ทราบกันไปแล้วสำหรับผลการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 โดยที่ก่อนจะลงคะแนนนั้นในการประชุมสภาร่วม มีการอภิปรายคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรียาวนานเกือบสิบชั่วโมง แต่ไม่มีการวินิจฉัย
ผลการลงคะแนนปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนเสียง 500 เสียง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ 244 เสียง และมีการงดออกเสียง 3 เสียง ซึ่งแน่นอนว่าหากดูตามผลคะแนนข้างต้นถือว่าชนะขาด แต่หากตัดคะแนนเสียง ส.ว. ออก 249 เสียง (งดออกเสียง 1 เสียง) เท่ากับว่าฝั่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคะแนนเสียง 251 (อันที่จริง ต้องบวกเสียงของฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกไป 1 เสียง) ในขณะที่ธนาธรได้ 244 คะแนน ก็เท่ากับว่าห่างกันเพียง 7 คะแนน ในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้
เรียกได้ว่าปริ่ม…จริงๆ
หรือหากยึดตัวเลขเดิมโดยไม่นับ ส.ว. ก็คือ 254 ต่อ 246 (หากธนาธรกลับมาพร้อมกับลูกพรรค จุมพิตา จันทรขจร ที่ลาป่วย) ก็ห่างกันเพียงแค่ 8 เสียงก็ยังถือว่าปริ่มอยู่ดี
แต่ก็อย่างที่มีการกล่าวกันไว้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ได้วางหมากเอาไว้อย่างดีด้วยการออกแบบกติกาการเลือกตั้งใหม่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เราได้เห็นประสิทธิภาพของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเป็นระลอกๆ จนมาสู่การโหวตนายกฯ เมื่อวานนี้ ที่เรียกได้ว่าได้แสดงพลานุภาพเต็มพลังกับ ส.ว. ทั้ง 250 คน
ที่คัดสรรและแต่งตั้งโดย คสช.
ซึ่งทำให้เห็นว่านี่คือความฉลาดสุดๆ Mega Clever ของจริง เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่กล่าวว่าพรรคฝั่งรัฐบาลไร้ซึ่งสติปัญญา ขอจงพิจารณาใหม่จากการออกแบบกติกาการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 60 ครั้งนี้
1. เมื่อพรรคเพื่อไทยจะได้อันดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
หากการเลือกตั้งครั้งนี้คือโลก Matrix มีชัย ฤชุพันธ์ุ ก็คงเป็น The Architect ที่ออกแบบโลก The Matrix ได้อย่างเยี่ยมยอด (แต่ธนาธรไม่ใช่ The One นะ) สิ่งที่น่าสนใจในประเด็นนี้คือ อย่างแรก ผู้ที่ออกแบบและเขียนสมการ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ คาดการณ์จากสิ่งใด
เดาได้ไม่ยากว่าพรรคเพื่อไทยมาเป็นอันดับหนึ่งแน่นอน หากวัดจากผลเลือกตั้งที่ผ่านมาในปี 2554 ที่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดด้วยคะแนน 15,744,190 เสียง 164 ที่นั่ง ในขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้ได้คะแนน 7,920,630 เสียง 137 ที่นั่ง (ก่อนจะลดลงจากใบส้มของเขต 8 เชียงใหม่)
ความน่าสนใจของประเด็นนี้ไม่ได้อยู่แค่คิดสูตรนี้ขึ้นมาได้อย่างไร (แน่นอนเป็นการคิดมาเพื่อสกัดกั้นพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะเป็นอันดับแรก) แต่การเขียนสูตรสมการนี้ใช้ข้อมูลหรือการคาดการณ์ใดเพื่อที่จะ ‘ไม่พลาดเป้า’ เท่ากับต้องมีการประเมินแล้วว่าพรรคพลังประชารัฐนั้นไม่ได้อันดับหนึ่งแน่ๆ หรือสมการนี้จะไม่ย้อนมาเป็นภัยต่อพรรคพลังประชารัฐเองในอนาคต (อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญนี้ออกก่อนการเลือกตั้งนะ)
เท่ากับว่ามีการประเมินและชั่งน้ำหนักมาอย่างดีแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐที่ขึ้นชื่อว่าดูด ส.ส.เก่าจากพรรคอื่นมาอย่างมหาศาลนั้น จะไม่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งแน่ๆ ไม่ก็มองว่า ถึงแม้พรรคพลังประชารัฐจะได้ที่นั่ง ส.ส. เป็นอันดับหนึ่ง และไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย แต่จำนวนที่นั่งของพรรคอื่นๆ ที่เป็น ‘ตัวแปร’ ไม่ว่าจะเป็นตัวแปรฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายตรงข้าม ไม่มีผลเสียหายจนทำให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้
หรือหากเราคิดในอีกแง่หนึ่ง ในแง่ที่ว่าสมการนี้ไม่ได้ทรงประสิทธิภาพขนาดนั้น โดยวัดจากการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ในวินาทีสุดท้ายที่เป็นตัวแปรจัดตั้งรัฐบาล (ซึ่งก่อนเลือกตั้งรู้กันอยู่แล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์หวังจะได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งและจัดตั้งรัฐบาล ไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคเพื่อไทยและไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ตามที่อดีตหัวหน้าพรรคกล่าวไว้ —ซึ่งตรงนี้มีข้อน่าสนใจอีกว่าชื่อของแคนดิเดต พล.อ.ประยุทธ์ มาทีหลังอีกด้วย) ก็อาจจะมองได้ว่าสมการนี้คิดคำนวณมาเพื่อสกัดกั้นพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว และพลังประชารัฐเองก็คงชั่งน้ำหนักมาอย่างดีแล้วว่า แม้จะฟอร์มพรรคมาดีแค่ไหนก็ไม่ชนะการเลือกตั้งมีจำนวน ส.ส. มากกว่าพรรคเพื่อไทยเป็นแน่ จึงเกิดเหตุการณ์การสู่ขอและการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีขึ้น
ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ก็ยังถือว่าสมการนี้มีความเสี่ยงสูงอยู่ดี แต่ทำไมถึงเลือกที่จะใช้สมการนี้ล่ะ ความมั่นใจว่าสมการนี้มันจะเวิร์คคืออะไร (ซึ่งคำตอบคือข้อ 3)
ขอเล่าเกร็ดก่อนการเลือกตั้งให้ฟังหน่อยว่า แต่ละพรรคนั้นจะมีทีมทำงานเพื่อประเมินสถานการณ์และตัวเลข ‘เก้าอี้ ส.ส.’ ที่ตัวเองจะได้ในการเลือกตั้งอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้มาติดตามหน้าทวิตเตอร์แต่เป็นการทำงานในพื้นที่ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างหนักทั้งการประเมินตัวเองและการประเมินคู่แข่ง ตัวเลข 137 ของพรรคเพื่อไทยนั้นก็ไม่ใช่ตัวเลขแรกที่ได้รับการประเมิน ช่วงแรกนั้นตัวเลขน้อยกว่านี้มาก ด้วยตัวแปรคือยังมีพรรคไทยรักษาชาติ (ก่อนจะโดนยุบ) และนอกจากนั้นยังมีพรรคเกิดใหม่อีกมากมาย ทั้งพลังประชารัฐ อนาคตใหม่ หรือแม้แต่พรรคเก่าแต่มีตัวละครใหม่ๆ ที่อาจจะมาแย่งเก้าอี้ในพื้นที่นั้นได้ หรือแม้แต่พรรคอนาคตใหม่เองตัวเลขที่ประเมินขั้นต้นก็ต่ำกว่าตัวเลขที่ได้ปัจจุบันถึงเท่าตัวเลยทีเดียว
ประเด็นนี้จึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบว่าผู้ที่เขียนสมการสูตรคำนวณไว้ก่อนจะเกิดการเลือกตั้งจริงและมีผลการเลือกตั้งออกมาให้เห็น ประเมินกำลังทั้งของตัวเองและของคู่แข่งได้อย่างไรที่ทำให้สุดท้ายผลออกมาเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ได้ขนาดนี้ หรืออย่างน้อยก็ไม่เพลี่ยงพล้ำในสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการคนอื่น
2. ‘ไทยรักษาชาติ-อนาคตใหม่’ ตัวแปรนอกสมการ
แน่นอนว่าการจัดตั้งรัฐบาลคงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ พรรคร่วมคือปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนเกมการเมืองในทุกๆ ครั้ง
หากข้อหนึ่งนั้นมีการประเมินและชั่งน้ำหนักมาอย่างดีแล้วในแง่การจัดการพรรคที่เคยได้คะแนนเสียงและเก้าอี้ ส.ส.อันดับหนึ่ง อย่างพรรคเพื่อไทย แล้วการประเมินพรรคอื่นๆ ที่จะเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลล่ะ มาจากไหน
สิ่งหนึ่งที่เป็น What If ในประวัติศาสตร์และสมการครั้งนี้ก็คือ หากในการเลือกตั้งครั้งนี้มีชื่อของพรรคไทยรักษาชาติจะเกิดอะไรขึ้น ผลการเลือกตั้ง จำนวนเก้าอี้ ส.ส. จะเปลี่ยนไปแค่ไหนอย่างไร
อย่างที่บอกว่าหากการประเมินและชั่งน้ำหนักในข้อ 1 นั้นทำมาอย่างดีแล้ว พรรคไทยรักษาชาติกับการเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นตัวแปรนอกสมการที่อาจทำให้สูตรการคำนวณไม่สัมฤทธิ์ผลก็ได้
แม้ว่าพรรคไทยรักษาชาติจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียง 121 คนใน 350 เขตทั่วประเทศ แน่นอนว่ายุทธการแตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อยตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณได้กล่าวไว้ น่าจะเป็นแผนที่รู้กันก่อนหน้านี้ แต่ไม่รู้ว่า ‘ก่อนหน้านี้’ ที่ว่า หมายถึงก่อนจะลงมือเขียนสมการสูตรคำนวณด้วยหรือเปล่า
และที่สำคัญแม้จะมีการประเมินจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ของพรรคไทยรักษาชาติไว้ก่อนจริง แต่นั่นเป็นการประเมินหลังจากมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติหรือเปล่า ซึ่งเป็นที่เห็นกันอยู่ว่าจากพรรคที่ไม่มีใครจำชื่อได้หรือรู้ว่าใครเป็นหัวหน้าพรรค พรรคไทยรักษาชาติกลับมาเข้ามาอยู่ในเกมการเลือกตั้งทันทีที่มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาว่ากระแสบวกหรือลบนั้นหรือมีผลต่อที่นั่ง ส.ส.ที่คาดการณ์ไว้แล้วของพรรคอย่างไร แต่มันสั่นคลอนการเลือกตั้งในช่วงนั้นอย่างแน่นอน
แต่แล้ว…สมการนอกตัวแปรก็ต้องจบลง
ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียง 238 คน หากนี่คือยุทธศาสตร์แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อยจริง ซึ่งเราไม่อาจจะทราบได้ว่าแตกแบงค์พันไปทำไม เพราะหากเพื่อไทยคำนวณว่าพรรคจะได้ที่นั่งมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งตามสมการสูตรคำนวณจะทำให้ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ การจะส่งน้อยส่งมากก็ไม่น่าจะมีผลกับการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อยู่แล้ว เพราะสุดท้ายคือไม่ได้ แต่หากได้ ส.ส.เขตเพิ่มอาจจะเป็นผลดีกว่าเพราะนั่นคือที่นั่งที่แน่นอนไม่ต้องรอสูตรคำนวณ ในขณะเดียวกันหากวางหมากให้พรรคไทยรักษาชาติซึ่งเป็นพรรคในเครือเป็นพรรคขนาดกลางซึ่งอาจจะได้รับผลประโยชน์จากการคำนวณของสูตรนี้ ก็เท่ากับว่าการแตกออกมาเป็นแบงค์ร้อยนั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่จะมาแก้เกมสมการสูตรคำนวณ เพียงแค่ลืมไปว่าหนึ่งพันของตัวเองนั้นจะเต็มแบงค์ไม่เต็มแบงค์ก็ไม่มีผลอยู่ดี สู้ดีเต็มแบงค์ไปตั้งแต่ต้นจะดีกว่า แต่นั่นก็อาจจะมาจากฐานคิดที่เรารู้ผลการเลือกตั้งและพรรคไทยรักษาชาติยุบไปแล้วก็ได้
การยุบพรรคไทยรักษาชาตินี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแม่ (หรือพ่อ) แต่ยังส่งผลกระทบ ที่อาจจะเป็นผลดีก็ว่าได้ต่อพรรคขนาดกลางทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ที่ได้ผลบุญจากสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคอันดับหนึ่งได้ ส.ส.เขตเกินคะแนนนิยมและการถูกยุบพรรคของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบไม่มากก็น้อย (คาดว่าหากมีการประเมินและชั่งน้ำหนักไว้ก่อนจริง ภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์น่าจะเป็นพรรคที่ถูกประเมินว่าได้ประโยชน์จากสูตรสมการนี้มากที่สุด ซึ่งการประเมินนี้อาจจะมาจากการที่มีพรรคไทยรักษาชาติอยู่ในตัวแปรการประเมินร่วมก็ได้)
จำนวน ส.ส.ทั้ง 81 คนของพรรคอนาคตใหม่อาจจะเป็นเรื่องที่อยู่นอกสูตรการวางแผน เป็นผลพวงและเป็นอีกหนึ่งตัวแปรนอกสมการ ที่ทำให้เกิดกรณีเสียงปริ่มน้ำในวันนี้
สิ่งที่น่าสนใจก็คือหากพรรคไทยรักษาชาติยังคงลงชิงชัยในสนามการเลือกตั้งในครั้งนี้ ตัวเลขที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ (อนาคตใหม่อาจจะได้จำนวน ส.ส.ทั้งหมดลดลง รวมไปถึงภูมิใจไทยหรือประชาธิปัตย์ด้วย หรือบางทีเพื่อไทยเองก็อาจจะได้ ส.ส.ลดลงเช่นกัน) เหตุการณ์การเมืองไทยในวันนี้จะเป็นเช่นไร
อย่างที่บอกนั่นแหละว่า นี่คือ What If ที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน
อ้อ…และอย่างที่บอกไปแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนก่อนจะมีการประกาศเลือกตั้งตั้งนาน และก่อนที่จะรู้เสียอีกว่าจะมีพรรคอย่างไทยรักษาชาติ หรืออนาคตใหม่เกิดขึ้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการประเมินหรือชั่งน้ำหนักเพื่อออกแบบสมการนั้นมีตัวแปรเหล่านี้ ก็ขอบอกว่าการตั้งพรรคการเมืองไม่ได้คุยกันเดือนสองเดือน ตัวละครใหญ่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งนั้นคงไม่เหนือความสามารถที่จะรับรู้ และที่สำคัญอย่าลืมว่าฝั่งรัฐบาลนั้นมีนักกฎหมายอย่างวิษณุ เครืองาม ผู้เคยเป็นมือขวาของทักษิณ ชินวัตรมาก่อน นอกจากอาจจะรู้เกมของพรรคอย่างดีแล้ว บางทีคนที่ออกแบบสูตรสมการ ซึ่งได้ผลเข้าเป้าตรงไปที่พรรคเพื่อไทยขนาดนี้ อาจจะไม่ใช่ฝีมือของมีชัย ฤชุพันธ์ุ ก็ได้…ใครจะไปรู้
3. มาตรการสำรอง: สูตรปัดเศษปาร์ตี้ลิสต์ งงๆ แต่ลงตัว
แม้ในช่วงแรกจะมีคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อย่างมากทั้งกระแสที่รู้สึกว่ามีความขัดแย้งในตัว คลุมเครือ ตีความได้ จนสงสัยว่าคนเขียน ‘งง’ หรือเปล่า บัดนี้เราได้รู้กันแล้วว่าภายใต้ความขัดแย้ง ความคลุมเครือนั้นมาด้วยความตั้งใจที่ออกแบบวางแผนไว้อย่างดีเพื่อให้สามารถตีความและใช้ดุลยพินิจในการเลือกใช้ว่าจะเลือกคำนวณแบบไหนให้ออกมาอย่างไรเพื่อให้ได้อะไร
นี่คืออีกหนึ่งความฉลาดสุดๆ ในการสร้างมาตรการรองรับที่ยืดหยุ่นอย่างสูง หากสูตรคำนวณสมการที่มีกรอบกว้างๆ และช้อยส์ให้เลือกใช้และตีความนั้นไม่ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ ก็คำนวณด้วยสูตรใหม่ให้มันตรงคำตอบเสียสิ
ตัวอย่างของกรณีนี้คือการที่พรรคเล็กทั้ง 10 พรรค ที่แม้จะมีคะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนน ส.ส. พึงมีตามสูตรคำนวณ หรือ 71,057.4980 คะแนน แต่กลับได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคละ 1 ที่นั่งไปอย่างงงๆ ว่าใช้สูตรอะไรกันแน่ ขัดหรือแย้งกับที่ได้ออกแบบไว้หรือไม่
แต่ด้วยความที่วางแผนไว้แล้วว่าภายใต้ความขัดแย้งคลุมเครือของสูตรนี้มีช่องให้สามารถตีความและคำนวณออกมาให้เป็นอย่างอื่นได้ จึงเกิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จาก 10 พรรคเล็กที่ได้คะแนนทั้งประเทศน้อยกว่า ส.ส.พึงมีขึ้นมา
และแน่นอนว่าสุดท้ายแล้ววว…กลายเป็นพรรคตัวแปรที่ทำให้จัดตั้งรัฐบาลได้ ลองคิดดูสิว่า สมมติว่าพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเลือกจับมือกับพลังประชารัฐอยู่แล้ว แต่ถ้าพลังประชารัฐไม่มี 10 เสียงนี้ (ซึ่งจะถูกกระจายไปให้พรรคลำดับรองตั้งแต่พลังประชารัฐลงมา) เกมอาจจะพลิก และคำว่าปริ่มนั้นอาจจะปริ่มกว่าในปัจจุบันนี้ก็ได้
นี่คือการออกแบบมาตรการสำรองไว้ใช้ยามคับขันได้ฉลาด ซับซ้อนและลึกซึ้งสุดๆ
4. มาตรการสำรองของสำรอง: 250 ส.ว. ซูเปอร์แบคอัพ
ถึงแม้ในข้อ 3 จะเรียกได้ว่าเป็นการออกแบบที่ชาญฉลาดสุดๆ และคิดอย่างซับซ้อน แต่ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบที่อาจจะควบคุมไม่ได้ 100% ดังนั้นจึงมีการสร้างมาตรการที่ชัวร์และควบคุมได้ขึ้นมาด้วยอีกหนึ่งอย่าง หากการสร้างสูตรคำนวณสมการการหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้นจะไม่สัมฤทธิ์ผล นั่นก็คือ ส.ว. 250 คน
ความชาญฉลาดนั้นไม่เพียงแค่บัญญัติไว้ถึงจำนวน 250 คนเท่านั้น แต่ยังบัญญัติไว้ถึงที่มาของ ส.ว. เพื่อให้แน่ใจว่ามาตราการนี้จะเป็นมาตรการที่ชัวร์จริงๆ อีกด้วย ซึ่งเราก็ได้เห็นพลานุภาพของมาตรการสำรองของสำรองนี้ไปแล้วในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ผ่านมา ว่าไม่มีการแตกแถวแม้แต่เสียงเดียว เป็นมาตรการที่ชัวร์เสียยิ่งกว่าชัวร์เสียอีกด้วยการบัญญัติให้ ส.ว.นั้นมาจากการเลือกเองกับมือ
แต่สิ่งที่ต้องยกย่องว่าฉลาดสุดๆ ไปมากกว่านั้นก็คือ ยังบัญญัติต่อว่า ส.ว. มีอายุการทำงาน 5 ปี ในขณะที่ ส.ส. นั้นมีอายุการทำงานครบเทอมเพียง 4 ปี นั่นก็เท่ากับว่าหากรัฐบาลนี้มีอายุครบเทอม 4 ปีเต็มหรือไม่ครบเทอมก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งหน้าซึ่งก็ยังต้องยึดกติกาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ เท่ากับว่า ส.ว. ชุดนี้ยังคงมีอำนาจในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งหน้าได้อีก 1 ครั้ง
และคงไม่ต้องบอกว่าจะเลือกฝั่งไหน …
และหากยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งแก้ได้ยากยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. ต้องยกมือเห็นชอบด้วย และคะแนนเสียงโดยรวมต้องเกินครึ่งหนึ่งจากสองสภา แล้ว ส.ว. ที่ไหนจะยกมือให้แก้รัฐธรรมนูญให้ตัวเองออกล่ะ นั่นก็เท่ากับว่าหากการเลือกนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ฝ่ายที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ไม่อาศัยเสียง ส.ว. (สมมติ เพื่อไทยและพรรคร่วม 7 พรรค) ต้องมีคะแนนเสียง ส.ส.แบบถล่มทลายถึง 376 เสียงเพื่อโหวตนายกฯ ได้โดยไม่ต้องง้อ ส.ว.
ทำได้หรือเปล่าล่ะ…
บอกแล้วไงว่านี่คือหมากที่ได้รับการออกแบบมาอย่างฉลาดสุดๆ อุดทุกรูรั่วเลยก็ว่าได้
5. มาตรการสำรองนอกระบบ
สุดท้าย…เพื่อประสิทธิภาพของการออกแบบรัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดแยกย่อยในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะกติกาการเลือกตั้ง ที่ถึงแม้จะได้รับการออกแบบมาอย่างดี วางแผนอย่างแยบยลและซับซ้อนแล้วนั้น แต่หากมีรอยรั่วที่อยู่นอกเหนือการวางแผนออกแบบไว้ หรือสิ่งที่อาจทำให้การออกแบบไม่ถูกนำไปใช้งานได้อย่างทรงประสิทธิภาพแล้วละก็ สิ่งที่ออกแบบมาทั้งหมดก็ไร้ความหมาย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการสำรองนอกระบบที่คอยโอบอุ้มให้ระบบนี้ดำเนินและขับเคลื่อนต่อไปได้โดยไม่ติดขัด
ตลอดการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นการรับส่งลูกอย่างเป็นระบบแบบแผนและดูเหมือนจะ ‘อยู่ในกติกา’ จากบรรดาองค์กรอิสระที่เป็นมาตรการสำรองนอกระบบแต่อยู่ภายใต้เครือข่ายเดียวกันทั้งหลาย ที่ทำให้ไม่ว่าจะมีเรื่องไม่คาดคิด เหนือความคาดหมายที่อาจทำให้สิ่งที่วางแผนมาทั้งหมดล่มไม่สัมฤทธิ์ผลตกไปในที่สุด ราวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยคุ้มครองปัดเป่าเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี ให้โลก The Matrix ไม่มีไวรัสหรือแม้แต่ The One ให้ The Oracle นั่งอบคุกกี้โดยที่ไม่มีใครมาขอคำทำนาย และก็ให้ตอนจบนั้นสวยงามบริบูรณ์โดยที่ไม่เกิด What If และแม้จะมีภาคสองภาคสามก็ต้องมาจากเค้าโครงบทของภาคหนึ่งที่เขียนตอนจบของภาคสองภาคสามไว้แล้วโดยที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนบทได้อีกต่อไป
Tags: คสช., รัฐประหาร 2557, รัฐธรรมนูญ 2560, รัฐประหาร