นับตั้งแต่ 26 มกราคม 1950 รัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวของอินเดีย ซึ่ง ดร.บี. รา. เอมเบดการ์ (Bhimrao Ramji Ambedkar) เป็นหัวหน้าคณะร่าง ได้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการหลังจากประกาศเอกราชได้ราว 3 ปี รัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่เคยถูกฉีก ล้มล้าง หรือท้าทาย ด้วยเหตุนี้ อินเดียจึงนับว่าเป็น ‘ประเทศประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก’

ศิวะทาสัน ปิลไล (Sivadasan Pillai) ข้าราชการอาจารย์เกษียณอายุ วัย 71 ปี ดัดแปลงอาคารบ้านพักเล็กๆ ของเขาในเขตกุทัปปันนักกุณณู (Kudappannakkunnu) เมืองติรุวนันทปุรัม (Thiruvananthapuram) ด้วยเงินบำนาญที่เขาได้รับให้กลายเป็น ‘ภาระนะฆทนะ เกษตรัม’ (Bharanaghadana Kshetram) หรือวัดรัฐธรรมนูญ (Constitution Temple)

ภายในวัดประดิษฐานรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียในสภาพเปิดอ่าน พร้อมกับแท่นประทีปเพื่อบูชา เช่นเดียวกับในห้องครรภคฤหะ (ห้องบูชาประธาน) ของเทวาลัยที่ประดิษฐานเทวรูปของเทพเจ้าตามปกติ โดยรอบวัดมีประดับประดาด้วยถ้อยคำต่างๆ จากรัฐธรรมนูญ รวมทั้งภาพของนักต่อสู้เพื่อเอกราชและความเท่าเทียมทางสังคมทั้งชาวอินเดียและต่างชาติ เช่น  ดร.เอมเบดการ์, จโยติบา ผูเล่ (Jyotiba Phule), เปริยาร์ (Periyar), มหาตมะ คานธี, มาลาลา ยูซาฟไซ และอีกหลายคน

เทวสถานแห่งรัฐธรรมนูญแห่งนี้เปิดให้เข้าสักการะรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2020 (วันประกาศเอกราช) ศิวะทาสัน ปิลไล กล่าวว่า “หากเรา (คนอินเดียทุกคน) ให้ความสำคัญกับการอ่านและทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญมากพอ ความไม่เท่าเทียมใดๆ ทางสังคมของประเทศนี้ไม่ว่าจะเป็น ด้านศาสนา วรรณะ เพศ และอื่นๆ จะลดน้อยถอยลง”

ในปีนี้ (2023) ศิวะทาสันได้เริ่มกิจกรรมสำคัญหนึ่ง ‘Constitutionalism’ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในรัฐธรรมในฐานะหลักปฏิบัติ ซึ่งทุกคนสามารถปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เขาเชื่ออย่างสุดใจว่า หากประชาชนในทุกภาคส่วนดำเนินชีวิตตามหลักการในรัฐธรรมนูญ ทั้งในระดับวิถีชีวิตและลึกลงไปถึงระดับจิตวิญญาณ อินเดียจะยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน ฉะนั้นศิวะทาสันจึงรู้สึกว่า ‘ภาระนะฆทนะ เกษตรัม’ หรือ ‘วัดรัฐธรรมนูญ’ ของเขานั้นสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะสถานที่แห่งจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ

“คนรุ่นใหม่ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของเรา สำหรับพวกเขา วันประกาศอิสรภาพหรือวันชาติ (Republic Day) เป็นเพียงวันๆ หนึ่งเท่านั้น ความพยายามเล็กๆ ของผมคือการปลูกฝังจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญและให้อำนาจแก่พวกเขา โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่า ถ้าเรายึดมั่นในพระเจ้า (รัฐธรรมนูญ) ก็จะไม่มีความขัดแย้งหรือปัญหาใดๆ ในประเทศนี้

“เราต้องดูแลเด็กๆ และพลเมืองของเราให้ดี และผมรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญของเราเป็นไปประดุจไบเบิลที่นำทางมวลมนุษย์ และรัฐธรรมนูญของเราเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของโลก”

 

“รัฐธรรมนูญคือหนังสือศักดิ์สิทธิ์ของเรา”

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2015 นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณะรัฐอินเดีย ได้กล่าวว่า “ศาสนาของรัฐบาล (ของเขา) คือ ก่อนอินเดีย (India First) และรัฐธรรมนูญคือ ‘หนังสือศักดิ์สิทธิ์’ ของเรา” ในขณะแถลงต่อรัฐสภาเนื่องในวันครบรอบ 125 ปี วันเกิดของ ดร.เอมเบดการ์ หัวหน้าคณะร่างรัฐธรรมนูญและนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนวรรณะล่าง

“ประเทศอย่างอินเดียมีความหลากหลายและรัฐธรรมนูญมีพลังที่จะรวมพวกเรา

“เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยของเรา สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ประชาชนจะต้องรู้เกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของรัฐธรรมนูญของเรา”

คำกล่าวของโมดีเมื่อปี 2015 นี้ เกิดขึ้นเมื่อสังคมอินเดียกำลังตั้งคำถามและถกเถียงในประเด็นเรื่องความไม่อดกลั้นทางสังคม และความเสื่อมถอยของรัฐฆราวาส ซึ่งเป็นหลักการใหญ่หลักการแรกที่รัฐธรรมนูญของประเทศวางเอาไว้ และเป็นมรดกอันยิ่งใหญ่ของ ดร.เอมเบดการ์ ผู้แทนฝ่ายค้านอย่าง ศศิ ทาโรร์ เคยกล่าวไว้ว่า รัฐบาลนี้อ้างถึงเอมเบดการ์ในแบบที่เอมเบดการ์จะต้องร้องไห้เมื่อได้ยิน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลโมดีโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนโยบายที่ค่อนข้างแข็งกร้าวต่อชาวมุสลิม และความเป็นฮินดูนิยม ซึ่งนักการเมือง นักกฎหมาย และนักวิชาการหลายกลุ่มมองว่า ‘ขัด’ กับคุณค่าแห่งรัฐธรรมนูญ  

คำกล่าวลักษณะนี้ได้ถูกยกกลับมาอีกครั้งเมื่อปี 2018 โดยผู้พิพากษาแห่งศาลสูง อาร์. เอฟ. นาริมาน (R F Nariman) เมื่อครั้งต้องเป็นหนึ่งในคณะผู้พิพากษากรณีวัดสาบารีมาลา (Sabarimala) ซึ่งวัดมีธรรมเนียมห้ามมิให้ผู้หญิงที่ยังอยู่ในช่วงวัยที่มีประจำเดือนห้ามเข้าวัดโดยเด็ดขาด เนื่องจากเทพเจ้าประธานของวัด สวามีอัยยัปปา ทรงถือพรหมจรรย์ คำตัดสินของศาลในครั้งนั้นทางวัดแพ้และรัฐธรรมนูญชนะ

ชัยชนะของรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นก่อให้เกิดการตั้งคำถามและการประท้วงอย่างหนักในกลุ่มผู้ศรัทธาในตัวสวามีอัยยัปปา ผู้หญิงที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญเดินทางเข้าไปในวัดได้ ถูกกลุ่มผู้ยึดถือตามธรรมเนียมดั้งเดิมต่อว่า ขับไล่ และทำร้าย ศาลได้พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง ก่อนจะข้อสรุปเช่นเดิม

ผู้พิพากษา อาร์. เอฟ. นาริมาน ได้เน้นย้ำว่า “ขอให้ทุกคนจำไว้ว่า ‘หนังสือศักดิ์สิทธิ์’ อันได้แก่ ‘รัฐธรรมนูญของอินเดีย’ และเมื่อมีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือแล้ว พลเมืองของอินเดียจึงสามารถเดินร่วมกันไปในฐานะ ‘ชาติ’ ด้วยรัฐธรรมนูญนี้ พวกเขาจะได้ก้าวไปข้างหน้าในทุกด้านของความพยายามของมนุษย์ ที่จะบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่กำหนดโดย ‘Magna Carta’ หรือกฎบัตรอันยิ่งใหญ่ของอินเดีย”

คำพูดของโมดีและนาริมานนั้นน่าคิดมากกว่า ‘สภาวะศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย’ นั้นควรเป็นอย่างไร? รัฐธรรมนูญควรมีสภาวะนั้นไหม?

นักวิชาการด้านสังคม รัฐศาสตร์ และนักกฎหมายหลายคนคัดค้านความเชื่อนี้หัวชนฝา พวกเขามองว่าคำว่า ‘หนังสือศักดิ์สิทธิ์’ ในเชิงหนึ่ง ได้ให้ภาวะ ‘ไร้ข้อสงสัย’ ให้กับรัฐธรรมนูญประหนึ่งคัมภีร์ทางศาสนาที่เป็นพระวจนะของพระเป็นเจ้า ทำให้รัฐธรรมนูญเลื่อนออกห่างจากสิ่งที่รัฐธรรมนูญควรเป็น คือ ‘หลักประกันของความเป็นมนุษย์’ เพราะรัฐธรรมนูญในฐานะประดิษฐกรรมของมนุษย์ถูกสร้างขึ้น เพื่อแก้ไขความ ‘ความบกพร่อง’ และ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ ของสังคมมนุษย์

ฉะนั้นในทางเดียวกัน มันจึงบรรจุคุณค่าความเป็นมนุษย์เอาไว้ ‘ความบกพร่อง’ และ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ แต่มนุษย์สามารถแก้ไขมันได้ด้วยกระบวนการทางรัฐสภาและกระบวนการทางกฎหมายอื่นๆ เพื่อพยายามมุ่งหน้าสู่ความเหมาะสมสูงสุดตามโลกทัศน์ในช่วงเวลาหนึ่งๆ

ในเชิงเดียวกับข้อร้องทักของนักวิชาการหลากหลายสาขาถึงความเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ การเกิดวัดที่บูชารัฐธรรมนูญแทนรูปเคารพอย่างปกติของชายวัยหลักเกษียณอย่าง ศิวะทาสัน ปิลไล สะท้อนว่ารัฐธรรมนูญของประเทศอินเดียได้ก้าวล้ำเข้าไปสู่ภาวะบางอย่าง ที่มากกว่าเพียงประดิษฐกรรมของมนุษย์เพื่อการปกครองและประโยชน์ทางสังคมแล้ว แต่หากพิจารณาย้อนดูคุณค่าที่ผู้สร้างวัดแห่งนี้อ้างอิงถึงคือ ‘คุณค่าของรัฐธรรมนูญ’

“ความพยายามเล็กๆ ของผมคือการปลูกฝังจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ”

สิ่งที่ตัวศิวะทาสันให้ความสนใจและเป็นจุดมุ่งหวังของเขาในการสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นนั้น ก้าวทะลุเข้าปกรัฐธรรมนูญไปสู่เนื้อหาภายใน และจิตวิญญาณภายของประชาธิปไตยและความเท่าเทียมที่รัฐธรรมนูญบรรจุเอาไว้ ซึ่งให้ความรู้สึกที่ต่างจากคำพูดของโมดีและนาริมานที่มองรัฐธรรมนูญในแบบกายภาพ ในแบบคัมภีร์ของพระผู้ช่วยให้รอดที่เรา ‘ไม่’ อาจตั้งคำถามได้พลานุภาพนั้น

อย่างไรก็ดี “มันช่างดูล่อแหลมเสียนี่กะไร” คำพูดเล็กๆ ผุดขึ้นในหัวผู้เขียนเมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ เรื่องราวของวัดรัฐธรรมนูญ ‘ภาระนะฆทนะ เกษตรัม’ ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของอินเดีย ในมุมหนึ่งจึงเป็นการคัดง้างกันระหว่างความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญในเชิงกายภาพ (หนังสือเป็นเล่มๆ) กับในเชิงคุณค่า (จิตวิญญาณแห่งรัฐธรรมนูญ) สำหรับผม มุมมองหนึ่งที่ได้จากศิวะทาสันคือ หากเรายึดเอารัฐธรรมเป็นเล่ม เป็นตัวเล่มหนังสือศักดิ์สิทธิ์ หนังสือเล่มนั้นคงยิ่งใหญ่และไม่อนุญาตให้เราจัดต้อง ตีความ โต้แย้งได้โดยง่าย และนั่นก็คงเป็นการต่อสู้กับคุณค่าภายในของหนังสือเล่มนี้เองเสียมากกว่าความบกพร่องทางสังคมที่มนุษย์เราพยายามข้ามให้พ้นห้วง

“ฉะนั้นคุณค่าของรัฐธรรมนูญอยู่ที่ไหน?”

 

ที่มา

“Remember That Constitution Of India Is The “Holy Book”: Justice Nariman In Minority Sabarimala Verdict” เข้าถึงจาก https://www.ndtv.com/india-news/remember-that-constitution-of-india-is-the-holy-book-justice-nariman-in-minority-sabarimala-verdict-2132740

“Constitution is government’s only ‘holy book’, PM Modi says” เข้าถึงจาก https://timesofindia.indiatimes.com/india/constitution-is-governments-only-holy-book-pm-modi-says/articleshow/49950277.cms

Pai, Nitin. (2019). “Modi calls Constitution a ‘holy book’ but his government violates its letter and spirit” เข้าถึงจาก https://theprint.in/opinion/modi-calls-constitution-a-holy-book-but-his-government-violates-its-letter-and-spirit/183391/

Pathaknistula Hebbar, Vikas. (2015). “Constitution is our holy book: Modi” เข้าถึงจาก https://www.thehindu.com/news/national/constitution-is-our-holy-book-modi/article7924322.ece

Constitutional Law Society. “The Constitution as a Holy Book: Some questions raised” เข้าถึงจาก https://wbnujscls.wordpress.com/2020/10/26/the-constitution-as-a-holy-book-some-questions-raised/

Babu, Ramesh. (2022).  “Kerala: Retired teacher builds temple that worships Indian Constitution” เข้าถึงจาก https://www.hindustantimes.com/india-news/kerala-retired-teacher-builds-temple-that-worships-indian-constitution-101657192876327.html

The Hindu, “Did you know there’s a temple for the Indian constitution?” เข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=-l6FVD8DKiA

Tags: , ,