ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ โรคที่ขึ้นพาดหัวข่าวให้เราติดตามทุกวัน จนล่าสุดสำนักข่าวนานาชาตินำไปรายงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็คือ โรคพิษสุนัขบ้า

ดังนั้น สัปดาห์นี้เราจะไปทำความรู้จักโรคนี้ให้ดีขึ้นผ่านคำศัพท์ที่เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมเกร็ดที่มาที่น่าสนใจของคำเหล่านี้

Rabies – โรคพิษสุนัขบ้า

อันที่จริง โรคนี้ปรากฏในบันทึกมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาลแล้ว ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการวิตกจริต คลุ้มคลั่ง เห็นภาพหลอน จึงเรียกโรคกันนี้ว่า rabies เป็นคำภาษาละติน แปลว่า ความคลุ้มคลั่ง มาจากกริยา rabere ที่แปลว่า คลุ้มคลั่ง

กริยา rabere นี้เป็นที่มาของคำคุณศัพท์ rabid ในภาษาอังกฤษ จะใช้อธิบายสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าก็ได้ เช่น rabid dog หรือจะใช้บรรยายคนที่บ้าคลั่ง ใช้ความรุนแรง ลักษณะคล้ายหมาบ้าก็ได้ เช่น rabid feminist ก็จะหมายถึง เฟมินิสต์ที่สุดขั้ว ก้าวร้าว ไม่ฟังเหตุผลคนอื่น

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ rabies แม้จะลงท้ายด้วย -ies ชวนให้เข้าใจว่าเป็นนามพหูพจน์ แต่ที่จริงแล้วใช้กับกริยาเอกพจน์ เช่นเดียวกับโรคที่ชื่อลงท้ายด้วย -s อีกหลายๆ โรค เช่น mumps (คางทูม) measles (หัด) shingles (งูสวัด) และ diabetes (เบาหวาน)

Hydrophobia – โรคกลัวน้ำ

คนที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามักมีอาการกลืนน้ำลำบาก เมื่อพยายามกลืนน้ำลายหรือดื่มน้ำ กล้ามเนื้อบริเวณลำคอก็จะบีบตัว สร้างความเจ็บปวดทรมาน ทำให้หวาดผวาน้ำ ด้วยเหตุนี้ เมื่อก่อนคนจึงเรียกโรคพิษสุนัขกันว่า hydrophobia แปลได้ตรงตัวว่าโรคกลัวน้ำ

คำนี้ประกอบจาก hydro- ที่มาจากภาษากรีก แปลว่า น้ำ พบเจอได้ในคำต่างๆ เช่น hydrogen (ธาตุที่ทำให้เกิดน้ำ) hydroponics (การปลูกผักในน้ำ) hydrate (เติมน้ำ) มารวมกับ -phobia ที่ใช้หมายถึง ความกลัว เช่นที่เจอในคำอย่าง arachnophobia (โรคกลัวแมงมุม) acrophobia (โรคกลัวความสูง) หรือ claustrophobia (โรคกลัวที่แคบ)

ฟังเสียง arachnophobia

 

ทั้งนี้ phobia อันที่จริงแล้วมาจากคำว่า phobos ในภาษากรีกอีกที แปลว่า ความกลัว ปรากฏในปกรณัมกรีก Phobos เป็นชื่อลูกชายของเอรีส (Ares) เทพแห่งสงคราม (เทียบได้กับเทพมาร์ส หรือ Mars ของชาวโรมัน) และอโฟรไดที เทพีแห่งความรักชู้สาว (เทียบได้กับเทพีวีนัส หรือ Venus ของชาวโรมัน) เป็นเทพที่เป็นบุคลาธิษฐานของความกลัว ปกติมักจะปรากฏตัวในสนามรบอยู่ในขบวนของเทพผู้พ่อร่วมกับแฝดชื่อเดมอส (Deimos) ซึ่งเป็นเทพแห่งความหวาดหวั่น ไม่ว่าจะขี่รถเทียมม้าไปทางไหนก็มีแต่เสียงกรีดร้องด้วยความกลัว ด้วยความที่แฝดโฟบอสและเดมอสเป็นลูกชายของเทพเอรีสหรือมาร์สของทางโรมัน จึงนำมาตั้งเป็นชื่อดวงจันทร์ทั้งสองของดาวอังคารด้วย

Vector – พาหะ

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ติดต่อผ่านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หมาเท่านั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เรามีโอกาสพานพบในชีวิตประจำวันอย่าง แมว หนู กระรอก ก็แพร่เชื้อพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน สัตว์จำพวกนี้เรียกว่าเป็นสัตว์พาหะ หรือที่เรียกว่า vector ในภาษาอังกฤษ

คำว่า vector มาจากกริยา vehere ในภาษาละติน แปลว่า ลำเลียง นำพาไป เมื่อนำมาใช้กับเชื้อโรคจึงหมายถึงสิ่งที่นำเชื้อโรคไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นได้ คำว่า vector นี้ ยังใช้ในฟิสิกส์ หมายถึง ปริมาณที่มีขนาดและทิศทาง ด้วยความที่มีทิศทาง ทำให้เห็นภาพว่ามีการเคลื่อนที่ออกจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ปริมาณประเภทนี้จึงได้ชื่อว่า vector

Vector นี้ยังเป็นญาติกับคำว่า vehicle ที่แปลว่า ยานพาหนะ เพราะทั้งคู่มาจาก vehere ทั้งคู่ แรกเริ่มเดิมที vehicle ใช้หมายถึง สารที่ไว้ใช้ละลายตัวยาเพื่อให้ให้ยาผู้ป่วยได้สะดวกขึ้น ภายหลังนำมาใช้ทั้งหมายถึงยวดยานที่ใช้ในการเดินทาง หรือจะใช้ในเชิงเปรียบ หมายถึง เครื่องมือในการถ่ายทอดก็ได้ เช่น Language is the vehicle of thought. ก็จะไม่มีรถยนต์หรือจักรยานยนต์มาเกี่ยวข้อง แต่จะหมายความว่า ภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิด

Vaccine – วัคซีน

วิธีการสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเรากลายเป็นพาหะโรคพิษสุนัขบ้าก็คือการนำลูกรักของเราไปฉีดวัคซีน (vaccine) วัคซีนนี้มีเชื้ออยู่ แต่ไม่แรงพอที่จะทำให้เกิดโรค ร่างกายจึงยังต่อสู้ไหวและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันตัวหากเจอเชื้อโรคเดียวกันในอนาคต

คำว่า vaccine มาจากคำนาม vacca ในภาษาละตินที่แปลว่า วัว เพื่อให้เห็นว่าวัวมาเกี่ยวกับวัคซีนได้อย่างไร ก็ต้องย้อนกลับไปถึงการคิดค้นวัคซีน สมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เอ็ดเวิร์ด เจ็นเนอร์ (Edward Jenner) เห็นว่าคนรีดนมวัวมักไม่เป็นโรคฝีดาษซึ่งเป็นโรคร้ายแรงถึงตาย เพราะว่าติดโรคฝีดาษวัวที่อาการเบากว่ามากไปแล้ว จึงทดลองนำหนองของคนรีดนมวัวที่เคยเป็นฝีดาษวัวแล้วไปปลูกในเด็กวัยแปดขวบ ภายหลังพบว่าเด็กคนนี้ไม่ติดเชื้อฝีดาษ จึงเริ่มขยายมาทดลองกับลูกตัวเองด้วยและตีพิมพ์วิธีการลงในวารสาร โดยตั้งชื่อวิธีการนี้ว่า vaccination เพราะเป็นการนำเชื้อฝีดาษวัวมาใส่ในร่างกาย

ทั้งนี้ ผู้ที่คิดค้นวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าไม่ใช่เอ็ดเวิร์ด เจ็นเนอร์ แต่เป็น หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นกระบวนการพาสเจอไรซ์ และฝากชื่อไว้ในคำว่า pasteurize อย่างที่เราเจอบนกล่องนมนั่นเอง

Quarantine – กักตัวดูอาการ

หากพบเจอสัตว์ที่ต้องสงสัยว่ามีเชื้อพิษสุนัขบ้า ก็จะต้องนำมากักตัวไว้เพื่อดูอาการ การกักตัวแบบนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า quarantine

 

คำนี้มีที่มาจากสมัยที่กาฬโรคระบาดในยุโรปและคร่าชีวิตคนในทวีปราวหนึ่งในสาม หลังจากที่ผู้คนล้มตายเป็นเบือ ทางการประเทศต่างๆ จึงเริ่มหามาตรการป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจาย ไม่ว่าจะจับผู้ป่วยไปปล่อยเกาะบ้าง หรือไม่ให้ผู้คนเดินทางเข้าออกพื้นที่บางแห่งบ้าง

ส่วนที่เมืองเวนิซ เพื่อให้มั่นใจว่าคนบนเรือที่จะมาเทียบท่าไม่ได้พกพาเชื้อโรคกาฬโรคมาด้วย ทางการจึงออกกฏให้เรือที่ต้องสงสัยลอยลำอยู่ 40 วันก่อนจะให้เทียบท่า ช่วงเวลา 40 วันนี้ในภาษาอิตาเลียนเรียกว่า quarantina giorni (quarantina คือ 40 ส่วน giorni คือ วัน) ไปๆ มาๆ ส่วนแรกของคำนี้ก็กลายมาใช้เรียกการกักตัวเพื่อดูว่ามีโรคไหม และกลายเป็นคำว่า quarantine แบบที่ใช้กันทุกวันนี้นั่นเอง

 

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2 nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Barber, Katherine. Six Words You Never Knew Had Something to Do with Pigs: And Other Fascinating Facts about the English Language. Penguin Books: New York, 2006.
  • Dobson, Mary. Murderous Contagion: A Human History of Disease. Quercus: London, 2015.
  • Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
  • Parker, Steve. Kill or Cure: An Illustrated History of Medicine. DK: New York, 2013.
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Fact Box

ชาวกรีกโบราณเรียกโรคพิษสุนัขบ้าว่า lyssa แปลว่า คลุ้มคลั่ง เช่นเดียวกับ rabies และเป็นชื่อเทพีแห่งความคลุ้มคลั่งของกรีกด้วย ภายหลังเมื่อพบว่าโรคนี้เกิดจากไวรัส จึงตั้งชื่อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าว่า lyssavirus

Tags: , , ,