อยู่ดีๆ ชื่อของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ก็โผล่มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ในห้วงเวลาสัปดาห์สุดท้ายก่อนการทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี

แต่เดิมนั้น ชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นชื่อของ สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ผู้อาวุโสของพรรคเพื่อไทย คาดว่าเพื่อพรรคเพื่อไทยจะยังรั้งกระทรวงศึกษาธิการไว้ได้ และคาดว่าพรรคภูมิใจไทยน่าจะได้โควตา 3 กระทรวง คือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวัฒนธรรม

ทว่าในสัปดาห์ฝุ่นตลบ การตัดสินใจ แลกกระทรวงยังไม่สะเด็ดน้ำ พรรคเพื่อไทยอยู่ในสภาวะถูกบีบหน้าเขียว จำต้องปล่อยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกรดเอในแง่ งบประมาณแต่เกรดซีในแง่ ภารกิจ ไปให้กับพรรคภูมิใจไทย กลายเป็นหัวหน้าใหญ่ของบรรดา ครูทั่วประเทศ

ขณะที่ชื่อของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูนเดิมนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นการเปลี่ยนตัว ชิดชอบจาก ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และยังคงมีคดีให้ลุ้นกันวันต่อวัน จากกรณีปกปิดทรัพย์สินที่ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ทั้งยังถูกกล่าวหาว่ามี นอมินีถือหุ้น และในห้วงเวลาสุดท้าย ศักดิ์สยามยังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่กระทรวงคมนาคม

ถึงที่สุด ตระกูลชิดชอบจึงส่งพี่ชายของศักดิ์สยาม น้องชายของเนวิน ชิดชอบ หนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่พรรคภูมิใจไทยตัวจริงนั่งเป็นรัฐมนตรี แม้จะไม่เคยมีประวัติใดๆ เกี่ยวข้องกับการศึกษาเลย…

นั่นทำให้ตระกูลชิดชอบ ตระกูลบ้านใหญ่แห่งบุรีรัมย์ มีรัฐมนตรีมากถึง 3 คน และล้วนเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน นั่นคือ เนวิน ศักดิ์สยาม และพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ขณะที่ ชัย ชิดชอบ บิดาของทั้งสาม เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างประธานสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนลูกชายของเนวิน ไชยชนก ชิดชอบ ที่วันนี้เป็น ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เรียบร้อย อาจถึงคิวเป็นรัฐมนตรีในรอบหน้า หากพรรคภูมิใจไทยยังคงได้รับความนิยมในระดับนี้ ในระดับ 70 เสียงขึ้นไป

ส่วนเรื่อง ความสามารถนั้น บุคคลอ้างอิงอย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งรอบนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้แนะนำไว้อย่างดิบดีว่า “ท่านเป็นถึงตำรวจเอก ผมไม่ได้เป็นหมอยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้”

กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงเกรดเอ ที่ไม่มีใครอยากได้?

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด โดยในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณคิดเป็น 3.25 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท 

หากมองจากงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการดูจะเป็นกระทรวงเกรดเอ กระนั้นเอง ในข้อเท็จจริง กว่า 62% ของงบประมาณทั้งหมด หรือคิดเป็น 2 แสนล้านบาท จะถูกใช้ไปกับงบประมาณบุคลากร นอกจากนั้น ยังมีในส่วนของงบอุดหนุนเพื่อสนับสนุนในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกเป็นก้อนใหญ่ คงเหลือ งบลงทุนราว 5% เท่านั้น​ ขณะเดียวกัน งบลงทุนยังเป็นการลงทุนในแง่สิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ประเภทอาคาร ครุภัณฑ์ ไม่ใช่การลงทุนเพื่อวางโครงสร้างทางการศึกษาระยะยาว

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังมีระบบและโครงสร้างอันสลับซับซ้อน หากกระทรวงอื่นมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนเดียว การกระจายอำนาจด้านการศึกษาทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีข้าราชการเทียบเท่า ซี11 ถึง 5 คน คือ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นหน่วยงานที่ใหญ่โตมโหฬาร จะ กระจายอำนาจก็ไม่สำเร็จ และจะ รวบอำนาจกลับมาก็ไม่ทันแล้ว

เพราะฉะนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีสถานะเกรดซี เพราะรัฐมนตรีแทบเข้าไปยุ่มย่ามกับโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วไม่ได้เลย

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน และปม วรยุทธ อยู่วิทยา

หากมองในสายงานปกติ พลตำรวจเอกเพิ่มพูนมักจะอยู่นอกบรรดา คดีใหญ่ด้วยการเติบโตในเส้นทางของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และสาย จเรตำรวจก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

กระนั้นเอง อยู่ดีๆ ชื่อของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูนก็ปรากฏขึ้นในปี 2563 เมื่อเกิดเหตุผิดปกติ มีการอาศัยช่องทางของกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านไปยังช่องทางอัยการสูงสุด เพื่อเปลี่ยนความเร็วรถเฟอร์รารีของ วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทนักธุรกิจดังที่ชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 จาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ชื่อของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน (ขณะนั้นครองยศพลตำรวจโท) ปรากฏในสำนวน เห็นสอดคล้องกับความเห็นอัยการ และพนักงานสอบสวนที่มีข้อมูลใหม่มาหักล้าง ไม่แย้งอัยการ ที่ไม่สั่งฟ้องวรยุทธในข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย’ 

แม้ถึงที่สุด กระบวนการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพบความผิดปกติในชั้นพนักงานสอบสวนว่าด้วย พยานเรื่องความเร็วรถที่งอกขึ้นมาใหม่ และการเปลี่ยนความเร็วรถส่งไปยังอัยการ แต่ก็ไม่พบว่าพลตำรวจเอกเพิ่มพูนปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง

พลตำรวจเอกเพิ่มพูนเกษียณอายุราชการในปี 2564 และปรากฏชื่ออีกทีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

คาดว่าด้วยนามสกุลแล้ว เก้าอี้ของพลตำรวจเอกเพิ่มพูนจะเหนียวแน่นในทุกการปรับคณะรัฐมนตรีอย่างแน่นอน

 

Tags: , , ,