ในช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่กระจายเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยเช่นนี้ สิ่งที่คนทั่วไปพอจะช่วยไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ ก็คือ หลีกเลี่ยงไปในที่คนแออัด และกักตัวอยู่บ้าน (หากทำได้)

การกักตัวเองเช่นนี้ภาษาอังกฤษมีอยู่สองคำที่นิยมใช้ ก็คือ (self-) quarantine และ (self-) isolation เนื่องจากว่าเคยเขียนถึงที่มาคำว่า quarantine ไปแล้ว ในสัปดาห์นี้ เราจะไปสืบหาต้นตระกูลและญาติพี่น้องของคำว่า isolation กัน และดูว่าการกักตัวเกี่ยวข้องกับความโลกแคบ โรคเบาหวาน และคาบสมุทรอย่างไร

กักตัว

คำนี้หากสืบกลับไปแล้วจริงๆ ก็จะพบว่ามาคำว่า กริยา insulare ในภาษาละติน ที่หมายถึง ทำให้เป็นเกาะ มาจากคำว่า insula ที่แปลว่า เกาะ อีกทอดหนึ่ง (ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมคำว่า island จึงมีตัว s ที่ไม่ออกเสียงอยู่ด้วย)

ส่วนที่เกาะกับการแยกตัวมาเกี่ยวกันได้ก็เพราะเกาะคือผืนแผ่นดินที่ห้อมล้อมด้วยน้ำ ไม่มีส่วนใดติดกับแผ่นดินใหญ่ พูดอีกอย่างก็คือตัดขาดกับแผ่นดินอื่น มีความเป็นเอกเทศนั่นเอง ภาพเช่นนี้ชวนให้นึกถึง จอห์น ดันน์ นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งเคยเขียนไว้ในผลงาน Devotions upon Emergent Occasions ว่า “No man is an island” หรือ ไม่มีมนุษย์คนใดเป็นเกาะ กล่าวก็คือ มนุษย์ต่างต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น ไม่มีใครอยู่ตัวคนเดียวได้

ในปัจจุบัน เรามักจะพบคำว่า isolation ในสองความหมายหลักๆ หนึ่งก็คือ การแยกสิ่งสิ่งหนึ่งออกจากสิ่งอื่นๆ เช่น Not everyone can afford to put themselves in isolation. ไม่ใช่ใครก็จะมีปัญญากักตัวเอง ส่วนอีกความหมายคือ ความโดดเดี่ยว (ซึ่งเป็นความรู้สึกอันแสนปกติของคนที่ถูกกักตัวอยู่คนเดียว) เช่น The sense of isolation was almost unbearable. คือ รู้สึกโดดเดี่ยวจนแทบทนไม่ไหว

คำว่า isolation นี้ยังเป็นต้นคำของคำว่า isolationism หรือ นโยบายโดดเดี่ยว การปลีกตนเองออกจากสังคมโลก ปกป้องแต่ผลประโยชน์ชาติตนเอง ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับนานาประเทศ แบบที่เราเห็นกันได้มากขึ้นในการเมืองโลกทุกวันนี้ นับได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับ globalization หรือโลกาภิวัตน์ นั่นเอง

โลกแคบ

คำว่า insula ที่แปลว่า เกาะ ในภาษาละติน ยังเป็นที่มาของคำว่า insular ในภาษาอังกฤษด้วย

คำนี้เป็นคุณศัพท์ที่น่าสนใจเพราะแม้แต่เดิมจะใช้หมายถึง เกี่ยวข้องกับเกาะ เป็นหลัก (เช่น insular areas คือ บริเวณที่เป็นเกาะ) แต่ในปัจจุบันมักใช้แบบเปรียบเปรยในความหมายว่า โลกแคบ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ไม่ใส่ใจความเป็นไปของโลก ทำนองว่าใช้ชีวิตแยกจากผู้อื่นราวกับตัวเองเป็นเกาะ ไม่ได้รู้เรื่องของชาวบ้านชาวช่องนอกกลุ่มหรือเขตแดนของตนเอง เช่น Her insular upbringing explained why she had difficulty embracing a different culture. ก็คือ เพราะถูกเลี้ยงมาแบบไม่ค่อยได้ไปเจอโลกภายนอก เลยยอมรับวัฒนธรรมอื่นไม่ค่อยได้

คาบสมุทร

คำที่ใช้เรียกคาบสมุทรในภาษาอังกฤษคือ peninsula เช่น คาบสมุทรมาลายู เรียก the Malay Peninsula เป็นต้น คำนี้ก็มาจาก insula ที่แปลว่า เกาะ เช่นกัน แต่มี pen- ที่แปลว่า เกือบ แปะอยู่ด้านหน้า เลยทำให้ได้ความหมายว่า เกือบจะเป็นเกาะ ซึ่งก็เหมาะจะนำมาใช้เรียกคาบสมุทรเพราะคาบสมุทรคือแผ่นดินที่ยื่นลงไปในมหาสมุทร ห้อมล้อมด้วยน้ำสามด้าน มีลักษณะเกือบจะเป็นเกาะ

ทั้งนี้ ส่วนเติมหน้า pen- ที่แปลว่า เกือบนี้ ยังพบได้ในคำว่า penultimate แปลว่า ก่อนท้ายสุด (pen- รวมกับ ultimate ที่แปลว่า ท้ายสุด) เช่น penultimate syllable คือ พยางค์ที่สองนับจากด้านท้ายของคำ และ penumbra (pen- รวมกับ umbra ในภาษาละตินที่แปลว่า เงา) หมายถึง เงามัว อาจจะหมายถึงเงาของวัตถุส่วนที่ไม่ทึบสนิทหรือเงาที่ไม่ทึบสนิทเวลาเกิดอุปราคา ก็ได้

ฉนวน

กริยา insulare ในภาษาละตินที่แปลว่า ทำให้เป็นเกาะ นอกจากจะทำให้เกิดคำว่า isolation แล้ว ยังเป็นที่มาของคำว่า insulation ที่แปลว่า ฉนวนหรือวัสดุที่นำมาบุเพื่อกันไม่ให้เสียง ความร้อน หรือกระแสไฟฟ้า ผ่านไปได้ ด้วย เช่น thermal insulation (ฉนวนกันความร้อน/เย็น) หรือ electrical insulation (ฉนวนกันไฟฟ้า)

แน่นอนว่าที่เกาะมาเกี่ยวข้องกับฉนวนได้ ก็เพราะฉนวนคือสิ่งที่ห่อหุ้มให้ของด้านในไม่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอก เปรียบเทียบได้กับการสร้างเกาะซึ่งไม่ติดกับแผ่นดินใหญ่ขึ้นมานั่นเอง

อีกคำหนึ่งในตระกูล insulation ที่น่าสนใจก็คือ insulated ซึ่งใช้เป็นคุณศัพท์ได้เมื่อต้องการสื่อว่าอะไรบางอย่างได้รับการปกป้องหรือปลอดภัยจากสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น The uber rich are well insulated from a recession. ก็คือ เวลาเกิดเศรษฐกิจถดถอย พวกรวยโคตรๆ นี่ไม่รู้สึกหรอก

อินซูลิน

อินซูลิน (insulin) เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่หลั่งจากตับอ่อน ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต คนที่เป็นโรคเบาหวานจะมีการหลั่งอินซูลินที่ผิดปกติ ทำให้จำเป็นที่จะต้องฉีดอินซูลินสังเคราะห์เข้าไปทดแทน

ชื่อของฮอร์โมนชนิดนี้ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่มาจากคำว่า insula ที่แปลว่า เกาะ ในภาษาละติน แต่ในที่นี้ไม่ใช่เกาะทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นเกาะทางกายภาพในร่างกายเรา

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักเรียนแพทย์คนหนึ่งนามว่า พอล ลังเกอร์ฮันส์ (Paul Langerhans) พบกลุ่มเซลล์ที่จับกันเป็นกลุ่มๆ ในตับอ่อนดูแล้วมีลักษณะคล้ายเกาะ จึงตั้งชื่อกลุ่มเซลล์พวกนี้ว่า ไอซ์เล็ตออฟลังเกอร์ฮันส์ (islets of Langerhans ซึ่งถ้าจะแปลตรงๆ ก็คือ หมู่เกาะน้อยของลังเกอร์ฮันส์) โดยที่ตัวลังเกอร์ฮันส์เองนั้นก็ยังไม่รู้ว่าเซลล์พวกนี้ทำหน้าที่อะไร

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงมีนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าเจ้ากลุ่มเซลล์ในตับอ่อนที่ว่านี้เป็นตัวผลิตฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายมนุษย์ จึงนำชื่อของกลุ่มเซลล์นี้มาตั้งชื่อฮอร์โมนนี้ว่า อินซูลิน นั่นเอง

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

http://www.oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayers, Donald M. English Words from Latin and Greek Elements. 2nd ed. The University of Arizona Press: Tuscon, 1986.

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Parker, Steve. Kill or Cure: An Illustrated History of Medicine. DK: New York, 2013.

Shorter Oxford English Dictionary

 

Tags: ,