อภิสิทธิ์ปราศรัยกับคนกรุงฯ รับอาจพูดอะไรที่ทำให้ไม่พอใจ แต่ยืนยันต้องการพาการเมืองไทยฝ่าวงจรอุบาทว์ ย้ำอย่าตกหลุมวาทกรรมที่ต้องเลือกข้างระหว่างความโกรธรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและความกลัวระบอบทักษิณและความไม่สงบ ยันพร้อมเป็นแกนนำรัฐบาล ก่อนปิดปราศรัยด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมี

พรรคประชาธิปัตย์ปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ที่ลานคนเมือง กทม. มีประชาชนทยอยมาร่วมฟังปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งสวมเสื้อสีฟ้าซึ่งเป็นสีประจำพรรค พร้อมป้ายไฟชื่อผู้สมัคร ส.ส. ป้ายหาเสียงของพรรค

บนเวทีมีผู้สมัคร ส.ส. เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค เช่น ตั๊น-จิตภัสร์ กฤดากร, อลงกรณ์ พลบุตร, กรณ์ จาติกวนิช, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี, อภิมงคล โสณกุล, เอ้ก คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์, วิชัย สังข์ประไพ, อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์, พิสิฐ ลี้อาธรรม, อภิรักษ์ โกษะโยธิน,  พริษฐ์ วัชรสินธุ, ข้างเวทีมีจอใหญ่สองจอที่มีล่ามภาษามือ

 

นอกจากนี้ แม้ช่วงเวลาเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐก็มีปราศรัยใหญ่ แต่ผู้สื่อข่าวพบ ม.ร.ว. จตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) บิดา ม.ร.ว.อภิมงคล โสณกุล ผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มายืนฟังที่หน้าเวทีของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

เวลา 20.40 น. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็ปรากฏตัว แหวกฝูงชนที่กรูเข้ามามอบดอกไม้และขอถ่ายรูป เดินขึ้นมาบนเวที

เขาปราศรัยว่า ห้าปีที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองเดียวที่แม้เขาห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ไม่เคยหยุดที่จะเดินเข้าหาพี่น้องประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหา นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในช่วงห้าปีที่ผ่านมามีหลายสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เห็นด้วย แต่ไม่ได้ต้องการชวนทะเลาะ จึงมุ่งเดินหน้าทำหน้าที่

อภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าการเมืองต้องมีเสถียรภาพ ซึ่งก็คือประชาธิปไตยสุจริต แต่คำๆ นี้ นอกจากจะไม่หวือหวา แต่ยังแสลงหูอีกสองฝ่าย พรรคการเมืองกลุ่มหนึ่งได้ยินคำว่าสุจริตแล้วเหมือนถูกน้ำร้อนสาด พยายามพูดว่าใครๆ ก็โกงบ้าง เป็นวาทกรรมบ้าง เพราะฉะนั้น พรรคฝ่ายนี้เขาไม่พูดเรื่องความสุจริต แต่เน้นที่ความโกรธความหงุดหงิดรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่มีนโยบาย แต่มุ่งสู่การต่อสู้ชนะเอาคะคานกันทางการเมือง

อภิสิทธิ์กล่าวว่า ในขณะที่ความทุกข์ของพี่น้องมีมากขนาดนี้ และกำลังเผชิญกับหลายสิ่งที่ต้องปรับพื้นฐาน ทำไมพรรคการเมืองอื่นกลับเห็นประชาชนเป็นหมากในกระดานเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อเล่นสงครามกัน สร้างวาทกรรมให้เลือกข้างบนความโกรธกับความกลัว ดังนั้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้จึงไม่ควรตกหลุม

“อย่าเอาความโกรธ ความอึดอัด ความเกลียดเผด็จการ แล้วกระโจนหาคนที่สถาปนาตัวเป็นประชาธิปไตย”

อภิสิทธิ์ กล่าวถึงพรรคที่พยายามสถาปนาตัวเป็นประชาธิปไตยโดยชี้ว่า หนึ่ง ให้ดูภายในพรรค ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ ถ้าถามว่าเป็นของใคร คนตอบได้หมด เขาเป็นหัวหน้าพรรคมา 14 ปี ยังไม่มีใครเรียกว่าพรรคอภิสิทธิ์ เรียกแต่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะเขาไม่เคยตั้งพรรคนี้ หรือไม่ได้เป็นนายทุนใหญ่ แต่มายืนตรงนี้ด้วยการเลือกของสมาชิกพรรค และ สอง ถ้าเป็นประชาธิปไตยจริง ควรเคารพความเห็นคนอื่นบ้าง ไม่ใช่ใครไม่เห็นด้วย ก็หาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน แอบอิงเผด็จการ

อภิสิทธิ์ยังยกกรณีที่ตัวเขาเองประกาศจุดยืนว่าไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ว่า แทนที่พรรคที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยจะมองว่านี่เป็นเรื่องดี แต่กลับสร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาว่า พูดแค่นี้ไม่พอ ต้องตอบว่าแล้วจะร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ซึ่งตนเองก็พูดชัดแล้วว่าไม่ร่วม ถ้าอะไรที่เกี่ยวกับสืบทอดอำนาจและการทุจริต เราไม่ร่วม แต่ถ้าพลังประชารัฐไม่มีสองเงื่อนไขนี้ก็คุยกันได้ ซึ่งฝ่ายที่สถาปนาตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยก็หาว่า กั๊กหรือหมกเม็ด ทั้งที่เรื่องนี้ทั้งโฆษกอนาคตใหม่และชัยเกษม หนึ่งในสามแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย ก็ตอบเหมือนกัน ว่า ถ้าไม่มีเรื่องประยุทธ์และการสืบทอดอำนาจก็ร่วมกันได้ แต่ไม่มีใครถูกหาว่ากั๊ก

ส่วนฝ่ายที่เล่นกับความกลัวนั้น อภิสิทธิ์ขยายความว่า เขาคิดว่าสิ่งที่ประชาชนกลัวมีสองเรื่อง หนึ่ง คือระบอบทักษิณ ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นพฤติกรรมของทักษิณ แต่คือความไม่ถูกต้องหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งวันนี้ ฝ่ายที่เอาความกลัวนี้มาอ้างเองก็มีพฤติกรรมไม่ต่างกัน ทั้งลงเลือกตั้งแบบเอาเปรียบใช้อำนาจรัฐอำนาจเงิน ซ้ำยังเอาคนที่เคยบอกว่าไม่ดีหรือทุจริตมาเข้าพรรค

สอง คือความกลัวบ้านเมืองไม่สงบ อภิสิทธิ์ชี้ว่า ทันทีที่มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ เราจะเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ เพราะมีพรรคการเมืองกลุ่มหนึ่งตั้งตัวเตรียมขัดแย้งกับการสืบทอดอำนาจ เพราะฉะนั้น เงื่อนไขของความขัดแย้งหลังการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องเดิมๆ แล้วเป็นปัญหาการสืบทอดอำนาจ ซึ่งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ การสืบทอดอำนาจล้วนนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 หรือ พฤษภา 35

“ถ้าวันนี้ยังลังเล เบี่ยงซ้าย กลับไปสู่รัฐบาลที่ไม่ได้ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นใหญ่ เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เราจะต้องมานั่งเสียใจกับการประท้วงกับการรัฐประหารอีก แล้วเราจะต้องสูญเสียอีกกี่ปี กว่าคนไทย สังคมไทย เศรษฐกิจไทย จะลืมตาอ้าปากได้ ถ้าวันนี้เราลังเล และเบนขวา เกิดการสืบทอดอำนาจ เกิดการต่อต้าน เกิดวิกฤตอีก เราจะต้องให้ประเทศไทยสูญเสียอีกกี่ปี กว่าเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของพี่น้องจะลืมตาอ้าปาก กลับไปสู่ความเป็นสากลได้ อย่าลังเลเลยครับ เดินไปด้วยกัน”

เขาย้ำว่า จะไม่เกรงใจใคร โดยชี้ว่าที่ประกาศหลักการเช่นนี้ ทั้งที่สามารถจะประนีประนอมก็อยู่ได้ไม่ลำบาก ก็เพราะในฐานะที่ตัดสินใจเข้าสู่การเมือง 27 ปีที่แล้วเพื่อต้องการแหวกวงจรอุบาทว์ของการเมือง จะปล่อยให้การเมืองอยู่ในวงจรอุบาทว์ไม่ได้ ดังนั้น จึงขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ต้องลังเล ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องโกรธ ตนเองและประชาธิปัตย์จะพาประเทศสู่ประชาธิปไตยสุจริต เศรษฐกิจเข้มแข็งให้ได้ พร้อมย้ำ “เราจะเป็นแกนนำรัฐบาล”

ก่อนจะจบการปราศรัยด้วยการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี

ก่อนหน้านั้น พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตบางกะปิ-วังทองหลาง ของพรรคกล่าวไปยังผู้ที่ตัดสินใจเลือกพรรคบางพรรคไปแล้วว่า การเลือกพรรคเหมือนการเลือกคู่รัก เราอาจเจอคนที่หน้าตาตรงสเปค บุคลิกตรงสเปค ชอบทำอะไรเหมือนกัน ดูดีหมด แต่ความรักไม่ได้ดูจากวันที่มีความสุข แต่ให้ดูว่าเขาประพฤติอย่างไรในวันที่เราตกต่ำ

“ผมอายุจะ 27 พอแล้วกับรักแรกพบ (คนกรี๊ด) สิ่งที่ผมต้องการตอนนี้คือคู่ชีวิต (คนกรี๊ด) ถึงแม้ผมและประชาธิปัตย์ไม่ใช่รักแรกพบ ขอให้พิจารณาประชาธิปัตย์เป็นคู่ชีวิตของท่าน (คนกรี๊ด)”

ด้านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองหัวหน้าพรรค กล่าวถึงแคมเปญของพรรคพลังประชารัฐที่บอกว่า ‘เลือกความสงบจบที่ลุงตู่’ แต่เขามองว่าเป็น “เลือกความสงบ เราจบก่อน เพราะความสงบอย่างเดียวไม่พอ ท้องต้องอิ่มด้วย”

นอกจากนี้ จุรินทร์ยังกล่าวถึงพรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทยเดิม ว่าเอาแต่เน้นเรื่องประชาธิปไตยและไม่เอาการสืบทอดอำนาจเผด็จการ แล้วใครที่เห็นต่างก็กลายเป็นเผด็จการ แต่พรรคเพื่อไทยเองก็เอาแต่วิจารณ์ว่าเผด็จการจะสืบทอดอำนาจ แต่ไม่ได้วิจารณ์เผด็จการรัฐสภาหรือเผด็จโกงรัฐสภา

โดยเขาบอกว่าประชาธิปัตย์จะยึดสามข้อคือ จะต้องไม่มีการยึดอำนาจอีก ไม่สร้างเงื่อนไขการยึดอำนาจ นั่นคือไม่ทุจริต ไม่แตกแยกรบราฆ่าฟันอีก และถือว่า ทุกพรรคคือคู่แข่งขัน แต่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และจะพาประเทศไปสู่ความปรองดองทางการเมือง และจะทำให้เศรษฐกิจปากท้องคนไทยดีขึ้น เพราะพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤต ต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์มาได้ คราวนี้ก็จะแก้รวยกระจุกจนกระจายได้

Tags: , , , , ,