวจำนวน 64 รายการ เป็นหนังสือเกี่ยวกับความอาลัย การเกิดใหม่ ความงาม ความเปราะบาง และความแปลกแยกในชีวิต

คณะกรรมการให้ความเห็นว่า “หนังสือเล่มนี้ประณีตและมีจังหวะการเล่าที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป… แสดงออกถึงความเคารพที่มีต่อพี่สาว และฉายให้เห็นความรู้สึกผิดบาปที่เป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่รอด”

ฮันคังเรียนวรรณกรรมคดีเกาหลีที่มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) งานเขียนของเธอเคยได้รางวัลวรรณกรรม Yi Sang และรางวัล Today’s Young Artist ของรัฐบาลเกาหลีใต้ รวมทั้งรางวัลนวนิยายภาษาเกาหลี

ส่วนเดบราห์ สมิธ (Deborah Smith) เป็นผู้ที่ทำหน้าที่แปลงานฮันคังสู่ภาษาอังกฤษมาแล้วทุกเล่ม (รวมทั้ง The Vegetarian และ Human Acts) และยังเป็นผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Tilted Axis Press สำนักพิมพ์ที่นำ ความน่าจะเป็น ของปราบดา หยุ่น ไปพิมพ์เป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษ

 

Flights

เขียนโดย Olga Tokarczuk (โปแลนด์)

แปลโดย Jennifer Croft

สำนักพิมพ์ Fitzcarraldo Editions

รวมเรื่องเล่าที่เล่นไปกับธีมกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ ตั้งแต่เรื่องราวของนักกายวิภาคชาวดัตช์ในศตวรรษที่ 17 ที่ชำแหละและวาดรูปขาที่ถูกตัดของตัวเอง จนกระทั่งค้นพบเอ็นร้อยหวาย หรือเรื่องราวของทาสที่เกิดในแอฟริกาตอนเหนือ ผู้กลายมาเป็นข้าราชสำนักออสเตรียนและถูกสตัฟฟ์ไว้แสดงโชว์ ทั้งที่ลูกสาวของเขาคัดค้าน รวมทั้งเรื่องราวของหัวใจโชแปงที่เดินทางจากปารีสสู่วอร์ซอว์ ในขวดโหลที่ปิดแน่นหนาใต้กระโปรงของหญิงสาว ฯลฯ

เรื่องเล่าเหล่านี้หยิบเอาเรื่องหลากหลายมาขบเคี้ยวและพิเคราะห์ ทำให้ผู้อ่านดำดิ่งลงลึกไปใต้พื้นผิวของความเป็นสมัยใหม่ แล้วเข้าสู่แก่นแท้ของความเป็นมนุษย์

“มันเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเร่ร่อนนิยม (nomadism) เกี่ยวกับการหลีกหนี เดินทางจากที่หนึ่งสู่ที่หนึ่ง และการใช้ชีวิตอยู่ในท่าอากาศยาน แต่ขณะเดียวกันคุณเองก็พำนักอยู่ในร่างกายและไม่มีทางหลีกหนีไปจากชะตากรรมสุดท้ายได้”

ผู้เขียนเล่มนี้ได้รางวัลทางวรรณกรรมในระดับชาติของตัวเองมาแล้ว คือรางวัล Nike และ Nike Reader’s Prize และเธอยังเป็นผู้เขียนนิยายอีกแปดเล่ม รวมเรื่องสั้นอีกสองเล่ม ที่ได่รับการแปลไปแล้วหลายภาษา

 

The World Goes On

เขียนโดย Laszlo Krasznahorkai (ฮังการี)

แปลโดย John Batki, Ottilie Mulzert และ George Szirtes

สำนักพิมพ์ Tuskar Rock Press

รวมเรื่องราว 21 เรื่อง ไล่เรียงรอบโลก ตั้งแต่ล่ามชาวฮังกาเรียนที่เดินฝ่าความวุ่นวายอยู่บนถนนในเซี่ยงไฮ้ นักเดินทางในพาราณสีที่เผชิญหน้ากับชายคนหนึ่งริมแม่น้ำคงคา ผู้สาธยายธรรมชาติของน้ำเพียงหยดเดียว แรงงานเด็กเหมืองหินอ่อนในโปรตุเกสที่เดินกลับจากการทำงานในวันหนึ่ง แต่พลัดหลงสู่ดินแดนเหนือจริง ผิดประหลาดจากชีวิตประจำวัน

คณะกรรมการบอกว่า “เรื่องราวเหล่านี้เชื่อมโยงประสานกันไปมาโดยธีม ทั้งลึกซึ้งและเข้าถึงได้ง่าย เขาเป็นอัจฉริยะแห่งการแต่งร้อยแก้ว แต่ก็เรียกร้องให้ผู้อ่านมอบความตั้งใจและใส่ใจต่อการอ่านในแบบที่เฉพาะตัว”

ความพิเศษของเล่มนี้อีกประการ เห็นจะเป็นการที่ต้องอาศัยแรงของผู้แปลถึงสามคนมาร่วมด้วยช่วยกัน

 

Like a Fading Shadow

เขียนโดย Antonio Munoz Molina (สเปน)

แปลโดย Camilio A. Ramirez

สำนักพิมพ์ Tuskar Rock Press

หนังสือว่าด้วยเหตุการณ์หลังจากที่ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกสังหารในโดยเจมส์ เอิร์ล เรย์ ในวันที่ 4 เม.ย. 1968 และก่อนหน้าที่เรย์จะโดนจับกุมและต้องโทษขังนาน 99 ปี เขาหลบหนีจากเอฟบีไอเป็นเวลาสองเดือน เดินทางข้ามน้ำข้ามทวีป เรื่องราวในเล่มจึงมีศูนย์กลางการเล่าอยู่ในช่วงที่เรย์อยู่ในลิสบอน ใช้เวลาสิบวันวิ่งเต้นเพื่อให้ได้วีซ่าแองโกลัน

Like a Fading Shadow อาศัยข้อมูลจากแฟ้มคดีของเอฟบีไอ นำมาถ่ายทอดใหม่เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการลอบสังหารมาร์ติน ลูเธอร์ คิง การหลบหนี และการถูกจับกุม โดยเล่าเรื่องให้พันเกี่ยวไปกับการสำรวจอดีตของตัวผู้เขียนนวนิยายเอง

คณะกรรมการให้ความเห็นว่า จุดแข็งของเล่มนี้ก็คือรูปแบบในการสร้างคาแรกเตอร์ ไม่ใช่แค่เพียงการสร้างตัวละครมือลอบสังหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างคาแรกเตอร์ให้กับเมืองอย่างลิสบอน และยังมีตัวละคร ‘ผู้เขียน’ ซึ่งคือตัวของเขาเองที่อยู่ในสองช่วงเวลา … เหล่านี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นเพียง กระบวนการเขียน แต่รวมถึงการจินตนาการอันเข้มข้นที่ได้ปลุกปั้นชีวิตของนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา”

 

 

ที่มา:

Fact Box

  • รางวัลปีนี้มอบให้กับหนังสือที่ตีพิมพ์ระหว่าง 1 พฤษภาคม 2017 ถึง 30 เมษายน 2018
  • รางวัลก่อตั้งในปี 2005 เพื่อมอบให้กับ ‘นักเขียน’ ไม่จำกัดสัญชาติ (นอกเหนือไปจากประเทศในเครือจักรภพ ไอร์แลนด์ และซิมบับเว ที่รางวัล Man Booker Prize จำกัดเอาไว้) แต่ในปี 2016 ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นการให้รางวัลกับ ‘งานวรรณกรรมแปล’ โดยเฉพาะ
Tags: , , , , , , , ,