เมื่อวันที่ 3-26 มิถุนายน 2559 ในกรุงโซล แกลเลอรีเล็กๆ ที่เป็นฮันอกหรือบ้านแบบดั้งเดิมของเกาหลีชื่อ E’JUHEON ได้จัดแสดงนิทรรศการชื่อ Vanishing Point โดยศิลปินสองคน ได้แก่ Cha Mi Hye และฮันคัง (Han Kang) และในวันที่ 18 มิถุนายน ฮันคังได้มาพูดคุยถึงงานของเธอที่เป็นศิลปะสื่อการแสดงสด ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรและมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับ The White Book หนังสือเล่มใหม่ของเธอ

ในวันนั้น พ่อแม่ของเธอซึ่งเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวฉลองครบรอบวันแต่งงานได้แวะมาที่แกลเลอรี่ ฮันคังได้บอกกับผู้ฟัง รวมไปถึงพ่อแม่ของเธอที่มาถึงตอนงานเริ่มไปได้พักใหญ่แล้วว่า แม่ของเธอไม่รู้หรอกว่างานนี้เกี่ยวกับอะไร ไม่รู้ว่าหนังสือนั้นเขียนถึงเรื่องอะไร เธอต้องขอโทษด้วยที่เขียนถึงเรื่องเหล่านี้โดยไม่ได้รับอนุญาต และตอนนี้เธอรู้สึกกังวลเหลือเกินว่าพ่อแม่ของเธอจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อรับรู้เรื่องราว หลังจากนั้นเธอก็อ่านบางส่วนของหนังสือให้ทุกคนฟัง

O’NEWWALL E’JUHEON ที่มา: http://onewwall.com/

The Whit Book: สีขาวของผู้เขียน

หนังสือปกแข็งสีขาวที่ถูกออกแบบให้สะดุดตาด้วยความเรียบง่ายเล่มนี้ เป็นหนังสือเล่มที่สามของฮันคัง หลังจากที่เธอมีผลงานซึ่งได้รับการแปลมาเป็นภาษาอังกฤษแล้วสองเล่มคือ The Vegetarian และ Human Act

The White Book เป็นหนังสือที่ฮันคัง เลือกเล่าเรื่องโดยใช้สิ่งของสีขาวจำนวน 64 รายการเป็นสื่อในการเสนอเรื่องราวอย่างกระจัดกระจาย ภายในสามหัวข้อ ได้แก่ “ฉัน, เธอ และความขาวทั้งปวง”

เธอเริ่มด้วยการเล่าถึงการออกแบบงานเขียนเกี่ยวกับสิ่งของสีขาวโดยการเขียนรายการสิ่งต่างๆ ที่เธอนึกถึง และระหว่างเขียนรายการเหล่านั้น เธอสัมผัสว่ามีพลังของบางสิ่งไหลผ่านอย่างปั่นป่วนผ่านตัวเธอไป แต่เธอก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เธอสัมผัส หรือจะซ่อนตัวตนไว้ภายใต้ประโยคที่เขียนออกมาได้หรือไม่

จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไป เธอได้ไปเป็นศิลปินในพำนักที่ประเทศหนึ่งในยุโรป แล้วจึงได้คำตอบว่า การซ่อนตัวนั้นเป็นไปไม่ได้

และประตูสีขาวที่ซีดจางก็เปิดทางให้เรื่องเล่า

ต้นฤดูหนาว หญิงสาวคนหนึ่งคลอดก่อนกำหนดในบ้านห่างไกลชุมชน เธออยู่บ้านคนเดียวในวันที่สามีต้องออกไปทำงาน ในวันเก่าก่อน ที่การสื่อสารไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน เธอทำคลอดให้ตัวเอง และทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกสาวของเธออยู่รอด หญิงสาวที่เสียเลือดจากการคลอดนอนกอดลูกสาวตัวเล็กซีดเซียวในห่อผ้าขาว ปากก็พร่ำบ่นว่า “อย่าตายนะ อย่าตายนะ พระเจ้า ได้โปรดเถอะอย่าตาย” แต่ท้ายที่สุด คำขอของเธอก็ไม่เป็นผล ทารกน้อยมีชีวิตอยู่เพียงสองชั่วโมง

ทารกนั้นคือพี่สาวของฮันคัง

For Her Performance HD (1080p) 15 min 36 sec 2016 © Choi Jinhyuk ได้รับความอนุเคราะห์ภาพจาก Juno Seo

การเป็นศิลปินในพำนักที่ยุโรปได้เปิดทัศนียภาพทางความคิดให้แก่ฮันคังเป็นอย่างมาก ความแปลกหน้าในเมืองที่ขาวโพลนไปด้วยหิมะ ซากปรักหักพังที่หลงเหลืออยู่จากสงครามโลกครั้งที่สอง ความพยายามต่อสู้กับความทรงจำในอดีต การสร้างเมืองใหม่ภายหลังสงคราม สิ่งเหล่านี้ได้ก่อตัวขึ้นในความคิดของเธออย่างช้าๆ จนในที่สุดเธอตัดสินใจที่จะคืนชีวิตใหม่ให้พี่สาวที่จากไป ด้วยความทรงจำที่หลงเหลือของตัวเธอและครอบครัว ด้วยสีที่ทำงานกับเธอในความคิด ด้วยสีขาว

 

The White Book: สีดำของผู้อ่าน

แม้จะเขียนเล่าเรื่องด้วยวัตถุสีขาว ความมืดดำของการสูญเสียและความเศร้าสร้อยที่ไม่อาจทาทับได้ด้วยสีขาวกลับปรากฏชัด

ในระหว่างการอ่าน ผู้เขียนสัมผัสได้ถึงความทรงจำและการสูญเสียของตัวเองที่ฉายภาพแทรกเข้ามาเป็นระยะจากความหมายของสิ่งต่างๆ ที่ฮันคังบรรยาย ข้อความสั้นๆ ที่เขียนถึงวัตถุสีขาวมีพลังอย่างประหลาดที่ทำให้ต้องหยุดอ่านเพื่อคืนดีอย่างเงียบงันกับความโหดร้ายของอดีตที่หวนกลับมา

“คล้ายดั่งบทกวี” อาจจะพอเป็นวลีหนึ่งที่อธิบายได้ถึงความละมุนละไมของการเขียนอันหนักแน่น

 

“A long time ago she found a white pebble on a beach. She brushed off the sand and placed it in her pocket, then put it away in a drawer at home. A pebble worn smooth and round by the waves’ long caress. To her, its whiteness seemed almost transparent, but when she peered inside it she found she’d been mistaken. (In fact, it was a perfectly ordinary white pebble.) Now and then she got it out and sat it on her palm. If silence could be condensed into the smallest, most solid object, this is how it would feel, she thought.”

 

“นานมาแล้ว เธอพบก้อนกรวดทะเลสีขาวบนชายหาด เธอปัดเศษทรายออกทำความสะอาดและเก็บไว้ในกระเป๋า หลังจากนั้นก็เก็บมันไว้ในลิ้นชักที่บ้าน ก้อนกรวดถูกขัดจนกลมและเนียนเรียบจากสัมผัสอ่อนโยนยาวนานของคลื่น สำหรับเธอแล้วความขาวของก้อนกรวดนั้นเกือบใส แต่เมื่อเธอมองลึกลงไปข้างใน เธอกลับพบว่าเธอเข้าใจผิดมาตลอด (ที่จริงแล้วมันเป็นเพียงก้อนกรวดขาวธรรมดา) บางครั้งเธอจะเอามันออกมาวางบนฝ่ามือ เธอคิดว่าถ้าความเงียบสามารถควบแน่นเป็นวัตถุแข็งที่มีขนาดเล็กที่สุด มันคงมีสัมผัสแบบนี้”

A pebble, salt, ice Performance HD (1080p) 15 min 36 sec 2016 © Choi Jinhyuk ได้รับความอนุเคราะห์ภาพจาก Juno Seo

อาจฟังดูเหมือนนามธรรม แต่สีขาวและสิ่งของที่เต็มไปด้วยความหมายของความเป็นความตาย อดีตและความทรงจำนี้ ไม่ยากที่จะเข้าใจ

ถ้าฮันคังเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่จะหาความสงบให้จิตใจและคืนชีวิตใหม่ให้พี่สาวผู้ล่วงลับไปก่อนจะได้เรียนรู้เข้าใจโลก เธอก็ทำได้สำเร็จตามจุดประสงค์ เพราะพี่สาวไม่เพียงแค่เกิดใหม่ในความคิดของเธอเท่านั้น ทว่ายังเกิดใหม่และมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของผู้คนอีกมากมายผ่านตัวหนังสือ

หน้าปกสูจิบัตรนิทรรศการ Vanishing Point

หนังสือสีขาวที่ลักษณะคล้ายกับสูจิบัตรของงานแสดงศิลปะเล่มนี้เขียนขึ้นด้วยกลวิธีที่ชาญฉลาด การอ่านรอบ

แรกชวนให้รู้สึกว่าฮันคังต้องการเล่าเรื่องของความทรงจำตัวเองผ่านวัตถุสีขาว แต่เมื่ออ่านอีกครั้ง  กลับเห็นความจงใจบางประการของฮันคังที่จะทำให้เส้นแบ่งประเภทของงานเขียนพร่าเลือนลง ดูราวกับว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการทดลองใช้ความเรียงขนาดสั้นมาถักทอเป็นอัตชีวประวัติ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าอ่านแบบไม่ดูบริบทของเรื่องราว หนังสือเล่มนี้สามารถอ่านได้แบบนวนิยายขนาดสั้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ รูปแบบของหนังสือที่แทรกภาพประกอบของสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าขนาดสั้นที่แยกกันแต่เกี่ยวเนื่อง ก็สามารถทำให้ผู้อ่านคิดถึงการอ่านสูจิบัตรสักเล่มที่ถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ ไม่ใช่แค่เป็นหนังสือให้ข้อมูลนิทรรศการที่มีค่าเพียงผ่านตาและหลงลืม

 

หมายเหตุ: เนื่องด้วยความต้องการของฮันคัง จึงไม่สามารถนำภาพประกอบจากงาน Vanishing Point มาใช้ในบทความได้มากกว่าสองภาพ

 

 

FACT BOX:

  • ฮันคัง (Han Kang) เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1970 ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ จบการศึกษาสาขาวรรณคดีเกาหลีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei  University) เธอเข้าสู่วงการวรรณกรรมจากการเขียนบทกวีในปี 1993  หลังจากนั้นเริ่มเขียนเรื่องสั้นและนิยายจนกวาดรางวัลเด่นๆ ในเกาหลีใต้หลายรางวัลเช่น Today’s  Young Artist Award (2000), YiSang Literary Award (2005) และ Dongri Literary Award (2010) ต่อมาในปี 2016 The Vegetarianหนังสือเล่มแรกของเธอที่แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Deborah Smith ได้รับรางวัล The Man Booker International Prize โดย Han Kang เป็นชาวเกาหลีใต้คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
  • ปัจจุบันนอกจากทำงานเขียน ฮันคังยังเป็นอาจารย์สอน Creative Writing อยู่ที่ Seoul Institute of the Arts
  • แกลเลอรี O’ NEWWALL E’JUHEON เป็นส่วนหนึ่งของ SPACE O’NEWWALL ที่ก่อตั้งโดย Juno Seo ผู้อำนวยการและภัณฑารักษ์ผู้มีความเชี่ยวชาญในศิลปะร่วมสมัยของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก http://onewwall.com/)
  • Juno Seo ได้บอกผู้เขียนเมื่อครั้งที่ไปเยือน SPACE O’NEWWALL ว่าชื่อ Han Kang แปลว่าแม่น้ำฮันซึ่งป็นแม่น้ำสายหลักของประทศเกาหลีใต้ โดยคำว่า Han นั้นเป็นชื่อสกุลซึ่งพ้องกับชื่อแม่น้ำ และคำว่า Kang นั้นหมายถึงแม่น้ำ
Tags: , , ,