เมื่อกลางปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้ผ่านตากับข่าวยอดขายการ์ดจอถล่มทลายในงาน COMMART JOY 2017 ที่เหล่านักขุดมือใหม่ต่างวิ่งเข้าหา ‘ขุมทอง’ บิตคอยน์เมื่อทราบว่าราคาพุ่งสูงถึงหลักแสนบาทต่อหนึ่งบิตคอยน์ แต่ในชีวิตจริง การฟันฝ่ามวลมหาคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเพื่อแย่งชิงบิตคอยน์อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด

ก่อนที่จะเริ่มเคาะเครื่องคิดเลข หลายคนอาจสงสัยว่าบิตคอยน์คืออะไร เงินเหล่านั้นมาจากไหน เชื่อถือได้หรือไม่ และการขุด (Mining) บิตคอยน์สุดท้ายจะแปลงเป็นเงินได้อย่างไร

บิตคอยน์ (Bitcoin) คือเงินตราอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีหน่วยงานส่วนกลางใดเป็นผู้รับรองสกุลเงินตรา แต่มีการเข้ารหัสโดยกลุ่มคนจำนวนมากทั่วโลกเพื่อยืนยันว่าการทำธุรกรรมนั้นเกิดขึ้นจริงและไม่ซ้ำซ้อน ระบบดังกล่าวแตกต่างอย่างสิ้นเชิงหากเปรียบเทียบกับเงินสกุลที่เราคุ้นเคย เช่น ไทยบาท ซึ่งถูกควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ทำหน้าที่ตั้งแต่ตรวจสอบและควบคุมปริมาณเงินผ่านการออกหลักเกณฑ์กำกับสถาบันการเงิน การออกแบบและพิมพ์ธนบัตร รวมทั้งดูแลระบบการทำธุรกรรมทั้งหมดเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเงินตราที่ถืออยู่ในมือนั้นน่าเชื่อถือและสามารถเปลี่ยนไปเป็นสินค้าและบริการได้จริง

บิตคอยน์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ก้าวข้ามระบบรวมศูนย์ของระบบการเงินแบบดั้งเดิม และกระจายข้อมูลข่าวสารธุรกรรมให้ทุกคนได้รับทราบในโลกออนไลน์และบันทึกธุรกรรมทั้งหมดในบัญชีสาธารณะ (public ledger) เมื่อประมวลผลเสร็จก็จะแปลงข้อมูลเป็น Block และต่อกันเป็นสายโซ่ยาวหรือที่เราคุ้นหูว่า Blockchain

เมื่อไม่มีศูนย์กลางเพื่อจัดการ แต่ระบบบิตคอยน์ก็ยังต้องการพลังงานในการประมวลผลเพื่อเข้ารหัสธุรกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสกุลเงินออนไลน์นี้จะไม่ถูกแฮกเกอร์เข้ามาทำลายความน่าเชื่อถือได้ง่ายๆ กลไกของบิตคอยน์คือการสร้างแรงจูงใจโดยใครก็ตามที่มีส่วนร่วมในการเข้ารหัสธุรกรรมก็จะได้รับบิตคอยน์เป็นการตอบแทนจากแรงคอมฯ ที่ใส่เข้ามา และเหล่าแรงงานในระบบก็มีชื่อเล่นว่านักขุดเหมืองบิตคอยน์ (Miners)

วันแรกที่บิตคอยน์ออนไลน์ ผลตอบแทนที่ได้ถูกตั้งไว้ที่ 50 BTC (ตัวย่อสกุลเงินบิตคอยน์) ต่อการประมวลผลหนึ่งบล็อก โดยจำนวนผลตอบแทนจะลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 4 ปี วิธีดังกล่าวเป็นวิธีเดียวที่จะเพิ่มจำนวนบิตคอยน์ที่หมุนเวียนในตลาด โดยจำนวนบิตคอยน์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลค่อยๆ ทยอยพิมพ์ธนบัตร อย่างไรก็ดี อัลกอริธึมของบิตคอยน์จะหยุดปริมาณเงินในระบบไว้ที่ 21 ล้าน BTC ในอีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า

แม้ราคาบิตคอยน์ค่อนข้างผันผวน แต่นับวันเงินสกุล BTC รวมทั้งสกุลดิจิทัลอื่นๆ เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยมีเว็บไซต์ซื้อขายของโดยใช้เงินตราออนไลน์ รวมถึงตู้อัตโนมัติเพื่อแปลงเงินสกุลดิจิทัลเป็นเงินตราสกุลหลักเช่นดอลลาร์สหรัฐ ถึงขนาดที่ผู้ศรัทธาบิตคอยน์มองว่าในอนาคตเงินออนไลน์อย่าง BTC จะทดแทนเงินออฟไลน์ได้อย่างสมบูรณ์

ปัจจุบัน เหล่านักขุดบิตคอยน์จะได้ผลตอบแทน 12.5 BTC ต่อบล็อก ส่วนการขุดก็ไม่ยาก เพียงเปิดคอมพิวเตอร์ ลงซอฟต์แวร์สำหรับขุดบิตคอยน์แล้วเปิดทิ้งไว้ แล้วสิ่งที่คุณได้รับในปลายเดือนอาจเป็นเศษ BTC พร้อมกับค่าไฟบ้านที่พุ่งกระฉูด

โลกความจริงค่อนข้างโหดร้ายสำหรับนักขุดบิตคอยน์หน้าใหม่ เพราะมูลค่า BTC ที่สูงขึ้นทุกวัน ดึงดูดให้เหล่านักลงทุนต่างมุ่งหากำไรจากการขุดบิตคอยน์โดยเข้ามาแข่งกันถอดรหัส SHA-256 ในขณะที่ระบบอัลกอริธึมก็แสนจะแสบ ยิ่งมีคอมพิวเตอร์ช่วยกันถอดรหัสมากเท่าไหร่ ระบบก็จะยิ่งทำให้โจทย์ยากขึ้นเท่านั้น นั่นหมายความว่านักขุดมือใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์จิ๋วจ้อยอาจได้ส่วนแบ่งเล็กน้อยจากแรงใจและไฟบ้านที่ทุ่มเทลงไป แถมระบบบิตคอยน์ก็ดีแสนดี เพราะต่อให้ 1 BTC จะมีมูลค่าหลักแสน แต่เจ้าเงินดิจิทัลสกุลนี้ก็มีหน่วยย่อยถึง 8 หลัก หรือ 0.00000001 BTC ที่มีมูลค่าต่ำกว่าเศษสตางค์

เทรนด์ของเหล่านักขุดบิตคอยน์ตอนนี้ ไม่ใช่การใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปหรือการ์ดจอแรงๆ แต่เป็นการใช้ระบบประมวลผลที่ออกแบบเฉพาะเจาะจง (ASICs : Application-Specific Integrated Circuits) เพื่อถอดรหัส SHA-256 (ขุดบิตคอยน์) โดยฮาร์ดแวร์ดังกล่าวเริ่มวางจำหน่ายเมื่อ 4 ปีก่อน และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทำให้กำลังประมวลผลในระบบบิตคอยน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนนักขุดหน้าใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปหรือการ์ดจอแทบไม่ได้รับส่วนแบ่งอีกต่อไป

ก่อนจะตัดสินใจลงทุนขุดบิตคอยน์ เราต้องรู้จัก Hash Rate หรือความเร็วในการประมวลผลเพื่อถอดรหัส SHA-256 ยิ่งฮาร์ดแวร์มี Hash Rate สูง ย่อมหมายความว่าคุณจะมีส่วนแบ่ง BTC จากการขุดสูงขึ้นเช่นกัน และอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงคือค่าไฟฟ้าจากทั้งการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ และระบบทำความเย็นให้คอมพิวเตอร์ยังทำงานได้ตามปกติ แล้วนำข้อมูลดังกล่าวกรอกเข้าไปในเว็บไซต์คำนวณเช่น buybitcoinworldwide.com เพื่อเคาะว่าเราจะได้กำไรสักเท่าไหร่

ยกตัวอย่างเช่น หากผมลงทุนซื้อ Antminer S9 ที่มีกำลังการประมวลผล 14,000 กิกะแฮชต่อวินาที (GH/s) กินไฟ 1,375 วัตต์ และคำนวณโดยกำปั้นทุบดินว่าไม่จำเป็นต้องมีระบบระบายความร้อน และค่าไฟฟ้า 2.5 บาทต่อกิโลวัตต์ หรือราว 0.08 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ เว็บไซต์ก็จะคำนวณให้เสร็จสรรพว่าหนึ่งปีเราจะได้กำไรหลังหักค่าใช้จ่ายเท่ากับ 2,611.82 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 85,000 บาท

แต่ช้าก่อน กำไรดังกล่าวยังไม่รวมต้นทุนเครื่อง Antminer S9 และเครื่องสำรองไฟ ที่รวมราคากันแล้วก็ประมาณ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 75,000 บาท หากเราตั้งสมมติฐานว่าเจ้า Antminer S9 มีอายุการใช้งานหนึ่งปี ก็เป็นอันว่าการลงทุนครั้งนี้มีกำไรทั้งสิ้น 10,000 บาท (โดยยังไม่รวมค่าไฟฟ้าสำหรับระบบทำความเย็น)

อีกหนึ่งสมมติฐานที่สำคัญของการคำนวณกำไร คือ อัตราแลกเปลี่ยนของ BTC ต่อดอลลาร์สหรัฐจะคงที่อยู่ที่ 1 BTC : 4,817.36 USD ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นจริงน้อยมาก เพราะ BTC นั้นขึ้นชื่อเรื่องมูลค่าที่ผันผวนผาดโผนในระดับวันต่อวัน

สำหรับนักขุดมือใหม่ อีกสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือการเข้าร่วมกลุ่มนักขุด (Mining Pool) เนื่องจากระบบการให้ผลตอบแทนของบิตคอยน์จะคล้ายกับการแทงหวย โดยที่คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบจะแข่งขันกัน ‘เดา’ ว่าเลขใดคือรางวัลที่หนึ่ง ยิ่งกำลังการประมวลผลยิ่งมาก นักขุดกลุ่มนั้นก็จะมีโอกาสถูกรางวัลมากขึ้นเช่นกัน จึงเกิดเป็นกลุ่มนักขุดที่รวมตัวกันแล้วแบ่งรางวัลที่ได้ตามสัดส่วนของกำลังการประมวลผล

สุดท้าย การลงทุนทำเหมืองบิตคอยน์ก็ไม่ต่างจากการทำธุรกิจที่ต้องคิดคำนึงถึงเงินลงทุน เช่น ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ต้นทุนผันแปร เช่น ค่าไฟฟ้าสำหรับเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ปลายทางคือ BTC ที่ราคาขึ้นลงผันผวน ดังนั้น หากไม่อยากเสียเงินฟรีเพื่อซื้อฝัน ควรจะคิดให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน

เอกสารประกอบการเขียน

Bitcoin Mining 101

Bitmain Antminer S9 Review All You Need to Know

หมายเหตุ: บทความนี้ใช้ข้อมูลประกอบจากการบรรยายเรื่อง Blockchain & Bitcoin โดย ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ในงาน Disrupting Business ธุรกิจกติกาใหม่ เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2560

FACT BOX:

เมื่อปริมาณเงินบิตคอยน์ถึงเพดานที่ 21 ล้าน BTC ระบบก็จะหยุดผลิต BTC เข้ามาในระบบ ส่วนการทำธุรกรรมหลังจากนั้น จะใช้ระบบเสนอราคา (Bid) โดยผู้ที่ต้องการทำธุรกรรม เช่น หาก นาย ก. ต้องการโอนเงินบิตคอยน์ให้นาง ข. ก็จะต้องระบุว่าจะจ่ายค่าธรรมเนียมเท่าใด ยิ่งจ่ายมากธุรกรรมก็จะลัดคิวขึ้นไปจ่อรอประมวลผลอันดับต้นๆ โดยเงินค่าธรรมเนียมจะถูกกระจายให้กับเหล่านักขุดเช่นระบบเดิม

DID YOU KNOW?

มูลค่าตามทฤษฎี BTC สามารถคำนวณได้โดยเราต้องปรับมุมมองว่า BTC เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ไม่ต่างจากข้าว สบู่ หรือแชมพู ที่เราต้องใช้เงินในกระเป๋าไปแลกเปลี่ยนมา แล้วจึงเปรียบเทียบต้นทุนการได้มาซึ่ง BTC สองทางคือ การซื้อในตลาดตามราคาตลาด และการทำเหมือง BTC ที่จะได้รับบิตคอยน์จากระบบ โดยต้นทุนจากทั้งสองวิธีนี้จะต้องมีมูลค่าเท่ากัน มิฉะนั้นนักเก็งกำไรในตลาดจะสามารถทำกำไรโดยไม่มีความเสี่ยง (Arbitrage) แล้วมูลค่าสินทรัพย์ก็จะกลับเข้าสู่มูลค่าตามทฤษฎี

ยกตัวอย่างเช่น มีประเทศสมมติซึ่งมีค่าไฟฟ้าถูกมากและอุณหภูมิพอเหมาะพอเจาะที่จะลงทุนทำเหมืองบิตคอยน์ นอกจากนี้ นักลงทุนจากทั่วโลกยังสามารถเข้ามาลงทุนได้โดยไม่มีการกีดกันใดๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือนักลงทุนย่อมแห่แหนกันมาทำเหมืองบิตคอยน์ที่นี่ สร้างแรงกดดันให้ราคา BTC ลดต่ำลง (เนื่องจากบริษัทสามารถหาบิตคอยน์มาได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดมาก) ประเทศที่พอจะเทียบเคียงกันได้กับประเทศในอุดมคตินี้คือจีนและไอซ์แลนด์

Tags: , , , , ,