เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้ผู้คนแหงนหน้ามองฟ้ากันยกใหญ่ นั่นก็คือ จันทรุปราคาเต็มดวงและซูเปอร์มูนสีแดง สองสิ่งนี้ไม่ได้เกิดให้เห็นบ่อยๆ แต่ครั้งนี้ประจวบเหมาะ เกิดพร้อมกันเสียด้วย

แม้ว่าหลายคนจะรู้จักหรือเคยเห็นจันทรุปราคามาแล้ว แต่อาจไม่ทราบว่าอันที่จริงแล้วคำว่า eclipse ที่แปลว่า อุปราคา เกี่ยวข้องกับ วงรี และ เลข 11 – 12 ด้วย

อุปราคา

คำว่า อุปราคา ภาษาอังกฤษเรียก eclipse ถ้าเป็นสุริยุปราคา หรือเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่บังดวงอาทิตย์ ก็จะเรียกว่า solar eclipse ในทางกลับกัน หากเป็นจันทรุปราคาหรือเมื่อดวงจันทร์เป็นฝ่ายถูกบัง ก็จะเรียกว่า lunar eclipse

คำว่า eclipse มาจาก ex- ที่แปลว่า ออกหรือด้านนอก (แบบที่เจอในคำว่า exit) รวมกับกริยา leipein ในภาษากรีกที่แปลว่า ออก จากไป ได้ความหมายรวมว่า ละทิ้ง หรือ ไม่ปรากฏ

ภาษาอังกฤษยืม eclipse มาใช้หมายถึง อุปราคา เพราะส่วนหนึ่งของดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ถูกบดบังและมองไม่เห็นนั่นเอง

eclipse ยังใช้เป็นกริยาได้ด้วย อาจใช้แปลว่า บดบัง เพื่ออธิบายอุปราคา เช่น หากดวงอาทิตย์บดบังดวงจันทร์ ก็อาจพูดว่า The sun eclipsed the moon. หรืออาจใช้ในเชิงอุปมา แปลว่า ทำให้อีกสิ่งหนึ่งเด่นน้อยกว่า เหมือนโดนบดบังหรือทอดเงาใส่ เช่น His success is eclipsed by the scandal. ก็จะหมายถึง เรื่องฉาวที่เกิดขึ้นกลบเรื่องความสำเร็จของเขา

การเปรียบแสงกับความเด่นดัง และความมืดกับสิ่งที่ไม่เด่นเท่า ยังเจอในคำว่า overshadow ที่แปลว่า เด่นกว่า ในเชิงว่า ทอดเงาใส่ให้อีกสิ่งที่เด่นน้อยกว่า และ outshine ที่แปลว่า เด่นกว่า ในเชิงที่ว่า ส่องสว่างกว่า อีกด้วย เช่น Jim has always been overshadowed/outshone by his brother. ก็จะหมายถึง จิมถูกพี่ชายดับรัศมีมาตลอด หรือจะพูดว่า Jim has always been in the shadow of his brother. ก็ได้

อุปราคาเกี่ยวอะไรกับวงรี

ที่อุปราคาหรือ eclipse มาเกี่ยวกับวงรีที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ellipse ได้ ก็เพรา ellipse มาจากกริยา leipein ที่แปลว่า ออก จากไป เช่นกัน มารวมกับส่วนเติมหน้า en- ที่แปลว่า ใน รวมความหมายได้ว่า ขาด พร่อง

ก่อนจะอธิบายได้ว่า ทำไมความขาดหรือพร่องถึงเกี่ยวข้องกับวงรี อาจต้องทำความเข้าใจเรื่องภาคตัดกรวย (conic section) สักนิด

ลองจินตนาการว่า มีกรวยกระดาษกับกระจกใสบานหนึ่ง ถ้าเรานำกระจกใสบานนี้มาแทรกทะลุกรวยโดยให้บานกระจกขนานกับพื้น เราก็จะเห็นกระดาษกรวยบนกระจกเป็นวงกลมเหมือนฐานของกรวย แต่หากเราเริ่มตั้งบานกระจกนี้ให้ทำมุมเอียงกับพื้นเพิ่มขึ้น ภาพที่ได้ก็จะไม่ใช่วงกลมอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นวงรีแทน แต่หากเราตั้งกระจกเอียงขึ้นไปอีกจนเกินมุมเอียงของกรวยเอง กระจกนี้ก็จะไม่ตัดผ่านกรวยของเราและไม่เกิดรูปวงรี

พูดอีกอย่างก็คือ ถ้าจะตัดกรวยให้ได้วงรี จะต้องตัดทำมุมกับพื้น และมุมนี้จะต้องน้อยกว่ามุมเอียงของกรวยเอง ด้วยความที่องศาของระนาบที่จะทำให้เกิดวงรีน้อยกว่า หรือ พร่องไปจากมุมเอียงของกรวย นักเรขาคณิตชาวกรีกเลยเรียกรูปที่เกิดขึ้นจากการตัดกรวยแบบนี้จึงเรียกว่า ellipse นั่นเอง

อุปราคาเกี่ยวกับอะไรกับเลข 11 – 12

คำว่า leipein ในคำว่า eclipse นี้ ว่ากันว่า ถ้าสืบสาวย้อนไปจริงๆ แล้ว จะไปถึงราก *leikw- ที่แปลว่า ออก ทิ้ง หรือ เหลือ ในภาษา Proto Indo-European อันเป็นภาษาต้นตระกูลของภาษามากมาย

ถ้าสังเกตคำว่า eleven และ twelve ดีๆ แล้ว จะเห็นว่าส่วนท้ายเลขสองตัวนี้มีลักษณะคล้ายๆ กัน นั่นก็เพราะมาจากส่วนประกอบเดียวกัน คือ -lif ซึ่งมาจากราก *leikw ที่ว่า แปลว่า เหลือ อีกที ใช้ในความหมายว่าเหลือเมื่อเกินหรือครบ 10 แล้ว

พอรวมกับคำที่แปลว่า *ain ที่แปลว่า 1 เลยได้เป็น eleven แปลว่า เกิน 10 มาอีก 1 และเมื่อรวมกับ *twa ที่แปลว่า 2 เลยได้เป็น twelve แปลว่า เกิน 10 มา 2 นั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ว่ากันว่า ที่ 11 และ 12 ไม่ได้เรียกเป็น oneteen หรือ twoteen แบบเลข 13-19 ก็เพราะคนแต่ก่อนหลายแห่งใช้เลขฐาน 12 เป็นหลัก เหตุผลก็เพราะไม่ค่อยต้องนับอะไรเกิน 12 ชิ้น อีกทั้งเลข 12 หารลงตัวได้หลายแบบ ทำให้แบ่งของได้ง่าย แถมยังนับด้วยมือเดียวได้เมื่อใช้นิ้วโป้งนับปล้องนิ้วที่เหลืออีกด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้เรามีคำว่า dozen ที่แปลว่า โหล หรือ 12 ใช้ด้วย

จันทรุปราคา วงรี และเลข 11-12 จึงมาเกี่ยวกันได้ด้วยเหตุผลเช่นนี้นี่เอง

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
  • Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.
Tags: , , , , ,