เคยสงสัยไหมว่าเทศกาลภาพยนตร์มีไปเพื่ออะไร

ว่ากันตามหน้าเสื่อคือพื้นที่รวมตัวของคนในแวดวงภาพยนตร์ เพื่อจัดฉายหนังแมสบ้าง อินดี้บ้าง หนังที่ไม่มีโอกาสลงโรงบ้าง เพื่อให้คอหนังได้ดู หรือว่าเป็นการกลไกโหมโรงหนังของทางค่าย ที่ให้บรรดานักแสดงและผู้กำกับแต่งตัวสวยหล่อมาเดินเฉิดฉายบนพรมแดง

แล้วการมาของโลกอินเทอร์เน็ตและออนไลน์สตรีมมิงจะทำให้เทศกาลภาพยนตร์ยังมีความสำคัญอยู่หรือเปล่า ก็ขนาดเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้ยังสร้างความแปลกใหม่ด้วยการฉายหนังของค่าย Netflix และ Amazon บริการสตรีมมิงยักษ์ใหญ่อย่างเรื่อง Okja และ Wonderstruck แต่ก็โดนกดดันจากโรงภาพยนตร์ในฝรั่งเศสจนเจ้าภาพต้องประกาศให้ปีนี้เป็นปีแรกและปีสุดท้ายของหนังที่ไม่ได้ฉายในโรงใหญ่มาก่อน

แต่นั่นก็แสดงว่าเทศกาลภาพยนตร์กำลังเข้าสู่โหมดของการปรับตัวครั้งใหญ่ ความศักสิทธิ์และพื้นที่แห่งความภาคภูมิใจของคนทำหนังจะยังเป็นแบบนี้อยู่หรือไม่

พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับหนังอิสระชาวไทยน่าจะเป็นผู้อธิบายภาพเหล่านี้ได้ชัดที่สุดคนหนึ่ง ด้วยประสบการณ์การเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคัดเลือกภาพยนตร์ให้กับเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ ในปี 2001 ปี 2008 และปี 2009 รวมทั้งเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ ระหว่างปี 2015-2017

ล่าสุด เธอเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายคัดเลือกภาพยนตร์ (Program Director) ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International Film Festival)

ถามแบบคนที่ไม่เคยไปเทศกาลภาพยนตร์มาก่อน มันสำคัญอย่างไรกับบ้านเรา

ในทางหนึ่งเราได้รู้จักหนังที่แตกต่าง การมีเทศกาลและการประกวดช่วยกระตุ้นให้คนทำหนังพัฒนาตัวเอง ค้นหาศักยภาพได้มากขึ้น และยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างคนทำและคนดูโดยตรง ถ้าเราดูหนังเรื่องหนึ่งไม่เข้าใจ คนทำก็จะอธิบายได้ คนดูก็ได้เรียนรู้หนังไปอีกระดับ เป็นการขยายฐานคนดูให้มากขึ้น หนังก็มีความหลากหลายตามมา

ทุกวันนี้หนังอินดี้ได้ฉายในโรงมากขึ้น เมื่อเทียบกับสิบปีที่แล้วที่ไม่มีโอกาสแบบนี้ ส่วนหนึ่งเทศกาลหนังมันกระตุ้นสิ่งเหล่านี้ กระตุ้นการผลิต กระตุ้นพัฒนาการของคนดู คือเราอาจมองไม่เห็นว่าความต้องการของตลาดมีอยู่หรือเปล่า แต่ถ้าเราทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เกิดการมองเห็นตลาดใหม่ ช่องทางดิสทริบิวชันอื่นๆ ก็ย่อมทำให้พัฒนาการของภาพยนตร์เติบโตขึ้น แม้อาจต้องใช้เวลา

แล้วอย่างการเกิดขึ้นของออนไลน์สตรีมมิง ส่งผลกระทบกับเทศกาลภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน

ตอนนี้โหดกว่าเมื่อก่อน การมาของ Netflix หรือบริการดูหนังออนไลน์ทำให้การดูหนังของเราสะดวกมากยิ่งขึ้น เราก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้เท่าทัน ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรมีในโรงภาพยนตร์ที่ต่างจากการดูผ่านอินเทอร์เน็ต แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และในอนาคต แพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้น่าจะส่งผลอะไรบางอย่างกับการผลิตภาพยนตร์ ต้องเรียนรู้และเข้าใจมันให้ดี ขณะเดียวกัน เราก็เชื่อในโลกแห่งความสมดุลว่า อะไรที่เยอะหรือน้อยเกินไปต้องเปลี่ยนแปลงตามกฎธรรมชาติ เหมือนเทศกาลภาพยนตร์ที่ช่วงหนึ่งฮิตมาก แต่ตอนนี้เทศกาลภาพยนตร์ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการมาของออนไลน์

เทศกาลภาพยนตร์อยู่ในช่วงขาลง?

ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาเป็นขาลงจริงๆ อย่างคานส์ฉายหนังเรื่อง Okja จาก Netflix หรือบางเทศกาลก็ฉายหนังจากซีรีส์         

นี่คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจ นอกเหนือจากฉายหนัง เราต้องทำอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า เพื่อให้เทศกาลหนังเกิดความเคลื่อนไหว เทศกาลหนังเวนิสก็นำเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) มาใช้แล้ว นั่นเป็นสิ่งที่เราสังเกตเห็นและต้องมีการพูดคุยและพัฒนากันต่อไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูบริบทของแต่ละประเทศด้วยว่ามีความพร้อมแค่ไหน

องค์ประกอบอะไรที่จะทำให้เทศกาลภาพยนตร์ประสบความสำเร็จหรือได้รับการยอมรับ

ส่วนหนึ่งคือสิ่งที่ทำออกมาต้องแสดงถึงภารกิจนั้นชัดเจน เช่น เป็นเทศกาลหนังที่เน้นการประกวด มันก็ต้องแสดงภาพของการประกวดให้ชัด หรือเป็นเทศกาลเพื่อโปรโมตหนังของคนรุ่นใหม่ ก็ต้องดูว่ามันถูกมองออกไหม แล้วหนังเหล่านี้ดึงดูดคนดูได้มากเท่าไหร่ คนดูมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน ถ้าทำแล้วคนดูไม่ตอบสนอง ก็จะมีคำถามว่าแล้วไปถึงกลุ่มไหน ยิ่งหนังที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนึ่ง ถูกเลือกให้ไปฉายต่อในเทศกาลอื่นๆ ก็เท่ากับว่าภารกิจสำเร็จแล้ว เราทำหน้าที่โปรโมตหนังนั้นๆ จากแพลตฟอร์มหนึ่งไปสู่แพลตฟอร์มอื่นได้

เทศกาลหนังที่ขายตั๋วได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช่ว่าจะเป็นเทศกาลที่ประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะอาจฉายหนังที่เป็นคอมเมอเชียลมากๆ ก็ได้ แต่การเป็นเวทีให้กับหนังที่คนดูไม่คาดคิดว่าจะมีโอกาสได้ดูมาก่อน อันนี้ต่างหากที่ช่วยการเปิดโลกทัศน์คนดูไปสู่สิ่งอื่น ด้วยความรู้สึกใหม่ ความเข้าใจใหม่ หรือความสนุกก็ได้

ความสำเร็จไม่เท่ากับการพัฒนา เพราะความสำเร็จพูดได้หลายแง่มุม อย่างคนมาดูหนังร้อยเปอร์เซ็นต์อาจเป็นความสำเร็จด้านหนึ่งของเทศกาลนั้นๆ แต่การพัฒนาในวงการหนังต่างหากเป็นสิ่งที่ทำให้เทศกาลหนังยังมีประโยชน์ ถ้าพูดแค่ความสำเร็จแบบนั้น ฉายหนังอยู่บ้านก็ได้ ไม่ต้องมีเทศกาล แต่เทศกาลต้องทำให้เกิดสิ่งที่นอกเหนือไปจากระบบการจัดฉายภาพยนตร์เดิมๆ

คนมาดูหนังร้อยเปอร์เซ็นต์อาจเป็นความสำเร็จด้านหนึ่งของเทศกาลนั้นๆ แต่การพัฒนาในวงการหนังต่างหากเป็นสิ่งที่ทำให้เทศกาลหนังยังมีประโยชน์

ล่าสุด คุณได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายคัดเลือกภาพยนตร์ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ มีที่มาอย่างไร

ทางสิงคโปร์มีการประกาศรับสมัคร เราก็ได้รับเลือก ก็ภูมิใจและดีใจ ในแง่หนึ่งไม่ใช่ภาพที่ว่าเราเป็นคนไทยหรือคนสิงคโปร์ เพราะตัวเทศกาลเน้นการโปรโมตหนังในอาเซียน แต่เป็นภาพการทำงานร่วมกันในฐานะที่เป็นสมาชิกของภูมิภาคนี้ การได้เป็นส่วนหนึ่งของคนที่ได้ร่วมเลือกภาพยนตร์ และทำให้เทศกาลนี้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับคนทำหนังในภูมิภาคนี้ ในฐานะคนทำหนังและเคยจัดเทศกาลภาพยนตร์ในไทยมาก่อน เราก็อยากทำให้เกิดความร่วมมือกันของประชาคมอาเซียนอยู่แล้ว การที่เราได้ทำตรงนี้ก็น่าจะทำให้ภาพมันชัดขึ้น

ผู้อำนวยการฝ่ายคัดเลือกภาพยนตร์ต้องทำอะไรบ้าง

โดยพื้นฐานเราฟอร์มทีมสำหรับทำหน้าที่คัดเลือกหนัง ทำหน้าที่ในการประกาศรับหนังหรือขอหนังเข้ามาฉาย รวบรวมหนังทั้งหมดแล้วนำมาแบ่งประเภท ซึ่งเทศกาลหนังของสิงคโปร์จะประกอบด้วย ‘Silver Screen Awards’ การประกวดหนังเรื่องแรกหรือเรื่องที่สองในเอเชีย ‘Asia Vision’ หนังที่โดดเด่นในเอเชียทั้งหมด และ ‘Cinema Today’ จะเป็นหนังที่ไม่ใช่หนังเอเชีย พวกหนังยุโรป อเมริกา และอื่นๆ นอกนั้นก็เป็นคลาสสิกโปรแกรม เช่น การพูดคุยกับคนทำหนัง การเวิร์กช็อปกับผู้กำกับ การอบรมคนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากเป็นนักวิจารณ์หนัง เป็นต้น

โดยภาพรวมทั้งหมดเราจะเป็นคนให้ความเห็น ให้คำแนะนำ หรือโปรแกรมหนังเราก็ต้องเป็นคนตัดสินใจคนสุดท้าย นอกจากนี้ เราต้องเข้าใจอุตสาหกรรมหนังในอาเซียน เข้าใจโลกของเทศกาลหนังในปัจจุบันด้วยว่ามีทิศทางอย่างไร อะไรคือความสำคัญที่เราต้องเน้น เพื่อจะทำโปรแกรมหนังออกมาให้สอดคล้องกับกลุ่มคนดู

ภารกิจในอนาคตอันใกล้วางไว้อย่างไร

อยากให้หนังในอาเซียนมีการร่วมมือกันมากขึ้น เนื่องจากความรู้ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน อย่างเราไปอินโดนีเซียมา มันน่าสนใจตรงที่หนังอินดี้เขามีโรงฉายเป็นสิบๆ โรง มากกว่าในบ้านเรา แล้วคนก็พร้อมจะไปดู แปลว่าพื้นที่ในการฉายหนังไม่ได้ถูกจำกัดว่าเป็นหนังอินดี้หรือแมส เขามีการผลิตหนังสำหรับคนท้องถิ่นเป็นหลัก มีชุมชนคนดูหนัง มีการจัดฉายหนังแล้วเก็บเงินค่าดู

สิ่งเหล่านี้เรามองว่าแพลตฟอร์มของเทศกาลหนังจะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนและทำให้เกิดการช่วยเหลือระหว่างประเทศ ทำให้ความแข็งแรงในภูมิภาคมีมากขึ้น อาจมีการหารูปแบบใหม่ๆ ในการผลิตภาพยนตร์ อย่างเรื่อง Popeye หนังของผู้กำกับสิงคโปร์แต่มาถ่ายทำในไทย แล้วถ้าเราอยากไปทำหนังที่อินโดนีเซียล่ะ เรามองว่าความช่วยเหลือแบบนี้น่าจะมีมากขึ้น แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไป

ในฐานะคนทำหนังอิสระที่อยู่ในวงการมานาน คุณมองนักทำหนังอิสระรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง

คนทำหนังรุ่นใหม่มีแง่มุมของเรื่องราวที่กล้ามากขึ้น เช่น ประเด็นหญิงรักหญิง อาจด้วยสังคมของครอบครัวที่เปิด หนังเลยมีแง่มุมทางสังคมที่ต่างจากคนรุ่นเรา เด็กรุ่นใหม่มีความสนใจและกระตือรือร้นในเรื่องสังคมและการเมืองมากขึ้น แต่สิ่งที่เราเห็นว่ายังขาดเลยคือหนังที่พูดถึงปัญหาทางสังคม ไม่ใช่พูดแค่เรื่องความยากจนอย่างเดียว ส่วนหนังที่จับประเด็นทางการเมือง ก็มีคนทำเยอะแต่จับแบบผิวเผินเท่านั้น อาจด้วยเรื่องของเซ็นเซอร์ แต่เราว่าบางเรื่องมันก้าวข้ามได้

พลังของเด็กดีมากๆ เขากล้าทำในสิ่งที่บางอย่างเราไม่กล้า แต่ลักษณะการทำงานที่มีเนื้อหาเข้มข้น อาจยังมีน้อย คนที่ทำหนังอินดี้ไม่ได้แปลว่าต้องทำหนังอินดี้ไปตลอด อาจขยับไปทำหนังเมนสตรีมก็ได้ แต่อาจมาในรูปแบบของคนทำหนังเล็กๆ

 

ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

FACT BOX:

  • เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International Film Festival) ครั้งที่ 28 จะจัดระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคมนี้ ที่ประเทศสิงคโปร์
  • เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1987 โดยสองผู้ก่อตั้ง Geoffrey Malone และ L. Leland Whitney โดยเป็นเทศกาลหนังที่ใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุดในสิงคโปร์
  • มหาสมุทรและสุสาน (The Island Funeral) ภาพยนตร์เรื่องยาว ผลงานการกำกับฯ และร่วมเขียนบทเรื่องล่าสุดของพิมพกา โตวิระ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 26 ใน 8 สาขา แต่พลาดรางวัลไปทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หนังสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Asian Future) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ครั้งที่ 28
Tags: , , , , , , ,