เกือบ 200 ปีที่แล้ว ชาร์ลส์ แมคไค (Charles Mackay) นักหนังสือพิมพ์ชาวสก็อตแลนด์พยายามอธิบายสาเหตุของการเกิดฟองสบู่ในหนังสือ ความเพ้อฝันที่แพร่หลายและความบ้าคลั่งของมวลชน (Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds) ซึ่งกล่าวถึงพฤติกรรมแบบแห่ตามกัน (herds behavior) นำไปสู่การกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลของมนุษย์ เช่น การซื้อ ‘สินทรัพย์’ อย่างเสียสติของคนจำนวนมากโดยเชื่อว่าราคาของสินทรัพย์นั้นจะขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงว่าราคาที่ซื้อขายอยู่ ณ ขณะนั้น ได้เกินมูลค่าที่แท้จริง (intrinsic value) ไปมาก

ยิ่งราคาสินทรัพย์สูงขึ้นไปเท่าไร ก็ไม่ต่างจากฟองสบู่ที่ถูกอัดลมเข้าไปไม่หยุดยั้ง กระทั่งคนกลุ่มหนึ่งไหวตัวทันและเริ่มเทขายทำกำไร หรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำลายความเชื่อมั่นในราคา นำไปสู่แรงเทขายของมวลประชาชนที่ตื่นจากฝัน เมื่อนั้นตลาดจะไร้สภาพคล่องเพราะไม่มีผู้ซื้อ และทำให้ราคาสินทรัพย์ดิ่งลงเหวในที่สุด หรือเรียกว่า ‘ฟองสบู่แตก’

ฟองสบู่ครั้งแรกที่โลกจารึกไว้ คือเหตุการณ์ Tulipomania หรือกระแสความคุ้มคลั่งดอกทิวลิปของเหล่าผู้มีอันจะกินในฮอลแลนด์และเยอรมนี เมื่อราวทศวรรษ 1630 หรือเกือบ 400 ปีที่แล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อต้นคริสตศตวรรษที่ 17 ทิวลิปถูกนำเข้าจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลและได้รับความนิยมอย่างมาก ดอกทิวลิปกลายเป็นเครื่องหมายของผู้ดีมีชาติตระกูล ซึ่งแรกเริ่มเดิมที รสนิยมดังกล่าวแพร่หลายในชนชั้นสูง จนเทรนด์ระบาดสู่ชนชั้นกลาง ทำให้ราคาทิวลิปพุ่งสูงปรี๊ด ถึงขนาดที่มีการซื้อขายทิวลิปพันธุ์หายากในตลาดหลักทรัพย์แห่งกรุงอัมสเตอร์ดัม แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พ่อค้าทิวลิปรวยเละ

ผู้มาทีหลังก็หวังจะรวยทางลัดจากการซื้อขายทิวลิป โดยคาดผิดๆ ว่าราคาของทิวลิปและความคลั่งไคล้ดอกไม้ชนิดนี้จะเพิ่มขึ้นตลอดไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ 1637 ราคาของทิวลิปก็หล่นฮวบ เมื่อคนเริ่มเทขาย และในที่สุดราคาก็เหลือราวหนึ่งใน 100 ของราคาช่วงพีก

ภาพ Flora’s mallewagen (1640) โดย Hendrik Gerritsz Pot ถ่ายทอดเหตุการณ์ Tulipomania แสดงกลุ่มคนผู้ร่ำรวยที่นั่งรถนำหน้าพร้อมกับเทพีแห่งดอกทิวลิป ในขณะที่มวลชนข้างหลังวิ่งตามอย่างสิ้นหวัง (ภาพจาก commons.wikimedia.org)

แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะทำให้หลายคนหมดเนื้อหมดตัว แต่มนุษย์ก็ยังไม่เรียนรู้จากบทเรียน (ราคาแพง) และยังติดกับดักสร้างฟองสบู่จาก ‘ความบ้าคลั่งของมวลชน’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่ข่าวลวงปั่นราคาหุ้นบริษัท South Sea ในอังกฤษเมื่อปี 1720 ฟองสบู่ตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่น เมื่อราวปี 1986-1991 และฟองสบู่ดอตคอมรับคริสต์ศตวรรษที่ 21 แต่ที่ลืมไม่ได้ คือฟองสบู่ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา ที่เราคุ้นหูว่าวิกฤตซับไพรม์ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

หลังจากวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า การศึกษาการเกิดวิกฤตจึงได้รับความสนใจมากขึ้นหลังจากที่ถูกมองข้ามมานานแสนนาน โดยนักเศรษฐศาสตร์ผู้วางรากฐานในประเด็นดังกล่าวคือ ไฮแมน มินสกี (Hyman Minsky) ที่ศึกษาความไม่มั่นคงทางการเงิน (Financial Instability) และพยายามอธิบายการเกิดขึ้นของฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ โดยแบ่งออกเป็น 5 ขั้นคือ

1. เปลี่ยนผ่าน (displacement) ซึ่งเกิดจากนวัตกรรมหรือแนวโน้มอะไรบางอย่างที่ส่งผลให้ความคิดของนักลงทุนเปลี่ยนแปลงไป เช่น ความนิยมทิวลิปอย่างท่วมท้น หรือความเชื่อว่าบริษัทเทคโนโลยีคืออนาคตของระบบเศรษฐกิจ เป็นยูนิคอร์นที่นักลงทุนเฝ้าฝันหา (แม้ว่า ณ ขณะนั้นจะขาดทุนย่อยยับอยู่ก็ตาม)

2. พุ่งทะยาน (boom) ราคาสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นช้าๆ หลังจากที่การมองโลกของนักลงทุนเริ่มเข้าซื้อ สื่อมวลชนจะเริ่มให้ความสนใจกับเทรนด์ที่เกิดขึ้น ดึงให้สาธารณชนเข้ามาศึกษาและคล้อยตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยิ่งคนหมู่มากเชื่อในสินทรัพย์มากเท่าไร ราคาก็จะยิ่งพุ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น เพราะหลายคนกลัวที่จะพลาดขบวนรถ อดเก็งกำไรกลายเป็นเศรษฐี ซึ่งโอกาสแบบนี้อาจมีเพียงครั้งเดียวในชีวิต

3. เพ้อคลั่ง (Euphoria) เมื่อกระแสจุดติด ราคาสินทรัพย์ก็พุ่งสูงขึ้นติดลมบน ถึงระดับที่สูงจนน่าใจหาย เช่น ราคาอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นก่อนฟองสบู่จะแตก ขายอยู่ที่ตารางฟุตละ 140,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่หากคูณกับอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันก็ร่วมๆ ห้าล้านบาท หรือเหล่าหุ้นอินเทอร์เน็ตที่ซื้อขายกันราคาสูงลิบลิ่ว แม้ว่าบริษัทจะไม่เคยมีกำไร จังหวะนี้ยังเป็นช่วงที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญออกมา ‘ฉาบความเชื่อ’ ว่า นี่แหละคือราคาบนความเป็นจริงใหม่ ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นอยู่ในระดับเพ้อคลั่ง

4. ฟันกำไร (Profit Taking) หลังจากราคาพุ่งสูง เหล่าผู้ที่ยังครองสติได้ก็ฉวยจังหวะฟันกำไร แต่ความยากอยู่ที่การยับยั้งชั่งใจไม่ให้โลภมาก เพราะหากกะจังหวะผิดนิดเดียว ฟองสบู่ก็จะเข้าสู่ขั้นที่ 5 แต่หากเลือกจังหวะให้ดีก็มีโอกาสกลายเป็นมหาเศรษฐีได้แบบไม่รู้ตัว

5. ฉิบหาย (Panic) ตรงนี้คงไม่ต้องเล่าอะไรมาก เพราะหลังจากฟองสบู่แตก หากใครยังถือครองสินทรัพย์ไว้ก็เป็นอันหมดตัว เพราะหลังจากราคาเริ่มกระตุกลงจนคนเริ่มเทขาย สินทรัพย์ก็เริ่มกลายเป็นหมาหัวเน่าเพราะมีแต่คนอยากขายแต่ไม่มีใครอยากซื้อ เมื่อสินทรัพย์ขาดสภาพคล่อง ก็ยิ่งกดดันให้คนที่อยากขายแข่งกันลดราคา สุดท้ายก็ไม่ต่างจากครกไหลลงภูเขา ที่คงต้องใช้เวลานานกว่าจะมีโอกาสไต่ขึ้นไปเป็นฟองสบู่ครั้งใหม่

ภาวะฟองสบู่ถูกเรียกขำๆ ว่าเป็นปรากฏการณ์ตาม ‘ทฤษฎีคนที่โง่กว่า (Greater Fool Theory)’ โดยเราจะเข้าซื้อสินทรัพย์เพื่อเก็งกำไร และคาดหวังว่าจะมีคนที่โง่กว่าเรามาซื้อสินทรัพย์ไปในราคาที่สูงกว่า แต่เมื่อวันหนึ่งราคาสินทรัพย์นั้นตกฮวบและเราขายให้ใครไม่ได้ รู้ตัวอีกที เราก็กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่โง่ที่สุดในตลาดเสียแล้ว บางคนก็แซวว่าพวกคนที่ไม่ยอมซื้อสินทรัพย์ช่วงราคาขึ้นน่ะนะ โง่ยิ่งกว่าคนที่เชื่อว่ามีคนที่โง่กว่าซะอีก เพราะเห็นโอกาสทำกำไรแต่ไม่ยอมใช้ให้เป็นประโยชน์

ย้อนกลับมาสู่ปัจจุบัน กับคำถามง่ายๆ ว่าสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์กำลังจะกลายเป็นฟองสบู่หรือเปล่า ?

หากดูจากทั้งกราฟราคาและพิจารณาวงจรฟองสบู่ของไฮมินสกี ราคาบิตคอยน์ที่พุ่งขึ้นสูงนั้นก็ดูเข้าเค้าไม่น้อยว่ามีโอกาสเกิดฟองสบู่ เพราะบิตคอยน์ถูกโหมประโคมว่าจะเป็น ‘อนาคต’ ของเงินตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน บวกกับการสร้างความเชื่อมั่น เช่น การออกไอซีโอ (ICO: Initial Coin Offering) หรือการระดมทุนโดยใช้เงินตราดิจิทัลซึ่งกำลังได้รับความนิยมในหมู่สตาร์ตอัปเนื่องจากเป็นตลาดที่แทบไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุม รวมถึงการอนุญาตให้ซื้อขายฟิวเจอร์ส หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างของสกุลเงินบิตคอยน์ (BTC) ก็ถือเป็นการยอมรับกลายๆ ให้บิตคอยน์มีเวทีในสายตานักลงทุนอย่างเป็นทางการ

กราฟแสดงราคาบิตคอยน์รายเดือน ย้อนหลังถึงเมื่อต้นปี 2560 ข้อมูลจากเว็บไซต์ coindesk.com

เมื่อบิตคอยน์ได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น จึงไม่แปลกที่ราคาก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่วนภาวะดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของฟองสบู่หรือไม่ ผมเองก็จนปัญญาที่จะตอบ เพราะการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของสกุลเงินเป็นคำถามปราบเซียน เพราะมีหลายหลากปัจจัยที่ทำให้ราคาสกุลเงินนั้นผันผวน

แต่ตามทฤษฎีคนที่โง่กว่า ผมก็พอจะบอกได้ว่า อย่าซื้อบิตคอยน์มาเพื่อเก็งกำไรโดยตั้งใจว่าจะรอราคาให้สูงขึ้นแล้วขายให้คนที่โง่กว่าและเข้ามาในตลาดช้ากว่า เพราะพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเสมือนตัวจุดชนวนให้เกิดฟองสบู่

อย่าลืมว่าเราพูดถึงการซื้อขายสกุลเงิน ซึ่งควรจะมีคุณลักษณะพื้นฐานอย่างเสถียรภาพทางราคา เพราะคงไม่มีใครอยากใช้สกุลเงินที่วันนี้อาจซื้อบ้านได้ทั้งหลัง แต่วันถัดมาราคาหล่นฮวบจนจะซื้อข้าวแกงสักจานก็ยังไม่พอ แต่หากเมื่อไรที่คนส่วนใหญ่เก็งกำไรบิตคอยน์จนลืมว่าสิ่งที่เราซื้อขายกันอยู่นั้นคืออะไร เพียงแต่หวังว่าวันหนึ่งจะขายออกไปให้ได้ในราคาที่แพงกว่า เมื่อนั้นบิตคอยน์ก็ไม่ต่างจากอุปทานหมู่ราคาแพง และเมื่อใดที่เหล่าบุคคลเพ้อคลั่งจะเริ่มตื่นรู้ว่ากำลังซื้อขาย ‘บิต’ ในอินเทอร์เน็ตด้วยเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต เมื่อนั้นจะเป็นวันที่ฟองสบู่บิตคอยน์ระเบิด!

 

ภาพประกอบหน้าแรกโดย ปรางวลัย พูลทวี

 

 

อ้างอิง
The Economics Book – Crowds breed collective insanity (หน้า 98)
5 Steps Of A Bubble
Greater fool theory – The bitcoin bubble
Anatomy of Bubbles and Crashes

Tags: , , , , , ,