ความสำเร็จของภารกิจทวงคืน ‘ทับหลังปราสาทหนองหงส์’ และ ‘ทับหลังปราสาทเขาโล้น’ กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติ ทั้งยังปลุกกระแสสังคมให้หันมาตื่นตัวกับปัญหาการลักลอบนำโบราณวัตถุออกไปสู่ต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายอีกครั้ง

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ปัจจุบันมีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของไทยจำนวนเท่าไรที่ยังกระจัดกระจายอยู่ในต่างประเทศ เบื้องหลังขบวนการลักลอบส่งออกสมบัติชาติอันเก่าแก่ล้ำค่านั้นเป็นอย่างไร แล้วที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ลงมือติดตาม ไถ่ถาม ทวงคืนอย่างจริงจังแค่ไหน และสำเร็จไปแล้วกี่มากน้อย ตลอดจนการจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ดังที่เห็นในปัจจุบัน วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไรกันแน่

The Momentum ชวน ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญที่อยู่เบื้องหลังภารกิจ ‘ทวงคืน’ ทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้น อันถือเป็นสมบัติชาติ กลับสู่แผ่นดินไทยได้สำเร็จ 

ระหว่างการสัมภาษณ์ ทนงศักดิ์อธิบายอย่างตั้งอกตั้งใจ พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพ ตามประสานักโบราณคดีรุ่นเก๋าผู้รอบรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุในประเทศไทย เพื่อบอกเล่าถึงสถานการณ์ลักลอบส่งออกโบราณวัตถุไปยังต่างประเทศตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ พร้อมตั้งคำถามถึงการนำเสนอวัฒนธรรมผ่านโบราณวัตถุในปัจจุบันว่ามีปัญหาอะไรน่าเป็นห่วงบ้าง 

ช่วงเวลาไหนถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขโมยโบราณวัตถุในประเทศไทย

จริงๆ ก็มีหลายช่วงที่ชาวต่างชาติได้เดินทางมาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเหตุผลหลักในช่วงสงครามคือการครอบครองดินแดน แน่นอนว่าการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของชาวต่างชาติไม่ได้มีแค่เรื่องเขตแดนเท่านั้น ความรู้เชิงวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการด้วยเช่นกัน ในส่วนของโบราณคดี ชาวต่างชาติก็มีความต้องการที่จะรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ เพื่อนำกลับไปศึกษาอยู่บ้าง

ทีนี้พอต่างชาติพยายามศึกษา พยายามให้คุณค่ากับศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เกิดเป็นการซื้อขายเพื่อเก็บสะสมโบราณวัตถุที่พวกเขามองว่ามีค่าในเวลาต่อมา รวบรวมเป็นคอลเล็กชันของนักสะสมที่เงินหนาในต่างประเทศ หรือบางชิ้นก็ถูกนำไปแสดงโชว์ในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศก็มี

ถ้าถามว่าเรื่องราวพวกนี้เกิดขึ้นในช่วงไหนบ้าง ช่วงรัชกาลที่ 5 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เคยปรากฏ แต่ในช่วงสงครามเย็นถือเป็นช่วงที่ปรากฏการขโมยวัตถุโบราณมากที่สุด เนื่องจากมีพ่อค้าที่เข้ามาในรูปแบบของซีไอเอ มีการขนโบราณวัตถุออกจากประเทศเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่นกรณีชาวต่างชาติท่านหนึ่งที่เข้ามาลงทุนจนกลายเป็นที่รู้จักไปทั่ว แต่เบื้องลึกเบื้องหลังเขาก็พัวพันกับขบวนการลักลอบค้าขายโบราณวัตถุเช่นกัน 

ตอนที่มีการค้าขายโบราณวัตถุเกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรที่รับผิดชอบ ไม่ออกมาตรวจสอบหรือขัดขวางบ้างหรือ

ประเทศไทยมีทั้งตัวกฎหมาย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มีกรมศิลปากรที่ออกมาทวงโบราณวัตถุที่หายไปอยู่ตลอด แต่มันก็มีปัญหาให้ตามกลับมายากอยู่เยอะ 

เรื่องทวง มีการทวงตลอด แต่ทวงแล้วได้ไหมนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ผมมองว่าด้วยความที่โบราณวัตถุมันมีการซื้อขายด้วยการประมูล เม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก จึงอาจจะมีอำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ อันนี้ไม่ได้พูดลอยๆ นะ มีรายงานจากหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations: HSI) ที่พบว่าขบวนการค้าโบราณวัตถุในประเทศไทยมันมีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร 

ยกตัวอย่างกลุ่มพ่อค้าที่มีชื่อเสียงในไทยอย่าง ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford)1 ที่มาคลุกคลีกับโบราณวัตถุในไทยมาอย่างยาวนาน ก็มีส่วนพัวพันในเรื่องนี้ บ้านตรงสุขุมวิทของเขาก็มีโกดังขนาดใหญ่ไว้เก็บโบราณวัตถุ 

หากพูดในเชิงธุรกิจ การค้าขายโบราณวัตถุระหว่างชาวต่างชาติด้วยกันเอง ไทยจะได้ประโยชน์ในส่วนใดบ้าง 

ไม่น่าจะมี สำหรับฝั่งไทย ถ้าไม่รวมการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อนำสินค้าออก ก็ไม่น่ามีใครได้ประโยชน์ แต่ผมคงยังให้คำตอบที่ชัดเจนเรื่องนี้ไม่ได้ 

เอาแบบนี้ดีกว่า คุณลองคิดตามผมว่าโบราณวัตถุบางชิ้นมีขนาดใหญ่หลายเมตร เวลาย้ายออกไปจากโบราณสถาน ทำไมถึงไม่มีใครรู้ ยกตัวอย่างหลวงพ่อศิลา วัดทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย2 สูงเกือบเมตรเลย เป็นพระพุทธรูปนาคปรก หินทรายขนาดใหญ่ อันนี้ก็หายไปจากวัด พอสอบสวนกันไปมาก็พบว่าดักลาส แลตช์ฟอร์ดเป็นคนซื้อและส่งออก คำถามคือกระบวนการทั้งหมดทำไมถึงเกิดขึ้นได้อย่างลับๆ และไม่มีใครตรวจสอบได้

มีรายงานจากต่างชาติบ้างไหมว่าเหตุใดจึงสนใจสะสมโบราณวัตถุของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงขนาดยอมซื้อขายกันอย่างผิดกฎหมายเช่นนี้ 

โบราณวัตถุมันมีเอกลักษณ์ ผมมองว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือความเชื่อแบบนี้มันมีเรื่องราวให้ศึกษาเยอะ อย่าลืมว่าการสะสมของต่างชาติ นอกจากเป็นส่วนประดับเพื่อความสวยงามแล้ว ยังถือเป็นกระบวนการศึกษาวิธีหนึ่งของเขาด้วย ผมสังเกตว่านักโบราณคดีต่างชาติหลายคนเขาศึกษา บันทึก และเผยแพร่ข้อมูลของโบราณวัตถุออกมาดีมาก ทำดีมากจนทำให้คนในประเทศเขาสามารถสนใจวัฒนธรรมของประเทศอีกซีกโลกหนึ่งได้

อีกแง่มุมที่น่าคิดคือ ประเทศเรามีนักวิชาการที่สามารถทำแบบนี้ได้ไหม เพราะหากมองกลับกัน ประเทศเราเองแทบจะไม่มีการให้ความรู้เชิงวัฒนธรรมในต่างประเทศได้ละเอียดและน่าสนใจได้มากขนาดนั้นเลย 

สิ่งเหล่านี้ผมมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวต่างชาติสนใจ ตัวผมเองก็ด้วย การทวงคืนโบราณวัตถุส่วนหนึ่งคือเราอยากเอากลับมาศึกษาเพื่อร้อยเรียงเรื่องราวในอดีต จำได้ไหม สมัยก่อนเรามีความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องใครเป็นเจ้าของโบราณสถานแห่งหนึ่ง นี่คือปัญหาทางภูมิภาคที่แสดงให้เห็นว่าเราต้องการความรู้ทางโบราณคดีอีกมาก ถ้าเราได้รู้ว่าวัฒนธรรมประเทศเขาเป็นอย่างไร วัฒนธรรมประเทศเราอย่างไร รู้ว่าวัฒนธรรมสมัยก่อนเป็นอย่างไร มันเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศหรือระหว่างยุคสมัยอย่างไร ก็จะทำให้ความขัดแย้งตรงนี้ได้คำตอบ แต่ทุกวันนี้เราใช้มุมมองของความเป็นรัฐมาตีกรอบว่าสิ่งนั้นเป็นของประเทศนี้ สิ่งนี้เป็นของประเทศนั้น ปัญหามันก็ไม่จบ เพราะแต่ละประเทศเขาก็มีแนวคิดเรื่องรัฐและดินแดนที่แตกต่างกัน

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการประเมินค่าความเสียหายจากการลักลอบนำโบราณวัตถุออกนอกประเทศบ้างไหม   

ประเมินค่าไม่ได้เลยนะ สำหรับราคาโบราณวัตถุสักชิ้นหนึ่ง ยกตัวอย่างทับหลังปราสาทเขาโล้นที่เพิ่งได้คืนมา มีการซื้อขายกันในราคา 9,000 เหรียญฯ ส่วนทับหลังปราสาทหนองหงส์ถูกซื้อไปในราคา 15,000 เหรียญฯ แต่ราคาที่กรมศิลปากรประเมินสำหรับคิดค่าประกันในการขนย้ายกลับมาประเทศไทย ทับหลังปราสาทเขาโล้นราคา 380,000 เหรียญฯ ส่วนทับหลังปราสาทหนองหงส์ประเมินไว้ 480,000 เหรียญฯ นี่เป็นราคาที่ประเมินเบื้องต้นในแบบที่เกรงใจแล้วนะ เพราะไม่อยากเสียค่าประกันและขนส่งมากเกินไป คือเป็นการประเมินในลักษณะเดียวกันกับการตีค่าโบราณวัตถุที่ต่างชาติยืมไปจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย 

นี่เป็นตัวอย่างแค่ 2 ชิ้นเท่านั้น ในความเป็นจริง ประเทศไทยยังมีโบราณวัตถุที่สูญหายและยังไม่ได้ดำเนินการทวงคืนกลับมาอีกเยอะ ถ้าจะให้รวม ต้องใส่ราคาของประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัยกว่า 300 องค์ที่หายไปจากประเทศไทยด้วย ซึ่งหากอ้างอิงตามรายงานของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่เขียนไว้ในวารสารโบราณคดีปี 2510 ท่านทรงประเมินไว้ว่าราคาต้องสูงกว่าทับหลัง ซึ่งประเด็นนี้พวกผมกำลังดำเนินการกันอยู่ จึงกลายเป็นที่มาของกลุ่ม ‘สำนึก 300 องค์’ ในปัจจุบัน

และทั้งหมดนี้ ถ้าจะให้ไปซื้อคืนแบบหลวงพ่อศิลานี่ตาเหลือกเลยนะ (หัวเราะ) สูญเสียหลายพันล้านบาทแน่นอน นี่แค่ทับหลังและกรุประโคนชัย ยังไม่นับโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอื่นๆ ที่อยู่ในบัญชีรายการที่จะต้องทวงอีก มีทับหลังของปราสาทพนมรุ้ง ทับหลังจากปราสาทพิมาย เทพประจำทิศ แผ่นหินที่ประดับตัวผนังหรือในทางวิชาการเรียกเสาติดกับผนังของปราสาทพนมรุ้ง แผ่นบุทองคำของศรีเทพประติมากรรมหินทรายรูปพระวิษณุของศรีเทพ พระพุทธรูปหินทรายสมัยทวารวดีที่อายุ 1,300 ปี มูลค่ามันมหาศาลมาก แล้วที่สูญหายอยู่นอกบัญชีอีกล่ะ จะมากขนาดไหน

ประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัย

เมื่อตัวเลขสูงถึงขนาดจะเป็นวาระแห่งชาติได้เลย แล้วทำไมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่าภาครัฐกลับไม่ค่อยเอาจริงเอาจังในการทวงคืนมากนัก

สมัยก่อนอาจจะมีเงื่อนไขในเรื่องของการทวงคืนที่ทำให้ยุ่งยากอยู่บ้าง จะไปบอกว่าเขาไม่สนใจเลยก็ไม่ได้ 

ครั้งหนึ่ง กรมศิลปากรก็เคยทำหนังสือทวง เราก็สามารถนับได้ว่าเป็นการดำเนินงานของภาครัฐ ผลงานเด่นของเขาก็คือช่วงที่ เอเวอรี บรันเดจ (Avery Brundage) ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และนักสะสมชาวอเมริกัน เขาก็ครอบครองทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากกู่สวนแตง ตอนนั้นเขาจะมาเป็นประธานในพิธีโอลิมปิกในเอเชีย กรมศิลปากรก็ได้ส่งหนังสือไปทวงถามถึงเรื่องโบราณวัตถุ ด้วยความที่นายบรันเดจกำลังรับหน้าที่ใหญ่ในตอนนั้น ก็ไม่อยากมีเรื่องมาทำให้ตัวเองเสียชื่อ สุดท้ายเลยยอมคืนทับหลังชิ้นนั้นในที่สุด 

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าสมัยก่อนภาครัฐก็มีความเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แม้ว่าในขณะเดียวกัน เอเวอรี บรันเดจก็ครอบครองโบราณวัตถุของไทยอีกหลายร้อยชิ้นก็ตาม (หัวเราะ) แต่หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้เห็นการดำเนินงานของภาครัฐเท่าไหร่ ด้วยขั้นตอนที่ยุ่งยาก และความไม่เข้าใจถึงความสำคัญในวิธีและรูปแบบการทำงานของขบวนการทวงคืน เขาจึงไม่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งอย่างหลังนี้เป็นปัญหามาก เพราะความไม่เข้าใจถึงความสำคัญในวิธีการทวงคืน ทำให้เวลามีขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยากเรื่องการทวงคืนโบราณวัตถุจึงถูกปัดตกอยู่เสมอ 

มีอยู่ครั้งหนึ่ง มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดเสวนาเรื่องประติมากรรมสำริดประโคนชัย ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่จะต้องทวงคืน เขาก็เชิญนิติกรของกรมศิลปากรมาด้วย พอเราเสนอแนวทางในการทวงคืน นิติกรคนนั้นพูดในที่ประชุมว่า “มันเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าหาไดโนเสาร์อีก”

ผมนี่ระเบิดเลย ประโยคนี้ติดหูมาจนถึงทุกวันนี้ กรมศิลปากรพูดแบบนี้ได้อย่างไร กรมศิลปากรควรจะไปศึกษาข้อมูลในต่างประเทศว่ากระบวนการทวงโบราณวัตถุในปัจจุบันมันทันสมัยถึงไหนแล้ว

ในมุมมองของคุณ คิดว่าโบราณวัตถุสำคัญกับประเทศไทยอย่างไร ถึงขั้นต้องทวงกลับมา

ต้องบอกก่อนว่าการทวงคืนของรุ่นผม ส่วนหนึ่งมันเริ่มจากความสนใจโดยเฉพาะ ไม่ใช่หน้าที่แต่อย่างใด เราสนใจในเรื่องโบราณวัตถุของงานวิจัยสมัยปริญญาเอก เราจึงทำเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งคือด้วยความชอบ แต่จะอธิบายให้คนทั่วไปฟังว่าโบราณวัตถุสำคัญอย่างไร ผมขอยกเรื่องปราสาทหินพิมายมาอธิบายให้ฟัง

วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นที่ปราสาทหินพิมาย พวกเราถูกสั่งสอนว่าเป็นวัฒนธรรมแบบเขมรมาโดยตลอด แล้วก็ถูกสอนว่าศิลปะประเภทนี้แผ่ขยายมาจากนครวัดมาสู่ประเทศไทย กลายเป็นปราสาทหินพิมายที่ยิ่งใหญ่บนที่ราบของประเทศไทย แต่ผมกลับมองตรงข้าม เพราะว่าปราสาทหินพิมายถูกสร้างให้เป็นพุทธสถาน เป็นปราสาทของชาวพุทธ ไม่ใช่ของฮินดูแบบนครวัดหรือแบบปราสาทหลังอื่น มันเกิดจากสังคมวัฒนธรรมที่มีการสืบเนื่องทางศาสนาพุทธมานานมาก ซึ่งหากอ้างอิงจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ คนที่สร้างก็คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1630 เพื่อถวายให้กับพระพุทธเจ้า และใช้ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทประจำรัชกาล 

ถ้าทุกคนเรียนศิลปะเขมรจะรับรู้ทันทีว่ากษัตริย์ในวัฒนธรรมของเขมรทุกพระองค์ ถ้าขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์จะต้องสร้างปราสาทประจำรัชกาลไว้หนึ่งหลัง เพื่อที่จะใช้ในพิธีหลังความตายแบบพุทธราชาหรือเทวราชา ที่ดวงวิญญาณจะไปรวมกับเทพเจ้าเพื่อให้คนนับถือบูชา ลวดลายที่สลักบนตัวปราสาททั้งหมดจึงเป็นลวดลายประจำรัชกาล แล้วก็ต่อเนื่องมาทุกสมัย เวลาเห็นลายนิดเดียวก็สามารถบอกได้เลยว่าสร้างในสมัยพระเจ้าองค์ไหน

เมื่อพบข้อมูลในงานวิจัยแบบนั้น ผมก็ศึกษาต่อจนพบในจารึกที่เขียนไว้ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่ทรงสร้างปราสาทหินพิมายนั้น เป็นต้นราชวงศ์มหิธรปุระ และมีหลานคือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นองค์ที่สร้างพนมรุ้งกับปราสาทนครวัด ดังนั้น พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จึงมีความสัมพันธ์แบบลุงกับหลาน หากคิดตามตรรกะและเหตุผล การที่ลุงผู้เป็นต้นราชวงศ์อยู่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ส่วนหลานอยู่เสียมเรียบ แล้วจะมาบอกว่าปราสาทของลุงได้รับอิทธิพลมาจากหลานก็ฟังไม่ขึ้นเท่าไหร่นัก 

สิ่งเหล่านี้คือเรื่องราวที่แสดงให้เห็นว่าการได้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ มันช่วยให้วิเคราะห์ ปะติดปะต่อเรื่องราวทางวัฒนธรรมได้ การได้ครอบครองทับหลังที่สลักลวดลายของกษัตริย์ตั้งแต่รัชสมัยมาเก็บรักษาไว้ ก็ช่วยให้เราสามารถเรียบเรียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผมจึงต้องตั้งกลุ่มขึ้นมา เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมที่ไม่สามารถใช้เส้นแบ่งของรัฐมากำหนดได้

เบื้องหลังภารกิจทวงคืนทับหลังหนองหงส์และทับหลังหนองโล้นครั้งล่าสุดนี้ แต่ละขั้นตอนมีที่มาที่ไปอย่างไร   

คนแรกที่เจอทับหลังกำลังถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ต้องยกเครดิตให้สมาชิกทีมสำนึก 300 องค์ที่ชื่อ ยอดชาย อ้ายเจริญ เขาเรียนวัฒนธรรมศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ก่อนจะมาเป็นผู้ช่วยโบราณคดีในสำนักงานศิลปากร จังหวัดอุบลราชธานี

ตอนนั้นยอดชายเขาไม่มั่นใจว่าโบราณวัตถุที่ค้นพบเป็นทับหลังของปราสาทหนองหงส์หรือไม่ ก็เลยมาปรึกษาผม ผมเองพอเห็นลวดลายก็ตอบได้ทันทีว่าใช่ เพราะทับหลังของปราสาทหนองหงส์จะมีลวดลายพิเศษ เป็นรูปของพระยมทรงกระบือ ซึ่งถูกบันทึกเอาไว้ในหนังสือ รายงานสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของกรมศิลปากร ปี 2503 ที่สำคัญคือลวดลายเช่นนี้ไม่เคยมีหลักฐานว่าปรากฏในปราสาทหลังไหน ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในประเทศกัมพูชาก็ตาม พอดูในลิงก์ที่ยอดชายส่งมาให้ เราก็ไปเจอทับหลังของปราสาทเขาโล้นที่มีหลักฐานอ้างอิงจากหนังสือศิลปะลพบุรีของท่านอาจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล

ทับหลังปราสาทเขาโล้น

ทับหลังปราสาทหนองหงส์

เมื่อมีหลักฐานชัดเจนว่าเราเจอทับหลัง 2 ชิ้นที่สูญหายไปแล้ว ก็เริ่มเดินเรื่องกันต่อ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการจะทวงคืนทับหลังจากต่างประเทศนั้น เอกสารสำคัญที่ต้องใช้คือหลักฐานการนำเข้าหรือส่งออกโบราณวัตถุชิ้นนั้น ซึ่งถ้ามีการตรวจสอบแล้วว่าไม่มีเอกสารตรงนี้ ก็จะพิสูจน์ได้ว่าโบราณวัตถุดังกล่าวถูกส่งออกอย่างผิดกฎหมาย ก็จะสามารถทำเรื่องส่งกลับประเทศไทยได้

แต่พอเราไปยื่นเรื่องกับภาครัฐของไทย กลับมีปัญหาในการตรวจสอบหลักฐาน เขาอ้างว่าโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นเช่นกรุพระประโคนชัยไม่มีรูปมายืนยันว่ามีการสูญหายไปจากประเทศไทยจริง อันนี้เป็นปัญหาเบื้องต้นที่ผมเจอ พออธิบายเจรจากันได้ เมื่อเดินเรื่องต่อไปยังโฮมแลนด์ฯ ก็มีปัญหาอีก ตรงขั้นตอนที่ทางโฮมแลดน์ฯ ต้องการข้อมูลเพิ่มในการฟ้องคดีกับพิพิธภัณฑ์เอเซียนอาร์ท เรื่องข้อมูลยืนยันว่ากรมศิลปากรเคยมีความต้องการจะทวงคืนโบราณวัตถุเพื่อใช้ยืนยันเจตจำนงของประเทศไทย ผมต้องหากลับไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าไหร่นัก ต้องรอจนถึงสมัยของ อิทธิพล คุณปลื้ม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เชื่อไหมว่าพอผมเข้าไปคุยถึงปัญหาอีกครั้งกับ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากรที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ก็ได้สั่งการให้ค้นข้อมูลส่งไปยังโฮมแลนด์ฯ คราวนี้ใช้เวลาแค่ 1 เดือน เราชนะคดี ได้ทับหลังกลับคืนมาเลย

เรื่องเกิดขึ้นมานานกว่า 5 ปี แต่พอจะดำเนินการจริง กลับใช้เวลาเพียง 1 เดือน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ว่างเปล่าในอากาศ ก็ฉันไม่ทำ ใครจะทำไม (หัวเราะ) มันเป็นแบบนี้จริงๆ ทั้งที่ควรจะได้คืนตั้งนานแล้ว ถูกไหม ไม่ต้องมาก่อให้เกิดกระแสกันเหมือนทุกวันนี้หรอก 

อีกเรื่องที่เป็นประเด็นดราม่าถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะมาก คือการพรมน้ำมนต์ลงบนทับหลังฯ กรณีนี้คุณคิดเห็นอย่างไร

ถ้าคนรู้ว่าตอนที่ทับหลังชิ้นนี้มันหายไปจากประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร ผมว่าเขาจะมองปัญหาได้ชัดเจนกว่านี้ 

ช่วงที่ถูกลักลอบส่งออกไปต่างประเทศ ทับหลังปราสาทเขาโล้นถูกตัดแบ่งออกเป็น 3 ชิ้น เพื่อแบ่งน้ำหนัก อำนวยความสะดวกในการส่งออก แล้วพอไปถึงปลายทางก็ค่อยนำกลับมาต่อกันใหม่ สิ่งที่ผมจะสื่อคือ ทับหลังมันชำรุดเสียหายมามากแล้ว ไหนจะการเชื่อมต่อใหม่ ไหนจะเหตุการณ์แผ่นดินไหวในซานฟรานซิสโกที่ทำให้ทับหลังซึ่งแขวนไว้ในพิพิธภัณฑ์ตกลงมาแตก ต้องเชื่อมต่ออีกรอบหนึ่ง มันผ่านมือผ่านการซ่อมแซมมานับไม่ถ้วนแล้ว ดังนั้น การพรมน้ำมนต์เป็นเพียงหนึ่งปัญหาเล็กๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ถ้าอยากเรียกร้องการอนุรักษ์ให้เป็นเรื่องเป็นราว ผมอยากชวนตั้งคำถามถึงโบราณวัตถุที่ตั้งอยู่นอกอาคารมากกว่า ตากแดดตากฝนไม่รู้มากี่ร้อยปี ไหนจะความเสียหายจากน้ำมือมนุษย์ จากคนที่ไปเยี่ยมชม รอยขีดข่วนก็มีให้เห็นอยู่เต็มไปหมดบนโบราณวัตถุแต่ละชิ้น ผมว่านี่คือประเด็นสำคัญที่ต้องตั้งคำถามมากกว่า

นี่เป็นเหตุผลที่คุณเคยเสนอว่าควรสร้างแบบจำลองมาจัดแสดงโชว์ แล้วนำโบราณวัตถุของจริงไปเก็บรักษาในที่ปลอดภัย

อันนี้คือสิ่งที่ทุกคนกังวลมากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะผม พวกนักวิชาการหรืออาจารย์ทุกคนก็คิดเหมือนกันหมด พวกเรามองว่าควรจะจำลองของจริงแล้วไปติดตั้ง อย่างปราสาทหนองหงส์มันมีขนาดเล็กมาก วงกบประตูมันเตี้ย คนเดินมุดเข้าออกทางช่องสู่ปราสาทที่มีทับหลังตั้งอยู่ข้างบนก็สามารถยื่นมือแตะได้เลย แบบนี้มันไม่ปลอดภัย ไม่รอดแน่ ก็เลยคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดก็คือจำลองตัวทับหลัง

คิดภาพตามนะ การที่เราใช้เวลานาน 5-6 ปี กว่าจะได้ทับหลังคืนมา พอได้มาก็เอาไปตั้งไว้กลางแจ้ง โดนใครก็ไม่รู้มาทำให้เสียหายเพิ่มไปอีก ก็ถือเป็นการทำงานที่ไม่ได้ช่วยให้รักษาจริงๆ ถ้าจุดประสงค์ในการทวงคืนทับหลังคือการรักษาเพื่อส่งต่อเรื่องราวให้คนรุ่นต่อๆ ไป มันก็ควรจะคงอยู่เอาไว้ ไม่ใช่ว่าทวงคืนมาให้มันผุพังในประเทศเราต่อ

ทำไมคนรุ่นใหม่หรือคนที่ไม่ค่อยสนใจ ถึงต้องมารับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หรือศิลปวัฒนธรรมของไทยในอดีต

เพราะจะทำให้คำถามหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ได้รับคำตอบมากขึ้น 

ตั้งแต่เริ่มศึกษาเรื่องราวของวัฒนธรรมต่างๆ เราจะเห็นว่าในแต่ละท้องถิ่นพยายามสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองให้เกิดขึ้น ซึ่งพอวัฒนธรรมมันมีความแตกต่างหลากหลายมากๆ แต่ประวัติศาสตร์การสร้างชาติกลับกำหนดวัฒนธรรมตามเขตแดนของรัฐ ให้เป็นแบบใดแบบหนึ่ง มันเลยมีปัญหาเรื่องความเข้าใจ ผมเลยมองว่ามันไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก มันต้องแก้ไข มันควรจะมีการศึกษาความหลากหลายผ่านหลักฐานทางโบราณคดี ให้เป็นจุดรับรู้เชิงวัฒนธรรมร่วมกันว่าแบบนี้เป็นของใคร แบบนั้นเป็นของใคร เพื่อลดความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรม สร้างความเข้าใจในภาครวมจะดีกว่า

มันจะสงบสุขมากกว่านั้น ถ้าไม่ดึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปเป็นของตัวเอง 

ผมมองว่าการศึกษาโบราณวัตถุและศิลปวัฒนธรรมในอดีตจะทำให้เข้าใจและเห็นภาพชัดเจน ว่าการศึกษาในปัจจุบันพยายามจะตีกรอบให้เห็นแค่วัฒนธรรมตามมุมมองของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่การเรียนรู้ผ่านเส้นสายที่ยึดโยงกับโบราณวัตถุจริงๆ จะทำให้เรายอมรับและเข้าใจในมุมมองของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยและใช้วัฒนธรรมเดียวกันเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

หากเรียกร้องต่อภาครัฐได้ คุณจะปฏิรูปวิธีการนำเสนอคุณค่าของโบราณวัตถุไทยอย่างไร

ดีที่สุดคือต้องทำให้ภาครัฐและประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าโบราณวัตถุมันสำคัญอย่างไร เหมือนที่ผมพูดมาตลอดบทสัมภาษณ์นี้ ซึ่งถ้าทำได้จริง สิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศคือการใช้วัฒนธรรมที่จะส่งเสริมทางเศรษฐกิจ สังคม ให้มันดีขึ้นได้ 

สังเกตไหม เวลาเราไปเยี่ยมชมบ้านเมืองที่เจริญทางด้านวัฒนธรรม เขาจะมีพิพิธภัณฑ์ดีๆ ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นได้พอสมควร เพราะว่าเวลาเราไปเที่ยวที่ไหน นอกจากไปหาอะไรอร่อยๆ กิน ไปดูสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เราก็ต้องการแหล่งเรียนรู้ในเชิงวัฒนธรรมด้วย วัฒนธรรมมันเป็นสินค้าที่ดี บางคนสนใจเรื่องวัฒนธรรม พอรู้ว่าเมืองนี้มีวัฒนธรรมแบบนี้ เวลาไปเที่ยว เขาก็ต้องอยากกิน อยากอยู่ สุดท้ายมันก็เพิ่มเม็ดเงินทางเศรษฐกิจให้เมืองนั้น ไหนจะของที่ระลึก หนังสือต่างๆ ถ้ามีการทำออกมาดีพอ ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นนั้นได้มหาศาล แต่ถ้าทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรเหมือนประเทศไทยในตอนนี้ ผมว่าน่าเสียดาย

Fact Box

1ดักลาส แลตช์ฟอร์ด คือผู้เชี่ยวชาญในด้านโบราณวัตถุเขมร อีกทั้งยังเป็นนักสะสมโบราณวัตถุอีกจำนวนมาก ก่อนที่ในปี 2019 เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาจากทางการสหรัฐฯ ในข้อหาลักลอบขนส่งโบราณวัตถุกัมพูชาที่ถูกโจรกรรม โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อของทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว ปรากฏอยู่

2หลวงพ่อศิลาประดิษฐานอยู่ที่วัดทุ่งเสลี่ยมนานกว่า 28 ปี และหายไปจากวัดในคืนวันที่ 29 ตุลาคม 2520 ก่อนที่กลุ่มอนุรักษ์โบราณวัตถุของอังกฤษจะส่งข่าวมาว่า พบพระพุทธรูปศิลานาคปรกที่ถูกขโมยไปจากวัดทุ่งเสลี่ยม โดยมีพ่อค้าของเก่ารายหนึ่งเป็นผู้ซื้อ ตอนนี้ตกอยู่กับสถาบันซอเทบีในกรุงลอนดอน ซึ่งทางสถาบันกำลังจะออกประมูลขาย สุดท้ายด้วยการกดดันจากชาวบ้านที่ศรัทธาหลวงพ่อศิลา ทำให้เชาวรินธร์ ลัทธศักดิ์ศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ส่งเรื่องไปยังกงสุลใหญ่นครลอสแองเจลิส เพื่อเปิดการเจรจากับผู้ครอบครองทันที หลังจากเจรจาอยู่หลายรอบกับทนายของผู้ครอบครอง ก็ได้ข้อยุติโดยที่ผู้ครอบครองเรียกร้องเงิน 2 แสนเหรียญ หรือ 5 ล้านบาทในขณะนั้น (พ.ศ. 2538)

Tags: , , , , , , , ,