ไม่ใช่แค่ไฟนอลวอล์กของเดอะเฟซไทยแลนด์ วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคมผ่านมา ยังมีการประกวดร้องเพลงยูโรวิชัน ประจำปี 2018 (Eurovision Song Contest 2018) ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ที่ผู้เข้าแข่งขันต่างโชว์พลังจนไฟลุก และรางวัลชนะเลิศก็ตกเป็นของ เนตตา บาร์ซิไล (Netta Barzilai) วัย 25 ปี ชาวอิสราเอล ที่ร้องเพลง ‘Toy’ เพลงเทคโนแดนซ์ประกอบท่าเต้นไก่ (chicken dance) ขณะที่ผู้ชมอาจต้องมนต์สะกดด้วยท่าเต้นและลีลาการร้องของเธอ กรรมการก็บอกว่าเนื้อหาของเพลงเป็นการกล่าวถึง #MeToo ครั้งแรกในยูโรวิชั่น โดยเนื้อหาของเพลงมีใจความสำคัญว่า “ฉันไม่ใช่ของเล่นของคุณ เด็กโง่”

ยูโรวิชั่นคือรายการร้องเพลงประจำปีทางโทรทัศน์ที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลก ออกอากาศครั้งแรกตั้งแต่ปี 1956 ซึ่งตอนนั้นยังมีผู้เข้าแข่งขันจากเพียง 7 ประเทศ วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของรายการนี้คือเพื่อเชื่อมโยงประเทศยุโรปไว้ด้วยกันผ่านดนตรี มาถึงปีนี้มีผู้เข้าแข่งขันจาก 43 ประเทศ และไม่จำกัดอยู่เฉพาะประเทศในยุโรปอีกต่อไป

ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน ยูโรวิชั่นจึงกลายเป็นเวทีที่ผู้ชมรอคอยและเป็นหนึ่งในรางวัลที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยหลังรู้ผลการแข่งขัน ชาวอิสราเอลก็พากันเฉลิมฉลอง มีการเต้นรำและร้องเพลงที่น้ำพุในเทล อาวีฟ และตลาดในเยรูซาเล็ม นับเป็นครั้งที่ 4 ที่อิสราเอลชนะการประกวดนี้ หลังจากการประกวดในปี 1998

เบนยามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกมากล่าวแสดงความยินดี โดยบอกว่าเนตตาเป็นทูตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ เนทันยาฮูยังพยายามเต้นท่าไก่ให้นักข่าวดูด้วย ขณะที่เนตตาเองก็มีเรื่องเล่าของเธอ

“ขอบคุณที่ยอมรับความแตกต่างระหว่างเรา ขอบคุณสำหรับการเฉลิมฉลองความหลากหลาย!” แน่นอนว่านอกจาก #MeToo แล้ว ด้วยเนื้อร้องที่บอกว่า “ฉันคือสิ่งมีชีวิตที่งดงาม” กับรูปร่างพลัสไซส์ของเธอ การร้องเพลงครั้งนี้จึงพูดถึงเรื่องความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ด้วย

“มันเป็นเพลงสำหรับทุกคนที่กำลังต่อสู้กับการเป็นตัวเอง ต่อสู้กับเจ้านาย กับรัฐบาล กับคนที่เหยียบย่ำพวกเขา มีคนบอกกับฉันหลายหนว่า ฉันไม่สวยพอ ไม่ฉลาดพอ ไม่ผอมพอที่จะทำในสิ่งที่ฉันอยากทำ” เนตตาให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า มีหลายคนบอกกับเธอว่า “ลดน้ำหนักลงอีกหน่อย” “ใส่ชุดสีดำสิจะได้ดูผอมลง” หรือ “ร้องแบบอะเดลสิ”

แต่ท้ายที่สุดเธอตัดสินใจว่าจะไม่ทำตามคำแนะนำเหล่านั้น “เรามาอยู่ตรงนี้แค่นาทีเดียว ทำไมเราต้องยุ่งอยู่กับการไม่มีความสุขล่ะ” เธอยังอธิบายถึงเสียงร้องและดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แปลกๆ ในเพลงที่เธอร้องว่าเป็นแนวทางศิลปะของตัวเอง “ฉันทำสิ่งที่รู้สึกว่าถูกต้อง ออกมาจากกรอบ นี่คือสิ่งที่เราควรทำในงานศิลปะ พัฒนาในฐานะมนุษย์ ประชากร และศิลปิน ถ้าคุณอยู่แต่ที่เดิม ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น” เธอจึงเลือกดีไซน์การแสดงอย่างที่เราเห็นพร้อมใส่กลิ่นอายชาติตะวันออกอย่างญี่ปุ่นรวมถึงเค-ป๊อปเข้าไปด้วย

ถึงอย่างนั้น การต่อสู้ของเนตตาและคนแบบเธออาจจะยังต้องมีอยู่ต่อไป จากคลิปวิดิโอการประกวดของเธอที่ทางยูโรวิชั่นเผยแพร่ในยูทูบ จากยอดวิวกว่า 13 ล้านวิวในเวลาเพียง 2 วันหลัง พบว่ามียอดดิสไลค์มากกว่ายอดไลค์ถึง 2 เท่า (201k ต่อ 110k) และคอมเมนต์จำนวนหนึ่งก็ตั้งคำถามว่า “นี่หรือคือยุโรป?” หรือ “เวทีนี้ได้กลายเป็นโชว์ตัวประหลาด (freak show) ไปนานแล้ว นี่เป็นการแสดงที่ประหลาดเกิ๊น” รวมถึงใจร้ายขั้น “กินอะไรก็ได้อย่างนั้น เลิกกินไก่ทอดซะ” บางคอมเมนต์ก็พุ่งไปยังประเด็นการเมืองระหว่างประเทศเช่น “จงปลดปล่อยปาเลสไตน์!”

แม้เราจะอยู่ในยุคที่ก็รู้อยู่ความคอมเมนต์ในอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างไร แต่หลายครั้งมันก็สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งแตกต่างทางการเมืองที่ฝังรากลึกบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระหว่างประเทศ การยอมรับความแตกต่างหลากหลายในสังคม หรือการเหยียดในประเด็นต่างๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่การต่อสู้ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อมอย่างการร้องเพลงบนเวทีประกวด เป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญและมองมันมากกว่าความบันเทิงเชิงเผ็ดร้อน

 

ที่มา:

Tags: , , , ,