“ที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าประเทศไทยมีปัญหาเยอะเหลือเกิน ไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงปัญหาสังคม ปัญหาการศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเล็กปัญหาน้อย มองไปทางไหนก็มีแต่ปัญหา แล้วดูเหมือนจะแก้ไขไม่ได้เลย หรือมีวิธีแก้ไขที่เป็นแบบแบบผัดวันประกันพรุ่งไปเท่านั้น

“ผมมองว่าสิ่งนี้คือไฟปัญหา หมายความว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะโดยไฟคลอกจนหายใจแทบไม่ออก มองไปข้างหน้าก็มีฟืนกับน้ำมันราดรอไว้อยู่” 

ทั้งหมดนี้คือมุมมองต่อสังคมในปัจจุบันของ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) ซึ่งเขาเชื่อว่าปัญหารอบด้านเช่นนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการออกแบบนโยบายของประเทศไทยที่ไม่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงในปัจจุบัน

วันนี้ ณภัทรมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและสังคม ในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่ต้องแก้ไขในเชิงกระบวนการเป็นสำคัญ ซึ่งการประยุกต์เข้ากับเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และรัฐศาสตร์นั้น จะทำให้ประเทศไทยกลับมาเดินหน้าอีกครั้งได้ จากนโยบายของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนสถาบันอนาคตไทยศึกษาจะทำหน้าที่เป็น ‘นักเขียน’ ทำหน้าที่รวบรวมปัญหาในแต่ละด้าน เพื่อทำการทดลอง หาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และนำมาประยุกต์เป็นวิธีการทำงานในเชิงนโยบาย ทำให้กลายเป็น ‘คู่มือในการทำงาน’ ที่ภาครัฐสามารถหยิบไปใช้ได้ หากต้องการจะแก้ไขปัญหาในแต่ละด้าน

คำว่านโยบายมีผลต่อมนุษย์มากขนาดไหน คุณมองความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายและสังคมอย่างไรบ้าง 

เราคงต้องตั้งคำถามก่อนว่า นโยบายมีเพื่ออะไร เราสร้างไปทำไมกัน ซึ่งในมุมมองของผมมันคือส่วนหนึ่งของ ‘การพัฒนา’ ซึ่งถ้าให้เปรียบเทียบกระบวนการของการร่างและใช้นโยบาย จะอธิบายได้ว่ามีรูปแบบเหมือนการเดินเรือไปยังจุดหมายหนึ่ง

โดยอันดับแรกที่การจะพัฒนาอะไรสักอย่างหรือการเดินเรือมีเหมือนกันคือ ‘เป้าหมาย’ คุณจะเดินเรือ คุณต้องรู้ว่าคุณจะไปที่ไหน คุณจะพัฒนาสังคมคุณก็ต้องรู้ว่าความหมายของมันหมายถึงการพาบ้านเมืองไปอยู่จุดไหนในอนาคตข้างหน้า ซึ่งหากยังหาข้อตกลงตรงนี้ไม่ได้ สิ่งต่อไปที่จะเริ่มลงมือทำก็จะไม่มีประโยชน์ มันอาจจะทำให้ล่าช้าเกินจำเป็น หรือไปไม่ถึงจุดนั้นเลยก็ได้ ถ้าเราไม่พูดเรื่องนี้กันให้ชัดเจนกันตั้งแต่แรก

อันดับต่อไปคือ ‘เครื่องมือ’ ในการเดินเรือ เมื่อเรารู้ว่าจะไปจุดนั้นแล้ว เราจะไปอย่างไร ใช้คนพาย กางใบเรือ หรือใช้เครื่องยนต์ ที่สำคัญคือต้องมีการประเมินด้วยว่าวิธีที่ใช้มันจะพาไปสู่เป้าหมายได้จริงไหม ควรจะเริ่มเปลี่ยนวิธีเมื่อไร สิ่งนี้ก็สำคัญ

สุดท้ายคือ ‘ผู้นำ’ ในการเดินเรือ เพราะทุกคนไม่สามารถบังคับเรือพร้อมกันได้ เราจึงต้องมีตัวแทนที่ไว้ใจ ไว้ใจว่าจะพาเราไปถึงจุดหมาย ไว้ใจว่าจะเลือกลูกเรือที่มีคุณภาพมาช่วยเดินเรือ 

แล้วคำว่า ‘นโยบาย’ อยู่ตรงไหนของการพัฒนาประเทศทั้ง 3 ส่วนนี้ คำตอบคือทุกส่วนเลย การออกแบบนโยบายจัดสรรทรัพยากรเราต้องมีเป้าหมายว่าจะทำไปเพื่ออะไรต้องการอะไร จะใช้วิธีไหน จะวัดผลอย่างไร และจะเลือกใครมาเป็นผู้ร่างและบังคับใช้นโยบาย 

ดังนั้นนโยบายจึงผูกติดกับคำว่าพัฒนาอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะนโยบายระดับประเทศที่ส่งผลต่อผู้คนจำนวนมาก ต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ที่ชัดเจน เพื่อให้สัมฤทธิ์ผล ให้สังคมมันเจริญก้าวหน้า นี่คือหน้าที่สำคัญที่สุดของนโยบาย

ดังนั้น ‘นโยบายภาครัฐ’ ที่มีเดิมพันสูงมาก เมื่อต้องใช้ภาษีของประชาชนมาเป็นทรัพยากรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งสำคัญที่ผู้ออกแบบนโยบายต้องดูแลให้ได้อย่างทั่วถึง คุณมองว่าในส่วนนี้มีจุดไหนที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ

ถ้าพูดถึงการออกแบบนโยบายให้คนกลุ่มใหญ่ที่มีจำนวนมาก เช่น ประชากรในประเทศ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ เป้าหมายและความต้องการของคนในสังคมที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าการตกลงเป้าหมายทางสังคมร่วมกัน ยังเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงปรัชญาการเมืองและเชิงตรรกะที่ยังแก้ไขไม่ค่อยได้ คือนอกจากจะปัญหาเรื่องความครอบคลุมในการเอื้อประโยชน์ให้คนทุกกลุ่มไม่ทั่วถึงแล้ว นโยบายขนาดใหญ่ยังถูกตั้งคำถามอีกว่ามันเป็นเรื่องผิดไหม หากมันจะไม่ครอบคลุมความต้องการของทุกคน ทุกวันนี้เรายังต้องถกเถียงประเด็นนี้กันอยู่เลย

ถ้าจะแก้ไขด้วยแนวคิดแบบนี้มันยากเกินไป ดังนั้นผมจึงอยากเสนอให้ลองย่อยเป้าหมายใหญ่ๆ ที่มีหลายความต้องการให้เล็กลง โลกทุกวันนี้มันกว้างและซับซ้อนเกินกว่าจะมีสิ่งไหนที่มนุษย์จะยอมรับร่วมกันโดยถ้วนหน้าไปแล้ว ดังนั้นการทำให้เล็ก เจาะไปทีละประเด็น ทีละกลุ่มความต้องการจะดีกว่า 

ในทางปฏิบัติ สิ่งที่มันควรเกิดขึ้นคือเทคโนแครตส์ (Technocrats) หรือคนที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมามีส่วนร่วมในภาคปกครองมากกว่านี้ ในมุมมองของผม การที่ ส.ส. คือตัวแทนของประชาชนในทุกมิติของชีวิตมันไม่ตอบโจทย์ขนาดนั้น ทุกคนมีจุดแข็งจุดอ่อนต่างกัน ดังนั้นในแต่ละประเด็นควรมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นมาเป็นตัวแทนในแต่ละเรื่องจะดีกว่า 

อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาคือการวัดผลของนโยบาย ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยค่อนข้างมีให้เห็นน้อย และส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในภาควิชาการ แต่ในเชิงการปกครองเราไม่เห็นความละเอียดในเรื่องนี้เท่าไรนัก 

สุดท้ายคือเรื่องผู้บังคับใช้นโยบาย ที่ปัจจุบันเรากำลังฝากความเชื่อใจให้กับคนบางกลุ่มมาสานเจตนารมณ์ของเราต่อ แต่เราเองก็ต้องไม่ลืมว่าเขาอาจจะผิดพลาดได้ จึงจำเป็นต้องมีวิธีการตรวจสอบและปรับเปลี่ยนได้อย่างลื่นไหลอยู่เสมอ 

ปัญหาในการออกนโยบายแต่ละครั้งคือ จะมีทั้งคนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ หรือคนที่ได้รับผลกระทบจากตัวนโยบายโดยตรง คุณมองว่าวิธีการแบบไหนจะสามารถกลบข้อด้อยตรงนี้ของนโยบายได้

แก้ไขด้วยการที่เราไม่ต้องพยายามทำนโยบายเดียวที่ตอบโจทย์ทุกคนอย่างถ้วนหน้า แต่เราควรทำหลายนโยบายที่ตอบโจทย์คนอย่างทั่วถึง

ยกตัวอย่างเรื่องการพัฒนาการศึกษาของคนไทย หรือเรื่องทุนมนุษย์ของคนไทย อันดับแรกก็ต้องมาคิดกันก่อนว่าจะพัฒนาเรื่องไหนในหมวกของการศึกษา เกรดของเด็ก คะแนน PISA หรือรายได้ของเขาหลังเรียนจบ แล้วค่อยไปคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไร กับคนกลุ่มไหนบ้าง ทำเป็นทีละเรื่องไป

ซึ่งหากจะทำหลายนโยบายย่อยเช่นนี้ ในทางปฏิบัติก็ต้องทำให้เกิดการกระจายอำนาจในการออกแบบนโยบาย ซึ่งในปัจจุบันผมมองว่าการกระจายนโยบายลงไปในระดับท้องถิ่นคือแนวทางที่น่าสนใจ ซึ่งมีหลายประเทศที่พิสูจน์แล้วว่าการออกแบบนโยบายแบบนี้ได้ผลจริง เพราะการกระจายอำนาจลงไประดับท้องถิ่น ทำให้คนร่างนโยบายมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด นโยบายจะออกแบบมาให้ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา ที่สำคัญคือเรื่องของการกระจายงาน ลดภาระที่กระจุกอยู่ส่วนกลาง ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นด้วย 

มีตัวอย่างประเทศไหนบ้าง ที่ใช้นโยบายแบบกระจายอำนาจและสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง

ผมมองว่าประเทศญี่ปุ่นมีการกระจายอำนาจได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอำนาจการคลังท้องถิ่น ที่มีการเก็บภาษีโดยคนท้องถิ่นเพื่อคนท้องถิ่นเอง มันจะตัดปัญหาเรื่องผู้นำนอกท้องถิ่นเอาเงินมาแก้ไขหรือส่งเสริมในส่วนที่เขาไม่ต้องการ บางท้องถิ่นเขาอาจจะไม่ได้เดือดร้อนเรื่องการศึกษา แต่อยากส่งเสริมเรื่องศิลปะให้แข็งแกร่ง นโยบายในเชิงภูมิภาคก็ช่วยเแก้ปัญหาตรงนั้นได้ ซึ่งมันน่าสนใจมาก ตรงที่นอกจากจะมีการกระจายอำนาจแล้ว ยังมีการส่งเสริมวัฒนธรรมที่แข็งแรง โดยที่ไม่ต้องพึ่งศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว 

อีกตัวอย่างที่ผมเจอมากับตัวเลยคือตอนเรียนปริญญาเอกในรัฐมินนิโซตา อยู่ในทีมที่วิเคราะห์นโยบายการศึกษาเมืองมินนีแอโพลิส ซึ่งก็เป็นการออกแบบนโยบายเชิงภูมิภาค โดยผมได้การทำลอง หาวิธีที่จะทำอย่างไรให้ครูเก่งๆ จะย้ายมาอยู่เมืองนี้ได้มากขึ้น ข้อเสนอแบบไหนที่บุคลากรทางการศึกษาจะไหลมาในเมืองนี้ ซึ่งพบว่าข้อเสนอเงินเดือนหรือโอกาสในการศึกษาขั้นสูงต่อตอบโจทย์กว่า 

สิ่งที่ตามมือคือประชาชนได้ผลประโยชน์ แน่นอนว่าเด็กในเมืองได้เรียนกับคุณครูระดับหัวกะทิจำนวนมาก แต่ที่น่าสนใจคือผลประโยชน์อื่นๆ ที่ตามมา ผมสังเกตว่ามีหลายครอบครัวยอมย้ายบ้านมาอยู่ในเมืองมินนีแอโพลิส เพื่อหวังให้ลูกเข้ารับการศึกษาที่ดี ยอมจ่ายภาษีที่สูงขึ้น เพื่อแลกกับนโยบายที่จะสร้างอนาคตให้กับลูกของเขา มันก็ทำให้ตัวเมืองได้รับผลประโยชน์ในด้านอื่นๆ จากครอบครัวเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

ที่สำคัญคือมันก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างเมืองด้วยกันเอง ระบบนโยบายท้องถิ่นผลักดันให้แต่ละท้องที่พัฒนานโยบายการศึกษาในแต่ละท้องที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ก็ย่อมตกสู่ประชาชนในเมืองนั้นๆ 

ตอนนั้นยังตกใจเลยว่า มันมีด้วยเหรอ ประเทศที่ภาครัฐกระตือรือร้นขนาดนี้ (หัวเราะ)

มองกลับมาที่ประเทศไทย หากพิจาณาจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อรัฐสภาเมื่อปี 2562 คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

เท่าที่ผมอ่าน โดยประเด็นหลักๆ ที่หยิบยกขึ้นมามันไม่ได้ผิดอะไรกับแนวทางที่เขาจะดำเนินงาน แต่มันมีปัญหาตรงที่วิธีออกแบบนโยบายมากกว่า 

คือมันจะดีกว่านี้มาก หากเรานำผลลัพธ์เป็นที่ตั้งมากกว่าความต้องการ คือตอนนี้มันเหมือนกับว่าเราเริ่มคิดกันจาก เราอยากทำอะไร อยากเป็นแบบไหนบ้าง ทั้งที่มันควรจะเริ่มจากผลลัพธ์ที่ต้องการ (Result Oriented) ก่อนว่าคุณจะทำให้ประเทศในอนาคตหน้าตาเป็นแบบไหน ประชาชนจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร

แต่สิ่งที่ผมรู้สึกกับวิธีการออกแบบของเขาคือ การรับบท ‘พระเอกขี่ม้าขาว’ ประกาศว่าเราจะกอบกู้ประเทศ จะพัฒนาประเทศ แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไร และไม่ได้อธิบายว่าคำว่าพัฒนาของเขามีหน้าตาแบบไหน 

ปัญหาต่อมาคือแนวทางการดำเนินงาน มันอาจจะไม่ลงลึกไปถึงระดับสัปดาห์หรือเดือน แต่มันก็ควรมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมว่าไตรมาสนี้ต้องมีอะไร มีระยะเวลาในการทำงานที่ชัดเจน มีแผนสำรองไหมกรณีที่แนวทางดังกล่าวไม่บรรลุเป้าหมาย คือถ้ามันไม่มีเหล่านี้เลย ที่ประกาศมามันก็แค่ลมปาก ไม่เห็นต้องทำเลย เพราะไม่มีเส้นตายมากระตุ้นให้รู้สึกว่าต้องรีบทำให้สำเร็จ แล้วยิ่งในสภาวะที่การตรวจสอบเป็นไปได้ยากด้วยแล้วนี่ยิ่งไปกันใหญ่ 

แนวทางหรือ Road Map มันสำคัญมากนะ การที่คุณเข้ามาบริหารประเทศแล้วประกาศว่าในแต่ละช่วงจะทำอะไรบ้าง ประชาชนเขาจะได้วางแผน ปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับนโยบายของคุณ 

สุดท้ายคือเรื่องของการแก้ไข ผมมองว่าการยึดติดกับแบบแผนจนเกินไป มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งของวัฒนธรรมทางการทำงานที่ฝังรากลึกมานาน ว่าร่างไว้อย่างไร ก็ต้องทำต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนด ถึงแม้แผนนั้นจะไม่สอดคล้องแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างมากที่นโยบายต้องมีกลไกในการปรับเปลี่ยน แก้ไข ที่สะดวก โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่หมุนเร็วมากยิ่งขึ้น

แสดงว่านโยบายควรจะมีความลื่นไหลมากกว่าเป็นการวางแผนงานระยะยาวในระดับหลายสิบปีใช่ไหม

ผมใช้คำว่าฟีเจอร์ มันควรจะอัพเดทและแก้ไขได้ตลอด เปรียบเทียบกับแอพพลิเคชัน มันคงไม่มีใครปล่อยแอพพลิเคชันมาวันแรกแล้วสมบูรณ์แบบเลย อย่างน้อยคือพอใช้ได้ แต่คงไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทันที ซึ่งปกติก็ไม่มีใครคาดหวังแบบนั้นอยู่แล้ว

ดังนั้นนโยบายก็เช่นกัน มันต้องลื่นไหล ผมว่าคงไม่มีใครอยากอยู่กับวิถีชีวิตเดิมๆ ในขณะที่โลกมันพัฒนาไปไกลมากแล้ว จริงไหม 

พูดถึงนโยบายการจัดการโควิด-19 ในขณะที่หลายๆ ประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว แต่ประเทศไทยกลับอยู่ในสภาวะฟื้นตัวช้า ตามหลังหลายประเทศอยู่ คุณมองว่าปัญหาในเชิงนโยบายของเราในเรื่องนี้ติดอยู่ที่ตรงไหน

อย่างแรกเลยคือเรื่องของความไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานไหนรับผิดชอบอะไร หน่วยงานไหนทำอะไรได้บ้าง ในขณะที่เราเห็นว่าทางออกของปัญหาอยู่ตรงหน้า ต้องฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง ต้องพัฒนา Home Isolation เพื่อลดภาระของสาธารณสุขในปัจจุบัน ภาครัฐก็กลับสร้างเขาวงกตให้มันดูยาก ทำให้เรื่องวัคซีนมีความซับซ้อนทั้งการลงทะเบียนและรูปแบบการฉีดวัคซีนที่มีมากมายเต็มไปหมด ไหนจะความพยายามรวมอำนาจโดยกีดกันเอกชนที่พยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ประชาชนต้องถามว่าเมื่อไรผมจะได้ยา เมื่อไรผมจะได้รับความช่วยเหลือ แถมยังถูกโทษอีกว่าเป็นความผิดของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้มันเป็นผลมาจากการกำหนดเป้าหมาย และวิธีการที่ไม่ชัดเจนมาตั้งแต่แรกเริ่ม 

ผมบอกเลยว่าการทำงานของรัฐปัจจุบันสับสนไม่แพ้กับแอพพลิเคชันตระกูล ‘ชนะ’ ทั้งหลายเลย ว่ามีไว้เพื่ออะไรบ้าง

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องสายด่วนในการขอความช่วยเหลือ ที่เราต่างรู้กันดีว่าเทคโนโลยีโทรศัพท์มันไม่สอดคล้องกับความต้องการจำนวนมากในตอนนี้ แต่เราก็ยังไม่เห็นการแก้ไขเท่าที่ควร กลับกัน กลุ่มอาสาภาคเอกชนต่างหาก ที่เขามีวิธีการรับมือดีกว่า กลุ่ม JITASA.CARE จิตอาสาดูแลไทย เป็นกลุ่มที่ผมรู้จัก เขาก็ทำแพลตฟอร์มมาเพื่อรับเคสผู้ป่วยและประสานกับอาสาอื่นๆ ในการขนส่งความช่วยเหลือ สามารถช่วยต่อลมหายใจให้กับคนได้อีกมาก แม้จะเป็นโมเดลที่ทำโดยคนกลุ่มเล็กๆ ก็ตาม อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเลยว่าการออกแบบเครื่องมือหรือวิธีในเรื่องนี้ของภาครัฐมีปัญหาอย่างไร

คุณมีข้อเสนอนะต่อการจัดการโควิด-19 ในปัจจุบันบ้างไหม

อย่างแรกเลยคือเรื่องการจัดลำดับความสำคัญว่าเขามีหน้าที่อะไรบ้าง แล้วค่อยมากางขอบเขตของงานที่ต้องทำ มาดูว่าสามารถพัฒนาหรือทำให้กระบวนการทำงานชัดเจนได้มากน้อยแค่ไหน จะจัดตั้งการวัดผลเพิ่มขึ้นอย่างไรดี 

และจำเป็นอย่างที่มากที่ต้องตรวจสอบ Output ว่าผลลัพธ์ตรงตามเป้าหมายไหม ไม่ใช่ดูเพียงแค่ Input ว่าใช้งบประมาณไปเท่าไร จัดซื้อวัคซีนแล้วกี่โดส แต่ต้องแสดงให้เห็นเลยว่าวิธีแบบนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือลดลง การกระจายวัคซีนต่อวันเร็วแค่ไหน มีใครบ้างไม่เข้าถึงวัคซีน หรือแม้กระทั่งจำนวนผู้เสียชีวิตในปัจจุบัน  

วิธีการทำงานของ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) ภายใต้แนวคิด ‘ไตรลักษณ์นโยบายอนาคต’ คืออะไร และคุณมองว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง 

ที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าประเทศไทยมีปัญหาเยอะเหลือเกิน ไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงปัญหาสังคม ปัญหาการศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเล็กปัญหาน้อย มองไปทางไหนก็มีแต่ปัญหา แล้วดูเหมือนจะแก้ไขไม่ได้เลย หรือมีวิธีแก้ไขที่เป็นแบบแบบผัดวันประกันพรุ่งไปเท่านั้น

ซึ่งพอมาตั้งใจดูว่าปัญหาประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในช่วงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็พบว่าหลายปัญหามันไม่ได้เป็นปัญหาด่วนทั้งหมด แต่การที่เราแก้มาไม่ได้เรื่อยๆ มันทับถมจนกลายเป็นปัญหาปัจจุบัน แล้วพอเจอโควิด มันก็แผลงฤทธิ์พร้อมกัน มันก็เลยหนักมาก มองไปข้างหน้าก็มีความท้าทายอีกว่าจะมีอีกกี่ปัญหาในอนาคตที่ต้องแก้ไขอีก

ผมมองว่าสิ่งนี้คือไฟปัญหา คือประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะโดนไฟคลอกจนหายใจแทบไม่ออก มองไปข้างหน้าก็มีฟืนกับน้ำมันราดรอไว้อยู่

ด้านเศรษฐกิจ งบประมาณก็ไม่ค่อยมี ทุนมนุษย์ก็ไม่อยู่ ยังไม่รวมถึงเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดรับกับโลกใหม่ ไหนจะเรื่องจนกระจุก รวยกระจาย ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เป็นอีกปัญหาสำคัญ จะเห็นได้ว่าแค่เรื่องเศรษฐกิจก็มีปัญหาทุกด้านแล้ว

แต่หากมามองปัญหาเชิงสังคม ผมคิดว่าหนักกว่าเศรฐกิจอีก สำคัญเลยคือเรื่องโอกาสในการเข้าถึงบริการภาครัฐ บริการการศึกษา บริการสุขภาพ สิทธิเสรีภาพในการพูดคุย ในการแสดงความคิดเห็น หรือระบบยุติธรรมที่หลังๆ ค่อนข้างเสื่อมลงเยอะมาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องความขัดแย้งระหว่างวัย ระหว่างชนชั้น ที่จะเป็นปัญหามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ 

ส่วนในปัญหาในอนาคตที่น่าจะมาแรงมาก คือเรื่องสังคมสูงวัยและเรื่องประชากรเด็กที่น้อยลง ซึ่งเรายังไม่พร้อมเลย ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่มาก รวมไปถึงเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะ AI ที่จะต้องมาแน่ๆ มันจะกลืนกินและสร้างปัญหาให้แน่นอน เราจะต้องเผชิญกับยุคที่เครื่องบดเหล็กไฮโดรลิคทำให้มนุษย์กลายเป็นคนไร้ทักษะในตลาดแรงงาน

หากจะแก้ไข จากที่ศึกษากรณีในต่างประเทศที่เขาแก้ปัญหาได้ดี หรือจากประสบการณ์การทำงานส่วนตัวของผมเอง ผมมองว่าเมืองไทยเราต้องปรับ 3 สิ่ง เพื่อให้ประเทศเกิดการเคลื่อนไหว เกิดการแก้ปัญหาที่ทับถมกันอยู่เป็นเวลานานได้ คือ 1. การแก้ปัญหาด้วยการฟังปัญหาจากเสียงของประชาชนมากยิ่งขึ้น 2. ทำให้เกิดการกระจายอำนาจจากภาครัฐสู่ท่องถิ่น และ 3. รูปแบบการทำงานต้องมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น 

พูดกันตามตรง ทั้งหมดนี้คือแนวคิดที่เรากำลังจะริเริ่ม ถ้าคิดกันแบบวิทยาศาสตร์ มันก็ยังไม่มีผลลัพธ์มาบอกว่าจะเหมาะสมกับปัญหาในประเทศไทยในทุกเรื่อง แต่ผมมองว่าถ้าวันนี้ไม่ทำ เราจะไม่ทันแล้ว ในวันที่มีปัญหารอบด้านแบบนี้ ถ้าเราไม่รีบทำ มันอาจจะกลายเป็นปัญหาทุกด้านในอนาคตข้างหน้าได้

ผลงานแรกของสถาบันอนาคตไทยศึกษา เรื่องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นอย่างไรบ้าง  

สาเหตุที่สถาบันอนาคตไทยศึกษาสนใจปัญหาอุบัติเหตุบนถนน เพราะเราคิดว่าทุนมนุษย์จำเป็นมากในอนาคต แล้วเวลาถามว่าจะพัฒนาทุนมนุษย์ไทยอย่างไร หลายคนจะมองไปที่เรื่องการศึกษา ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็น แต่อีกปัญหาหนึ่งของทุนมนุษย์ที่หลายคนมักมองข้ามคือ อัตราการเสียชีวิตของเยาวชนต่อปีที่ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ซึ่งการเสียชีวิตบนท้องถนนเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ในทุกปีที่ผ่านมา

เราเลยมองเรื่องนี้เป็นปัญหาอันดับต้นๆ เพราะมันจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเราลงทุนในการศึกษาไป แล้วยังมีคนยังตายบนท้องถนนบนทุกปีอยู่แบบนี้ ในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะเสียชีวิตมากขึ้นในทุกปี มันเป็นอะไรที่แก้ไม่ได้มานานมาก 10 กว่าปีแล้ว ที่เราเสียทุนในเชิงมนุษย์ของประเทศไปเกือบสองแสนคน ซึ่งมันเป็นจำนวนที่ไม่น้อย แต่ก็น่าแปลกใจที่เรากลับชินชากับเรื่องนี้กัน

ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาของเราคือ พยายามจะคลี่ทุกปัญหาที่เกิดขี้นให้ชัดเจน ตั้งแต่บนลงล่าง ว่ามีส่วนไหนมีปัญหา หรือส่วนไหนถูกลืม ยกตัวอย่างเรื่องอุบัติเหตุทางถนน เราพิจารณาเป็นสามจุด 1. ก่อนอยู่บนท้องถนน เรื่องใบขับขี่ เรื่องความเข้าใจในการใช้รถบนท้องถนน 2. บนท้องถนน เรื่องความปลอดภัย ความเข้าใจในกฎหมายจราจรต่างๆ และ 3. หลังจากเกิดอุบัติเหตุ เรื่องการเข้าช่วยเหลือ การเยียวยาในระยะยาว 

จากนั้นก็เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสามจุดนี้มานั่งพูดคุยกัน ซึ่งขั้นตอนนี้สำคัญมากว่าต้องเรียกมากให้ครบ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการประชุมแบบเดิมๆ มีผู้หลักผู้ใหญ่มาพูดคุยกันในสิ่งที่คิดกันเอาเองว่าใช่ แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ตอบโจทย์คนบางกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมนั้น คือผมก็มีความหวังว่าการเอาคนหลายๆ หมวกมานั่งคุยกัน มาแสดงความเห็นให้เข้าใจ มันจะเป็นก้าวต่อไปที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ 

หลังจากนั้นก็จะทำงานวิจัยต่อว่าแต่ละพื้นที่ควรจะทำอย่างไร แล้วก็คัดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดมาผลิตเป็น Playbook ว่าอยากแก้ปัญหานี้จริงๆ ใครต้องทำอะไรบ้าง ทำให้กระชับเข้าใจง่าย เจาะทีละประเด็นไป

ที่ผ่านมาทำไมวิธีคิดแบบนี้ถึงไม่เคยเกิดขึ้นโดยภาครัฐ จนสถาบันอนาคตไทยศึกษาต้องเป็นกลุ่มที่ริเริ่มวิธีเช่นนี้เอง

เท่าที่พอนึกออกคือ ผมคิดว่ารัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นจนประชาชนมีสถานะเป็นลูกค้า คือเวลาเราเป็นลูกค้าร้านอาหารสักที่ เราก็ต้องคาดหวังว่าจะได้รับการบริการและอาหารที่ดี แต่ถ้ามองในหมวกของลูกค้าคือประชาชน ร้านอาหารหรือรัฐบาลไม่สามารถทำให้คนเชื่อถือว่าจะมาทำให้วิถีชีวิตพวกเขาดีขึ้นได้

ซึ่งพอมันเป็นเช่นนี้ การพบกันระหว่างประชาชนและภาครัฐ หรือเอกชนและภาครัฐเลยไม่เกิดขึ้น การใช้ข้อมูลจากเสียงประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงทำได้ยาก แนวทางแบบนี้จึงทำได้ยากสำหรับรัฐบาล ณ ปัจจุบัน

คุณมีแนวทางทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างไรบ้าง เพราะการที่จะให้ภาครัฐยอมทิ้งคู่มือเก่ามาใช้คู่มือในการทำงานของสถาบันอนาคตไทยศึกษา มันเหมือนการเปลี่ยนระบบการทำงานใหม่ทั้งหมดเลย 

ผมมองว่าเป็นอีกเรื่องที่ท้าทาย เพราะถ้าจะเปลี่ยนทีเดียว มันเหมือนการยกเครื่องใหม่ มันเปลี่ยนทั้งกระบวนการ แม้สุดท้ายผมมองว่าจะช้าจะเร็วเราก็ต้องทำอยู่ดี แต่การหาวิธีปรับเปลี่ยนที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ต้องคิดอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะหากหวังจะรีบแก้ไขปัญหาในเร่งด่วนในช่วงเวลานี้ 

โดยแนวทางที่พอทำได้ คือเริ่มกะเทาะวิธีแบบเก่าจากจุดที่มีอุปสงค์ภายในภาครัฐ มันยังพอมีอยู่นะ ราชการไฟแรงที่เป็น Rising Star ในหลายพื้นที่ ที่เขาอยากพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น แต่มีข้อจำกัดด้านวิธีการอยู่ ตรงนี้เราก็จะลงไปทำงานร่วมกับพวกเขาให้แนวคิดของเรา plug in เข้ากับระบบได้ก่อน ให้มันได้เกิดการทดลอง ได้เอาวิธีของผมไปใช้แก้ปัญหาได้จริง 

แล้วถ้าผลลัพธ์พิสูจน์ได้ว่าการบริหารมันดีขึ้น มันก็ต้องดีกับราชการไฟแรงที่ทำงานกับเรา ร่วมถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่ผลงานมันดีขึ้น สุดท้ายเขาก็ต้องมองลงมาตรงนี้บ้าง เราจะใช้ผลงานพิสูจน์จนก่อให้เกิดการคลายอำนาจจากล่างขึ้นบน  

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนก็จะได้ประโยชน์จากข้อมูลของสถาบันอนาคตไทยศึกษาในการแก้ปัญหา ผมอยากให้ทุกภาคส่วนเข้าใจในจุดนี้ก่อน เพราะสิ่งที่เราทำคือการไม่พยายามเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือ แต่เราเป็นแค่คนเขียนหนังสือที่ใช้วิทยาศาสตร์มาจับกับปัญหา และเสนอทางแก้ไขเพียงเท่านั้น ทำเป็นคู่มือ เหมือนเวลาเราจะประกอบเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA จะแสดงให้ดูว่าปัญหาเป็นแบบไหน เริ่มตรงไหนก่อนดี ซึ่งผู้บริหารทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้

คุณมองประเทศไทยผ่านการบริหารงานรูปแบบ ‘ไตรลักษณ์นโยบายอนาคต’ อย่างไรบ้าง

มันจะเป็นวันที่ประชาชนตื่นเต้นกับความก้าวหน้าของประเทศ เหมือนเราตื่นมาแล้วอยากติดตามว่าการพัฒนาการของภาษีเราเป็นอย่างไร เหมือนเราสั่งพัสดุจากบริการส่งสินค้าว่าของอยู่ที่ไหน ใกล้ถึงหรือยัง การออกแบบนโยบายจากความต้องการของประชาชน ก็จะนำไปสู่วันที่คนอยากรู้ว่าผลประโยชน์ที่จะมาตกถึงเขาในอนาคตนั้นไปถึงไหนแล้วบ้าง

มันจะเป็นวันเดียวกับที่นโยบายได้กลายเป็นสิ่งที่ควรเป็นคือ ‘การพัฒนาประเทศ’ ได้อย่างแท้จริง

ภาพ: ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

Fact Box

  • ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ คือลูกชายคนโตของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ขุนพลเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยที่นโยบายประชานิยมหรือนโยบายเศรษฐกิจหลายอย่างก็มาจากตเขาที่เป็นคนคิดค้นขึ้นมา
  • ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ จบการศึกษาปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล และมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่ Harvard Kennedy School และที่ธนาคารโลก โดยเขาได้นำความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์และปรับใช้ให้เข้ากับการดำเนินงานของสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) ในปัจจุบัน
Tags: , , , , ,