ในวัฒนธรรมไทย รอยสักมักถูกเชื่อมโยงเข้ากับ 2 สิ่งด้วยกัน ประการแรกคือชนชั้นล่าง เนื่องจากการสักถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการทำเครื่องหมายอันแสดงถึงสังกัด หรือกลุ่มก้อนของบุคคล เช่น กรมและกองที่ทำงานอยู่หรือสังกัดมูลนาย จึงไม่มีสาเหตุอะไรที่ผิวกายของชนชั้นนำจะเต็มไปด้วยรอยสัก

ประการถัดมา คือรอยสักอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชายที่แสดงถึงบทบาททางเพศของผู้ชายที่ต้องเป็นฝ่ายออกรบ ต่อสู้ ปกป้อง และเป็นผู้นำ จึงต้องมีรอยสักเพื่อความอยู่ยงคงกระพัน ป้องกันภัยอันตราย ตลอดจนเสริมโชคลาภชะตาชีวิต

เมื่อผนวกเข้ากับความเชื่อที่ว่าเพศหญิงเป็นปรปักษ์กับ ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ จึงไม่เคยมีประวัติศาสตร์รอยสักของผู้หญิงไทยปรากฏให้เห็นมาก่อน จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ที่ผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการสัก แต่ก็ยังไม่วายต้องเผชิญกับปราการอคติสูงชันจากมุมมองที่ว่า ผู้หญิงมีรอยสักคือผู้หญิงชั้นต่ำ ผู้หญิงก๋ากั่น ผู้หญิงไม่ดี

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพแรกที่หลายคนมองเห็น เมื่อนึกถึง ‘ช่างสัก’ คงเป็นภาพของชายฉกรรจ์รูปลักษณ์น่าเกรงขาม มากกว่าที่จะเป็นหญิงสาวเจ้าของรอยยิ้มใจดีและน้ำเสียงเนิบนาบเหมือนยืนอยู่ท่ามกลางหมู่ดอกไม้

แต่นั่นกลับเป็นคำอธิบายภาพที่ดีที่สุดของครั้งแรกที่เราได้พบกับ ‘ตี้’ ศิลปินอิสระเจ้าของนามแฝง ‘sasi tee’ ช่างสักผู้ตัดสินใจว่าจะติดแท็ก #ช่างสักผู้หญิง ในโซเชียลมีเดีย แม้ว่าตนเองจะไม่ใคร่ชอบใจที่ต้องแปะป้ายป่าวประกาศนิยามตัวเองด้วยเพศแบบดื้อๆ เช่นนั้นสักเท่าไร

ก่อนหน้านี้ตี้เคยรู้สึกลังเลที่จะแท็กคำว่า ‘ผู้หญิง’ ลงในโพสต์งาน เพราะไม่คิดว่าเพศเป็นข้อมูลที่จำเป็น ถึงขนาดที่จะต้องถูกเอามาใช้จำกัดความตัวตนของเธอในฐานะช่างสัก

“จนกระทั่งได้พูดคุยกับลูกค้า จึงได้รู้ว่ามีลูกค้าที่เป็นผู้หญิงและ Feminine-Aligned จำนวนมาก พบงานของเราด้วยการค้นหาคำว่า ‘ช่างสักผู้หญิง’ และที่เลือกสักกับเราส่วนหนึ่งก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือสบายใจที่จะเปิดเผยร่างกายต่อหน้าผู้หญิงด้วยกันมากกว่า”

แน่นอน ความกังวลเรื่องการถูกคุกคามทางเพศยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการช่างสักของผู้หญิง แต่นอกเหนือจากความปลอดภัยทางกายแล้ว ‘ความสบายใจ’ ที่พวกเธอพูดถึง ยังรวมไปถึงความเข้าอกเข้าใจในความไม่สมบูรณ์แบบของร่างกาย และการมองส่วนต่างๆ ที่สังคมส่วนใหญ่เห็นว่า ‘ไม่สวยงามนัก’ อย่างรอยแตกลายหรือเซลลูไลต์ ด้วยสายตาที่ไม่ตัดสิน

“ด้านหนึ่งก็รู้สึกปลื้มใจและขอบคุณที่เราได้รับความรัก ความไว้วางใจขนาดนี้ แต่ในขณะเดียวกัน อีกตัวตนหนึ่งของเรา อีกด้านของเราที่ทะนงในความเป็นศิลปินของตัวเองกลับรู้สึกขัดแย้งในตัวเองขึ้นมา เดาว่าคงเป็นอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจเล็กๆ ที่เกิดจากการวนเวียนอยู่กับความเป็นไปได้ที่ว่า เราอาจไม่ได้ถูกเลือกจากผลงานหรือฝีมือ 100% ทำให้รู้สึกกังขาในข้อได้เปรียบนี้อยู่เหมือนกัน”

ตี้เล่าว่าเธอเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับสัมผัสที่ ‘ไม่เป็นมืออาชีพ’ และการถูกเนื้อต้องตัวในระดับที่อยู่นอกเหนือความจำเป็นของช่างสัก กระนั้นก็ตาม เธอไม่เชื่อว่านิสัยเลวดี ความใส่ใจลูกค้า หรือความเคร่งครัดในจรรยาบรรณของช่างสัก จะสามารถถูกจำแนกได้ด้วยเพศ

ขณะเดียวกัน เธอก็เข้าใจอย่างสุดซึ้งถึงความกลัวที่ลูกค้ามี เพราะรู้ดีว่าผู้หญิงทุกคนถูกปลูกฝังให้ใช้ชีวิตโดยไม่ลืมที่จะระวังภัยคุกคามจาก ‘เพศตรงข้าม’ อยู่เสมอ

“ว่ากันตามตรง แม้แต่เราที่เป็นช่าง หากมีโอกาสที่ต้องสักให้ลูกค้าผู้ชายในสตูฯ โดยลำพังสองต่อสอง ก็ยังแอบมีความกลัวแบบเดียวกันนี้ เป็นความกลัวที่ไม่สามารถนิยามแน่ชัดได้ว่าเกิดจากอะไร”

แม้จะได้รับความไว้วางใจในระดับหนึ่งในฐานะ ‘ผู้หญิงด้วยกัน’ แต่ปัจจุบันตี้ก็ยังคงพยายามที่จะเรียนรู้ว่า ในฐานะช่างสัก เธอสามารถทำอย่างไรได้บ้างให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่าสตูดิโอของเธอเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน

“เรามีเซตคำถามจำนวนหนึ่งที่ใช้ถามลูกค้าอยู่บ่อยๆ เช่น ต้องการคำแนะนำเรื่องตำแหน่งสักหรือไม่ ขออนุญาตทำความสะอาดหรือจับบริเวณที่จะสักได้ไหม ท่านี้สบายหรือเปล่า ต้องการพักหรือเปล่า ไม่ว่าตำแหน่งที่สักจะล่อแหลมหรือไม่ก็จะถามเสมอว่าถ่ายรูปรอยสักไว้ได้ไหม ถ่ายแล้วลงได้ไหม ลงรูปแล้วควรหรือไม่ควรแท็ก เป็นต้น

“ซึ่งรวมทั้งหมดเป็นจำนวนคำถามที่เยอะพอสมควร จนหลายครั้งก็กลัวว่าลูกค้าจะรำคาญที่ถามเยอะขนาดนี้ (หัวเราะ) แต่สำหรับเรา โดนรำคาญก็ยังดีกว่าเผลอไปล้ำเส้นความสบายใจของลูกค้า ที่เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่หากไม่ถาม”

ในมุมมองของตี้ ปัจจุบันการตีตราให้รอยสักบนผิวกายของผู้หญิง เป็นสัญลักษณ์ของความใกล้ชิดกับ ‘สิ่งไม่ดี’ อาจไม่รุนแรงเท่ายุคก่อนหน้าแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการประกอบสร้างอัตลักษณ์ ผ่านการแสดงออกด้วยแฟชั่น หรือแม้แต่รอยสักในฐานะศิลปะบนเรือนร่าง

“ถ้าพูดถึงเนื้อในของวงการสักเอง การกดทับในลักษณะที่ทำให้งานของผู้หญิง ถูกมองเห็นน้อยกว่างานของผู้ชายอาจน้อยลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีความคาดหวังบางอย่างจากภายนอกต่อผู้หญิงในวงการสักอยู่ เช่นเดียวกับที่ไวน์โรเซ่ถูกมองว่าเป็นไวน์เหมาะกับผู้หญิงเพราะดื่มง่าย การสักเองก็มีสไตล์ที่ ‘เหมาะกับผู้หญิง’ ในการรับรู้ของผู้คนเช่นเดียวกัน”

“ถ้าถามว่าเรียกงานของตัวเองว่าอย่างไร คงเรียกว่าโรแมนติก เราชอบองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ ความรู้สึกชวนฝัน เช่น ปกรณัม เทพเจ้า ดวงดาว ดอกไม้ หรือผ้าพลิ้วๆ คงจะเป็นสไตล์ที่หลายคนมองว่ามีความเป็นผู้หญิงสูง”

หลังจากได้มีโอกาสชมการลงเข็มสักบนผิวด้วยตาของตัวเอง และเดินชมผลงานในสตูดิโอของเธอจนพอใจ เราบอกลาตี้และปล่อยให้เธอได้ใช้เวลาที่เหลือของวันกับลูกค้า แต่แม้จะเดินออกจากเจริญกรุงซอย 8 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ STUDIO TANYA by sasi tee มาได้พักหนึ่ง คำพูดของตี้ยังคงติดอยู่ในใจ

“บางครั้งความหมายของรอยสักก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เป็นเพียงการได้เห็นตัวเองในกระจกแล้วรู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่ถูกต้อง ถูกต้องมากกว่าร่างกายเปล่าๆ ของเราตอนที่ยังไม่มีมัน”

การมองตัวเองแล้วรู้สึกว่าภาพที่เห็นอยู่นี้คือภาพที่ถูกต้องตรงใจ… ไม่ใช่ทุกวันที่คนเราตื่นมาแล้วจะมีโอกาสได้พบเจอกับความรู้สึกนั้น กลับกันเลย มันช่างเป็นความรู้สึกที่ฟังดูเหนือจริงราวกับบทกวี

ในช่วงสายของวันจันทร์ที่อากาศปลอดโปร่ง เราจากไปด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่ง จะได้พบกับรอยสักที่ทำให้รู้สึก ‘ถูกต้อง’ เหมือนอย่างที่เธอว่า

Tags: , , , , , , , , ,