“มันเป็นการเมืองในตำรวจ ถามว่าทำไมตั้งนานมันไม่เกิดขึ้น ทำไมมาเกิดในช่วงนี้

“ผมอาจจะทำคดีเยอะ อาจจะกระทบกระทั่งหลายส่วน คดีกำนันนกก็ตาม คดี 140 ล้านบาทก็ตาม เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ต้องรับแรงกระแทกแบบนี้

“มันเป็นความพยายามดิสเครดิตให้ผมเสียชื่อ เรื่องอย่างนี้ผมเจอมาเยอะแล้ว”

เหล่านี้คือการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายสำนักของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือฉายา ‘โจ๊กหวานเจี๊ยบ’ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ภายหลังตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) พร้อมหน่วยคอมมานโด นำหมายค้นเข้าตรวจสอบบ้านของเขาจำนวน 5 หลัง ในหมู่บ้านซอยวิภาวดี เมื่อเช้าวานนี้ (25 กันยายน 2566) กรณีขยายผลการสอบสวน และพบว่า ลูกน้องมีเส้นทางการเงินพัวพันกับเว็บพนันออนไลน์

เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าตรวจสอบบ้านตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งนับเป็นผู้มีผลงานโดดเด่นคนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 14 จนหลายคนอดเชื่อมโยงไม่ได้ว่า นี่คือการ ‘เตะตัดขา’ สกัดดาวรุ่งหรือไม่? รวมไปถึง พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ก็ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า

“มันเป็นความพยายามดิสเครดิตให้ผมเสียชื่อ เรื่องอย่างนี้ผมเจอมาเยอะแล้ว”

“คุณเชื่อไหม เรื่องนี้หาคนสั่งไม่ได้… แต่ไม่เป็นไร เรื่องนี้ใครทำต้องรับผิดชอบ ก็ทราบอยู่แล้วว่านิสัยผมผมเป็นนักสู้”

หากดูตามกำหนดการแล้ว การบุกค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นับว่ากระชั้นชิดกับการประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 10/2566 ในวันพรุ่งนี้ (27 กันยายน 2566 ) เวลา 13.30 น. มีวาระสำคัญคือการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.คนใหม่ โดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน

ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.จะเลือกผ่านเกณฑ์ที่คำนึงถึงความอาวุโส ความสามารถ ประสบการณ์งานสืบสวนสอบสวน หรืองานป้องกันปราบปราม เพื่อเสนอชื่อต่อ ก.ตร.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

The Momentum รวบรวมประวัติ ผลงาน และเรื่อง ‘อื่นๆ’ ที่เกี่ยวข้องกับ 4 แคนดิเดต ผบ.ตร.คนที่ 14 ของประเทศไทยไว้ดังนี้

มาลองทายกันว่าระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนี้ ใครกันที่จะได้ครองบัลลังก์ ‘สีกากี’

1. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

ตำแหน่ง: รอง ผบ.ตร.

ฉายา: มือปราบสายธรรมะ และโรโบคอปสายบุญ

ประวัติการศึกษา: สิงห์แดง รุ่น 38

ผลงาน:

– เป็น ผบช.น.อาวุโสน้อยที่สุด

– ปราบปรามคดีไซเบอร์

อื่นๆ:

– อดีตพนักงานบริษัทน้ำมัน

– น้องชาย พล.อ.อ.สถิตย์พงศ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง

– เจ้านายผู้กำกับ วชิรา ยาวไทยสงค์

– ถูกโยงกรณีส่วยทางหลวง

– ถูกโยงกรณีตั๋วช้าง

เกษียณ: 2567

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ฉายา ‘มือปราบสายธรรมะ’ หรือ ‘โรโบคอปสายบุญ’ ถูกเรียกโดยสื่อมวลชนสายอาชญากรรม เนื่องจากเป็นตำรวจที่ไปทำบุญ ปฏิบัติธรรมบ่อย และใช้หลักธรรมในการทำงาน โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์เป็นน้องชายของ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง และราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ประวัติการศึกษา จบปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดง รุ่นที่ 38), ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม ก่อนเข้ารับราชการตำรวจเขาเคยเป็นพนักงานบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ 7 ปี จนมีเงินเดือน 8 หมื่นบาท ก่อนลาออกเพื่อทำตามความฝันในวัยเด็กนั่นคือการเป็น ’ตำรวจ’

ดังนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์จึงเป็นแคนดิเดตเพียงคนเดียวในรอบนี้ ที่ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่มาด้วย ‘บุญวาสนา’ ที่มากกว่าคนอื่น

มือปราบสายธรรมะเริ่มต้นเส้นทางตำรวจด้วยตำแหน่งรองสารวัตร กองกำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 ก่อนขึ้นเป็นผู้กำกับการในปี 2559 เขาใช้เวลาเพียง 4 ปี 3 เดือนเศษ เท่านั้นในการเลื่อนตำแหน่งจาก พ.ต.อ.เป็น พล.ต.ท. กระทั่งขึ้นมาเป็น พล.ต.อ.ในปัจจุบัน

ปัจจุบันรับผิดชอบหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ศปลป.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ (ศปจร.ตร.) ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม (ศปป.ตร.) ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ (ศปทส.ตร.) และศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง (ศปข.ตร.)

ในช่วงที่ผ่านมา ชื่อของพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ถูกกล่าวถึงในหน้าสื่อมากมาย ทั้งจากกรณี ‘คดีกำนันนก’ เพราะลูกน้องกำนันนกยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว อดีต สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล.เสียชีวิต เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา อีก 4 วันต่อมา ‘ผู้กำกับเบิ้ม’ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.2 บก.ทล. ลูกน้องของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในบ้านพักย่านปทุมธานี

หากยังจำกันได้ ชื่อของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ถูกพูดถึงมากในช่วงการปภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ปภิปรายกรณี ‘ตั๋วช้าง’ ที่ใช้แต่งตั้งและเลื่อนขั้นนายตำรวจ

รังสิมันต์อภิปรายว่า ปกติแล้ว อาชีพตำรวจมีการซื้อขายตำแหน่งหน้าที่กันอย่างเปิดเผย ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่หากมี ‘ตั๋ว’ ราคาที่ต้องจ่ายจะถูกลง นอกจากนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกล ยังอภิปรายพาดพิงถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ไว้ว่า มีการใช้อำนาจแต่งตั้งข้าราชการนอกกองของตนเอง ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พร้อมกับตั้งคำถามว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นนายกฯ ณ ขณะนั้น และพลเอกประวิตร รองนายกฯ ณ ขณะนั้น ทำให้ได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์และเลื่อนขั้นขึ้นรับตำแหน่งระดับสูงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึง พล.ต.ต. ‘จ’ เช่นกัน ภายหลังปรากฏชื่อเป็น พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก.

จากเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งคดีกำนันนกและกรณีเอี่ยวตั๋วช้าง เขาจึงถูกจับตามองอย่างมากว่าเรื่องราวเหล่านี้จะส่งผลต่อการเข้าชิงเก้าอี้ของมือปราบสายธรรมะคนนี้หรือไม่?

รวมไปถึงการที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เข้ามาดูแลคดีกำนันนกในช่วงแรก และถูกบุกค้นบ้านในเช้ามืดก็ถูกมองว่าเป็นการเมืองตำรวจ ซึ่งอาจโยงไปถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ผู้เคยรับผิดชอบ ‘คอมมานโด’ และรอบนี้ก็เป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.คู่แข่งเช่นกัน

 

2. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

ตำแหน่ง: รอง ผบ.ตร.

ฉายา: โจ๊กหวานเจี๊ยบ และบิ๊กโจ๊กเต็มคาราเบล

ประวัติการศึกษา: นรต.รุ่น 47

ผลงานเด่น:

– คดีแอมไซยาไนด์

– คดีรับจ้างอุ้มบุญ

– หัวหน้าศูนย์ปราบปรามการค้ามนุษย์

อื่นๆ:

– ถูกสืบสวนกรณีเกี่ยว ‘เว็บพนัน’

– ถูกให้ออกจากราชการยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โยงการจัดซื้อจัดจ้างใน ตม.

เกษียณ: 2574

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ ‘โจ๊กหวานเจี๊ยบ’ เป็นฉายาที่ได้จากคนรอบข้างและนักข่าวสายตำรวจ เพราะเป็นคนพูดสุภาพ อ่อนน้อม อ่อนหวาน ยกมือไว้ทุกคน นอกจากตำแหน่งหน้าที่การงานในวงการตำรวจมากมาย เช่น ผอ.ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง (ศปนม.ตร.), ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และปราบปรามการค้ามนุษย์ (ศพดส.ตร.) และหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.)

นอกจากนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังเคยเป็นผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก่อนถูก ‘เด้งฟ้าผ่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 2/2562 จนเขาต้องใช้ชีวิตในฐานะข้าราชการพลเรือนกว่า 2 ปี ก่อนลาอุปสมบท ภายหลัง เขายื่นฟ้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีออกคำสั่งย้ายโอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลไม่รับคำฟ้อง

ในปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งย้าย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กลับมายังสำนักงานตำรวจฯ อีกครั้ง ด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ สบ. 9 (เทียบเท่า ผบ.ตร.) และรอง ผบ.ตร.ในเวลาต่อมา

ด้านประวัติการศึกษา เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 31 จบปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 47, ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล, ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และปริญญาเอก สาขาวิชาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานที่โดดเด่น ปิดคดีแอมไซยาไนด์ กรณีใช้สารพิษโพแทสเซียมไซยาไนด์ ผสมอาหารเครื่องดื่มฆ่าผู้อื่นเพื่อหวังทรัพย์ ล้างหนี้, คดีเว็บพนันออนไลน์ 140 ล้านบาท โดยมีตำรวจเกี่ยวข้องมากกว่า 20 นาย และคดีกำนันนก กรณีประวีณ จันทร์คล้าย ลูกน้องกำนันนก ยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว อดีต สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา

หลายคนทายกันว่าชื่อของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์หรือที่หลายคนคุ้นหูในนาม ‘บิ๊กโจ๊ก’ มีโอกาสนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.สูง เพราะอาวุโสสูงสุด เนื่องจากขึ้น ‘นายพล’ เร็วที่สุด แต่ ณ วันนี้ เส้นทางการเข้าสู่บัลลังก์กลับเต็มไปด้วยขวากหนาม เมื่อจู่ๆ เขาถูกค้นบ้านสอบสวนเกี่ยวกับเว็บพนันที่มีลูกน้องคนสนิทเข้าไปพัวพันกับเส้นทางการเงิน จนหลายคนรวมถึงตัวของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มองว่า เป็นเกมการเมืองตำรวจ

3. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์

ตำแหน่ง: รอง ผบ.ตร.

ฉายา: บิ๊กต่าย

ประวัติการศึกษา: นรต.รุ่น 41

ผลงาน:

– หัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

– รับผิดชอบแก้ไขหลักสูตร กอส.

เกษียณ: 2569

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ ‘บิ๊กต่าย’ จบการศึกษาปริญญาตรี โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 41 ตำแหน่งที่รับผิดชอบนอกจากเป็นรอง ผบ.ตร. คือหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ศปปง.ตร.) และศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.)

ผลงานที่รับผิดชอบล่าสุด คือถูกมอบหมายให้ตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนปรับปรุงแก้ไขระเบียบคำสั่งกฎ ก.ตร.และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการรับบุคคลเข้ามาเป็นตำรวจสัญญาบัตร แต่งตั้ง บรรจุ และแก้ไขหลักสูตร กอส.

4. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์

ตำแหน่ง: รอง ผบ.ตร.

ฉายา: นายพล Take me home

ประวัติการศึกษา: นรต.40

ผลงานเด่น: จัดการบ่อนพนันภาคตะวันออก, รักษาความปลอดภัย APEC 2022 , ดูแลความเรียบร้อยการเลือกตั้งปี 2562 และปี 2565, พาคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในกัมพูชากลับบ้าน

เกษียณ: 2567

พล.ต.อ.รอยถูกเสนอชื่อเข้าชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.เป็นครั้งที่สอง และถือเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่หลายคนทายผลไว้ ประวัติการศึกษาเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24, นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 40, จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ปริญญาโท MPA จากสหรัฐอเมริกา, จบหลักสูตร FBI จากสหรัฐอเมริกา และหลักสูตรสืบสวนจากสหรัฐอเมริกา-ออสเตรเลีย

ผลงานที่โดดเด่น เปิดปฏิบัติการสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย กรุงพนมเปญ บุกช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ และถูกกักขังที่กัมพูชากว่าร้อยคน จนเป็นที่มาของฉายา ‘นายพล Take me home’ และได้รับมอบหมายจาก ผบ.ตร.ให้เป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยช่วงการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ภารกิจสำคัญของ พล.ต.อ.รอยเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ‘ผู้ช่วย ผบ.ตร.’ เคยได้รับมอบหมายให้ไปแก้ปัญหาบ่อนการพนันในพื้นที่ภาคตะวันออก ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งยังได้รับผิดชอบศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ

ส่วนเรื่อง ‘อื่นๆ’ มีคนกล่าวไว้ว่า พล.ต.อ.รอยไร้ประวัติด่างพร้อยในวงการสีกากี แต่ก็ไม่ได้อยู่ใน ‘ตัวเต็ง’ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไป จนมีคนเสนอว่าอาจมีการ ‘โยก’ พล.ต.อ.รอยไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อ ‘ปลอบใจ’ หากไม่ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนถัดไป

กระนั้นเอง เมื่อ ‘บิ๊กโจ๊ก’ โดนเรื่องนี้ และอาจเป็นฝีมือของแคนดิเดตอีกคน หาก ‘บิ๊กโจ๊ก’ ซัดกลับจนแคนดิเดตอีกคนหน้ามืด ชื่อ พล.ต.อ.รอยก็อาจกลับมาอีกครั้ง

อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เราก็จะได้รู้กันว่า ใครกันที่จะได้กุมบังเหียนสีกากี

Tags: , , , , , ,