ดอกกุหลาบสีแดงสดช่อโต มาพร้อมช็อกโกแลตกล่องสวย หรือจะเป็นของขวัญกล่องเล็กแต่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางจิตใจ นี่คือสิ่งแทนความรักของเหล่าคนมี ‘คู่’

แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีคนรักจริงไหม?

ลองหันกลับมามองสมาคมคนโสดที่จุดกระแส #itoldพระแม่ลักษมี เมื่อกลางปีที่แล้ว ภาพเหล่าสายมูที่เข้าคิวขอเนื้อคู่จนเทพองค์หนึ่งเคยยึดครองความศักดิ์สิทธิ์ในย่านศูนย์การค้ากลางเมืองมาแล้ว

แต่มาวันนี้ กระแสการมูเพื่อความรักค่อยๆ จางหายไป หรืออีกแง่หนึ่งพระแม่อาจประทานพรคนโสดตามคิวไปแล้วก็ได้ ทว่าหากมองให้ลึกลงไป เทพองค์นั้นอาจไม่ได้จางหายไปไหนเลย เพียงแต่ท่านไม่ได้ข้องเกี่ยวกับความรักมาตั้งแต่แรกต่างหาก

เอาจริงๆ ผมเชื่อว่าทุกคนคงจำกระแสพระตรีฯ ที่ดังระเบิดจนคนล้นลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ในทุกวันพฤหัสบดีได้ ที่ส่งผลให้กิจการค้าของไหว้พุ่งกระฉูดแบบฉุดไม่อยู่ ด้านหนึ่งกูรูสายมูทั่วฟ้าเมืองไทย เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ต่างออกมาบอกวิธีการไหว้กันยกใหญ่ “ต้องใช้ดอกกุหลาบสีแดงนะ” “ต้องเป็นน้ำแดง” หรือธูปกี่ดอก จนบางครั้งก็สับสนว่าสุดท้ายต้องทำอย่างไรกันแน่ อีกด้านนักวิชาการ ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวกับอินเดีย-ศาสนาฮินดูก็ออกมาอธิบายรูปแบบของเทวรูปองค์นี้กันอย่างหนาหูว่า นี่ไม่ใช่พระตรีมูรติแต่คือพระศิวะต่างหาก

สำหรับผม กระแสดังกล่าวนับว่าสร้าง ‘สีสัน’ ให้วงการอินเดียศึกษาเป็นอย่างมาก ผู้คนหลายคนหันมาสนใจศึกษาเรื่องราวของเทพเจ้าอินเดียในเชิงวิชาการมากขึ้นควบคู่ไปกับกระแสศรัทธาที่เอ่อล้น ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอออกตัวไว้ก่อนว่า สิ่งที่ทุกท่านจะได้อ่านต่อไปนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผมอยากชักชวนผู้อ่านให้ย้อนมองปรากฏการณ์พระตรีฯ หน้าเซ็นทรัลเวิลด์กันอีกสักหน เพื่อทำความเข้าใจประเด็นน่าขบคิดที่ผมจะเล่าสู่กันฟังในลำดับต่อไป

ความเข้าใจผิดเรื่องตรีมูรติ

ย้อนกลับไปที่คำว่า ‘ตรีมูรติ’ ในสังคมฮินดู หมายถึงรูปทั้งสามของพระเป็นเจ้า คือพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ แต่ในสายการปฏิบัติต่างๆ ไม่มีสำนักคิดฮินดูสกุลใดเลยบูชาเทพทั้ง 3 องค์เท่ากัน แต่จะยกองค์ใดองค์หนึ่งให้สูงกว่าเสมอ เช่น พระศิวะทรงได้ชื่อ ‘มหาเทพ’, พระวิษณุทรงมี ‘วิศวรูป’ (ผู้เป็นรูปแห่งจักรวาล) ในปุราณะต่างๆ ก็ไม่ได้ยกยอเทพทั้งสามมากมาย แต่จะยกองค์ใดองค์หนึ่งสูงกว่าองค์อื่น เห็นได้จากชื่อ เช่น วิษณุปุราณะยกย่องพระวิษณุเด่นกว่าใคร ลิงคปุราณะก็ยอพระศิวะมากกว่า ถึงขนาดพระศิวะทรงสร้างเทพใหญ่อีก 2 องค์ทีเดียว

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนภาพการนับถือเทพเจ้าสูงสุดองค์เดียวในศาสนาฮินดู คือในภควัทคีตา (7.7) ในฉากที่พระกฤษณะทรงแสดงรูปลักษณ์อันแท้จริงของพระองค์ให้อรชุนได้เห็น

พระกฤษณะกล่าว่า “มัตฺต: ปรตรัมฺ นานยัตฺ กิญฺจิทฺ อัสฺติ ธนัญฺชยะ I

มยิ สรรวมิทัมฺ โปฺรตัมฺ สุเตฺร มณิคณา อิวะ II”

แปลว่า “ไม่มีสิ่งใดสูงส่งไปว่าข้า โอ้ อรชุน สรรพสิ่งทั้งปวงล้วนอยู่ภายในตัวตนของข้า ประดุจลูกปัดบนสายสร้อย”

ฉะนั้น เรื่องตรีมูรติจึงดูเป็นเรื่องคลุมเครืออยู่ว่า จริงๆ ควรเป็นอย่างไรกันแน่ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระ เคยเขียนบทความเรื่องนี้ในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อนานมาแล้วว่า ‘ตรีมูรติ’ ไม่ใช่เทพที่สำคัญ ทั้งในฐานะเทพองค์เดี่ยวหรือกลุ่มเทพ แต่มีบทบาทเชิงสัญลักษณ์แทนระบบสังสารวัฏมากกว่า (สร้าง รักษา และทำลาย)

ส่วนเทพที่ชื่อ ‘ตรีมูรติ’ ตามข้อสรุปของนักวิชาการหลายท่านและอาจารย์ศิริพจน์มีที่มาจากความมหัศจรรย์ในวัฒนธรรมฮินดูช่วงสมัยตื่นรู้เรื่องบูรพาคดีและภารตวิทยา เพื่อพยายามหาคำอธิบายรูปเคารพสามหน้าขนาดยักษ์ของพระศิวะในถ้ำเอเลฟันตะ (Elephanta Cave N.1) ไม่ไกลนักจากเมืองมุมไบ

ทำไมต้อง 3 อย่างที่กล่าวมา ในเชิงหนึ่งเป็นการอธิบายโครงสร้างของจักรวาลแบบวงกลมของชาวอินเดียที่หมุนวนไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ด้วยเหตุนี้จึงมีการระบุหน้าที่ให้กับเทพทั้งสามเทพ พรหม–สร้าง, วิษณุ–รักษา, ศิวะ–ทำลายเพื่อสร้างใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบ อีกเชิงหนึ่งคือบรรดาเหล่านักวิชาการตะวันตกรุ่นบุกเบิกไม่สามารถเข้าใจระบบเทพเจ้าที่มีจำนวนมากมายของอินเดียได้ จึงอธิบายเทียบเคียงไปกับความเข้าใจเรื่อง ‘ตรีเอกานุภาพ’ ของศาสนาคริสต์ที่ตนมีอยู่ ฉะนั้น เพื่อความสอดคล้องจึงมีการพยายามดึงเอาเทพที่มีบทบาทมาก 3 องค์มาอธิบายเป็นกลุ่มให้สอดคล้องกับระบบความเข้าใจดั้งเดิมของตนเอง

 ทัตตเตรยะ: ภาพจำของตรีมูรติ

ในเชิงรูปเคารพ คนอินเดียนิยมสร้างรูปเทพทั้งสามเรียงกัน หรือเป็นสัญลักษณ์ของเทพทั้งสามเรียงกันซึ่งถือว่าพบได้น้อยมาก แต่ประเด็นหนึ่งที่หน้าสนใจ คือการสร้างสัญลักษณ์ ตรีศูล สังข์ และลูกประคำ เรียงกันนี้มีมาถึงในสมัยเขมรโบราณราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ด้วย ส่วนจะมาสลักเป็นรูปรวมร่างกันนั้นมีน้อยมากๆ ถึงมากที่สุด โดยรู้จักกันในชื่อ ‘หริหระปิตามหะ’ (หริ [วิษณุ] + หระ [ศิวะ] + ปิตามหะ [พรหม]) ซึ่งเป็นรูปเคารพตรีมูรติแบบรวมร่าง แต่ไม่นิยมและหาได้ยากมาก

กระนั้นก็ยังมีเทพองค์หนึ่งซึ่งมีรูปลักษณะใกล้เคียงกับคำว่า ตรีมูรติ มาก คือพระทัตตาเตรยะ (Dattatreya) มีลักษณะเป็นเทพ 3 เศียร 4 กร มีหมาเป็นมิตร มีวัวเป็นพวก เทพองค์นี้ถือของประจำตัวของเทพใหญ่ทั้งสาม (ตรีศูล สังข์ และลูกประคำ) ซึ่งดูเข้าเค้าว่าเป็นตรีมูรติแน่ๆ แต่ทัตตาเตรยะนับเป็นรูปเดียว เป็น ‘เอกมูรติ’

ตำนานเล่าว่า ท่านเป็นลูกนางอนาสูยะกับฤาษีอตริ ครั้งหนึ่งเทพทั้งสามมาขออาหารจากนางอนาสูยะในรูปของทารก เพื่อช่วยแก้ไขคำสาปบางประการเพราะนางอนาสูยะเป็นผู้ประพฤติดีไม่มีมลทินมัวหมอง เมื่อเห็นทารกทั้งสามนางอนาสูยะจึงป้อนอาหารแก่ทารก จากนั้นเทพทั้งสามก็แสดงตนแล้วให้พรตามที่นางขอ คือ ‘จะมาเกิดเป็นลูก’ เทพทั้งสามทรงรับฟังคำขอแล้วเสด็จเข้าไปในครรภ์ของนางโดยมีพระวิษณุเป็นประธาน ในจุดนี้ตำนานทัตตาเตรยะปรากฏครั้งแรกในวิษณุธรรมโมตรปุราณะและวิษณุปุราณะ รวมทั้งถือว่าเป็นอวตารของพระวิษณุปางที่ 24   

พระทัตตาเตรยะ ที่มา: Wikipedia

จะเห็นว่าการที่พระวิษณุอวตารลงมาเป็นทัตตาเตรยะ เป็นการยกว่าพระวิษณุยิ่งใหญ่กว่าอีก 2 องค์ เพราะเมื่อเราพิจารณารูปเคารพของพระทัตตาเตรยะ หน้าของพระวิษณุจะอยู่หน้ากลาง พระศิวะขวา และพระพรหมซ้าย ตรงนี้เท่ากับพระวิษณุเป็นเอกของกลุ่ม ล้อไปตามตำนานเอกบาทและลิงโคทภวมูรติของพระศิวะ ที่บอกว่าเพราะศิวะเป็นเสาเดี่ยว แล้วพระวิษณุ-พระพรหมโดดออกมาจากท่าน รวมทั้งยังบอกด้วยว่า “ทัตตาเตรยะคือฉัน (พระวิษณุ) คนเดียวนะจ๊ะนายจ๋า”

ต่อมาในช่วงยุคกลางของอินเดีย (หลังพุทธศตวรรษที่ 19) ทัตตาเตรยะถูกดูดไปเป็นเทพของกลุ่มนาถ (Nath Movement) พวกโยคีสายหนึ่งของนิกายพระศิวะ โดยถือว่าท่านเป็น ‘อาทินาถ’ คือครูคนแรกที่สอนเรื่องโยคะตันตระให้กับมนุษย์และคุรุอีก 24 คนของสายปฏิบัตินาถ

ยังมีหลักฐานอีกว่า เดิมทัตตาเตรยะน่าจะเป็นเทพท้องถิ่นในเเถบอินเดียตะวันตก (มหาราชสถาน มหาราษฎร และเคดข่าน) เพราะคติและวัดของท่านกระจุกตัวอยู่ในแถบนั้น ก่อนกระจายออกมาสู่โลกภายนอก และถูกดูดกลืนจากศาสนาฮินดูสายอื่นๆ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมของตัวเอง เรื่องนี้ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยสนทนากับผมว่า ความนิยมของท่านคุรุทัตตาเตรยะมีมากที่สุดในช่วง 100 ปีที่ผ่านมานี้ ผ่านคัมภีร์สำคัญชื่อ ‘คุรุจริตะ’

แต่ด้วยความที่รูปลักษณ์ที่แปลกไม่เหมือนใครอันเกิดขึ้นจากการประกอบกันของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของเทพใหญ่ทั้งสาม จึงไม่หน้าแปลกใจว่าเหตุใดท่านจึงมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพระตรีมูรติ ซึ่งจริงๆ แล้ว คติทั้งสองนี้ไม่เชื่อมกันเลย

พระตรีฯ เซ็นทรัลเวิลด์

ตีตั๋วเครื่องบินข้ามอ่าวเบงกอลย้อนกลับมาที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ หลังผู้อ่านพอจะมีแบ็กกราวนด์เรื่องพระตรีมูรติกับพระทัตตาเตรยะบ้างแล้ว เมื่อมองดูรูปเคารพองค์สีทองในศาลาเทวาลัย ผู้อ่านจะเห็นเอกลักษณ์บางอย่างที่แปลกตาไปจากที่ผมอธิบายข้างต้น ทำไมรูปเคารพนี้ถึงมี 5 หน้า ทำไมรูปเคารพนี้ถึงมีพระจันทร์เด่นชัดบนมวยผม ใช่แล้วครับ อย่างที่บางท่านอาจจะทราบมาแล้ว รูปเคารพนี้ไม่ใช่ทั้ง ‘ตรีมูรติ’ เพราะเป็นเทพองค์เดียวเดี่ยวๆ โดด และรูปเคารพนี้ก็ไม่ใช่พระทัตตาเตรยะผู้เป็นวิษณุอวตาร

พระจันทร์ก็ดี มี 5 หน้าก็ดี หรือมวยผมก็ดี สัญลักษณ์กลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่บ่งชี้ไปถึงพระศิวะทั้งสิ้น โดยรูปปรากฏ 5 หน้านี้ ตามหลักการประติมานวิทยาแล้วเรียกเอาง่ายๆ ว่า ‘ศิวปัญจมุข’ หรือ ‘สทาศิวะ’ ซึ่งอ้างอิงตามข้อความในปุราณะฝ่ายพระศิวะ รูปปรากฏนี้ถือเป็นรูปแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ พระพักตร์ทั้งห้าสะท้อนถึงภาวะการสร้าง รักษา ช่วยเหลือ ปกป้อง ทำลาย และสร้างใหม่อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

ฉะนั้น จะบอกว่าท่านเป็น ‘เทพแห่งความรัก’ ตรงๆ ตามที่เคยเข้าใจกันได้เลยไหม ส่วนตัวผมก็คงได้ เพราะท่านอยู่สูงกว่าจุดนั้นไปแล้ว จะขออะไรก็คงไม่เกินขอบเขตของท่านแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้นมีเทวตำนานหนึ่งของพระศิวะที่เกี่ยวกับความรักโดยตรงอยู่เหมือนกัน เรื่องมีอยู่ว่าครั้งหนึ่งมีอสูรตนหนึ่งชื่อตารกาสูร รับพรจากพระพรหมว่า จะไม่ตายหากไม่ถูกสังหารโดยศิวบุตร ซึ่งในตอนนั้นพระศิวะทรงเศร้าเสียใจจากการเสียรานีสตีพระชายาองค์แรกไป พระองค์จึงเข้าสันโดษในหลืบเขาหิมาลัย ไม่ยุ่งวุ่นวายกับใครเลย เหล่าเทวดาผู้โชคร้ายได้เข้าไปขอคำปรึกษาจากเทพบิดรพรหม พระพรหมทรงแนะนำให้พระนางปารวตี บุตรีแห่งท้าวหิมวัต แต่งงานกับพระศิวะเสีย เพราะพระนางคือรานีสตีกลับชาติมาเกิด กระนั้นก็ไม่ใช่การงานเพราะมหาเทพทรงสละเรื่องทางโลกแล้ว

พระอินทร์เทวราชจึงขอความช่วยเหลือจากพระกามเทพและพระวสันต์ (เทพแห่งฤดูใบไม้ผลิต) ให้ช่วยแผลงศรดอกไม้เพื่อให้พระศิวะทรงตื่นจากสันโดษและตกหลุมรักกับพระนางปารวตี เมื่อได้รับเทวบัญชาแล้ว วสันตเทพก็เนรมิตเทือกเขาหิมาลัยให้อุดมไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ อากาศอุ่น สบาย พระกามเทพก็แผลงปุษปศรแห่งความปรารถนาใส่องค์พระศิวะ พระนางปารวตีทรงยืนด้านหน้ามหาเทพหมายให้พระนางเป็นภาพแรกที่พระองค์เห็น

ผลลัพท์ดันกลับตาลปัตร พระศิวะทรงลืมตาที่สามกลางหน้าผาก ไฟบรรลัยกัลป์พวยพุ่งออกมาเผาทำลายพระกามเทพกลายเป็นจุณ ก่อนจะค่อยๆ ลืมตาเนื้อทั้งสองข้างขึ้นมาเห็นพระนางปารวตี และทรงรับพระนางเป็นชายาในที่สุด

ตำนานตอนนี้มีชื่อในภาษาสันสกฤตว่า กามันตกามูรติ (Kamantakamurti) พระผู้ทำทำลายความปรารถนาทั้งปวง เนื่องด้วยพระศิวะเป็นมหาโยคีผู้ปฏิบัติโยคะ ตำนานนี้จึงถูกแต่งขึ้นเพื่อถ่ายทอดว่าพระองค์ทรงสละทางโลกแล้วโดยสมบูรณ์ ผ่านสัญลักษณ์ของการเผาพระกามเทพ แต่ในอีกเชิงหนึ่งแม้จะทำลายกามะไปแล้ว พระองค์ก็ยังทรงรับเอาพระนางปารวตีเป็นชายาอยู่ดี ในจุดนี้ก็แสดงระบบทางความคิดแบบคนอินเดียประการหนึ่ง คือความสมดุลระหว่างเรื่องทางโลกกับทางศาสนา กล่าวคือในหลักการอาศรม 4 ครึ่งแรก (พรหมจรรยะ-คฤหัสถะ) ถูกวางไว้ให้สนใจเรื่องการใช้ชีวิต ส่วนครึ่งท้าย (วานปรัสถะ-สันยาสะ) เปลี่ยนไปเน้นเรื่องการหลุดพ้นแทน ฉะนั้น พระศิวะจึงต้องทรงมีสองคุณลักษณะนี้ด้วย (ผู้ครองเรือนและผู้สละเรือน)

หลังจากถูกเผาทำลายแล้วพระกามเทพทรงได้รับสมญาว่า อนังคะ (Ananga) แปลว่า ‘ผู้ไร้รูป’ ทำไมความรักถึงไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาและสัมผัสได้ด้วยใจ ก็เพราะความรักแบบมีรูปลักษณ์ได้ถูกพระศิวะเผาทำลายไปแล้ว แม้ว่าสุดท้ายพระองค์จะได้รับพรให้ฟื้นคืนร่างดังเดิมก็ตาม อีกความน่าสนใจหนึ่งของกามเทพ คือท่านมีชื่หนึ่งว่า มาระ (Mara) ซึ่งก็ตรงกับคำว่า ‘มาร’ ในภาษาไทยนั่นแหละ แต่หากแปลตามศัพพ์แล้วจะแปลว่า ผู้สร้างบาดแผล เนื่องด้วยท่านมีความสามารถในการทำให้ผู้ต้องศรหลงใหลกับสิ่งหนึ่งๆ ได้ อันเป็นการนำไปสู่การวิวาทได้ หรือจริงๆ แล้วท่านอาจจะได้ชื่อนี้มา เพราะความรักแม้จะมองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ แต่เมื่อเคยได้รักและสูญเสียรักไป มันช่างเจ็บปวดเหลือเกิน เสมือนมีมีดแทงลึกลงไปกลางใจ เป็นแผลที่ยากจะรักษาให้หายได้

สุดท้ายกลับมาที่พระศิวะ AKA พระตรีฯ หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ อย่างที่บอกนะครับว่า เทพองค์นี้อยู่เหนือขอบเขตของความรักไปแล้ว กระนั้นคนอินเดียก็ยังมีสำนวนน่ารักๆ เกี่ยวกับพระศิวะและความรักด้วย ได้แก่

 “ความรักแท้จริงนั้นสีดำ ดำเสมือนพระศอของพระศิวะ” 

วลีนี้มาจากตอนที่ท่านยอมดื่มพิษที่เกิดจากการกวนทะเลน้ำนมเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจากพิษร้าย ในบางครั้งคนอินเดียจึงมองความรักเป็นเรื่องของความเสียสละ ความเมตตา และแน่นอนว่าพระศิวะจะทรงตอบรับคำวิงวอนของผู้ศรัธาแน่นอน ส่วนเรื่องพระตรีฯ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ก็สุดเเท้แต่ความศรัทธาครับ 

หากเชื่อจะไหว้ก็ไม่มีปัญหา แต่การเลือนหายไปอย่างช้าๆ ของเทวรูปองค์นี้จากหน้าจอสื่อออนไลน์ต่างๆ ก็สะท้อนภาวะความเข้าใจที่เคลื่อนตัวของผู้คนซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังการได้อ่านคำชี้แจงของเหล่าผู้รู้ ซึ่งอาจจะมองเล่นๆ ได้ไหมว่า นี่เป็นความสำเร็จทางวิชาการเล็กๆ ของกลุ่มนักวิชาการด้านอินเดียที่มีต่อสังคมไทย หรือคำตอบก็ง่ายๆ แค่ ‘พระตรีมูรติองค์นี้ไม่ตอบโจทย์แล้ว’

ที่มาข้อมูล

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ล้วงลึกเรื่อง “กาม” และความรัก ในศาสนาพราหมณ์ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 – 23 กุมภาพันธ์ 2560

ผาสุข อินทราวุธ. รูปเคารพในศาสนาฮินดู. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2522.

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. พระตรีมูรติ ในอินเดีย ไม่ใช่รูปรวมเทพเจ้าทั้งสาม เหมือนที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 – 26 ตุลาคม 2560

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ตรีมูรติ อภิมหาเทพของฮินดู. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2551.

James Lochtefeld. The Illustrated Encyclopedia of Hinduism, Volume 1, New York: Rosen Publishing, 2002.

T.A. Gopinatha Rao. Elements of Hindu Iconography, Volume 1, Delhi: Motilal Banarsidass, 1968.

Vettam Mani. Puranic Encyclopaedia. Delhi: Motilal Banarsidass, 1975.

Tags: , , , ,