5 มิ.ย. 2562 ในการประชุมสภาร่วม ส.ส.-ส.ว. เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี ผลการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีปรากฏว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนน 500 เสียง ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้คะแนน 244 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จาก ส.ส.และ ส.ว. รวม 747 เสียง จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ

คนที่งดออกเสียง ได้แก่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าร่วมการลงคะแนนครั้งนี้ ประกอบด้วย น.ส.จุมพิตา จันทรขจร ส.ส.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ ที่ป่วย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักการทำหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยปมถือหุ้นสื่อ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออกจาก ส.ส.

    โดยในเช้าวันนี้ ซึ่งเป็นวันกำหนดการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี โดยก่อนจะถึงกำหนดการเปิดประชุมสภา ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์เปิดแถลงข่าวประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. ด้วยไม่สามารถทำงานโดยไร้อุดมการณ์ทางการเมืองที่เคยให้ไว้ได้ โดยหลังจากแถลงเสร็จนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้ตอบคำถามนักข่าวต่อแต่อย่างใด และไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภา หลังจากนายอภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลให้นายสุทัศน์ เงินหมื่น ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 21 ของประชาธิปัตย์ เตรียมเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนนายอภิสิทธิ์

จากนั้นเปิดประชุมสภาเมื่อเวลา 11.00 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้เปิดประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม  โดยภายหลังจากที่มีการเสนอ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นนายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ขอเสนอให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุม ตามมาด้วย น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสนอญัตติในที่ประชุมรัฐสภา ไม่ให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้เข้าชิงนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยมีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้เข้าชิง

ภายหลังจากที่ที่ประชุมมีการถกเถียงกันเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการเสนอให้นายธนาธรได้อภิปรายวิสัยทัศน์ จนสุดท้าย พรรคอนาคตใหม่ขอถอนญัตติเนื่องจากเห็นว่าการลงมติต้องเสียเวลาขานชื่อถึง 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้การโหวตเลือกนายกฯ เดินหน้าต่อไปได้

ต่อมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมาเตรียมพร้อมแสดงวิสัยทัศน์ รออยู่ด้านนอกสภา เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งพักการทำหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยคดีถือหุ้นสื่อ จึงได้แถลงข่าวแสดงวิสัยทัศน์ ณ จุดแถลงข่าวที่รัฐสภา

จากนั้นนายชวน หลีกภัย ได้เปิดโอกาสให้ที่ประชุมอภิปรายในเรื่องคุณสมบัติผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ในการอภิปรายในเรื่องคุณสมบัติผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเกิดการโต้เถียงคัดค้านกันไปมา โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภา เกี่ยวกับคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.113 ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต

จนก่อให้เกิดการโต้เถียงเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และความหมายของคำว่าเผด็จการ โดยเฉพาะการอภิปรายของนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายตอบโต้การพาดพิงของ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่า ผมนิยมเผด็จการประชาธิปไตย แต่ไม่ได้นิยมประชาธิปไตยจอมปลอม” จนก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์คำว่า “เผด็จการประชาธิปไตย” ขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย

การอภิปรายคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ดำเนินต่อไปกว่า 6 ชั่วโมง จนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาขอมติจากที่ประชุมและตกลงกันได้ว่าจะเริ่มลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในเวลา 20.30 น. โดยจบการอภิปรายคนสุดท้ายคือนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ พรรคเพื่อไทย ที่ขอให้มีการวินิจฉัยว่าทั้งพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาและนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจนั้น มีคุณสมบัติในการเป็นแคนดิเดตหรือไม่ ในเวลาราว  21.30 น. จึงเริ่มดำเนินการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อทีละคน ผลปรากฏว่าพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนเสียงข้างมาก จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งนี้ ระหว่างลงมติ ปรากฏว่า นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ได้ลงมติงดออกเสียง สวนมติพรรคภูมิใจไทย ที่ตอบรับร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไปก่อนหน้านี้

หลังจากนี้ นายกรัฐมนตรีต้องไปพิจารณาพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาล และตั้งรัฐมนตรี เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแต่งตั้ง และเมื่อโปรดเกล้าประกาศรายชื่อในพระราชกิจจานุเบกษาแล้ว นายกรัฐมนตรีก็จะต้องทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนำคณะรัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ จากนั้น คสช.ก็จะสิ้นสุดอำนาจลงในวันนั้น โดยหลังจากนั้นรัฐบาลใหม่จะต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. 250 คน ร่วมโหวตเลือกนายกฯ กับ ส.ส. 500 คนที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

ภาพปก: Lillian SUWANRUMPHA / AFP

 

บรรยากาศเมื่อช่วงบ่ายในสภาฯ

Tags: , , ,