“ห่างกันสักพัก ห่างกันสักพัก มันคงจะดีเสียกว่า” พลันได้ยินคำว่า ‘Social distancing’ ก็นึกถึงเพลงนี้ขึ้นมา ถ้าก่อนหน้านี้มีใครบอกเราให้ห่างกันสักพัก เราก็คงสงสัยว่า “ที่เธอบอกอย่างนั้น ที่เธอบอกอย่างนี้ที่จริงมันแปลว่าไง ไม่เข้าใจ ก็ต้องแกล้งเข้าใจ” แต่ตอนนี้ที่มีผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มจำนวนเป็นเลข 3 หลักแล้ว (แต่ก็ยังไม่บอกว่าเป็นระยะที่ 3 หรือไม่) เราก็จะยังสงสัยอยู่ดีว่า “สักพักนี่มันต้องนานแค่ไหน ตลอดชีวิต หรือจนฉันตาย ห่างกันทำไม” วันนี้ผมจะขอตอบคำถามของคุณหวายนะครับ

“ไม่เข้าใจ ก็ต้องแกล้งเข้าใจ” การเว้นระยะห่างทางสังคมคืออะไร?

การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) หรือเท่าที่ผมสังเกตการณ์การแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุขจะใช้คำว่า “การลดกิจกรรมทางสังคม” เป็นมาตรการที่หลายประเทศนำมาใช้ในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ ซึ่งตามนิยามของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) อเมริกาที่ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 หมายถึง การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากมารวมตัวกัน (mass gatherings) และการ ‘ยืนระยะ’ ห่างจากผู้อื่นประมาณ 2 เมตรหากเป็นไปได้

คำนี้จะต่างจากการแยกตัว (Quarantine) หรือ “การกักกัน” ที่ใช้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นการแยกผู้สัมผัส เช่น ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดไว้สังเกตอาการ (ยังไม่ป่วย) จนครบ 14 วันตามระยะฟักตัวที่นานที่สุด ส่วนการแยกโรค (Isolation) หรือ “การแยกกัก” (ภาษากฎหมายอีกเช่นกัน) จะใช้กับผู้ป่วยยืนยัน (ป่วยแล้ว) สำหรับระยะเวลาในการแยกโรคไม่แน่นอน เพราะจะต้องรอจนกว่าผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อติดต่อกัน 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 48 ชั่วโมง

“ห่างกันทำไม” ทำไมถึงต้องยืนระยะห่างจากผู้อื่น?

ละอองน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย สามารถกระเด็นออกไปได้ไกล 1-2 เมตร (1 เมตรถ้าอ้างอิงตามองค์การอนามัยโลก ส่วน 2 เมตรถ้าอ้างอิงตาม CDC) หากเราสูดหายใจเอาละอองเหล่านั้นเข้าไป หรือมือไปสัมผัสโดนละอองตามพื้นผิวสิ่งของแล้วมาขยี้ตา จมูก หรือป้ายปากก็จะสามารถติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ได้ ดังนั้นหากเราจะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อจากผู้อื่น ซึ่งเราไม่รู้ว่าใครป่วย-ไม่ป่วย เมื่อเข้าไปในที่คนพลุกพล่าน จึงต้องอยู่ห่างจากคนรอบข้างอย่างน้อย 1 ช่วงแขน  (นึกถึงตอนเข้าแถวสมัยเรียนชั้นอนุบาลขึ้นมาทันที) ไม่ว่าจะในขณะยืน เดิน หรือนั่ง

บทเรียนจากการควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีค่าการแพร่กระจายพื้นฐาน (Basic reproductive number) เท่ากับ 2.5 หมายถึงว่าผู้ป่วยหนึ่งคนสามารถแพร่เชื้อต่อให้อีกคนหนึ่งได้อีก 2-3 คน และมีช่องทางการติดต่อเหมือนกับโควิด-19 หากเราใช้มาตรการระยะห่างทางสังคมจะสามารถลดค่านี้ลงได้ถึง 60% เมื่อใช้ร่วมกับมาตรการอื่น เช่น การแยกตัว การแยกโรค ก็จะสามารถทำให้ค่านี้น้อยลงอีก ซึ่งพอค่านี้น้อยกว่า 1 ในทางทฤษฎีจะเท่ากับการตัดโอกาสการแพร่ระบาดออกไปได้

ถ้าจะเปรียบเทียบเป็นกราฟ หลายท่านน่าจะเคยเห็นเรื่องการชะลอเส้นโค้งการระบาด (Flatten the curve) ผ่านตากันมาแล้วบ้าง (ภาพที่ 1) ที่จะมีเส้นโค้งสีแดงพุ่งสูงปรี๊ด เพราะจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 จะเพิ่มเป็นสองเท่าทุกๆ 4-7 วัน แต่ถ้ามีการ ‘ห่างกันสักพัก’ การระบาดจะถูกย่อลงเป็นเส้นโค้งสีเขียว คือจำนวนผู้ป่วยลดลง ไม่ป่วยเข้าโรงพยาบาลพร้อมกันทีเดียว และนักวิจัยมีเวลาพอในการคิดค้นยาและวัคซีน ซึ่งถ้าทุกคนเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเต็มที่ก็จะสามารถกดจำนวนผู้ป่วยลงเป็นเส้นโค้งสีฟ้า

ภาพจำลองการระบาดของโควิด-19 (ดัดแปลงจาก: Anderson, R. M. et al, 2020) เส้นโค้งสีฟ้าจำลองการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มักเกิดการระบาดตามมาภายหลัง เพราะมาตรการถูกยกเลิก แต่ถึงตอนนั้นน่าจะมียาและวัคซีนพร้อมแล้ว

“ห่างกันสักพัก เพื่อจะไปรักคนอื่นมากกว่า” จริงหรือ?

ส่วนการหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เราสามารถทำได้ตั้งแต่ ‘ระดับบุคคล’ ด้วยการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน (ขอย้ำเรื่องการล้างมือบ่อยๆ ว่าสามารถป้องกันโรคนี้ได้ สำหรับใครที่กลัวการนำเชื้อมาส่งที่บ้าน) การวางแผนซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ เช่น จากเดิมต้องเข้าไปซื้อของวันละ 3 เวลา ก็รวบรวมรายการสินค้าซื้อในคราวเดียวกัน การเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน การหลีกเลี่ยงการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน ส่วนถ้าใครมีอาการป่วยก็ต้องลางาน และแยกจากสมาชิกคนอื่นในบ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นต้องไปพบแพทย์

จนไปถึง ‘ระดับองค์กรหรือสังคม’ ที่สามารถทำได้ด้วยการปิดมหาวิทยาลัยที่ผมเห็นว่าหลายมหาวิทยาลัยเริ่มการเรียนทางออนไลน์แล้ว แต่ในกรณีนี้อาจช่วยในการควบคุมโรคได้ไม่เท่ากับกรณีไข้หวัดใหญ่ เพราะผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนจนถึงสูงอายุ การห้ามผู้สูงอายุออกจากบ้านจึงสำคัญกว่า (แต่การปิดมหาวิทยาลัยอาจช่วยลดนักเรียน/นักศึกษาติดเชื้อจากข้างนอก แล้วเข้ามาติดญาติผู้ใหญ่ในบ้าน) ซึ่งผู้สูงอายุมักจะต้องไปรับยาโรคประจำตัวที่โรงพยาบาล ฉะนั้น การเลือกบริการรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านหรือทางไปรษณีย์น่าจะเหมาะสม

รวมถึงการเลื่อนหรือยกเลิกงานเทศกาล การแข่งขันกีฬา หรือกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากมารวมตัวกัน (โดยนิยามของ mass gathering เดิมใช้ตัวเลข 1,000-25,000 คน หรือ large gatherings คือมากกว่า 250 คนขึ้นไป แต่ล่าสุด 15 มีนาคม 2563 CDC แนะนำให้ประกาศงดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเกิน 50 คนขึ้นไป) ยกตัวอย่างที่ทางการจีนตัดสินใจประกาศยกเลิกการจัดงานเฉลิมฉลองตรุษจีนเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ก่อนหน้าวันจริงเพียง 1 วัน สำหรับไทยนอกจากงานเล่นน้ำสงกรานต์แล้ว การเข้าวัดทำบุญซึ่งผู้เข้าร่วมมักเป็นผู้สูงอายุก็ควรมีมาตรการป้องกันด้วย

จะเห็นว่าการห่างกันสักพักเป็นการเว้นระยะห่างจากคนรอบข้างในเชิงกายภาพ ในขณะที่เทคโนโลยีในปัจจุบันยังช่วยให้เราสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เหมือนเดิมผ่านการคุยโทรศัพท์ สังคมออนไลน์ หรือแม้แต่พบปะเจ้านายได้เหมือนเดิมผ่านการประชุมทางไกล (เอ๊ะ! ดีหรือไม่ดี) ซึ่งถ้าในระดับบุคคลให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัด และระดับองค์กรหรือชุมชน รวมทั้งรัฐบาลมีความชัดเจนต่อมาตรการระยะห่างทางสังคม ท่อนที่ว่า “สักพักนี่มันต้องนานแค่ไหน ตลอดชีวิต หรือจนฉันตาย” ก็คงจะไม่ต้องนานขนาดนั้น

Tags: ,