สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลาย โดยเฉพาะบิตคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตอนนี้
ขณะที่หลายฝ่ายเริ่มออกมาให้ความเห็นทั้งด้านบวก ที่ว่าจะเป็น ‘เงินแห่งอนาคต’ หรือเป็นความหวังใหม่ในการทำธุรกรรม การชำระสินค้าและบริการ ซึ่งอาจจะมาแทนที่ธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
อีกด้านก็ยังไม่เชื่อมั่นสกุลเงินดิจิทัล เพราะไม่มีคนกลางคอยกำกับดูแล เป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่แตก มีแต่คนที่หวังจะรวยทางลัดกระโจนเข้าไปเล่นอย่างไม่มีความรู้ ท่ามกลางความผันผวนของราคาบิตคอยน์ที่สุดจะคาดเดา
แล้วอะไรคือมูลค่าที่แท้จริงของสกุลเงินดิจิทัล ความยั่งยืนจะมีอยู่จริงไหม และมันน่าลงทุนมากน้อยแค่ไหน
ระบบการเงินเก่ากำลังถูกท้าทาย
บิตคอยน์ (Bitcoin) ถือกำเนิดขึ้นในปี 2009 โดยนักพัฒนาด้านซอฟต์แวร์นิรนามที่ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นาคาโมโตะ ภายใต้แนวคิดที่มองว่า ธนาคารและรัฐบาลนั้นเอาเปรียบประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินฝากของประชาชนไปใช้ในทางมิชอบ หรือการคิดค่าธรรมเนียมแสนแพง และอื่นๆ
ส่งผลให้บิตคอยน์ถูกออกแบบขึ้นมา คล้ายสกุลเงินทั่วไป แต่เราไม่สามารถจับต้องได้ และมีระบบไม่รวมศูนย์ กล่าวคือตัดตัวกลางอย่างธนาคารหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลออกไป แต่ทุกคนสามารถช่วยกันตรวจสอบที่มาที่ไปของการทำธุรกรรมและความโปร่งใสได้ภายใต้เทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) ขณะเดียวกัน บิตคอยน์ ยังถูกกำหนดให้มีแค่ 21 ล้านบิตคอยน์ (BTC) เท่านั้น ซึ่งไม่เหมือนการพิมพ์ธนบัตรของรัฐบาล ดังเช่นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ตอนปี 2008 ที่อยู่ๆ สหรัฐฯ ก็ตัดสินใจอัดฉีดเงินดอลลาร์เข้าระบบเพื่ออุ้มสถาบันการเงินไม่ให้ล้มละลาย
ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ฉายภาพกว้างจุดเริ่มต้นของสกุลเงินดิจิทัลว่า ด้วยระบบการเงินโลกปัจจุบันที่เป็นแบบรวมศูนย์ มีนายธนาคารกลางเป็นผู้คอยควบคุมเงินที่เข้าสู่ระบบ แต่ระยะหลัง หลายคนเริ่มไม่เชื่อใจนายธนาคารและผู้ควบคุมเหล่านี้
“สมัยก่อนไม่มีนายธนาคารกลาง คนก็เอาสัตว์ไปแลกเปลี่ยนกันในทางการค้า หลังจากนั้นเริ่มมีการค้นพบแร่ธาติ เช่น ดีบุก ทองแดง ทอง ก็นำสิ่งเหล่านี้มาแลกเปลี่ยนกัน แล้วก็พัฒนามาสู่ยุคที่ใช้กระดาษ (Fiat Currency) เป็นระบบที่นายธนาคารกลางมีอำนาจในการพิมพ์และควบคุมจำนวนธนบัตร
“ซึ่งระบบ Fiat Currency มันมีมาร้อยกว่าปีแล้ว ขึ้นอยู่กับความเชื่อของคนที่ใช้ธนบัตร ที่มาจากการกำหนดของธนาคารในแต่ละประเทศ จะเห็นเลยว่าค่าเงินสกุลต่างๆ เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ แต่ทุกอย่างเป็นระบบรวมศูนย์ (Centralized)
“คราวนี้ก็เกิดระบบกระจายอำนาจ (Decentralized) คือแต่ละคนคุมกระเป๋าตังค์ของตัวเอง เวลาคุณมีเหรียญใน E-Wallet ก็สามารถส่งหาเพื่อนของคุณเองได้ เพราะคุณเชื่อมั่นว่าเหรียญนี้มีมูลค่าจริง มันก็เลยเป็นที่มาว่า ทำไมซาโตชิ นาคาโมโตะถึงสร้างบิตคอยน์ขึ้นมา แต่ผมคิดว่าปีแรกๆ ความน่าเชื่อถือตัวบิตคอยน์ยังน้อยอยู่นะ”
“อำนาจ ความศรัทธา และความเชื่อมั่นในนายธนาคารโดยเฉพาะในโลกตะวันตกกำลังถดถอย เพราะหลักธรรมาภิบาลเริ่มผิด” – ปริญญ์ พานิชภักดิ์
“5-6 ปีที่แล้ว บิตคอยน์เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดว่าหลายบริษัทสามารถระดุมทุนผ่าน ICO (Initial Coin Offering – การระดมทุนผ่านการเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น) เพราะมองเห็นว่าเหรียญนี้มีประโยชน์จริง แล้วระบบหลังบ้านของบิตคอยน์อย่างบล็อคเชน ก็ใช้ได้จริง ไม่เคยมีใครแฮ็คได้
“ตรงนี้ท้าทายอำนาจของนายธนาคารกลางเหมือนกัน เพราะมีอำนาจในการควบคุมอุปทานการเงิน หรือจำนวนเงินที่จะเข้าสู่ระบบ แต่ระบบที่กระจายอำนาจ ทำให้เรายืนยันการทำธุรกรรมการเงินกันเองได้ พูดง่ายๆ คือ แต่ละคนมีอำนาจในการช่วยตรวจสอบการโอนเงินซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นจุดที่ว่า เราจะเชื่อใครระหว่างนายธนาคารกลางกับระบบ
“อำนาจ ความศรัทธา และความเชื่อมั่นในนายธนาคารโดยเฉพาะในโลกตะวันตกกำลังถดถอย เพราะหลักธรรมาภิบาลเริ่มผิด เพราะคนได้กำไรคือพวกคนรวยๆ มีเงิน หรือคนที่อยู่ในตลาดทุน แต่เวลาเจ๊ง เศรษฐกิจแย่ คนจนก็เจ็บหนักไปด้วย แถมรัฐยังเอาเงินภาษีเข้าไปอุ้มบริษัทยักษ์ใหญ่ไว้อีก”
“เมื่อหลักธรรมาภิบาลทางการเงินผิดพลาดทำให้คนไม่เชื่อใจนายธนาคารอีกต่อไป จึงเป็นที่มาว่าระบบเงินเก่าอย่าง Fiat Currency จึงถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ” ปริญญ์ย้ำ
ทำไมต้องบิตคอยน์
ปริญญ์ให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้สกุลเงินดิจิทัลและบิตคอยน์ได้รับความนิยม เพราะเป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกและยังมีความน่าเชื่อถือจนถึงวันนี้ คนมีความเชื่อมั่นในตัวระบบ และบิตคอยน์ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี รวมทั้งเรื่องความเป็นส่วนตัวของคนในยุคนี้ที่ไม่อยากเปิดเผยข้อมูลให้กับใครง่ายๆ แม้แต่ธนาคาร
“เสน่ห์ของเงินดิจิทัล คือ คุณไม่ต้องไปยุ่งกับคน คุณคาดคะเนคนยากมาก คุณแค่เชื่อในระบบที่ไม่เคยหลอกคุณ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าถ้าระบบดี มีการทำธุรกรรมที่เร็วขึ้นและราคาถูกลง แค่นี้ก็พอแล้วสำหรับความเชื่อมั่นและศรัทธา”
“สำหรับผม มองระยะเวลาของการใช้เหรียญนั้นๆ อย่างบิตคอยน์ใช้มาเก้าปีแล้ว ถ้าจะมีการโกงก็คงมีตั้งนานแล้ว แถมระบบก็ไม่เคยถูกแฮ็ค และคนเริ่มใช้งาน มีการระดุมทุนผ่านบิตคอยน์มากขึ้น เหมือนคุณจะซื้อหุ้นปูนซีเมนต์ไทย คุณเชื่อไหมล่ะ บริษัทที่อยู่มาร้อยปีแบบนี้ จะซื้อหุ้นเขาคุณก็ต้องเชื่อมั่นอยู่แล้ว”
“แล้วที่สำคัญอีกอันคือความเป็นส่วนตัว แม้จะดูว่าเป็นดาบสองคม คือมองในแง่ร้ายเป็นเรื่องการฟอกเงิน แต่ความเป็นส่วนตัวคือสิ่งที่คนต้องการ ในยุคดิจิทัล ข้อมูลคือทองที่แท้จริง ใครเป็นเจ้าของข้อมูล? เราใช่ไหม เวลาไปทำธุรกรรมกับธนาคาร ข้อมูลของเราจะถูกส่งไปให้ให้ธนาคาร เขาก็เอาข้อมูลตรงนี้มาออกบริการทางการเงินใหม่ๆ ประกันชีวิต กองทุนต่างๆ เหมือนเป็นการลวงให้คนที่มีเงินแบบนี้มาซื้อ อย่างบริษัทมือถือเองก็รู้ข้อมูลเราเยอะมาก มันทำให้คนที่ใช้เงินพวกนี้ชอบระบบบล็อคเชน เพราะเก็บข้อมูลที่ตัวเราเอง เราเป็นคนมีสิทธิ์ที่จะเปิดหรือไม่เปิด ความเป็นส่วนตัวคือสิ่งที่คนชอบกันมาก”
คนไทยหวังรวย?
ขณะที่กระแสสกุลเงินดิจิทัล รวมตั้งบิตคอยน์ ในเมืองไทย ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นความหวังใหม่ของนักลงทุนที่หวังจะรวยทางลัด หรืออย่างน้อยพอได้กำไรงอกเงยจากที่ลงทุนไปบ้าง ในเรื่องนี้ สกลกรย์ สระกวี ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท MSeed ผู้พัฒนาเกมออนไลน์ ได้เปิดเผยถึงเส้นทางการเป็นนักลงทุนในบิตคอยน์ว่า
“ผมรู้จักบิตคอยน์ตอนปี 2013 มีน้องที่สนิทกันคนหนึ่ง ชวนเราซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์ แรกๆ เราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ก็ศึกษาจนเข้าใจ ว่าเป็นสกุลเงินดิจิทัล ใช้ระบบบล็อคเชน ซึ่งผมก็ชอบอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว เลยตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องขุดหลักล้านบาท แต่ช่วงแรกก็ขาดทุนเยอะเหมือนกันเพราะราคาบิตคอยน์มันตกลงเยอะ จนผมต้องขายเครื่องขุด แล้วเปลี่ยนมาเทรดแทนจนตอนหลังได้กำไรมาเยอะเหมือนกัน”
“คนเล่นบิตคอยน์ส่วนใหญ่อายุ 18-35 ปี เป็นตลาดของคนรุ่นใหม่” – สกลกรย์ สระกวี
“ปลายปี 2016 คนเข้ามาเล่นเยอะ บิตคอยน์มันก็มีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้นปี 2017 ที่ขึ้นไปถึง 1,000 ดอลลาร์ มันก็ทำให้เหรียญทางเลือกอื่นๆ น่าสนใจและมีราคาขึ้นมาด้วย เช่น Ethereum, Dash, Ripple และ Monero มันก็เลยเกิดเป็นกระแสว่า เหรียญเปิดใหม่ส่วนใหญ่ทำกำไรเกือบทั้งหมด ทำให้ทุกคนเริ่มลงทุนแบบจริงจังเพราะเห็นว่าได้กำไรเยอะ และเป็นกระแสบอกกันปากต่อปาก”
“แต่บิตคอยน์เป็นเหรียญแรก และเว็บไซต์ต่างๆ ใช้เป็นเหรียญหลัก หมายความว่าจะซื้อเหรียญอื่นใช้เงินบาทไม่ได้ ต้องเอาบิตคอยน์เป็นตัวซื้อ สังเกตว่าถ้าบิตคอยน์ราคาลง เหรียญอื่นๆ จะลงด้วย เพราะกลัวว่าถือเหรียญเหล่านี้แล้วจะขาดทุน ไม่สามารถขายโดยตรงได้ ต้องเปลี่ยนเป็นบิตคอยน์ก่อน แล้วมาเป็นเงินบาทอีกที ทำให้บิตคอยน์เป็นเหรียญสกุลหลักที่ไม่ตายไปไหน” สกลกรย์ ให้ความเห็น
“คนเล่นบิตคอยน์ส่วนใหญ่อายุ 18-35 ปี เป็นตลาดของคนรุ่นใหม่ เขาคาดหวังว่ามันจะเปลี่ยนชีวิตเขา อย่างปีที่แล้วมีคนที่ชีวิตเปลี่ยนเยอะ จากพนักงานออฟฟิศเงินเดือนหลักหมื่น กลายเป็นมีเงินหลักล้าน หรือจากล้านเป็นร้อยล้านพันล้านก็มี คือเป็นอะไรที่ทางลัด อะไรที่รวยทางลัดทุกคนคาดหวังหมด”
“บิตคอยน์เป็นสิ่งแปลกใหม่ เหมือนเกม เล่นง่าย ไม่ต้องใช้เอกสารอะไรยืนยันตัวตน เงินโอนเข้าก็ไม่นาน ไม่เหมือนตลาดหุ้นที่ต้องมีเอกสาร มีโบรกเกอร์ ตอนนี้ผมเห็นเด็กมัธยมก็เล่นกันแล้ว เงินหนึ่งพันบาทเปลี่ยนเป็นเงินหนึ่งหมื่นบาทภายใน 3-4 วัน ก็ทำได้”
ฟองสบู่มีจริงไหม
หลายฝ่ายมีความกังวลเรื่องภาวะฟองสบู่ ซึ่งทั้งสองคนเห็นตรงกันว่า คาดเดายากว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน แต่เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องระวัง
“ฟองสบู่มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะแตกเมื่อไหร่ เพราะเป็นเรื่องใหม่มาก ในแง่ที่ว่าเริ่มมีคนหน้าใหม่เข้ามาเก็งกำไร แล้วคนก็เริ่มยอมรับ ที่อเมริกาก็มีตลาดซื้อขาย แถมกองทุนดังๆ ก็เริ่มเปิดกองทุนใหม่ที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลโดยเฉพาะ” ปริญญ์ ให้ความเห็น
ขณะที่สกลกรย์มองว่า สกุลเงินดิจิทัลเหมือนธุรกิจเครือข่ายทั่วไปที่ใครเข้ามาก่อนก็ได้เปรียบ แต่ไม่ต้องนั่งชวนคนอื่นมาร่วมลงทุน แล้วไม่ใช่การหลอกหลวง สามารถขายเมื่อไรก็ได้ เป็นการลงทุนแห่งอนาคต
“เรื่องฟองสบู่ เป็นสิ่งที่ถูกต้องว่าควรกังวล เตือนคนลงทุนบ้างก็ดี ผมบอกไม่ได้มั่นใจร้อยเปอร์เซนต์ว่ามันจะขึ้นหรือลง หลายคนทุ่มทุกอย่างมาลงตรงนี้หมดเหมือนเล่นการพนัน เพื่ิอหวังจะได้กำไรเท่าตัว เช่น มีเงินหนึ่งล้าน ทุ่มหมดเพื่ออยากได้สิบล้าน ถ้าเป็นนักลงทุนจริงๆ อาจจะลงหนึ่งแสนแล้วคาดหวังว่าจะได้หนึ่งล้าน ถ้าราคาตกก็ยังมีเงินเก้าแสนไปซื้อในวันที่ราคาตก แต่คนที่ทุ่มไปเลย เสี่ยงดวงว่าถ้าขึ้นก็ดี ถ้าลงก็ขาดทุนเยอะ”
“ดังนั้น ฟองสบู่อาจแตกได้ มันเป็นเรื่องการลงทุน การบริหารจัดการเงินให้ดี ไม่ใช่การพนัน อาจทำให้คุณหมดตัวได้ ลองคิดดูว่าถ้ามีข่าวว่าจีนจัดระเบียบเรื่องนี้ มันก็กระทบที่ไทยด้วย สมมติถ้าธนาคารกลางไม่อนุญาตให้เอาเงินฝากผูกกับบิตคอยน์ได้ แล้วคุณจะถอนเงินออกมาอย่างไร อนาคตเราคาดการณ์ได้หมด อยู่ที่ว่าจะบริหารเงินอย่างไร”
“การเล่นบิตคอยน์คือไม่ตกรถ มีติดไว้สักหน่อย แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของพอร์ต จะฟองสบู่หรือไม่ฟองสบู่ เราก็ไม่ต้องกังวลมากนัก”
ความผันผวนที่ต้องยอมรับ
ปี 2010 ราคาบิตคอยน์อยู่ที่ 0.06 ดอลลาร์ ผ่านไปสามปี ราคาบิตคอยน์ก็พุ่งทะยานไปอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์ ก่อนจะเจอกระแสปั่นว่ามันไม่มีค่าหรือประโยชน์อะไร คล้ายกับ Tulipmania หรือการปั่นราคาหัวทิวลิปในเนเธอร์แลนด์สมัยร้อยปีก่อน จนราคาบิตคอยน์ตกลงมาเหลือแค่ 200 ดอลลาร์
หลังจากนั้นคนเริ่มเห็นประโยชน์ และมันคือเงินจริงๆ ไม่ใช่ดอกทิวลิปอย่างที่หลายคนคาดการณ์ ทำให้ราคาบิตคอยน์ค่อยๆ ปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ดังเช่นในช่วงต้นปี 2017 ที่กลับมาอยู่ในจุดสูงสุดที่ 1,000 ดอลลาร์ ท่ามกลางแนวโน้มการยอมรับสกุลเงินดิจิทัลดังขึ้นเรื่อยๆ ร้านค้าหลายแห่งในต่างประเทศก็เริ่มรับบิตคอยน์แทนเงินสด โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2017 ที่สหรัฐฯ มีการเปิดตลาดซื้อขาย ‘บิตคอยน์ ฟิวเจอร์ส’ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้ผลตอบแทนจากราคาขึ้น-ลงของบิตคอยน์ อยู่สองตลาดได้แก่ The Chicago Mercantile Exchange (CME) กับ ตลาด The CBOE Futures Exchange (CBOE) ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ทำให้ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นไปสูงสุดเกือบ 20,000 ดอลลาร์
แต่ในช่วงต้นปี 2018 บิตคอยน์เริ่มถูกพูดถึงในระดับชาติ โดยเฉพาะเอเชียที่เริ่มมีการควบคุมและจัดระเบียบสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น เช่นที่เกาหลีใต้ เตรียมการจะออกกฎหมายห้ามซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล และผู้ที่ได้กำไรจากการซื้อขายก็ต้องเสียภาษี ส่วนในจีนก็มีข่าวว่า ทางการไล่ปิดเว็บไซต์และผู้ให้บริการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล ปัจจัยในแง่ลบเหล่านี้ส่งผลให้ราคาบิตคอยน์ลดลงอีกครั้งจนมาอยู่ที่ราวๆ 10,000 ดอลลาร์
ขณะที่ประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวในที่ประชุม ครม. สั่งการให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัลต่างๆ เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) ให้ถูกต้อง โดยควรชี้แจงและเน้นย้ำให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงข้อควรระวังและความเสี่ยงในการลงทุน
ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศรับรองบิตคอยน์ว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย และกรณีเกิดความเสียหายก็อาจไม่ได้รับความคุ้มครองจากทางการ โดยวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเคยกล่าวว่าทางแบงก์ชาติอยู่ระหว่างการศึกษาบิตคอยน์
เกาหลีใต้ เตรียมการจะออกกฎหมายห้ามซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้ประกาศรับรองบิตคอยน์ว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย
ปริญญ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เป็นยุคลงทุนเพื่อเก็งกำไร การใช้ในชีวิตจริงยังมาไม่ถึง ให้คนไทยใช้เงินสดน้อยลงจริงๆ แล้วน่าจะเป็นเวลาที่รับได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังในตอนนี้คือการปั่นราคา
“ข้อดีของบิตคอยน์คือไม่มีผู้คุมกฎ ไปได้เร็ว แต่ข้อเสียคือ พอไม่มีกฎ คุณก็ปั่นได้ มันเป็นเรื่องของความเสี่ยง ไม่อยากให้คนมองเป็นเรื่องของการลงทุนหรือเก็งกำไร เพราะมูลค่าที่จับต้องได้มันหายาก แต่คนไทยชอบอะไรง่ายๆ เร็วๆ ถ้าคุณมีเงินเย็นและอดทนพอก็โอเค”
เช่นเดียวกับสกลกรย์ที่มองว่า ราคาของบิตคอยน์อยู่ที่ความเชื่อมั่น “ลองดูว่าทำไมคนถือไว้ไม่ยอมขาย ถ้าไม่เชื่อก็ขายไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรที่ชี้วัดได้เลยว่าตัวนี้ราคาเท่านี้ แต่รู้ว่าถือไว้จะรวย คิดแบบนี้กันหมดว่าราคาต้องขึ้น เพราะดูกราฟมันเป็นขาขึ้น ใครๆ ก็อยากเล่น ขนาดราคาตก ก็ยังมีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาซื้อ เพราะเขาตกรถ ก็อยากเข้ามา ดังนั้นจะมีคนใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ถ้าความเชื่อมั่นหายไปก็จบ”
อ้างอิง:
Fact Box
การขุด (Mining) บิตคอยน์ หมายถึงการนำคอมพิวเตอร์เข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้ารหัสธุรกรรม โดยจะได้รับบิตคอยน์เป็นการตอบแทนจากแรงคอมพิวเตอร์ที่ใส่เข้ามา และเหล่าแรงงานในระบบก็มีชื่อเล่นว่านักขุดเหมืองบิตคอยน์ (Miners) อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่บทความ เปิดตำราเคาะราคา Bitcoin