แม้เราจะเพิ่งก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่มาได้แค่สิบกว่าวัน แต่เหตุการณ์ความเป็นไปต่างๆ รอบโลกกลับชวนให้คิดว่าโลกอาจถึงคราวใกล้ดับสูญ ไม่ว่าจะเป็นการที่ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งปลิดชีพผู้บัญชาการทหารคนสำคัญของอิหร่าน ทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางระอุจนคนกลัวกันว่าจะเป็นการจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไฟป่าในออสเตรเลียที่เผาไหม้สร้างความเสียหายมหาศาลมานับเดือนโดยยังไม่มีทีท่าว่าจะมอดลงแต่อย่างใด รวมไปถึงการระบาดของโรคปอดอักเสบปริศนาที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดในประเทศจีน

เมื่อหันกลับมาดูในบ้านตัวเอง เหตุการณ์ต่างๆ ก็ไม่ได้ดูมีความหวังไปกว่ากัน เพราะนอกจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะยังอยู่กับเราต่อไปจนอีกหน่อยอาจจะต้องใส่ในคำขวัญประจำจังหวัดแล้ว ก็ยังมีข่าวน้ำแล้งรุนแรงและข่าวน้ำทะเลหนุนส่งผลให้น้ำประปาเค็มอีกด้วย

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะเปิดศักราชใหม่อันหม่นหมองด้วยศัพท์และสำนวนที่เกี่ยวข้องวันโลกาวินาศให้เข้ากับเหตุการณ์ความเป็นไปต่างๆ รอบโลกและในประเทศกัน

Apocalypse

เนื่องจากความเชื่อเรื่องวันสิ้นโลกส่วนใหญ่ของชาวตะวันตกมาจากคริสต์ศาสนา ดังนั้น คำและสำนวนเกี่ยวกับจุดจบของโลกส่วนใหญ่จึงมักมีที่มาจากคัมภีร์ไบเบิล ทั้งนี้ ส่วนของคัมภีร์ไบเบิลซึ่งกล่าวถึงวันสิ้นโลกไว้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ หนังสือวิวรณ์ (The Book of Revelation) ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ (The New Testament) หนังสือเล่มนี้ระบุไว้ถึงวิวรณ์หรือนิมิตของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อโลกถึงกาลอวสาน ซึ่งพระเจ้าได้ประทานแก่พระเยซูและพระเยซูได้ให้เทวทูตนำมาเปิดเผยแก่จอห์น (ด้วยเหตุนี้ หนังสือเล่มนี้จึงมีชื่อว่า The Book of Revelation)

หนึ่งในคำที่ใช้หมายถึงวันสิ้นโลกในภาษาอังกฤษก็คือ apocalypse อันที่จริงแล้วคำว่า apocalypse มีความหมายคล้ายคำว่า revelation คือ การเปิดเผย การไขความ วิวรณ์ แต่เนื่องจากสิ่งที่ถูกเปิดเผยในที่นี้คือนิมิตของเหตุการณ์ที่จะเกิดในวันสิ้นโลก คำว่า apocalypse จึงเริ่มถูกนำมาใช้ในความหมายว่า วันสิ้นโลก (เช่น Some people believed the apocalypse would be upon us soon.)

แต่เนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันสิ้นโลกมักเกี่ยวข้องกับการทำลายล้าง เช่น แผ่นดินท้องฟ้าอันตรธานหายไป คนบาปถูกโยนลงในบึงเพลิง เรียกได้ว่า โลกอย่างที่เรารู้จักถึงกาลดับสูญโดยแท้ ดังนั้นคำว่า apocalypse จึงเริ่มถูกนำมาใช้หมายถึง การทำลายล้างขั้นรุนแรง ภัยพิบัติ ความวิปโยค ไม่ได้หมายถึงวันสิ้นโลกตามความเชื่อทางศาสนาจริงๆ เช่น หากสหรัฐอเมริกาและอิหร่านใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีกันจริงๆ จนเกิดการทำลายล้างมหาศาล เราก็อาจเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า a nuclear apocalypse หรือแม้แต่เหตุการณ์ไฟป่าในออสเตรเลียที่สร้างความเสียหายแก่ป่าไม้และสัตว์ป่าต่างๆ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็น an environmental apocalypse เช่นกัน หรือหากเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับซอมบี้ครองโลก แบบนี้ก็จะเรียกว่า a zombie apocalypse

นอกจากนั้น คำว่า apocalypse ยังถูกเอาไปผสมกับคำอื่นเป็นคำใหม่ (portmanteau) เพื่อใช้พูดถึงเหตุการณ์ที่ชวนให้นึกถึงมหันตภัยบางอย่าง เช่น หากรถติดยาว 10 กม. เป็นเวลา 6 ชั่วโมงแบบไม่มีการเคลื่อนตัว แบบนี้ก็จะเรียกกันว่า carpocalypse หรือหากหิมะตกหนักจนขาวโพลนไปหมด ขับรถก็มองไม่ค่อยเห็นทาง คนจะออกจากบ้านก็ต้องเอาพลั่วออกมาตักหิมะออกก่อนถึงจะไปไหนต่อไหนได้ แบบนี้ก็จะเรียกว่า snowpocalypse

อีกสองคำที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจก็คือคำว่า apocalyptic ซึ่งเป็นรูปคุณศัพท์ หมายถึง เกี่ยวข้องกับวันสิ้นโลก เช่น apocalyptic fiction ก็คือ เรื่องแต่งเกี่ยวกับวันสิ้นโลก และคำว่า post-apocalyptic ซึ่งเป็นคุณศัพท์ที่ไว้ใช้บรรยายสภาพหลังวันสิ้นโลก เช่น a post-apocalyptic world หมายถึง โลกหลังวันสิ้นโลก

Armageddon

หนังสือวิวรณ์ยังระบุไว้ด้วยว่า เมื่อโลกถึงกาลดับสูญ บรรดาผีปีศาจชั่วร้ายจะไปรวบรวมกษัตริย์ทั่วโลกให้นำไพร่พลมารบพุ่งโรมรันกับกองทัพของพระผู้เป็นเจ้าในการรบครั้งสุดท้าย ณ สถานที่ที่มีชื่อว่า อาร์มาเกดดอน (Armageddon) (ทั้งนี้ นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าคำนี้มาจาก Har Megiddo ในภาษาฮีบรู หมายถึง ภูเขาหรือเนินเขาเมกิโด ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอิสราเอล)

ด้วยความที่การรบที่เกิดขึ้น ณ สถานที่นี้นำไปสู่การทำลายล้างเหล่าคนบาปจากโลกและการปราบซาตาน คำว่า Armageddon (มักเขียนขึ้นต้นด้วยตัวใหญ่) จึงเริ่มถูกนำไปใช้หมายถึงตัวการรบครั้งนี้แทนที่จะหมายถึงตัวสถานที่ และในเวลาต่อมา คำนี้ก็เริ่มถูกนำมาใช้ในบริบทอื่นที่ไม่ใช่เรื่องศาสนาเพื่อเรียกการสู้รบหรือความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่ส่งผลทำลายล้างรุนแรงจนอาจนำไปสู่จุดจบของมนุษยชาติหรือสร้างหายนะใหญ่หลวงจนชวนให้นึกถึงวันสิ้นโลก ตัวอย่างเช่น หากวันไหนทรัมป์และคิมจองอึนเกิดนึกครึ้มยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ใส่กัน เราก็อาจเรียกเหตุการณ์นี้ได้ว่า a nuclear Armageddon

​คำว่า Armageddon มีส่วนคล้ายกับ apocalypse อยู่นิดหนึ่งตรงที่คำนี้ก็สามารถหยิบไปยำกับคำอื่นเพื่อสร้างคำสุดบรรเจิดได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น carmageddon (รถติดแบบให้ตายกันอยู่ในรถกันไปข้างหนึ่ง) snowmageddon (หิมะตกไม่ลืมหูลืมตา)

Day of reckoning/doomsday

หนังสือวิวรณ์ยังเล่าต่อด้วยว่า หลังจากที่การรบที่อาร์มาเกดดอนสิ้นสุดลงและเมื่อซาตานถูกปราบแล้ว จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าการพิพากษาครั้งสุดท้าย (The Last Judgment) ในวันพิพากษา (Judgment Day) นี้ คนตายทั้งหมดจะฟื้นคืนชีพและรับคำพิพากษาจากพระเจ้าตามที่ระบุในหนังสือแห่งชีวิต ใครที่ศรัทธาและทำตามพระประสงค์ก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ส่วนคนบาปก็จะถูกจับโยนลงนรกให้มอดไหม้

ทั้งนี้ วันพิพากษายังมีชื่อเรียกอีกชื่อคือ day of reckoning (หากจะแปลให้แซบๆ หน่อยก็คงออกแนว วันคิดบัญชี) จึงถูกนำมาใช้เป็นสำนวนหมายถึง เวลาที่ต้องรับผลกรรมจากสิ่งที่ตนเองทำเอาไว้ เวลาที่จะได้รู้ดำรู้แดงว่าผลจะออกมาดีหรือร้าย ตัวอย่างเช่น นักการเมืองหลายคนจะโกงกินแต่ดันรอดตัวไปได้เสมอ หากเราเชื่อว่าสักวันหนึ่งนักการเมืองเหล่านี้จะต้องชดใช้ผลกรรมที่ตนเองทำไว้ แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า Their day of reckoning will come. หรือหากเราเรียนๆ เล่นๆ มาทั้งเทอม เราก็อาจจะเรียกวันสอบว่าเป็น the day of reckoning เพราะจะเป็นวันชี้ดำชี้แดงว่าสรุปเราได้ตักตวงฝึกฝนไว้พอที่จะสอบผ่านหรือเปล่า

อีกคำที่ใช้เรียกวันพิพากษาก็คือ doomsday มาจาก doom ซึ่งในที่นี้หมายถึง คำพิพากษาของพระผู้เป็นเจ้า รวมกับ day ที่แปลว่า วัน เนื่องจากวันพิพากษาดูเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลออกไป ไม่น่าเกิดในอนาคตอันใกล้ จึงทำให้เกิดสำนวน till doomsday หมายถึง นานชั่วกัปชั่วกัลป์ ชั่วนาตาปี ตัวอย่างเช่น ชาวกรุงที่หมดหวังกับปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ก็อาจจะรู้สึกว่า คงต้องรอชั่วกัลปวสานกว่าจะได้เห็นรัฐบาลลงมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า We’ll be waiting till doomsday before the government actually does something about the PM 2.5 problem. หรือหากได้งานมาชิ้นหนึ่งแล้วรู้เลยว่าต้องทำอีกนานแน่ๆ กว่าจะเสร็จ ก็อาจจะพูดว่า This is going to take me till doomsday.

Kingdom come

หนังสือวิวรณ์ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อวันพิพากษาจบลงแล้ว จะมีสวรรค์และโลกใหม่อันเป็นดินแดนบริสุทธิ์ที่ซึ่งพระเจ้าทรงประทับร่วมกับมนุษย์ อีกทั้งยังปราศจากความตายและความทุกข์โศกต่างๆ

อาณาจักรแห่งใหม่ของพระเจ้านี้เป็นที่มาของสำนวน kingdom come อันหมายถึง สวรรค์ โลกหน้า มีที่มาจากบทสวดข้าแต่พระบิดา (The Lord’s Prayer) ท่อนที่กล่าวว่า Thy kingdom come. หรือ พระอาณาจักรจงมาถึง (ซึ่งมาจากในพระวรสารนักบุญมัทธิวอีกที)

พอมาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจเกาหัวงงกับไวยากรณ์ของประโยคนี้ เพราะดูแล้วไม่เห็นจะเป็นประโยคที่ใช้วิงวอนได้เลย อีกทั้งกริยา come ก็ยังไม่ผันตาม Thy kingdom อีกต่างหาก (thy แปลว่า your) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะประโยคนี้เขียนด้วย subjunctive mood นั่นเอง หากจะเขียนใหม่ให้เป็นภาษาปัจจุบันก็จะได้ประโยคทำนองว่า May thy kingdom come.

สำนวน kingdom come ที่หมายถึง โลกหน้า นี้ไปปรากฏในสำนวนภาษาอังกฤษอื่นๆ เช่น till kingdom come แปลตรงตัวได้ว่า จนกระทั่งดินแดนของพระเจ้ามาถึง ใช้หมายถึง นานชั่วกัปชั่วกัลป์ คล้ายๆ till doomsday เช่น เรามีเพื่อนที่พูดน้ำไหลไฟดับชนิดที่ถ้าไม่มีใครเบรกก็พูดไปได้เรื่อยๆ จนถึงชาติหน้า แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า He’ll talk till kingdom come if no one interrupts. อีกสำนวนหนึ่งที่มี kingdom come ก็คือ blow/blast something to kingdom come หมายถึง ได้ไปอยู่กับพระเจ้าเพราะถูกยิงหรือโดนระเบิดจนเสียชีวิต เช่น สมมติว่าแม่เราลืมปิดแก๊สแล้ว แล้วเรามาเห็นเข้า ก็อาจจะบอกกับแม่ว่า You nearly blew us all to kingdom come. ก็จะหมายถึง เกือบแก๊สระเบิดตายหมดบ้านแล้วไหมนี่

The end of the world

ภาษาอังกฤษยังมีสำนวนอีกจำนวนหนึ่งที่พูดถึงจุดจบของโลกแบบกลางๆ ไม่ได้เอามาจากคัมภีร์ไบเบิลเลยเสียทีเดียว หนึ่งในสำนวนนั้นคือ The end of the world ซึ่งแม้จะแปลตรงตัวได้ว่า จุดอวสานของโลก แต่มักใช้แต่ในเชิงเปรียบเปรย หมายถึง เหตุการณ์ที่แย่หรือเลวร้ายจนเหมือนโลกถึงกาลล่มสลายเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น He felt like it’s the end of the world when his boyfriend left him. ก็คือ วันที่แฟนทิ้งรู้สึกเหมือนโลกล่มสลาย แต่โดยปกติแล้ว สำนวนนี้มักใช้ในเชิงปฏิเสธเพื่อบอกว่า เหตุการณ์ที่ว่าเลวร้ายแล้วก็ใช่ว่าจะเป็นจุดจบของชีวิต แค่นี้ไม่ถึงตาย ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเพื่อนเราที่คลั่งไคล้วงบอยแบนด์เกาหลีวงหนึ่งกดบัตรคอนเสิร์ตไม่สำเร็จแล้วรู้สึกเศร้าเป็นหมาหงอย เราก็อาจจะปลอบใจว่า It’s not the end of the world. ก็คือ แค่นี้เองไม่เป็นไร ไม่ตายหรอกแก

อีกสำนวนที่เกี่ยวข้องกับวันสิ้นโลกก็คือ until the end of time แปลตรงตัวได้ว่า จนกว่ากาลเวลาจะสิ้นสุดลง แต่เนื่องจากคนที่เริ่มใช้สำนวนนี้คงไม่คิดว่าโลกจะถึงกาลอวสานในเร็ววัน (สงสัยเพราะยังไม่ได้มาเห็นโลกยุคปัจจุบัน) ก็เลยใช้สำนวนนี้ในความหมายว่า ตลอดไป เสมอไป เช่น I’ll love you until the end of time. ก็คือ จะรักเธอตราบชั่วฟ้าดินสลาย นั่นเอง

บรรณานุกรม

https://www.bible.com/th

https://www.biblegateway.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Crystal, David. Begat: The King James Bible & the English Language. OUP: New York, 2011.

d’Aulaire, Ingri. D’Aulaires’ Book of Norse Myths. The New York Review of Books: New York, 1995.

Gaiman, Neil. Norse Mythology. W.W. Norton & Company: New York, 2017.

Green, Roger Lancelyn. Myths of the Norsemen. Puffin Books: London, 2013.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

 

Fact Box

วันสิ้นโลกไม่ได้เป็นคติความเชื่อของคริสต์ศาสนาอย่างเดียว ในเทพปกรณัมนอร์สก็มีความเชื่อว่าชะตาได้กำหนดมาแล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์อันเทียบได้กับวันสิ้นโลก ในวันสิ้นโลกนั้น บรรดาทวยเทพต้องต่อสู้กับสัตว์ประหลาด เทพเจ้าบางองค์ต้องสังเวยชีวิตเพื่อปราบสัตว์ประหลาด เหตุการณ์ดังกล่าวมีชื่อว่า Ragnarok ซึ่งเป็นชื่อเกมที่คอเกมยุค 90 และยุคปี 2000 ต้นๆ น่าจะรู้จักกันดีด้วย

 

Tags: ,